[review] รีวิว Manta Ray (2561) กระเบนราหู


[review] รีวิว Manta Ray (2561) กระเบนราหู ภาพยนตร์ความยาว 105 นาทีเรื่องแรกของ พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ซึ่งมีการอธิบายว่า ภาพยนตร์สื่อภาพสะท้อนปัญหาและทัศนคติต่อความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิกฤตผู้อพยพชาวโรฮิงญาในประเทศไทย

...................

ดูรีวิวได้ทาง Youtube ช่อง Super Review

...................

กระเบนราหูคือหนึ่งในหนังไม่กี่เรื่องที่ผมดูแล้วรีวิวไม่ได้ ต่อให้ดูจบแล้วก็ยังไม่สามารถจับประเด็นของเรื่องได้ เส้นเรื่องก็มีแต่เบาบาง เล่าถึงชายผู้ทำอาชีพประมง วันหนึ่งเขาเดินหาบางอย่าง ซึ่งบางอย่างนั้นเราก็ไม่รู้ว่าเขาหาอะไร แต่รู้ว่าเขาหาในป่าโกงกาง แล้วเขาก็พบชายคนหนึ่งนอนอยู่ในป่านั้น พบว่ามีอาการบาดเจ็บ เขาจึงนำตัวกลับมาบ้านแล้วทำการรักษาพยาบาลจนหายดี เราไม่รู้ว่าชายคนนั้นเป็นใครพูดภาษาไทยได้หรือพูดไม่ได้ เพราะบทสนทนาในหนังนั้นแทบไม่ได้พูดกันเลย จะสื่อสารทางอารมณ์ลักษณะท่าทางและความรู้สึกเท่านั้น ชายประมงเล่าให้ชายแปลกหน้าฟังว่าเคยมีเมียแต่เมียก็ทิ้งเขาไปนานแล้ว จากนั้นเมื่อรักษาหายแล้วก็พาชายคนนี้ไปทำงานประมงด้วยกัน เขาตั้งชื่อให้ชายคนนี้ว่าธงชัย เหตุผลที่เลือกชื่อนี้เพราะเขาชอบฟังเพลงของเบิร์ด ธงไชย ทุกอย่างเหมือนจะเป็นไปอย่างเรียบง่ายแต่วันหนึ่งมีโทรศัพท์โทรเข้าชายชาวประมงคนนี้ให้ไปทำงานหนึ่งซึ่งเขาเองก็ไม่อยากจะทำแล้ว แต่ก็ต้องจำใจรับงาน จากวันนั้นเขาก็หายไป ธงชัยจึงอาศัยอยู่ในบ้านของชาวประมงคนนั้นต่อมา ทำอาชีพประมง ทำทุกอย่างที่ใช้ชาวประมงทำ แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญของเรื่องก็มาถึงเมื่อมีคนคนหนึ่งปรากฏตัวเข้ามาในบ้าน

เป็นหนังไทยระดับอาร์ทขั้นสุด ชมก็ไม่ได้ ติก็ไม่ได้ เพราะดูแล้วไม่เข้าใจเนื้อเรื่องนัก ไม่สามารถตีความสัญลักษณ์อะไรในเรื่องได้อย่างชัดเจนนัก สิ่งหนึ่งที่จับประเด็นได้ก็คือ หนังนำเสนอมิตรภาพและความสัมพันธ์ระหว่างชาวประมงคนหนึ่ง กับชายอีกคนหนึ่งที่เข้าให้การช่วยเหลือ และมิตรภาพนั้นก็ดำเนินไปสู่จุดความขัดแย้งและการคลี่คลายในท้ายเรื่องก็เท่านั้นเอง

ระหว่างที่ดูนั้นผมรู้สึกว่าหนังมีหลายจุดที่ไม่เข้าใจเช่น ทำไมตัวละครหลักจะต้องเอาหูแนบกับพื้นดิน ไม่เข้าใจว่าตัวละครหลักเข้าไปหาอะไรในป่าบนภูเขา ไม่เข้าใจแสงวิบวับในป่าคืออะไร ไม่เข้าใจการติดไฟกระพริบภายในบ้าน ไม่เข้าใจภูมิหลังตัวละครของธงชัย แม้จะตีความในเชิงมนุษยวิทยาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของชาติพันธุ์ก็ไม่รู้จะเอาตรงไหนมาตีความ ไม่รู้ว่าจะเอาจุดไหนมาเชื่อโยง แม้จะพยายามแล้วก็ไม่กล้าตีความ ไม่กล้าฟันธงว่าผู้กำกับต้องการสื่อในแบบที่เราคิดจริง ๆ หรือ แม้ว่าหนังจะเกริ่นนำในช่วงต้นว่าแด่โรฮินญาก็ตาม

แต่หากหาข้อมูลเพื่อประกอบความเข้าใจในการดูหนัง เราก็จะมาสามารถตีความบางอย่างได้ว่า สัญลักษณ์ต่าง ๆ ในหนังนั้นผู้กำกับต้องการสื่อถึงอะไร ผมจึงขอเล่าถึงข้อมูลที่ได้จากเวปไซต์สำนักข่าว BBC NEWS ที่รายงานเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2018 ว่าผู้กำกับได้กล่าวถึงแรงบันดลในการสร้างดังนี้

เหตุการณ์ในเดือน มกราคม 2552 เจ้าหน้าที่ทหารของไทยลากเรือของผู้อพยพชาวโรฮิงญา อย่างน้อย 6 ลำออกไปจากฝั่งและทิ้งไว้กลางทะเล ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน และกว่า 300 คนสูญหาย อีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นในปี 2558 ทางการไทยค้นพบหลุมศพขนาดใหญ่พร้อมร่างของชาวโรฮิงญาหลายสิบศพบนเทือกเขาแก้ว จ. สงขลา ซึ่งถูกใช้เป็นค่ายสำหรับพักและกักขังเหยื่อก่อนส่งผ่านไปยังมาเลเซีย

ซึ่งจุดนี้นี่เองหากเราจะนำประเด็นนี้มาตีความสัญลักษณ์บางอย่างในหนัง ก็คงจะอธิบายได้ว่าเพราะเหตุใดชาวประมงจึงไปพบธงชัยในป่าโกงกางในลักษณะหมดสติบาดเจ็บจากการถูกยิง เข้าใจว่าธงขัยน่าจะรอดชีวิตมาจากที่ทางการไทยลากเรือไปทิ้งไว้กลางทะเล และอีกสัญลักษณ์หนึ่งคือทำไมชาวประมงต้องใช้หูแนบพื้นดินในป่า ก็อาจจะเป็นเพราะว่าต้องสื่อถึงร่างชาวโรฮิงญาที่ถูกฝังไว้ในป่าบนเทือกเขาตามข่าวก็เป็นได้

แต่นั่นก็เป็นความตีความของผมเองเท่านั้น ไม่ได้การันตีว่าสิ่งที่ผู้กำกับต้องการนำเสนอในภาพยนตร์นั้นจะเชื่อมโยงกับข่าวนี้ในมุม ประเด็นนี้หรือไม่

แม้ภาพจะสวยงาม และมีการทิ้งภาพไว้นาน ๆ แสดงความนิ่ง แสดงความเรียบง่าย แสดงความสงบ ทำให้ผู้ชมได้สัมผัสถึงเสียง ให้สัมผัสถึงภาพที่ผู้กำกับต้องการให้คนดูซึมซับ แต่วิธีการแบบนี้ก็เป็นวิธีการปกติของหนังแนวอาร์ททั่วไปอยู่แล้ว ก็จึงมองว่าเป็นเรื่องปกติ ส่วนเพลงประกอบถือว่าใช้ได้ เขาเลือกจะใช้ไม่เยอะ แต่ถึงเวลาใช้ถือว่าถูกที่ถูกทาง

ในตอนจบของเรื่องคือที่สุดของความอาร์ท เป็นการตอกย้ำว่า กระเบนราหู คือหนังไทยที่ไม่สามารถใช้สามัญสำนึกอะไรไปจับต้องได้เลย เรียกได้ว่าอย่าไปพยายามเข้าใจในหนัง แค่ใช้อารมณ์และความรู้สึกในการชม เมื่อหนังจบแล้วรู้สึกอย่างไรเท่านั้นก็พอ ถึงใครจะตีความอย่างไรก็สามารถทำได้อย่างเต็มที่ ผมเชื่อว่าไม่มีผิดไม่มีถูก แต่ถ้าอยากให้ชีวิตมีความสุขผมว่าไม่ตีความเลยจะดีกว่า

ถึงอย่างไรก็ยังมีคนและหรือองค์กรภาพยนตร์นานาชาติเห็นความดูงามของ กระเบนราหู คือ เวปไซต์สำนักข่าว BBC NEWS ได้รายงานเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2018 ว่า กระเบนราหู สามารถคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในสาย Orizzonti (Horizons) ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ครั้งที่ 75 ซึ่งเป็นการพิจารณารางวัลสำหรับภาพยนตร์ที่เป็นตัวแทนสุนทรียภาพและการเล่าเรื่องของภาพยนตร์ร่วมสมัยจากนานาชาติ อีกทั้งยังได้รับราวงวัลจากนานาชาติอีกหลายรางวัล ส่วนในไทยก็ได้รับรางวัลเช่น คมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 16 ประจำปี 2562 ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และ รางวัลสตาร์พิคส์ ครั้งที่ 17 ประจำปี พ.ศ. 2562 สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเช่นกัน ก็ขอแสดงความยินดีด้วยครับที่หลายท่านดูรู้เรื่อง

ส่วนตัวผมเองบอกเลยว่าหากไม่หาข้อมูลอ่านประกอบก็ไม่มีทางที่จะรู้เรื่องหรือเข้าใจความหมายของหนังเลย

เมื่อดูกระเบนราหูจบแล้ว หากจะถามผมว่าหนังดีหรือไม่อย่างไร ผมก็คงจะตอบไม่ได้ว่าดีหรือไม่ดี แต่สิ่งที่รู้สึกได้หลังจากดูจบก็คือ หลายสิ่งหลายอย่างมันอัดแน่นอยู่ในหัว มันจุกอยู่ที่ใจ แล้วก็วิงเวียนอยู่อย่างนั้นไปหลายวัน

ขอแนะนำให้ขอภาพยนตร์ต้อง "โดน" เรื่องนี้สักครั้งในชีวิต เพื่อรับประสบการณ์ความแปลกใหม่อันหลากหลายมิติที่ได้จากการชมภาพยนตร์ครับ

?/10

@วาทิน ศานติ์ สันติ

#MovieStationReview #สถานีหนัง

#หนังไทย #ดราม่า #หนังอาร์ท #ศิลปะภาพยนตร์ #โรฮิงญา

ข้อมูลประกอบการเขียน

BBC NEWS. (2018). "กระเบนราหู (Manta Ray) หนังไทยที่เพิ่งคว้ารางวัลในเวนิส", สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2563 จาก https://www.bbc.com/thai/featu...

หมายเลขบันทึก: 678081เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2020 11:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2020 11:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท