กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จันทบุรี


กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จันทบุรี

``` ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์พระครูสุวรรณโพธิวรธรรม (มนัส ขนฺติธมฺโม) พระนักพัฒนา เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทองผู้ก่อตั้งกลุ่มองค์กรการเงินชุมชนชื่อกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จันทบุรีเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการทำกิจกรรมทางสังคมสงเคราะห์ของพระสงฆ์ พบว่าพระครูสุวรรณโพธิวรธรรมจัดตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์เนื่องจาก “ เห็นชาวบ้านทุกข์ พระก็ต้องช่วยหาวิธีดับทุกข์ให้” เมื่อครั้งชาวบ้านได้นิมนต์มาก่อตั้งสำนักสงฆ์โพธิ์ทองขึ้นในชุมชนชาวสวนจังหวัดจันทบุรีและได้เห็นชาวบ้านถูกเอารัดเอาเปรียบในเรื่องการกู้ยืมเงินจากนายทุนนอกระบบหรือพ่อค้าคนกลางที่ขูดรีดราคาสินค้าเกินจริง จึงพยามหาวิธีช่วยเหลือชาวบ้านด้วยการศึกษาการดำเนินงานกลุ่มการออมทรัพย์แบบพัฒนาครบวงจร ของครูชุบ ยอดแก้ว ที่จังหวัดสงขลา และกลุ่มสัจจะออมทรัพย์จังหวัดตราด ซึ่งดำเนินการโดยพระอาจารย์ สุบิน ปณีโต แล้วนำแนวคิดและวิธีการดำเนินงานของสองกลุ่มนี้มาประยุกต์เป็นแนวคิดในการออมเงินและการกู้ยืมเงินออมในหมู่สมาชิกของกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จันทบุรี 

          พระครูสุวรรณโพธิวรธรรม (มนัส ขนฺติธมฺโม)ได้จัดตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จันทบุรีซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่ศาลาบ้านพลูยาง ตำบลสีพยา อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เมื่อครั้งที่ได้ไปปาฐกถามธรรมเนื่องในวันทำบุญศาลากลางบ้าน ด้วยการหยิบยกเอาหลักฆราวาสธรรมและพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง มาแสดงจนเป็นที่ศรัทธาของพุทธศาสนิกชนในวันนั้นและได้เชิญชวนตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ขึ้นเพื่อสร้างฐานกองทุนการเงินชุมชนที่มีการออม การกู้ยืม และนำดอกผลที่ได้มาเป็นสวัสดิการให้แก่สมาชิกเมื่อเจ็บป่วยและเสียชีวิต เริ่มต้นตั้งกลุ่มมีสมาชิกเริ่มต้นจำนวน 108 คน มีเงินออม 6,810 บาท พร้อมกับมีการเริ่มต้นการบริหารงานของกลุ่ม โดยการเลือกชาวบ้านเป็นคณะทำงานบริหารกลุ่มในรูปแบบของคณะกรรมการ และค่อยๆ ขยายกลุ่มไปตามวัดต่างๆ จนกระทั่งปัจจุบันเป็นระยะเวลา 20 ปี กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จันทบุรีมีจำนวนสมาชิก 79,494 คน จำนวนกลุ่มกลุ่มสัจจะ 167 ดำเนินกิจกรรมอยู่ในวัด 88 วัด มีเงินหมุนเวียนในระบบของกลุ่มสัจจะฯประมาณ 1,700,000,000 บาท(ข้อมูลเดือนมิถุนายน 2560) ขยายครอบคลุมทั้งจังหวัดและกลายเป็นองค์กรการเงินฐานรากสำคัญให้แก่ประชาชนในชุมชนโดยใช้หลักธรรมในศาสนาพุทธ หลักเศรษฐศาสตร์พอเพียงและหลักประชาธิปไตยของสมาชิกชุมชนนั้นๆ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของในการสร้างความมั่นใจและแรงศรัทธาให้ดำรงอยู่ภายในกลุ่มสมาชิก โดยมีพระภิกษุเป็นที่ปรึกษา ช่วยแก้ปัญหาในเวลาที่จำเป็นและได้พยายามจัดกิจกรรมที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาจิตใจตลอดจนการดำเนินชีวิตตามวิถีแบบชาวบ้านได้

กลุ่มเป้าหมาย:กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จันทบุรีเป็นองค์กรการเงินพึ่งตนเองของชุมชนที่มีกลุ่มเป้าหมายคือสมาชิกชุมชนตั้งแต่เด็กจนกระทั่งผู้สูงอายุ สมาชิกเหล่านี้รวมกันจัดตั้งกลุ่มให้บริการออมเงินและกู้ยืมเงินอย่างเป็นระบบของจิตอาสาโดยใช้วัดในชุมชนเป็นศูนย์กลางของการทำกิจกรรม นอกจากกลุ่มเป้าหมายในชุมนและยังได้เชื่อมโยงเป็นกลุ่มวัดในระดับจังหวัดจันทบุรี```

กิจกรรม : กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จันทบุรีใช้กิจกรรมการออมเงินของสมาชิกเป็นฐานสำคัญขอการดำเนินกิจกรรมอื่นๆที่ต่อเนื่องกับการออมเงิน เมื่อตั้งกลุ่มได้แล้วแต่ละกลุ่มจะนัดหมายให้สมาชิกกลุ่มมาประชุมกันเพื่อดำเนินกิจกรรมการออม กู้ยืม และคืนเงินกู้เดือนละครั้ง ครั้งละครึ่งวันหรือหนึ่งวันเพื่อให้ภารกิจไม่เป็นภาระต่อเนื่องเพราะสมาชิกทุกคนต่างมีภารกิจของตนเองและครอบครัว การทำงานส่วนรวมจึงต้องรวดเร็วให้บริการออมเงิน คืนเงินและปล่อยกู้ทั้งหมดอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ภายในวันเดียว 

          กลุ่มสัจจะฯแต่ละกลุ่มมีจำนวนสมาชิกแตกต่างกันไปขึ้นอยู่ความสนใจของคนในชุมชนที่สมัครเข้ามาเป็นสมาชิก กลุ่มสัจจะฯขนาดทั่วไปมักจะมีสมาชิกประมาณ หนึ่งร้อย หรือ สองร้อยคน แต่กลุ่มขนาดใหญ่จะมีสมาชิก 2,000 คน ในวันนัดหมายของกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ของแต่ละกลุ่มนั้นจต้องเป็นวันที่กำหนดแน่นอนเช่นวันที่ 5 ของทุกเดือน สมาชิกกลุ่มจะนำเงินมาออมหรือหากใครที่กู้ยืมไปแล้วต้องนำเงินมาคืนตามจำนวนที่กำหนดไว้ในแต่ละเดือน ส่วนสมาชิกที่เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตนำเอกสารหลักฐานมารับเงินสวัสดิการช่วยเหลือตามข้อกำหนของกลุ่ม 

       พระสงฆ์ที่เป็นที่ปรึกษาของกลุ่มนั้นๆจะมาเป็นประธานการประกอบกิจกรรมทำบุญตามพิธีกรรมทางศาสนาและฝ่ายประชาชนเมื่อทำบุญตักบาตรเสร็จก็ดำเนินกิจกรรมกลุ่มโดยมีคณะกรรมการเป็นผู้ทำงานและตรวจสอบความถูกต้องด้านการเงินทั้งการกู้ การออม การคืนเงินกู้ และสวัสดิการ การประชุมดำเนินกิจกรรมการออมและการกู้ยืมของกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์มักจะใช้พื้นที่หรือศาลาอเนกประสงค์ของวัดในชุมชนนั้นๆเป็นสถานที่ดำเนินกิจกรรม 

      บรรยากาศภายในวัดเริ่มคึกคักตั้งแต่เช้าตรู่ กรรมการของกลุ่มจะตั้งโต๊ะ เก้าอี้สำหรับนั่งทำงานเป็นแถวยาวและแบ่งสัดส่วนของแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน สมาชิกกลุ่มจะทยอยเข้ามาทำบุญใส่บาตรพระสงฆ์ในวัดและแวะมาออมเงิน หรือจ่ายเงินกู้และฟังการประชุมชี้แจงหรือฟังข่าวประชาสัมพันธ์ของคณะกรรมการ บรรยากาศภายในศาลาการประชุมจะเต็มไปด้วยรอยยิ้ม การทักทาย เสียงพูดคุยสอบถามชีวิตครอบครัวและผลผลิตการเกษตร เพราะส่วนใหญ่ของสมาชิกกลุ่มสัจจจะมักเป็นชาวสวน ชาวนา และการกู้ยืมเงินส่วนใหญ่ก็จะเป็นการนำไปใช้ลงทุนในการทำการเกษตร หรือเมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนในครอบครัว ส่วนภายนอกศาลาจะมีแม่ค้า พ่อค้านำสินค้ามาขายให้กับสมาชิก เมื่อกรรมการกลุ่มสัจจะฯรวบรวมเงินออมและกู้ส่งคืนได้ครบทั้งหมดแล้วจึงจะพิจารณาให้กู้ยืมตามที่มีรายชื่อของผู้ยื่นกู้รายใหม่ หากจำนวนเงินที่รวบรวมได้ไม่พอกับจำนวนที่ขอกู้ยืมจะเชิญสมาชิกที่ยื่นกู้มาพูดคุยถึงความจำเป็นของแต่ละคนและให้ตกลงกันเองว่าสมาชิกรายใดอาจขอลดจำนวนเงินกู้หรือจะเลื่อนไปกู้เดือนถัดไป แต่ถ้าหากผู้กู้ทุกคนมีความจะเป็นไม่สามารถผ่อนปรนหรือเลื่อนการกู้ได้ กรรมการจะประสานไปยังกลุ่มสัจจะฯกลุ่มวัดอื่นๆเพื่อขอยืมเงินกู้ข้ามกลุ่มให้ 

       การดำเนินงานของกลุ่มสัจจะฯจะเป็นการใช้การมีส่วนร่วมและความสัมพันธ์ของคนในชุมชนช่วยกันแก้ไขปัญหาด้วยกันเองก่อน กลุ่มจึงมักมีความเข้มแข็ง เสียสละ และคอยช่วยเหลือกันละกัน สมาชิกกลุ่มต้องมีสัจจะในการออมเงิน ยืมเงินและคืนเงินตามกำหนดทุกเดือน กลุ่มจึงสามารถคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน นอกจากกิจกรรมการออมเงินและกู้ยืมแล้วหรือต่อมามักจะถูกเรียกว่ากองทุนการเงินชุมชน สมาชิกกลุ่มยังได้รวมกลุ่มขยายกิจกรรมชุมชนดังนี้

1.ธุรกิจชุมชน โดยการจัดจำหน่ายสินค้าจำเป็นในการครองชีพและประกอบอาชีพ ซึ่งมีผลให้เกิดธุรกิจชุมชนในกลุ่มอื่นๆ ตามมา เช่น ร้านค้าชุมชนสัจจะสะสมทรัพย์วัดแสลง กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์วัดโป่งแรด

2.กิจกกรรมกองทุนพึ่งตนเอง โดยการรวบรวมเงินจากการบริจาคของกลุ่มต่างๆ และจากบุคคลภายนอก จากเงินสวัสดิการ และจากการจำหน่ายเอกสาร เข้าเป็นกองทุน เพื่อใช้จ่ายในกิจกรรมจำเป็น เช่น การสัมมนา ศึกษาดูงาน เพื่อขยายเครือข่าย ฯลฯ 

3.กลุ่มสัจจะพัฒนาการเกษตร เป็นการรวมตัวของสมาชิก จำนวน 90 กลุ่มและขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ตั้งแต่พ.ศ. 2543

4.กองทุนจุลินทรีย์เพื่อการพัฒนาเกษตรยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการเพิ่มผลผลิตที่ไร้สารพิษ และสร้างจิตสำนึกดูแลสิ่งแวดล้อมให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืนโดยการขยายพื้นที่การผลิตที่ใช้จุลินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมี ด้วยการสนับสนุนเงินแก่กลุ่มเกษตรนำร่องที่ได้รับคัดเลือก เพื่อทดลองวิธีการดังกล่าว ด้วยการสนับสนุนเงินและคืนทุนพร้อมค่าตอบแทนให้แก่กลุ่ม เมื่อได้ผลผลิตเพื่อขยายงานต่อไปในเขต (อำเภอ) ของตน 

การบริหารองค์กรและเครือข่าย กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จังหวัดจันทบรี เป็นรูปแบบการจัดโครงสร้างองค์กรที่เริ่มจากจุดเล็กๆคือกลุ่มสัจจะของแต่ละวัด ซึ่งเมื่อมีขนาดและกิจกรรมเพิ่มขึ้นก็ขยายโครงสร้างเป็นเครือข่ายเขตหรืออำเภอและจังหวัด การบริหารองค์กรชุมชนของกลุ่มสัจจะนั้นใช้หลักคิดสำคัญคือ การบริหารจากรากฐานขึ้นสู่ข้างบน เมื่อฐานรากมั่นคง เข้มแข็ง ส่วนบนเข้มแข็ง คนเข้มแข็ง ชุมชนและสังคมเข้มแข็ง ส่วนการบริหารงานกลุ่มใช้การบริหารงานแบบวันเดียวเสร็จ (One Day Stop) คือ การทำงานทุกอย่างให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว การบริหารจัดการองค์กรชุมชนการเงินที่เรียบง่ายเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมๆกันด้วยการจัดประชุมสัญจรแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อมของแต่ละชุมชนโดยมิได้ยึดติดให้วัดโพธิ์ทองเป็นศูนย์กลางของการจัดการทุกอย่างซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การใช้หลักประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของสมาชิก 

     พระมนัสขํนติธรรมโมและคณะกรรมการกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ ได้พัฒนาการบริหารจัดการกลุ่มเป็นแบบเครือข่าย 3 ระดับ ได้แก่ 

1.ระดับกลุ่มหรือระดับวัด 2.ระดับเขต และ 3.ระดับจังหวัด เพื่อให้มีการช่วยเหลือและตรวจสอบกันเป็นเครือข่ายดังรายละเอียดต่อไปนี้ 

ระดับกลุ่มหรือวัด เป็นกลุ่มระดับเริ่มต้นที่เกิดขึ้นจากผลการประชุมชี้แจงและจัดตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ซึ่งมีประชาชนในชุมชนสมัครเป็นสมาชิกเข้าร่วมกลุ่มและมีการเลือกตั้งคณะทำงานกลุ่มสัจจะฯ จากสมาชิกที่เสียสละเป็นผู้แทนช่วยเหลืองานของกลุ่มในวันจัดตั้งกลุ่ม คณะทำงานกลุ่มสัจจะมีหน้าที่บริหารจัดการการออมและการกู้ยืมเงินและสวัสดิการในการประชุมหรือดำเนินกิจกรรมกลุ่มเดือนละครั้ง คณะทำงานกลุ่มสัจจะมีวาระการบริหารจัดการกลุ่ม 1 ปี ซึ่งกลุ่มส่วนใหญ่ต้องมีกรรมการฝ่ายต่างๆ 

ระดับเขต เป็นเครือข่ายของระดับกลุ่ม/วัดในระดับอำเภอที่รวมตัวกันมาช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ภายในเขตพื้นที่หรืออำเภอ ปัจจุบันมี 7 เขต มีกรรมการมาจากผู้แทนระดับกลุ่มและมีหน้าที่จัดประชุมระดับเขตทุกเดือนโดยหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ เพื่อแลกเปลี่ยนผลการดำเนินงานของแต่ละเขตและภายในของเขตที่เป็นเจ้าภาพจะต้องรายงานระดับกลุ่ม/วัดทุกกลุ่มที่สังกัดอยู่ในระดับเขต นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ตรวจสอบบัญชีและบันทึกข้อมูลลงในคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจสอบความโปร่งใสของทุกกลุ่ม 

ระดับจังหวัด เป็นเครือข่ายของระดับเขตที่รวมกันขึ้นเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และช่วยเหลือการบริหารจัดการในภาพกว้างของทั้งระดับกลุ่มและเขตให้มีความเชี่ยวชาญ โปร่งใสและ น่าเชื่อถือ รวมทั้งเป็นคลังปัญญาในการคิดสร้างสรรค์รูปแบบบริการทางการเงินให้ตอบสนองต่อความต้องการของสมาชิกและเป็นพลังขับเคลื่อนองค์กรการเงินชุมชนในรูปแบบของกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ในระดับประเทศ ภาระหน้าที่ของกลุ่มจังหวัดที่สำคัญคือ 1) พัฒนาระบบการเงินและกรรมการกลุ่มสัจจะให้โปร่งใส ซื่อสัตย์ และพึ่งตนเองได้ 2) เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเป็นที่ปรึกษาในระดับจังหวัดและกลุ่มอื่นในประเทศที่เข้ามาศึกษาดูงาน 3)ตรวจสอบระบบบัญชีของเครือข่ายในระดับกลุ่มและระดับเขตภายในทั้งหมด 4) จัดประชุมสามัญประจำปี 

    กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จังหวัดจันทบุรี เกิดจากคณะทำงานของพระสงฆ์และสามเณร โดยมีพระครูสุวรรณโพธิวรธรรม เป็นผู้นำโดย ยึดแนวทางการมีส่วนร่วมของสมาชิกเพื่อ พัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยการใช้หลักธรรมของพระพุทธเจ้าชี้นำและสร้างความตระหนักในการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล สร้างชุมชนและสังคมให้เข้มแข็ง

หมายเลขบันทึก: 676369เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2020 14:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มีนาคม 2020 16:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท