รูปแบบการเรียนการสอนของการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Instructional Models of  Cooperative Learning)


รูปแบบการเรียนการสอนของการเรียนรู้แบบร่วมมือ
(Instructional Models of Cooperative Learning)

ทฤษฎีหรือหลักการแนวคิด

รูปแบบการเรียนการสอนของแนวคิดแบบร่วมมือ พัฒนาขึ้นโดยอาศัยหลักการเรียนรู้แบบร่วมมือของจอห์นสัน และจอห์นสัน (Johnson & Johnson, 1974: 213-240) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าผู้เรียนควรร่วมมือกันในการเรียนรู้มากกว่าการแข่งขันกัน เพราะการแข่งขันก่อให้เกิดสภาพการณ์
แพ้-ชนะ ขณะที่การร่วมมือกันก่อให้เกิดสภาพการณ์ชนะ-ชนะ ซึ่งเป็นสภาพการณ์ที่ดีกว่าทั้งทางด้านจิตใจและสติปัญญา หลักการเรียนรู้
แบบร่วมมือประกอบด้วย


1.การเรียนรู้ต้องอาศัหลักพึ่งพากันโดยถือว่าทุกคนมีความสำคัญเท่าเทียมกันและจะต้องพึ่งพากันเพื่อความสำเร็จร่วมกัน
2.การเรียนรู้ที่ดีต้องอาศัยการหันหน้าเข้าหากัน มีปฏิสัมพันธ์กัน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อมูล และการเรียนรู้ต่าง ๆ
3.การเรียนรู้ร่วมกันต้องอาศัยทักษะทางสังคม โดยเฉพาะทักษะในการทำงานร่วมกัน
4.การเรียนรู้ร่วมกันควรมีการวิเคราะห์กระบวนการกลุ่มที่ใช้ในการทำงาน
5.การเรียนรู้ร่วมกันจะต้องมีผลงานหรือผลสัมฤทธิ์ทั้งรายบุคคลและรายกลุ่ม ที่สามารถตรวจสอบและวัดประเมินได้


วัตถุประสงค์ของรูปแบบ  

มุ่งให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เนื้อหาสาระต่าง ด้วยตนเองและด้วยความร่วมมือและความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ รวมทั้งได้พัฒนาทักษะทางสังคมต่าง ๆ เช่นทักษะการสื่อสาร ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะการสร้างความสัมพันธ์ รวมทั้งทักษะแสวงหาความรู้ ทักษะการคิด การแก้ปัญหา
และอื่น ๆ


กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ
รูปแบบการเรียนการสอนที่ส่งเสริมการเรียนรู้แบบร่วมมือมีหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละรูปแบบจะมีวิธีการหลัก ๆ ซึ่งได้แก่ การจัดกลุ่ม การศึกษาเนื้อหาสาระ การทดสอบ การคิดคะแนนและระบบการให้รางวัลแตกต่างกันออกไป เพื่อสนองวัตถุประสงค์เฉพาะ แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดต่างก็ใช้หลักการเดียวกัน คือหลักการเรียนรู้แบบร่วมมือ 5 ประการข้างต้นประกอบกับการมีวัตถุประสงค์มุ่งตรงไปในทิศทางเดียวกัน คือเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในเรื่องที่ศึกษาอย่างมากที่สุดโดยอาศัยการร่วมมือกัน ช่วยเหลือกัน และแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างกลุ่มผู้เรียนด้วยกัน ความแตกต่างของรูปแบบแต่ละรูปแบบจะอยู่ที่เทคนิคในการศึกษาเนื้อหาสาระ และวิธีการเสริมแรงและการให้รางวัลเป็นประการสำคัญเพื่อความกระชับใน
การนำเสนอ ตัวอย่างกระบวนการเรียนการสอนที่สอดคล้องทั้ง 6 รูปแบบ มีดังนี้

  1. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบจิ๊กซอว์(Jigsaw)
    เป็นกิจกรรมที่ครูผู้สอนมอบหมายให้สมาชิกในกลุ่มแต่ละกลุ่มศึกษาเนื้อหาที่กำหนดให้ สมาชิกแต่ละคนจะถูกกำหนดโดยกลุ่ม ให้ศึกษาเนื้อหาคนละตอนที่แตกต่างกัน ผู้เรียนจะทำงานร่วมกับสมาชิกกลุ่มอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมายให้ศึกษาเนื้อหาที่เหมือนกัน หลังจากที่ทุกคนศึกษาเนื้อหานั้นจนเข้าใจแล้ว จึงกลับเข้ากลุ่มเดิมแล้วเล่าเรื่องที่ตนศึกษาให้สมาชิกคนอื่น ๆ ในกลุ่มฟัง โดยเรียงตามลำดับเรื่องราว
    เสร็จแล้วให้สมาชิกในกลุ่มคนใดคนหนึ่งสรุปเนื้อหาของสมาชิกทุกคนเข้าด้วยกัน ครูผู้สอนอาจเตรียมข้อสอบเกี่ยวกับบทเรียนนั้นไว้
    ทดสอบความเข้าใจเนื้อหาที่เรียนในช่วงสุดท้ายของการเรียน มีขั้นตอนดังนี้


        
    1.1จัดผู้เรียนเข้ากลุ่มคละความสามารถ (เก่ง-กลาง-อ่อน) กลุ่มละ 4 คน และเรียกกลุ่มนี้ว่ากลุ่มบ้านของเรา 
        1.2 สมาชิกในกลุ่มบ้านของเราได้รับมอบหมายให้ศึกษาเนื้อหาสาระคนละ 1 ส่วน(เปรียบเสมือนได้ชิ้นส่วนภาพตัดต่อคนละ 1 ชิ้นและ
    หาคำตอบในประเด็นปัญหาที่ผู้สอนมอบหมายให้)
        1.3 สมาชิกในกลุ่มบ้านของเรา แยกย้ายไปรวมกับสมาชิกกลุ่มอื่น ซึ่งได้รับเนื้อหาเดียวกันตั้งเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญขึ้นมาและร่วมกัน
    ทำความเข้าใจในเนื้อหานั้นอย่างละเอียด ร่วมกันอภิปรายหาคำตอบประเด็นปัญหาที่ผู้สอนมอบหมายให้
        1.4 สมาชิกกลุ่มผู้เชี่ยวชาญกลับไปสู่กลุ่มบ้านของเรา แต่ละคนช่วยสอนเพื่อนในกลุ่มให้เข้าใจในสาระที่ตนได้ศึกษาร่วมกับ
    กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ เช่นนี้สมาชิกทุกคนก็จะได้เรียนรู้ภาพรวมของสาระทั้งหมด
        1.5 ผู้เรียนทุกคนทำแบบทดสอบ แต่ละคนจะได้คะแนนเป็นรายบุคคล และนำคะแนนของทุกคนในกลุ่มบ้านเรามารวมกัน(หรือหาค่าเฉลี่ย) เป็นคะแนนกลุ่ม กลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุดได้รับรางวัล

      2. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ เอส.ที.เอ.ดี. (STAD) หรือ Student Teams – Achievement Division    
          พัฒนาโดย Slovin เป็นเทคนิคการจัดกิจกรรมที่เหมาะกับการสอนเนื้อหา ความรู้ความเข้าใจ อาจใช้หนังสือเรียน หรือใบความรู้เป็นสื่อ
      การเรียนรู้ของนักเรียน การเรียนตามองค์ประกอบของ STAD มีขั้นตอนดังนี้
       

                 2.1 การเสนอเนื้อหา ครูสอนเนื้อหาใหม่หรือความคิดรวบยอดใหม่และทบทวนบทเรียนที่เรียนมาแล้ว
                 2.2 การทำงานกลุ่ม จัดนักเรียนเป็นกลุ่มคละความสามารถ (เก่ง-กลาง-อ่อน) กลุ่มละประมาณ 4 คน เรียกว่า Student team 
      ชี้แจงให้นักเรียนทราบถึงหน้าที่ของสมาชิกในกลุ่มที่จะต้องช่วยกันเรียนร่วมกัน เพราะผลการเรียนของแต่ละคนจะส่งผลการเรียนของกลุ่ม
                 2.3 การทดสอบย่อย หลังจากครูสอนเนื้อหาและนักเรียนได้ทำกิจกรรมกลุ่มแล้ว นักเรียนทุกคนทำแบบทดสอบย่อยเป็นรายบุคคล
      เนื้อหาสาระนั้นอาจมีหลายตอน ซึ่งผู้เรียนอาจต้องทำแบบทดสอบในแต่ละตอนและเก็บคะแนนของตนไว้
                 2.4 คะแนนการพัฒนาของนักเรียน หลังการทดสอบย่อย นักเรียนจะต้องทำแบบทดสอบครั้งสุดท้าย หาคะแนนพัฒนาของตนเอง
      โดยเอาคะแนนจากการทดสอบไปเทียบกับคะแนนฐาน ซึ่งคะแนนฐานอาจเป็นคะแนนการสอบย่อยที่ผ่านมา หรือคะแนนผลการเรียนของ
      เทอมที่แล้ว ในการหาคะแนนการพัฒนาครูอาจกำหนดเกณฑ์ขึ้นมาก็ได้
                คะแนนพื้นฐาน: ได้จากค่าเฉลี่ยของคะแนนทดสอบย่อยหลาย ๆ ครั้งที่ผู้เรียนแต่ละคนทำได้
                คะแนนที่ได้: ได้จากการนำคะแนนทดสอบครั้งสุดท้ายลบคะแนนพื้นฐาน
                คะแนนพัฒนาการ: ถ้าคะแนนที่ได้คือ
                            -11  ขึ้นไป    คะแนนพัฒนาการ  =  0
                              -1  ถึง -10  คะแนนพัฒนาการ  =  10
                             +1  ถึง 10    คะแนนพัฒนาการ  =  20
                          + 11  ขึ้นไป    คะแนนพัฒนาการ  =  30
                 2.5  รับรองผลงานและเผยแพร่ชื่อเสียงของกลุ่ม จะมีการประกาศผลงานของกลุ่มให้ทราบ พร้อมทั้งยกย่องชมเชยในรูปแบบต่าง ๆ
      เช่น ปิดประกาศหน้าห้อง ให้เกียรติบัตร ลงจดหมายข่าว เป็นต้น 

      3. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ ที.เอ.ไอ. (TAI) หรือ Team –Assisted Individualization 
      เป็นการเรียนการสอนที่ผสมผสานระหว่างการจัดการเรียนแบบร่วมมือและการเรียนการสอนแบบรายบุคคลเข้าด้วยกัน เน้นการสนองความแตกต่างระหว่างบุคคลโดยให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยตนเองตามความสามารถ ส่งเสริมความร่วมมือภายในกลุ่ม มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม มีขั้นตอนดังนี้

          3.1 จัดผู้เรียนเข้ากลุ่มคละความสามารถ (เก่ง-กลาง-อ่อน) กลุ่มละ 4 คน และเรียกกลุ่มนี้ว่ากลุ่มบ้านของเรา 
          3.2 สมาชิกในกลุ่มบ้านของเราได้รับเนื้อหาสาระและศึกษาเนื้อหาสาระร่วมกัน
          3.3 สมาชิกในกลุ่มบ้านของเรา จับคู่กันทำแบบฝึกหัด
                ก.ถ้าใครทำแบบฝึกหัดได้ 75% ขึ้นไปให้ไปรับการทดสอบรวบยอดครั้งสุดท้ายได้
                ข.ถ้ายังทำแบบฝึกหัดได้ไม่ถึง 75% ให้ทำแบบฝึกหัดซ่อมจนกระทั่งเป็นไปตามเกณฑ์ แล้วจึงไปรับการทดสอบรวบยอดครั้งสุดท้าย
          3.4 สมาชิกในกลุ่มบ้านของเราแต่ละคนนำคะแนนทดสอบรวบยอดมารวมกันเป็นคะแนนของกลุ่ม กลุ่มใดได้คะแนนสูงสุดกลุ่มนั้นได้รับรางวัล

      4. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ ที.จี.ที. (TGT) มาจาก “Team Game Tournament”
          เป็นการเรียนแบบร่วมมือกันแข่งขันทำกิจกรรม มีลักษณะของกิจกรรมคล้ายกันกับ STAD แต่เพิ่มเกมและการแข่งขันเข้ามาด้วย เหมาะสำหรับการจัดการเรียนการสอนในจุดประสงค์ที่มีคำตอบถูกต้องเพียงคำตอบเดียว 

      องค์ประกอบ 4 ประการ ของ TGT

      1. การสอน เป็นการนำเสนอความคิดรวบยอดใหม่หรือบทเรียนใหม่ 
      2. การจัดทีม เป็นขั้นตอนการจัดกลุ่ม หรือจัดทีมของนักเรียน โดยจัดให้คละกันทั้งเพศ และความสามารถและทีมจะต้องช่วยกันและกัน 
      3. การแข่งขัน การแข่งขันมักจัดในช่วงท้ายสัปดาห์หรือท้ายบทเรียน ซึ่งจะใช้คำถามเกี่ยวกับเนื้อหาที่เรียนมาในข้อ 1 และผ่านการเตรียม
      ความพร้อมของทีมมาแล้วการจัดโต๊ะแข่งขันจะมีหลายโต๊ะ แต่ละโต๊ะจะมีตัวแทนของกลุ่ม/ทีม แต่ละทีมมาร่วมแข่งขัน ทุกโต๊ะการแข่งขันควร
      เริ่มดำเนินการเพื่อนำไปเทียบหาค่าคะแนนโบนัส 
      4. การยอมรับความสำเร็จของทีม ให้นำคะแนนโบนัสของแต่ละคนในทีมมารวมกันเป็นคะแนนของทีม และหาค่าเฉลี่ยทีมที่มีค่าสูงสุด จะได้รับ
      การยอมรับให้เป็นทีมชนะเลิศ โดยอาจเรียกชื่อทีมที่ได้ชนะเลิศ กับรองลงมา โดยใช้ชื่อเก๋ ๆ ก็ได้ หรืออาจให้นักเรียนตั้งชื่อเอง และควรประกาศผลการแข่งขันในที่สาธารณะด้วย


      มีขั้นตอนดังนี้
          4.1 จัดผู้เรียนเข้ากลุ่มคละความสามารถ (เก่ง-กลาง-อ่อน) กลุ่มละ 4 คน และเรียกกลุ่มนี้ว่ากลุ่มบ้านของเรา 
          4.2 สมาชิกในกลุ่มบ้านของเรา ได้รับเนื้อหาสาระและศึกษาเนื้อหาสาระร่วมกัน
          4.3 สมาชิกในกลุ่มบ้านของเรา แยกย้ายกันเป็นตัวแทนกลุ่มไปแข่งขันกับกลุ่มอื่นโดยจัดกลุ่มแข่งขันตามความสามารถ คือคนเก่งในกลุ่ม
      บ้านของเราแต่ละกลุ่มไปรวมกัน คนอ่อนก็ไปรวมกับคนอ่อนของกลุ่มอื่น กลุ่มใหม่ที่รวมกันนี้เรียกว่ากลุ่มแข่งขัน กำหนดให้มีสมาชิกกลุ่มละ 4 คน

          4.4 สมาชิกในกลุ่มแข่งขัน เริ่มแข่งขันกันดังนี้
                ก. แข่งขันกันตอบคำถาม 10 คำถาม
                ข. สมาชิกคนแรกจับคำถามขึ้นมา 1 คำถาม และอ่านคำถามให้กลุ่มฟัง
                ค. ให้สมาชิกที่อยู่ซ้ายมือของผู้อ่านคำถามคนแรกตอบคำถามก่อน ต่อไปจึงให้คนถัดไปตอบจนครบ
                ง. ผู้อ่านคำถามเปิดคำตอบ แล้วอ่านเฉลยคำตอบที่ถูกให้กลุ่มฟัง
                จ. ให้คะแนนคำตอบดังนี้ผู้ตอบถูกเป็นคนแรกได้ 2 คะแนน ผู้ตอบถูกคนต่อไปได้ 1 คะแนนผู้ตอบผิดได้ 0 คะแนน
                ฉ. ต่อไปสมาชิกคนที่ 2 จับคำถามที่ 2 และเริ่มเล่นตามขั้นตอน ข-จ ไปเรื่อยๆจนกระทั่งคำถามหมด
                ช. ทุกคนรวมคะแนนของตนเอง :  ผู้ได้คะแนนอันดับ 2 ได้โบนัส 8 คะแนน
                                                              ผู้ได้คะแนนอันดับ 3 ได้โบนัส 5 คะแนน
                                                              ผู้ได้คะแนนอันดับ 4 ได้โบนัส 4 คะแนน
         4.5 เมื่อแข่งขันเสร็จแล้ว สมาชิกกลุ่มกลับไปกลุ่มบ้านของเรา แล้วนำคะแนนที่แต่ละคนได้รวมเป็นคะแนนของกลุ่ม
                                                              ผู้ได้คะแนนอันดับ 1 ได้โบนัส 10 คะแนน

        5. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ แอล. ที. (L.T) หรือ Learning Together
        รูปแบบนี้มีการกำหนดสถานการณ์และเงื่อนไขให้นักเรียนทำผลงานเป็นกลุ่ม ให้นักเรียนแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแบ่งปันเอกสาร
        การแบ่งงานที่เหมาะสม และการให้รางวัลกลุ่ม มีขั้นตอนดังนี้

             5.1 จัดผู้เรียนเข้ากลุ่มคละความสามารถ (เก่ง-กลาง-อ่อน) กลุ่มละ 4 คน
             5.2 กลุ่มย่อยกลุ่มละ 4 คน ศึกษาเนื้อหาร่วมกัน โดยกำหนดให้แต่ละคนมีบทบาทหน้าที่ช่วยกลุ่มในการเรียนรู้ ตัวอย่างเช่น
                    สมาชิกคนที่ 1: อ่านคำสั่ง    
                    สมาชิกคนที่ 2: หาคำตอบ
                    สมาชิกคนที่ 3: หาคำตอบ    
                    สมาชิกคนที่ 4: ตรวจคำตอบ
             5.3 กลุ่มสรุปคำตอบร่วมกัน และส่งคำตอบนั้นเป็นผลงานกลุ่ม
             5.4 ผลงานกลุ่มได้คะแนนเท่าไร สมาชิกทุกคนในกลุ่มนั้นจะได้คะแนนนั้นเท่ากันทุกคน

        6. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ จี.ไอ. (G.I.) หรือ Group Investigation 
        เป็นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นบรรยากาศการทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และการเรียนรู้ที่จะดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมประชาธิปไตยได้อย่างเหมาะสม กล่าวคือสมาชิกแต่ละคนในกลุ่มจะเลือกหัวข้อย่อยและเลือกวิธีการแสวงหาคำตอบในเรื่องนั้นๆ ด้วยตัวเอง
        หลังจากนั้นสมาชิกแต่ละคนจะรายงานความก้าวหน้าและผลการทำงานให้กลุ่มตนเองทราบ 
        เป็นรูปแบบที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนช่วยกันไปสืบค้นข้อมูล
        มาใช้ในการเรียนรู้ร่วมกัน มีขั้นตอนดังนี้

             6.1 จัดผู้เรียนเข้ากลุ่มคละความสามารถ (เก่ง-กลาง-อ่อน) กลุ่มละ 4 คน
             6.2 กลุ่มย่อยศึกษาเนื้อหาสาระร่วมกันโดย
                    ก. แบ่งเนื้อหาออกเป็นหัวข้อย่อย ๆ แล้วแบ่งกันไปศึกษาหาข้อมูลหรือคำตอบ
                    ข. ในการเลือกเนื้อหา ควรให้ผู้เรียนอ่อนเป็นผู้เลือกก่อน
             6.3 สมาชิกแต่ละคนไปศึกษาหาข้อมูล/คำตอบมาให้กลุ่ม กลุ่มอภิปรายร่วมกันและสรุปผลการศึกษา
             6.4 กลุ่มเสนอผลงานของกลุ่มต่อชั้นเรียน 

        7. รูปแบบ CIRC หรือ Cooperative Integrated Reading and Composition 
        เป็นรูปแบบการเรียนการสอนแบบร่วมมือที่ใช้ในการสอนอ่านและเขียนโดยเฉพาะ รูปแบบนี้ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรมคือ กิจกรรมการอ่านแบบเรียน การสอนการอ่านเพื่อความเข้าใจ และการบูรณาการภาษากับการเรียน มีขั้นตอนดังนี้


             7.1 ครูแบ่งกลุ่มนักเรียนตามระดับความสามารถในการอ่าน นักเรียนในแต่ละกลุ่มจับคู่ 2 คน หรือ 3 คน ทำกิจกรรมการอ่านแบบเรียนร่วมกัน
             7.2 ครูจัดทีมใหม่โดยให้นักเรียนแต่ละทีมต่างระดับความสามารถอย่างน้อย 2 ระดับ ทีมทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น เขียนรายงาน แต่งความ
        ทำแบบฝึกหัดและแบบทดสอบต่าง ๆ และมีการให้คะแนนของแต่ละทีม ทีมใดได้คะแนน 90% ขึ้นไป จะได้รับประกาศนียบัตรเป็น
        “ซุปเปอร์ทีม” หากได้คะแนนตั้งแต่ 80-89% ก็จะได้รับรางวัลรองลงมา
             7.3 ครูพบกลุ่มการอ่านประมาณวันละ 20 นาที แจ้งวัตถุประสงค์ในการอ่าน แนะนำคำศัพท์ใหม่ ๆ ทบทวนศัพท์เก่า ต่อจากนั้นครูจะกำหนดและแนะนำเรื่องที่อ่านแล้วให้ผู้เรียนทำกิจกรรมต่างๆ ตามที่ผู้เรียนจัดเตรียมไว้ให้ เช่น อ่านเรื่องในใจแล้วจับคู่อ่านออกเสียงให้เพื่อนฟังและ
        ช่วยกันแก้จุดบกพร่อง หรือครูอาจจะให้นักเรียนช่วยกันตอบคำถาม วิเคราะห์ตัวละครวิเคราะห์ปัญหาหรือทำนายว่าเรื่องจะเป็นอย่างไรต่อไป
            7.4 หลังจากกิจกรรมการอ่าน ครูนำอภิปรายเรื่องที่อ่านโดยครูจะเน้นการฝึกทักษะต่างๆ ในการอ่าน เช่น การจับประเด็นปัญหา การทำนาย 
            7.5 นักเรียนรับการทดสอบการอ่านเพื่อความเข้าใจ นักเรียนจะได้รับคะแนนเป็นทั้งรายบุคคลและทีม
            7.6 นักเรียนจะได้รับการสอนและฝึกทักษะการอ่านสัปดาห์ละ 1 วัน เช่น ทักษะการจับใจความสำคัญ ทักษะการอ้างอิง ทักษะการใช้เหตุผล 
           7.7 นักเรียนจะได้รับชุดการเรียนการสอนเขียน ซึ่งผู้เรียนสามารถเลือกหัวข้อการเขียนได้ตามความสนใจ นักเรียนจะช่วยกันวางแผนเขียนเรื่องและช่วยกันตรวจสอบความถูกต้องและในที่สุดตีพิมพ์ผลงานออก
           7.8 นักเรียนจะได้รับการบ้านให้เลือกอ่านหนังสือที่สนใจ และเขียนรายงานเรื่องที่อ่านเป็นรายบุคคล โดยให้ผู้ปกครองช่วยตรวจสอบพฤติกรรมการอ่านของนักเรียนที่บ้านตามแบบฟอร์มที่ให้ 

        8. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบคอมเพล็กซ์ (Complex Instruction)
        พัฒนาขึ้นโดย เอลิซาเบธ โคเฮน และคณะ (Elizabeth Cohen) เป็นรูปแบบที่คล้ายคลึงกับรูปแบบ จี. ไอ. เพียงแต่จะสืบเสาะหาความรู้
        เป็นกลุ่มมากกว่าการทำเป็นรายบุคคล นอกจากนั้นงานที่ให้ยังมีลักษณะของการประสานสัมพันธ์ระหว่างความรู้กับทักษะหลายประเภท
        และเน้นการให้ความสำคัญกับผู้เรียนเป็นรายบุคคล โดยการจัดงานให้เหมาะสมกับความสามารถและความถนัดของผู้เรียนแต่ละคน ดังนั้นครูต้องค้นหาความสามารถเฉพาะทางของผู้เรียนที่อ่อน โคเฮนเชื่อว่า หากผู้เรียนได้รับรู้ว่าตนมีความถนัดในด้านใด จะช่วยให้ผู้เรียนมีแรงจูงใจในการพัฒนาตนเองในด้านอื่น ๆ ด้วย รูปแบบนี้จะไม่มีกลไกการให้รางวัล เนื่องจากเป็นรูปแบบที่ได้ออกแบบให้งานที่แต่ละบุคคลทำ สามารถสนองตอบความสนใจของผู้เรียนและสามารถจูงใจผู้เรียนแต่ละคนอยู่แล้ว


        ผลที่ผู้เรียนจะได้รับ 
        ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้เนื้อหาสาระด้วยตนเองและด้วยความร่วมมือและช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ รวมทั้งได้พัฒนาทักษะกระบวนการต่าง ๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะการประสานสัมพันธ์ ทักษะการคิด

        • ช่วยพัฒนาความเชื่อมั่นของนักเรียน
        • ช่วยพัฒนาความคิดของนักเรียน
        • ช่วยยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน
        • ช่วยส่งเสริมบรรยากาศในการเรียน
        • ส่งเสริมทักษะการทำงานร่วมกัน
        • ทำให้นักเรียนมีวิสัยทัศน์หรือมุมมองกว้างขึ้น
        • ช่วยการปรับตัวในสังคมดีขึ้น

        การวัดและการประเมินผล
        การเรียนรู้ร่วมกันจะต้องมีผลงานหรือผลสัมฤทธิ์ทั้งรายบุคคลและรายกลุ่มที่สามารถตรวจสอบและวัดประเมินได้



        สิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ 

        - ความพร้อมด้านห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์เทคโนโลยี รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ หนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ที่เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอน ช่วยให้นักเรียนสามารถค้นคว้า ดำเนินกิจกรรมไปอย่างสะดวก เรียบร้อย และบรรลุเป้าหมาย รวมไปถึงการแลกเปลี่ยน ติดตาม และเสนอแนะจากผู้สอน


        อ้างอิงข้อมูลจาก : เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563
        http://aonantapi.blogspot.com/2018/02/6.html
        https://sites.google.com/site/hxngnithessndeiyw/thekhnikh-kar-sxn-baeb-rwm-mux-cad-klum
        https://www.gotoknow.org/posts/209790
        https://sites.google.com/site/prapasara/1-5


        ตัวอย่างการจัดการเรียนการสอนแบบร่วมมือโดยใช้เทคนิค GI

        หมายเลขบันทึก: 677670เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2020 14:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2020 20:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


        ความเห็น (0)

        ไม่มีความเห็น

        ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
        พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
        ClassStart
        ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
        ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
        ClassStart Books
        โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท