ความหมาย " การจัดการายกรณีในงานสังคมสงเคราะห์"


การจัดการรายกรณีในงานสังคมสงเคราะห์มีความหมายอย่างไรนั้นคงเป็นคำถามที่หลายคนๆอยากทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้น เมื่อได้ค้นคว้าและทบทวนแล้วก็พบว่ามีนิยามความหมายที่หลากหลายดังนี้

Karla Krogrud Miley และคณะ (2004, p. 355) ได้ค้นคว้าและให้ความหมายของการจัดการรายกรณีทางสังคมสงเคราะห์ไว้ว่า “บริการการจัดการรายกรณีเป็นการส่งมอบบริการ โดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือทีม จัดตั้ง รวบรวม ประสานและบำรุงรักษาเครือข่าย ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ที่ให้บริการช่วยเหลือ และออกแบบบริการเพื่อให้ผู้ใช้บริการที่มีความต้องการจำเป็น (needs) ที่ซับซ้อน ได้เข้าถึงแหล่งทรัพยากร จนกระทั่งสามารถทำหน้าที่ทางสังคมได้อย่างเหมาะสม” ผู้จัดการรายกรณีต้องทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพเพื่อจัดการการให้บริการสำหรับผู้ใช้บริการเฉพาะราย ผู้จัดการรายกรณีจะต้องเป็นผู้ค้นหา สนับสนุน และสร้างความมั่นใจว่าผู้ใช้บริการในระบบการให้บริการจะได้รับบริการ การบำบัดรักษา การดูแล รวมทั้งโอกาสต่าง ๆ เขาสมควรได้รับรับตามสิทธิ ในการกลับมาทำหน้าที่ทางสังคมได้อย่างเหมาะสม (Weil & Karls, 1989, p. 1)

Nancy Summers (2001) ได้ให้ความหมายของการจัดการรายกรณีว่า เป็นกระบวนการประเมินสภาพการณ์องค์รวมของผู้ใช้บริการ โดยสามารถระบุปัญหา และจัดการกับระบบปัญหาและความต้องการจำเป็นอย่างครบถ้วนของผู้ใช้บริการ พร้อมกับดึงศักยภาพ หรือจุดแข็ง หรือความสนใจของผู้ใช้บริการ ที่สามารถนำมาแก้ไขปัญหา เพื่อนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งจะเป็นการป้องกันปัญหามิให้ลุกลามจนต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นในอนาคต

สมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา (National Association of Social Workers-NASW) ได้ให้ความหมายว่า การจัดการรายกรณีทางสังคมสงเคราะห์ เป็นวิธีการให้บริการความช่วยเหลือที่นักสังคมสงเคราะห์ประเมินความต้องการจำเป็นของผู้ใช้บริการและครอบครัว แล้วประสานความร่วมมือการให้บริการ ติดตาม ประเมินผล และพิทักษ์สิทธิ เพื่อให้ได้มาซึ่งบริการหรือทรัพยากรที่จำเป็นต่อการคลี่คลายปัญหาที่ซับซ้อน (NASW, 1992, p. 3)

รศ. อภิญญา เวชยชัย (2551:3-4 ) ได้ให้ความหมายของการจัดบริการรายกรณีไว้ในคู่มือการจัดอบรมผู้จัดการบริการทางสังคมในชุมชน (Community Case Manager Training Manual) ว่า Case Management หมายถึงการบริหารจัดการให้เกิดการบริการที่มีคุณภาพ มีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันให้การทำงานบรรลุผลสำเร็จ และผู้ใช้บริการได้รับการช่วยเหลือแก้ปัญหาของตนได้ รวมทั้งได้พัฒนาศักยภาพตนเองเข้าสู่วิถีชีวิตที่ปกติที่สุด

กล่าวโดยสรุป การจัดการรายกรณีทางสังคมสงเคราะห์ หมายถึง วิธีการให้บริการที่นักสังคมสงเคราะห์ประเมินความต้องการจำเป็นของผู้ใช้บริการและครอบครัว ประสานความร่วมมือ ดำเนินการช่วยเหลือ จัดสรรทรัพยากรจากระบบบริการ ติดตามประเมินผล ทั้งในส่วนของผู้ใช้บริการและระบบผู้ให้บริการจากหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนพิทักษ์สิทธิ เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรที่จำเป็นต่อการคลี่คลายปัญหาที่ซับซ้อนของผู้ใช้บริการ ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ติดเชื้อ HIV มีสถานภาพเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว (single parent) มีบุตร 2 คน คนแรกอายุ 6 ขวบ แต่ยังไม่ได้รับการศึกษา คนที่สองอายุ 3 ขวบ มีภาวะสมาธิสั้น ผู้ป่วยมีรายได้จากการประกอบอาชีพเก็บของเก่าขาย มีรายได้ไม่พอเพียงกับการเลี้ยงดูบุตร ประกอบกับมีโรคจิตเวช จึงเลี้ยงดูบุตรอย่างไม่เหมาะสม ฉะนั้น ในการแก้ไขปัญหากรณีศึกษารายนี้ จึงต้องใช้บริการและทรัพยากรที่นอกเหนือจากการให้บริการของนักสังคมสงเคราะห์ในโรงพยาบาล ผู้จัดการรายกรณีจึงต้องประสานเชื่อมโยงทรัพยากรจากแหล่งต่าง ๆ มาเพื่อแก้ไขปัญหาและพิทักษ์สิทธิของกรณีศึกษารายนี้

หมายเลขบันทึก: 676418เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2020 10:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มีนาคม 2020 10:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท