ชีวิตที่พอเพียง 3720. เชื่อมโยงหรือเชื่อมประสาน



คำสนทนาระหว่างสองอัจฉริยะประเทืองปัญญามาก    คืออัจฉริยะด้านไอที  Mark Zuckerberg กับ Yuval Harari นักประวัติศาสตร์และนักปรัชญาเพื่ออนาคต    คุยกันเรื่องอนาคตของเทคโนโลยีกับสังคม (๑) น่าฟังมาก     Harari บอกว่า online community  ไม่มีทางทดแทน physical community ได้   

Networking (เชื่อมโยง) ไม่ใช่ harmonizing (เชื่อมประสาน)   และ networking ด้วยเทคโนโลยี อาจจะก่อผล fragmenting ความเป็นชุมชน   คือทำให้ชุมชนแตกเป็นเสี่ยงๆ    

 สัจธรรมคือ ไม่มีอะไรที่มีแต่ข้อดีโดยไม่มีข้อเสีย    หรือไม่มีข้อจำกัด    มนุษย์เราต้องการชีวิตที่ผ่านประสบการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย    การที่เยาวชนถูกยึดตัวไว้กับกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งมากเกินไป ไม่ดีต่อพัฒนาการ   

พัฒนาการใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยีอาจนำไปสู่ global competition   หรือนำไปสู่ global cooperation ก็ได้   

สิ่งที่เราไม่ต้องการคือ Imbalance of power   การเกิด increasing inequity ในโลก   การลดทอนความเป็นมนุษย์ผู้แสดงความมีตัวตน (human agency)  

Harari ห่วง AI สร้าง ๒ ปัญหา  (๑) เพิ่มความไม่เท่าเทียม  (๒) ลดทอนความหมายของชีวิตมนุษย์   ลดทอนความเป็นมนุษย์ผู้แสดงความมีตัวตน (human agency)    Zuckerberg เสริมว่า เป็นเรื่องคุณค่า (values)    และยังมีประเด็น data, data privacy    และ technology platform สร้างขึ้นบนฐานค่านิยม    หลาย technology platform ที่พัฒนาขึ้นใหม่ ใช้ฐานค่านิยมแบบอเมริกัน ซึ่งอีกหลายประเทศไม่ได้ใช้ค่านิยมแบบเดียวกัน    ค่านิยมอเมริกันคือเสรีนิยม    แต่ในบางประเทศเป็นเผด็จการ ไม่เปิดเสรี    การที่จะมี global platform ด้านไอที จึงยาก    Harari จึงแย้งว่า ในเมื่อ ปธน. อเมริกันประกาศนโยบาย American first  แล้วอินเดียจะเอาฐานข้อมูลของประเทศตนไปไว้ในสหรัฐอเมริกาหรือ    ฟังแล้วก็ชื่นชมสรรเสริญที่เขาเอาคลิปนี้ออกเผยแพร่ เพราะมันแบไต๋ของ Zuckerberg ออกมาล่อนจ้อนทีเดียว    ในตอนจบ Harari ก็ชม Zuckerberg ว่าใจกว้างมากที่เอาการสนทนา ๙๐ นาทีนี้ออกเผยแพร่ทั่วโลก  

Zuckerberg พยายามเน้น Open values ของอเมริกา    Harari แย้งว่าเดี๋ยวนี้ใครบ้างที่เชื่อถือสหรัฐอเมริกา    อเมริกาได้เปลี่ยนฐานะความเป็นผู้นำของโลกเสรีไปแล้ว   

Zuckerberg พยายามอธิบายประโยชน์ของการใช้คุณค่า open values แทนที่เผด็จการที่ปกป้องพลเมืองของตน   เพื่อให้โลกมี general IT platform สร้างชีวิตที่ดีให้แก่คนทั้งโลก    Harari แย้งว่า ความคิดเรื่อง AI เป็นความคิดสร้างสิ่งที่รู้จักตัวเรามากกว่าเรารู้จักตัวเอง    เป็น AI ครองโลก   เขาอยากเห็น AI ที่ช่วยหนุนหรือรับใช้ปัจเจกมากกว่า AI ที่เป็นเครื่องมือครองโลก

Zuckerberg บอกว่า ในมุมของนักเทคโนโลยี AI เป็นเรื่องของคณิตศาสตร์    และเปลี่ยนเรื่องสู่การใช้ AI เป็น surveillance technology   ซึ่ง Harari ตอบว่า รัฐบาลอิสเรลสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ และเป็นผู้นำในการใช้ตรวจการณ์พื้นที่ยึดครอง    แต่ไม่คิดว่ารัฐบาลอิสเรลจะเผยแพร่เทคโนโลยีนี้   

เมื่อ Zuckerberg กล่าวว่า เทคโนโลยีเป็นกลาง อาจใช้ทางดีก็ได้ ทางชั่วก็ได้    ขึ้นกับผู้ใช้และการสร้างระบบขึ้นมากำกับ     Harari ก็เห็นด้วยทันที ว่าขึ้นกับการตัดสินใจเชิงนโยบาย    แต่ฝ่ายนโยบายของมหาอำนาจมีแนวโน้มใช้เพื่อประโยชน์ของตนมากขึ้นๆ    ทำให้ผมนึกถึงทรัมป์    แต่ Harari แหลมคมยิ่งที่บอกว่าระบอบเผด็จการโซเวียตล่มสลายเพราะล้มเหลวด้านการจัดการข้อมูล     เนื่องจากใช้ระบบรวมศูนย์    ในขณะที่อเมริกาใช้ระบบข้อมูลแบบกระจาย    ประชาชนได้ข่าวสารข้อมูลจากหลายทาง นำมาตัดสินใจเอง         

  ประเด็นจึงวนมาสู่ระบบรวมศูนย์ กับระบบกระจาย (distributive systems)   เป็นที่รู้กันว่าระบบรวมศูนย์ให้ประสิทธิภาพ (efficiency) สูงกว่า    แต่ระบบกระจายให้ความมั่นคงยั่งยืนกว่า    เมื่อคุยกันเรื่องรัฐ เราบอกว่าต้องกระจายอำนาจ    แต่เมื่อคุยกันเรื่องไอที Zuckerberg มีท่าทีว่าต้องรวมศูนย์ คือทุกประเทศเปิดให้ใช้ platform เดียวกัน  

ข้อโต้แย้งที่สนุกมากคือ  Zuckerberg ชื่นชมอุดมการณ์ประชาธิปไตย ที่เปิดให้ประชาชนแต่ละคนตัดสินใจเอง     แต่ Harari แย้งว่า IT กำลังเข้าไปบงการ (manipulate) ความคิดคน ให้คิดหรือตัดสินใจตามที่ตนต้องการ    แทนที่คนเราจะมีจิตอิสระอย่างแท้จริง เรากลับเป็นมนุษย์ที่ถูก hack และบงการจิตใจและการตัดสินใจ    ซึ่งทำให้ Zuckerberg โยงสู่กรณีการเลือกตั้งสหรัฐในปี 2016        

เชื่อมโยงสู่ประเด็นว่า ในยุคปัจจุบัน “เสรีชน” เสรีขึ้นกว่าเมื่อร้อยปีก่อน   หรือเสรีน้อยลง    เพราะ Harari โต้ว่าคนเราถูกบงการโดยปัจจัยภายนอก ไม่มากก็น้อย

ตอนจบ Harari บอกว่าสิ่งที่เขาห่วงมากจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี มี ๒ ประการ คือ (๑) เกิดระบอบเผด็จการที่บงการความคิดคนตั้งแต่เด็ก   ให้คิดตามแนวทางที่ระบอบกำหนด   โดยที่ผู้คนก็ยอมรับ   (๒) เกิด surveillance capitalism   คอยเสนอแนะการตัดสินใจ มื้อนี้ควรกินอาหารนี้  ควรแต่งงานกับคนนี้   ควรเข้าเรียนมหาวิทยาลัยนี้  ฯลฯ    โดยที่ข้อเสนอแนะเป็นข้อเสนอที่ดี ให้ผลดี   แต่ทำให้ความหมายของการเป็นมนุษย์เปลี่ยนไป    ซึ่ง Zuckerberg บอกว่า คงจะไม่เสนอแนะตัวเลือกเดียว   แต่เสนอหลายๆ ทางเลือกพร้อมคำอธิบาย   และคนเรายังจะได้แนวคิดหลายๆ แบบจากการเข้าสังคม  

ฟังแล้วผมสรุปว่า อัจฉริยะอย่าง Mark Zuckerberg ก็มืดบอดจากผลประโยชน์ของตนเองเป็นม่านบังตา   

วิจารณ์ พานิช

๗ พ.ค. ๖๓                                                                                                                                                                                         


หมายเลขบันทึก: 678011เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2020 18:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2020 18:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท