พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรโมภาส มหาวชิราวุธ ราชปูชนียบพิตร วัดพระปฐมเจดีย์วรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม และ พระร่วงโรจนฤทธิ์ศรีอินทราทิตย์ วัดมหาโลก จังหวัดสระบุรี..(1)


พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรโมภาส มหาวชิราวุธ ราชปูชนียบพิตร

วัดพระปฐมเจดีย์วรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม

และพระร่วงโรจนฤทธิ์ศรีอินทราทิตย์ วัดมหาโลก จังหวัดสระบุรี

..............

ตอนที่ 1 
พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรโมภาส มหาวชิราวุธ ราชปูชนียบพิตร  วัดพระปฐมเจดีย์วรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม

ก่อนอื่นต้องขอ ออกตัวก่อนนะครับว่า...ผู้เขียนนั้น..ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ แต่ด้วยความสนใจ ในองค์พระร่วงโรจนฤทธิ์  ซึ่งสมัยนั้นผู้เขียนยังเป็นเด็กอยู่ และครอบครัวได้ตั้งรกรากอยู่ที่จังหวัดนครปฐม  นานร่วม 10 ปี   ผู้เขียน ยังคงจำภาพที่ครอบครัวไปกราบพระร่วงฯ และวิ่งเล่นอยู่รอบองค์พระปฐมเจดีย์ฯ ได้จนกระทั่งทุกวันนี้.. รูปที่1

จากความสนใจในพระร่วงโรจนฤทธิ์ครั้งนี้ จึงหาคำตอบให้กับตัวเอง พบว่า...องค์พระร่วงโรจนฤทธิ์ ฯ ที่จังหวัดนครปฐมนั้น มีชื่อจริงว่า.. "พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรโมภาส มหาวชิราวุธ ราชปูชนียบพิตร" แต่ประชาชนโดยทั่วไปเรียกพระองค์ว่า.. "หลวงพ่อพระร่วง" หรือ "พระร่วงโรจนฤทธิ์"

จากค้นหาข้อมูลที่มาที่ไปขององค์พระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ  จังหวัดนครปฐม มีข้อมูลโดยสังเขปดังนี้  องค์พระร่วงโรจนฤทธิ์ ก่อนที่จะมาเป็นองค์พระแบบนี้.. รูปที่2


ตามประวัติศาสตร์ เมื่อปีพ.ศ. 2451  ได้มีการขุดพบพระเศียร พระหัตถ์ข้างหนึ่ง และพระบาทของพระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ ซึ่งสันนิษฐานได้ว่า เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ ศิลปะสมัยสุโขทัย..รูปที่3

การขุดพบครั้งนี้ ขุดพบได้ที่วัดเขาใหญ่ จ.สุโขทัย (ปัจจุบันวัดเขาใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ต.ศรีสัชนาลัย อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย).. รูปที่4


ช่วงเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราช.. รูปที่ 5 ได้เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ และได้ทอดพระเนตรพระพุทธรูปโบราณองค์นี้ ที่มีลักษณะงดงามต้องพระราชหฤทัย จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญลงมากรุงเทพฯ แล้วให้ช่างปั้นสถาปนาขึ้นมาบริบูรณ์เต็มพระองค์ และโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีเททองหล่อ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2456 ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ โดยมีผู้ออกแบบ คือ กรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์ (พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร)..รูปที่ 6


หลังจากนั้น ได้อัญเชิญมาสู่จังหวัดนครปฐม เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2457 โดยทางรถไฟ ประดิษฐาน ณ พระวิหารด้านทิศเหนือ องค์พระปฐมเจดีย์ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จนถึงปัจจุบัน  เมื่อครั้งอัญเชิญพระร่วงฯ มาประดิษฐานยังองค์พระปฐมเจดีย์ จำเป็นต้องแยกชิ้นมาประกอบเข้าด้วยกันที่จังหวัดนครปฐม โดยแล้วเสร็จเป็นองค์สมบูรณ์ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2458  ..รูปที่ 7

ภาพเหตุการณ์เก่า ๆ เหล่านี้ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงภาพของครอบครัว เมื่อครั้งยังเด็ก ซึ่งได้มีโอกาสกราบไหว้ และถ่ายรูปอยู่บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ และหน้าองค์พระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ  เพื่อสร้างบุญกุศลกับครอบครัว เมื่อสมัยก่อนนั้น..รูปที่ 8



จากการดูภาพพระเศียรขององค์พระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ ทำให้ผู้เขียน เห็นความงามจากพระพักตร์ของพระองค์ท่าน จึงนึกเปรียบเทียบ พระเศียรของพระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ ที่ถูกค้นพบ เมื่อปี พ.ศ. 2451 ที่วัดเขาใหญ่ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย  จากหลักฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์ พบว่า เป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย  ตัวอย่างของพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย เช่น พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก หรือ พระร่วงทองคำ วัดมหรรณพารามวรวิหาร   กรุงเทพฯ  หรือ พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร   วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร  กรุงเทพฯ เป็นต้น เป็นลักษณะพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยสุโขทัย เท่าที่ผู้เขียนศึกษา  พบว่าจะมี พระพักตร์รูปไข่(หน้ารูปไข่) พระขนงโก่ง(คิ้วโก่ง) พระนาสิกงุ้ม(จมูกงุ้ม) พระโอษฐ์(ปาก)ยิ้มเล็กน้อย พระเศียร(ศีรษะ)สมส่วนกับพระศอ(คอ) แต่เมื่อสืบค้นโดยละเอียดแล้วกลับพบว่า  พระพุทธรูปที่สร้างสมัยสุโขทัยนั้นอาจแบ่งได้ เป็น 4 หมวดด้วยกัน คือ 1)หมวดใหญ่ 2) หมวดกำแพงเพชร 3)หมวดพระพุทธชินราช และ4)หมวดเบ็ดเตล็ด..  รูปที่ 9

ผู้เขียนจึงนำภาพพระเศียรของพระร่วงโรจนฤทธิ์ ที่ถูกค้นพบ เมื่อปี พ.ศ. 2451 มาเปรียบเทียบกับรูปแบบพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยสุโขทัยตาม 4 หมวดได้แก่ หมวดใหญ่ หมวดกำแพงเพชร หมวดพระพุทธชินราช และหมวดเบ็ดเตล็ด  เมื่อเปรียบเทียบพระเศียรของพระองค์ท่านแล้ว พบว่า มีความคล้ายกับ หมวดกำแพงเพชร มากที่สุด..รูปที่10 

มองกี่ครั้งพระเศียรที่ถูกค้นพบ ก็คล้ายกับพระพุทธรูปสุโขทัย หมวดกำแพงเพชร เป็นอย่างยิ่งและจากการอ่านข้อมูลพระพุทธรูปหมวดกำแพงแล้วพบครับว่า..เป็นพระพุทธรูปที่ถูกค้นพบน้อยมาก ในรายละเอียดข้อมูลที่บันทึกยังบอกอีกว่า  “ศิลปะสุโขทัย เป็นศิลปะรูปแบบใหม่ อันเป็นเอกลักษณ์ มีความเฉพาะตัว , อ่อนช้อย , งดงาม อีกทั้งยังเป็นงานศิลป์ที่เต็มไปด้วยความลึกล้ำ สะท้อนให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจ , สังคม , การเมืองในอาณาจักรสุโขทัยได้อย่างดี  แม้จะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย ไม่ว่าใครเห็นก็ต้องจำแนกได้ อันดูจากความเป็นเอกลักษณ์ที่ผ่านการกลั่นกรองมาเป็นอย่างดี จนนักปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญงานไทยโบราณ หลายท่านได้กล่าวตรงกันว่า ศิลปะสุโขทัยนั้น  จัดเป็นศิลปะที่มีความสวยงามที่สุด อีกยุคหนึ่งของชนชาติไทย ซึ่งควรอนุรักษ์สืบต่อไปอนาคต”  ผู้เขียนอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว จึงเข้าใจถึงพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 สมัยที่พระองค์ท่านได้ทอด พระเนตร พระเศียรพระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ ที่ถูกค้นพบ เมื่อปี พ.ศ. 2451 แล้วต้องพระราชหฤทัย เป็นอย่างยิ่ง ด้วยเพราะความงดงามดังกล่าวที่ผู้เขียนอ้างถึงนี้เองครับ แม้กระทั่งตัวผู้เขียนเองก็อดชื่นชมและหลงใหลความงามของพระพักตร์องค์พระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ  ไม่ได้ด้วยเช่นกัน

จากการศึกษาอีกข้อมูลเพิ่มเติม  พบว่า พระพุทธรูปที่สร้างในสมัยสุโขทัย ที่งดงามและเป็นที่เลื่อมใส ศรัทธา เคารพสักการะของประชาชนชาวไทยยังมีอีกหลายองค์ และหนึ่งในนั้นก็คือ พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลกซึ่งเป็นพระพุทธรูปสุโขทัย ในหมวดพระพุทธชินราช ที่มีประวัติในการสร้างที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1900 ตรงกับรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย..รูปที่ 11


หากนับเวลาการสร้างพระพุทธชินราช จากปี พ.ศ. 1900 จนกระทั่งถึงปีนี้(พ.ศ.2563) ผู้เขียนคำนวณแล้วพบว่า มีอายุยาวนานมากถึง 663 ปี  ขณะเดียวกันผู้เขียน  นำข้อมูลดังกล่าวมาเปรียบเทียบความเก่าแก่ของพระพุทธรูปองค์อื่นที่สร้างในสมัยสุโขทัยช่วงเวลาใกล้เคียงกันครับ เนื่องจากพระพุทธชินราชนั้น เป็นพระพุทธรูป หมวดหนึ่งใน 4 หมวดใหญ่ ที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยมีหลักฐานการสร้างที่ชัดเจนที่สุด  ผู้เขียนจึงนำการค้นพบ พระเศียรพระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2451  ซึ่งคาดว่า เป็นพระพุทธรูปหมวดหมวดกำแพงเพชร ที่สร้างในสมัยสุโขทัยเช่นเดียวและยังมีพระพุทธรูปในหมวดกำเพชร ที่ผู้เขียน สนใจเพิ่มอีก 2 องค์เช่นกัน นั่นก็คือพระร่วงทองคำ วัดมหรรณพารามวรวิหาร  กรุงเทพ ฯ (จากประวัติการสร้าง สร้างในรัชสมัยใดไม่ปรากฏ แต่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี)  และพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร   วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร  กรุงเทพฯ  (มีประวัติการสร้างเมื่อใดยังไม่แน่ชัด )  เชื่อกันว่าเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปสำคัญของวัดมหาธาตุ สุโขทัย ดังที่ปรากฏในหลักศิลาจารึกว่า "วัดมหาธาตุ กลางเมืองสุโขทัย มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารส มีพระพุทธ รูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม" ซึ่งพิจารณาทั้งตามหลักฐานอื่นและเหตุผลประกอบแล้ว พระพุทธรูปองค์นี้ น่าจะเป็น พระพุทธรูปทองคำองค์ดังกล่าว เพราะปริมาณทองคำแท้นี้ รวมถึงขนาดพระพุทธรูปนี้ ย่อมเกินกว่าที่สามัญชนทั่วไปพึงสร้างเป็นสมบัติ  และจากการสังเกตพระพักตร์ของพระพุทธรูปแล้ว ผู้เขียนเห็นว่า น่าจะเป็น พระพุทธรูปในหมวดกำแพงเพชร เช่นเดียวกับ พระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ .. รูปที่12


จากการอ่านและศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์การสร้างพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ทั้งพระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรโมภาส มหาวชิราวุธ ราชปูชนียบพิตร วัดพระปฐมเจดีย์วรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม  พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร   เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ และพระร่วงทองคำ วัดมหรรณพารามวรวิหาร  เขตพระนคร กรุงเทพ ฯ นั้นไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่ชัดเจน แต่สันนิษฐานได้ว่า สร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีทั้ง  3 องค์  ซึ่งผู้เขียนก็เชื่อเช่นนั้นนะครับ  เพราะจากลักษณะของพระพักตร์แล้ว มีความคล้ายกันมาก นั่นคือเป็นพระพุทธรูปในหมวดกำแพงเพชร ที่สร้างในสมัยสุโขทัย   และคาดว่าจะจะมีอายุการสร้างที่ใกล้เคียงกันมาก สามารถประมาณอายุการสร้างได้ นั่นคือน่าจะมีอายุการสร้างใกล้เคียงกับพระพุทธชินราช  วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารจังหวัดพิษณุโลก ที่สร้างขึ้นในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย ที่มีลักษณะของพระพักตร์อยู่ในหมวดพระพุทธชินราช มีอายุการสร้างประมาณ 663 ปี (นับจนถึง ปีพ.ศ.2563 ที่ผู้เขียนศึกษาข้อมูล)

                                   

มาถึงตรงนี้แล้ว  ผู้เขียนอดประทับใจในพระพักตร์ของพระพุทธรูปในหมวดกำแพงเพชร สมัยสุโขทัย ไม่ได้ครับว่า  พระพักตร์ของพระองค์ท่านนั้น งดงาม  เป็นงานพุทธศิลป์ที่ เมื่อเพ่งมองพระพักตร์ของท่านแล้ว เกิดความศรัทธา และน่าเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่งครับ  งานพุทธศิลป์สุโขทัยเมื่อสมัยกว่า 600 ปีที่ผ่านมานั้น มองแล้วช่างลุ่มลึก ละเอียดอ่อนมากจริง ๆ เลยนะครับ

องค์พระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ มีขนาดความสูงเมื่อวัดจากพระบาทถึงพระเกศราว 12 ศอก 4 นิ้ว หรือประมาณ 7.42 เมตร เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ  หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ประทับยืนอยู่บนฐาน โลหะทองเหลืองลายบัวคว่ำบัวหงาย และบริเวณใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ ได้บรรจุพระราชสรีรางคารในรัชกาลที่ 6 ไว้ด้วย..รูปที่13


จากคำบอกเล่า และปรากฏการณ์มหัศจรรย์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากองค์พระปฐมเจดีย์ และองค์พระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ นั้น มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หลายต่อหลายเหตุการณ์ เช่น เปิดตำนาน "องค์พระปฐมเจดีย์" กับ ปาฏิหาริย์ความศักดิ์สิทธิ์ที่ปรากฏเหตุอัศจรรย์ต่อพระมหากษัตริย์ 3 รัชกาล แห่งราชวงศ์จักรี  ในสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงเผชิญกับปาฏิหาริย์ขององค์พระปฐมเจดีย์อยู่หลายครั้ง ถึงกับรับสั่งว่า "เหมือนผีหลอก" หลังจากนั้นก็ปรากฏเหตุอัศจรรย์ปาฏิหาริย์อยู่หลายครั้ง แต่ก็เก็บเงียบไว้ จนกระทั่งปาฏิหาริย์นี้ได้เผชิญกับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งยังดำรงพระยศ สยามมกุฎราชกุมาร แปรพระราชฐานมาประทับที่พระราชวังสนามจันทร์ ทรงพบปาฏิหาริย์แห่งองค์พระปฐมเจดีย์เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั้งองค์ ในวันที่ 24 ตุลาคม 2452 และทรงมีจดหมายเหตุกราบถวายรายงานต่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง(รัชกาลที่5) ความว่า "...ด้วยเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม ร.ศ.128 ตรงกับวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 11 เวลาดึก 2 ยามกับ 45 นาที ข้าพระพุทธเจ้าได้นั่งเล่นอยู่ที่เรือนสนามจันทร์ มีข้าราชการมหาดเล็กอยู่ด้วยจำนวนมาก เห็นองค์พระปฐมเจดีย์มีรัศมีสว่างพราวออกทั้งองค์ ดูประหนึ่งว่าองค์พระปฐมเจดีย์ ด้านตะวันตกคือด้านที่เล็งกับสนามจันทร์ทาด้วยฟอสฟอรัสพราวเรือง ตั้งแต่คอระฆังลงมาหน่อยหนึ่ง ตลอดจนยอดมงกุฎ แลยังซ้ำมีเป็นรัศมีพวยพุ่งขึ้นสูงอีกประมาณ 3-4 วา ปรากฏอยู่อย่างนี้ 17 นาที จากนั้นก็ดับหายไป เหลือสว่างอยู่แค่ข่องมะหวดลงมาอีกกึ่งนาที ก็ดับหายหมด จนมืดแม้จะมองแต่รูปองค์พระก็ไม่เห็นถนัด ข้าพระพุทธเจ้าได้นับผู้ที่เห็นขณะนั้น ตลอดจนทหารที่อยู่ยามสี่คนเป็นจำนวน 69 คน"

                และจากคำบอกเล่าของชาวบ้าน ที่มากราบสักการบูชาองค์พระร่วงโรจนฤทธิ์ ได้บอกไว้ว่า องค์พระร่วงฯกว่าจะมาเป็นองค์สมบูรณ์นั้น ต้องต่อแต่ละส่วนเข้าด้วยกัน เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ดังนั้น คาถาขององค์พระร่วงฯ จึงเป็นคาถา ที่ต่อชะตา ต่อชีวิต ต่อพระพุทธศาสนา เป็นคาถามหามงคล แตกดับแล้วรวมกันเป็นหนึ่ง  แยกกันแล้วรวมกันเป็นมงคล  การอธิษฐานต่อหน้าองค์พระร่วงฯ จะทำให้สิ่งที่ขาด จะมารวมกัน มาสามัคคีกัน ด้วยสามัคคีธรรม น้อมนำสิ่งเป็นมงคล มหามงคลสู่ตัวเอง

@ คาถาพระร่วงฯ  โดย พระครูภาวนาโสภณ วัดป่าธรรมโสภณ จ.ลพบุรี

อิมัง                  สัจจะวาจัง     อธิษฐามิ

ทุติยัมปิ อิมัง     สัจจะวาจัง     อธิษฐามิ

ตะติยัมปิ  อิมัง   สัจจะวาจัง     อธิษฐามิ

แล้วอธิษฐานขอบารมี พระร่วงโรจนฤทธิ์ จงคุ้มครอง  ขอบารมีทวยเทพเทวา จงประทานพร

ขอมงคลนี้จงเกิดแก่ ประเทศชาติ พระพุทธศาสนา และถวายแด่องค์พระมหากษัตริย์ รวมถึงตัวข้าพเจ้าตลอดกาลนานเทอญ.... สาธุ สาธุ สาธุ

**************

@ คาถาบูชาพระร่วงโรจนฤทธิ์  วัดวัดพระปฐมเจดีย์วรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม

....ว่านะโม 3 จบ….

พุทธัง    อาราธะนัง    กะโรมิ

ธัมมัง     อาราธะนัง    กะโรมิ

สังฆัง    อาราธะนัง     กะโรมิ

ติณณัง    ระตะนานัง    อะนุภาเวนะ

อิมัง        สัจจะวาจัง     อะธิฏฐามิ

อิมัสมิง    ปะธะมะเจติเย   ปะติฏิฐิตัง

อิทธิ      โรจะนะ    พุทธะรูปัง

อะหัง    วันทามิ      สัพพะทา

สัพพะลาภา   ภะวันตุ    เม

***********

ยังมีต่อ..(2)

บรรณานุกรม

1. ประวัติพระเครื่องเมืองนครปฐม http://skeereewichien.blogspot.com/2011/04/blog-post.html

2.  วัดเขาใหญ่  https://thailandtourismdirectory.go.th/th/info/attraction/detail/itemid/422

3. พระร่วงโรจนฤทธิ์   https://th.wikipedia.org/wiki/พระร่วงโรจนฤทธิ์

4. พระพุทธชินราช   https://th.wikipedia.org/wiki/พระพุทธชินราช

5. พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย     https://www.orientbuddha.org/พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย/

6.  พระร่วงทองคำ    https://th.wikipedia.org/wiki/พระร่วงทองคำ

7. พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร   https://th.wikipedia.org/wiki/พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร

8. เปิดตำนาน องค์พระปฐมเจดีย์ กับ ปาฏิหาริย์ความศักดิ์สิทธิ์  https://www.tnews.co.th/religion/437684/เหมือนผีหลอก






    ความเห็น (0)

    ไม่มีความเห็น

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท