ชีวิตที่พอเพียง 3714. ความฉลาดรวมหมู่ : ๗. ความหมายของคำว่ารวมหมู่ในความฉลาดรวมหมู่



บันทึกชุด ความฉลาดรวม หมู่ ตีความจากหนังสือ Big Mind : How Collective Intelligence Can Change Our World  (2018) เขียนโดย Geoff Mulgan ศาสตราจารย์ด้าน collective intelligence, public policy & social innovation แห่ง UCL  และเป็น CEO ของ NESTA    โดยในตอนที่ ๗ นี้ ตีความจากบทที่ 9   The Collective in Collective Intelligence

สาระสำคัญคือความฉลาดรวมหมู่มีมิติที่ซับซ้อน    เป็นทั้งธรรมชาติหรือสัญชาตญาณของมนุษย์ และเป็นทั้งสมมติหรือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น    เพื่อช่วยให้มนุษย์สามารถมีชีวิตที่สะดวกสบาย     หรืออาจกล่าวได้ว่า ช่วยให้เกิดอารยธรรมสมัยใหม่     โดยที่ความฉลาดอยู่ทั้งในคน  ในการรวมตัวของคน  และในวัตถุสิ่งของ

ความตระหนักรู้รวมหมู่ (Collective Consciousness)

เฉพาะบุคคลเท่านั้นที่รู้รับผิดชอบชั่วดีเต็มที่    กลุ่มหรือคณะบุคคลอาจได้รับการยอมรับทางกฎหมายให้เป็นนิติบุคคล     มีความเป็นตัวตน (agency)  และต้องรับผิดชอบตามที่กฎหมายบัญญัติ    แต่เฉพาะบุคคลเท่านั้นที่มีความตระหนักรู้ (consciousness) อย่างลึก    อันเกิดจากมีการบูรณาการเชื่อมต่อเซลล์ประสาทจำนวนแปดหมื่นหกพันล้านเซลล์    ด้วยการเชื่อมต่อใยประสาท ๑๐๐ ล้านล้านจุดเชื่อมต่อ      

ดังนั้น ความตระหนักรู้รวมหมู่ของคนจำนวนมาก จึงเทียบไม่ได้กับความตระหนักรู้ของบุคคลคนหนึ่ง    

ความเป็นพวกเดียวกัน (We-ness)

คนจำนวนมากมารวมตัวร่วมมือกันได้สองแบบ    แบบแรกเรียกว่า aggregate คือรวมตัวกันทำงานแบบไม่มีการจัดองค์กร  ไม่มีการกำหนดขอบเขต     อีกแบบเรียกว่า integrate    มีการจัดองค์กร (organize) และมีการกำหนดขอบเขต (boundary)    ความเป็นพวกเดียวกัน และความฉลาดรวมหมู่เกิดจากการรวมตัวกันแบบหลัง    ในการรวมตัวแบบนี้ ปัจเจกบุคคลได้รับอิทธิพลจากกลุ่ม    และกลุ่มก็ได้รับอิทธิพลจากปัจเจกบุคคลแต่ละคน

  

สัญชาตญาณของมนุษย์

การรวมหมู่เป็นสัญชาตญาณของมนุษย์    เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม และมีช่วงชีวิตที่ช่วยตัวเองไม่ได้เป็นเวลายาวนานมาก    การรวมหมู่ช่วยให้มีชีวิตรอด และเอาชนะความยากลำบากต่างๆ ได้    รวมทั้งสามารถทำสิ่งที่คนคนเดียวทำไม่ได้   

 ในสังคมปัจจุบัน ในแต่ละวันคนแต่ละคนทำตัวเป็นสมาชิกของกลุ่มหลากหลายกลุ่ม ได้แก่ครอบครัว  หน่วยงาน  ชุมชน  กลุ่มสนใจบางเรื่อง  เครือข่ายเพื่อน เช่นชมรม/สมาคมศิษย์เก่า  องค์กรวิชาชีพ เป็นต้น   

เพื่อเป็นสมาชิกกลุ่มที่ดี คนเราต้องเข้าใจความคิดของคนอื่น ตามทฤษฎีทางจิตวิทยาชื่อ theory of mind     

ปัจจัยช่วยการหลอมรวมเพื่อการรวมหมู่   

ปัจจัยดังกล่าวได้แก่ รหัส (codes),  บทบาท (roles),  และกติกา (rules)    

ปัจจัยทั้งสามเป็นตัวทำให้การรวมตัวกันเปลี่ยนจาก aggregate  ไปเป็น integrate คือสามารถคิดและปฏิบัติไปในทางเดียวกัน    เปลี่ยนปัจเจกบุคคลให้เป็นพวกเดียวกัน  

คนเราต้องสื่อสารกัน    รหัสเพื่อการสื่อสารคือภาษา ซึ่งมีทั้งวัจนะและอวัจนะภาษา (ภาษาพูดและภาษากาย)    ทั้งที่พูดและเขียน    รวมทั้งสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อสื่อสาร    ภาษามีขอบเขต คือเข้าใจกันภายในคนกลุ่มเดียวกัน    และคนกลุ่มอื่นไม่เข้าใจ     จึงช่วยให้เกิดความเป็น “พวกเรา” และ “พวกเขา”   

เพื่อให้การรวมหมู่และทำหน้าที่ต่างๆ ไม่ต้องใช้พลังงานมาก    จึงต้องมีการกำหนดหน้าที่ (role) ของคนและสิ่งของ เพื่อความเข้าใจร่วมกัน เช่น นายอำเภอ  ลูกฟุตบอลล์    ที่ทำหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยในอำเภอ    และสำหรับใช้เตะ    คนทั่วไปจะเข้าใจตรงกันว่านายอำเภอเป็นใคร ทำหน้าที่อะไร    สิ่งที่เรียกว่าลูกฟุตบอลล์มีหน้าตาอย่างไร เอาไว้ทำอะไร    โดยไม่ต้องเสียเวลาและพลังงานในการอธิบาย    ชีวิตในปัจจุบันของเราประหยัดเวลาและพลังงานมากมายจากความเข้าใจร่วมกันของบุคคลและสิ่งของต่างๆ มากมาย

เมื่อมารวมตัวกันอย่างเป็นระบบก็ต้องมีกติกา (rule) เพื่อกำกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและสิ่งของ     ทั้งกติกาที่เป็นทางการ  และที่เป็นข้อตกลงกันภายในกลุ่มย่อย

ปัจจัยทั้ง ๓ คือ รหัส  บทบาท  และกติกา ช่วยให้การรวมหมู่เกิดความฉลาดขึ้นโดยปริยาย (เช่น เกิดเป็นประเทศ, มหาวิทยาลัย, บริษัท กองทัพ เป็นต้น) ช่วยให้เกิดองค์กรที่ทำหน้าที่ได้ซับซ้อน    เกิดความสำเร็จยิ่งใหญ่ที่คนคนเดียวทำไม่ได้     แต่ในทางกลับกัน อาจเกิดการสื่อสารบกพร่อง หรือตีความผิด    และเกิดหายนะของคนที่ทำงานในบางสถานการณ์ก็ได้     

โมเดลช่วยการคิดร่วม

ความฉลาดของคนเริ่มจากการพัฒนาโมเดลขึ้นในสมอง สำหรับใช้ช่วยการคิด    คือคนเราคิดผ่านโมเดล    โมเดลเป็นจุดเริ่มต้นของความฉลาด    เกิดขึ้นก่อนความสามารถในการสังเกต (observation) และก่อนเข้าใจข้อมูล (data)     จากมุมมองเช่นนี้ มนุษย์เราจึงไม่ได้เข้าใจสิ่งต่างๆ รอบตัวผ่านข้อมูลปฐมภูมิ หรือผ่านการสัมผัสโดยตรง     แต่เราเข้าใจสิ่งต่างๆ ผ่านแว่นโมเดลในสมองของเรา     เป็นคำอธิบายได้ดีมากว่า ทำไมต่างคนจึงมองสิ่งเดียวกันได้แตกต่างกันถึงขนาดนั้น   

การมี shared model เป็นบ่อเกิดของความฉลาดร่วมของกลุ่ม    และเมื่อกลุ่มมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น    โมเดลจะมีความหนักแน่น มีรายละเอียดมากขึ้น    ความเป็นกลุ่มหรือพวกเดียวกันก็แน่นแฟ้นขึ้นด้วย    คือสมาชิกกลุ่มคิดเหมือนกันว่าสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร  และมีส่วนทำให้โลกเป็นเช่นนี้ได้อย่างไร    เท่ากับว่ากลุ่มเกิดข้อตกลงในการนิยามและค้นพบ “ความจริง” (truth)    ในคำถามว่า สิ่งนั้นคืออะไร  สิ่งนั้นมีความหมายหรือคุณค่าอย่างไร    เกิดความเชื่อร่วมกันอย่างแน่นแฟ้น โดยไม่มีข้อสงสัยหรือโต้แย้ง     สภาพการเป็นกลุ่มที่แน่นแฟ้นสุดสุด จึงเป็นสภาพที่สมาชิกกลุ่มยอมสละเสรีภาพส่วนตน    เพื่อความเป็นกลุ่มที่แน่นแฟ้น

โมเดลจึงเป็นปัจจัยที่สี่  ต่อจาก รหัส บทบาท และกติกา   ในการทำให้เกิดความฉลาดรวมหมู่  

ทีม

นี่คือปัจจัยที่ห้า ต่อการสร้างความฉลาดรวมหมู่    ทีมเกิดขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายที่สูงส่งร่วมกัน (shared purpose)    ด้วยความเชื่อว่าเมื่อเป็นทีมงานกันแล้ว จะเกิดผลมากกว่าผลบวกของพลังความสามารถของสมาชิกทีม     คือสมาชิกทีมจะร่วมกันทำให้เกิดพลังคูณ (synergy) ไม่ใช่เพียงพลังบวก    สมาชิกของทีมจึงต้องมีมาตรฐานร่วม  และมีจุดโฟกัสร่วม    มีความเชื่อมั่นต่อเพื่อนสมาชิกทีม    และเมื่อผลงานไม่ออกมาดังหวังก็ไม่โทษใคร  แต่ร่วมกันหาทางเรียนรู้เพื่อปรับปรุง    

ทีมเป็นการบูรณาการปัจจัยของการสร้างความฉลาดรวมหมู่ ที่กล่าวแล้วที่สิ่ปัจจัย (คือ รหัส บทบาท กติกา และโมเดล) เข้าด้วยกันผ่านการลงมือทำ และหมุนวงจรเรียนรู้ร่วมกัน  

การรวมกลุ่ม (collectives) และสังคม (societies)

ในสังคมหนึ่งๆ มีการรวมกลุ่มของมนุษย์เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป    กลุ่มที่เกิดขึ้นและดับไปมีมากกว่ากลุ่มที่คงอยู่มาก    กลุ่มเกิดจากมีหัวโจกทำหน้าที่ชักชวนให้คนอื่นๆ มีโลกทัศน์ หรือโมเดล ต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเหมือนตน    ร่วมกันทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีคุณค่าร่วมกัน    และเมื่อทำสำเร็จ กลุ่มก็สลายไป  

การเกิดกลุ่มจึงเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับสังคมมนุษย์     แต่ในมหภาคของสังคม โมเดล และปฏิสัมพันธ์ของสมาชิกนำไปสู่การจัดระบบสังคม    และเกิดชนชั้นขึ้น    เกิดสภาพที่หน่วยใหญ่ของสังคม “คิด” ให้สมาชิกทำตาม  มากกว่าสมาชิกหน่วยย่อย “คิด” ให้หน่วยใหญ่ทำตาม     กล่าวให้เข้าใจง่ายขึ้นคือ การรวมกลุ่มนำไปสู่การพัฒนา ความเชื่อและวิถีปฏิบัติ (norm) ในชีวิตประจำวันร่วมกันในกลุ่ม    เราจึงมีสุภาษิตว่า “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม”    เกิดจิตวิทยารวมหมู่ที่ลดพลังงานต่อการรวมกลุ่ม    แต่ก็อาจนำไปสู่ “ความเขลารวมหมู่” (pluralistic ignorance) ก็ได้      

   

การรวมหมู่หลากหลายแบบ

นักมานุษยวิทยา Mary Douglas เสนอวิธีแบ่งกลุ่มของการรวมหมู่ด้วยระดับของตัววัดสองมิติ คือมิติแนวตั้งเรียกว่า grid     กับมิติแนวนอนเรียกว่า group

Grid เป็นมาตรของการจัดระดับชั้นอย่างเป็นทางการ (formal hierarchy)    มีการบังคับบัญชา การมีอำนาจเหนือ มีกฎเกณฑ์กติกาให้ยึดถืออย่างชัดเจนแน่นอนตายตัว    ส่วน group เป็นมาตรบอกความสัมพันธ์แนวราบ ที่เกิดจากความรัก ความผูกพัน ความห่วงใยต่อกัน และการมีอุดมการณ์ร่วมกัน ระหว่างสมาชิก    เป็นการรวมกลุ่มกันแบบ self-organized     

Group เป็นมาตรของความสัมพันธ์แนวราบ    ส่วน Grid เป็นมาตรบอกความสัมพันธ์แนวดิ่งความสัมพันธ์แนวดิ่ง หรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

เมื่อจำแนกการรวมหมู่ตามระดับต่ำสูงของสองมิตินี้ ก็จะจำแนกได้เป็น ๔ กลุ่มใน ๔ quadrant   ตามภาพข้างบน    การจัดกลุ่มในภาพผมเอามาจากหนังสือบ้าง คิดขึ้นเองบ้าง     และผมคิดว่าหากระบบภายในองค์กรไม่ดี ราชการและบริษัทอาจขยับไปอยู่ quadrant บนขวาก็ได้    

ไม่ว่าการรวมหมู่จะตกอยู่ใน quadrant ใด    ความแข็งแรงของการรวมหมู่ขึ้นกับแรงจูงใจ  ผลประโยชน์  และการสื่อสารระหว่างสมาชิก    และพึงตระหนักว่า การจัดกลุ่ม ๔ กลุ่มนี้เพื่อความเข้าใจการรวมกลุ่มเท่านั้น    ในความเป็นจริงมีปัจจัยที่ซับซ้อนมาก    และมีรายละเอียดที่องค์กรกลุ่มที่อยู่ในกลุ่มมี grid ต่ำ    แต่ดูจากพฤติกรรมจริง กลับมีอำนาจบังคับบัญชาสูงมาก มีกฎระเบียบแข็งตัวสูงมาก ก็เป็นได้    

มีวัฒนธรรม ๓ แบบ ที่กำหนดการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกกลุ่มได้แก่  (๑) วัฒนธรรมทุกคนเท่าเทียมกัน (egalitarianism)  (๒) วัฒนธรรมลำดับชั้น (hierarchy)  และ (๓) วัฒนธรรมปัจเจกบุคคล (individualism)    วัฒนธรรมทั้ง ๓ แบบมีส่วนสร้างความซับซ้อนในการรวมหมู่     และในความเป็นจริงแล้ว การรวมหมู่ทุกประเภท มีส่วนผสมของวัฒนธรรมทั้งสามอยู่อย่างซับซ้อน

   

ความคงทนยั่งยืนของการรวมหมู่

อย่าลืมว่า “การรวมหมู่” ในที่นี้ ไม่ใช่ aggregation  แต่เป็น integration คือมีการจัดระบบ    การรวมหมู่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ ก็เพราะมีคุณประโยชน์    โดยเฉพาะต่อการบรรลุเป้าหมายที่ยากและซับซ้อน และต่อเนื่องยั่งยืน    รวมทั้งการนำไปสู่วงจรเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงจรเรียนรู้ระดับที่ ๒ และ ๓   

ผมแปลกใจที่เขาบอกว่า องค์การสหประชาชาติ และองค์การระหว่างประเทศทั้งหลายเป็นเพียง aggregate  ไม่ใช่    integration    จึงไม่ส่งผลในลักษณะของการรวมหมู่     คือไม่ได้มีเป้าหมายยิ่งใหญ่ร่วมกัน  แต่เป็นเวทีต่อรองผลประโยชน์ของประเทศสมาชิก      

คุณค่าของการรวมหมู่ที่ทำให้เกิดวงจรเรียนรู้   นำไปสู่คุณค่าต่อการเผชิญความไม่แน่นอน  และการปรับตัว    กลุ่มที่มีจิตวิญญาณ “พวกเรา” จะมีความยืดหยุ่นปรับตัวสูง    ยามพ่ายแพ้หรือเพลี่ยงพล้ำก็จะเผชิญได้ดีกว่า    ดังจะเห็นได้จากประเทศญี่ปุ่น และเยอรมนี เมื่อแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง      

มองจากมุมของชุมชน มีการวิจัยที่สรุปว่าอัตราของอาชญากรรมในชุมชนจะลดลงมาก     หากคนในชุมชนที่เป็นเพื่อนบ้านกันรวมตัวกัน ในการปกป้องผลประโยชน์หรือความปลอดภัยของเพื่อนบ้าน   

ขนาดกับความคิดรวมหมู่

ในทางเศรษฐศาสตร์มีคำว่า economy of scale    ซึ่งหมายความว่าขนาดทำให้เกิดความได้เปรียบ    ซึ่งในทางตรรกะผมคิดว่าเป็นหลักการหรือคำพูดที่ทั้งถูกและผิด    สำหรับสิ่งมีชีวิตขนาดสัมพันธ์กับรูปร่างและอวัยวะของร่างกาย    องค์กรหรือการรวมหมู่ก็ทำนองเดียวกัน    ขนาดใหญ่กับเล็กต้องมีการจัดองค์กรต่างกัน     หากขนาดใหญ่ การจัดองค์กรต้องซับซ้อน    และมีแนวโน้มที่จะต้องใช้ รหัส  บทบาท  กติกา  โมเดล  และทีม มากหน่อย    ขนาดเล็กช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมีความใกล้ชิดกัน เป็นข้อได้เปรียบ  

วิจารณ์ พานิช  

๑๐ เม.ย. ๖๓


   

หมายเลขบันทึก: 677898เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2020 19:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2020 19:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท