อย่าทำให้วิกฤติโควิด-19เสียโอกาส


อย่าทำให้วิกฤติโควิด-19เสียโอกาส

21 มีนาคม 2563 

: ทีมหญ้าแห้งปากคอก [1]

การจัดหาหน้ากากอนามัย แน่นอนว่าสามารถใช้งบกลางสำรองจ่ายช่วยเหลือฉับพลันทันทีได้ โดยไม่ต้องมีในแผนฯ ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้ซักซ้อมมาตรการและการเฝ้าระวังการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ไว้ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ต่อมามีข้อสั่งการ หรือมาตรการของราชการแจ้งมาอย่างต่อเนื่องตลอดจนถึงปัจจุบัน ในหลายกรณีล้วนเกี่ยวข้องมีผลกระทบต่อท้องถิ่นโดยตรงทั้งสิ้น ทั้งการปฏิบัติในการเฝ้าระวัง การป้องกันฯ ตามแนวทาง “วิทยาการระบาด” (Epidemiology) [2] ในการป้องกันโรค (Protect)

วิกฤติต้องเป็นโอกาส

 สถานการณ์สร้างวีรบุรุษฉันใดก็ตาม ในมุมกลับการมีวิกฤติต้องเป็นประสบการณ์ที่เกิดประโยชน์ มิใช่การถล่มต่อว่าดูแคลนกันท่ามกลางสถานการณ์ที่แย่ ๆ แต่คงไม่ห้ามการติติงวิพากษ์ในเชิงสร้างสรรค์แนะนำ ด้วยวิกฤติการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ได้แพร่กระจายไปทั่วโลกแล้ว เป็นวิกฤติของโลกร่วมกันทุกชาติทุกประเทศ แน่นอนว่าเรื่องอื่นที่เคยต่อรอง โต้เถียงกับแบบไม่ยอมลดราวาศอก หรือว่า เป็นประเด็นข้อเรียกร้องที่มีมาแล้วอย่างยาวนาน “ต้องพับเก็บไว้ก่อน” อาทิเช่น ปัญหาวิกฤติฝุ่น PM 2.5 [3] ที่เจอมาแล้วในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา หรือ ปัญหาวิกฤติภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2563 ที่ถือว่าเป็น “ความแล้งสุดๆในรอบ 40 ปี” [4] ปริมาณน้ำฝนลดลงกว่าร้อยละ 30-40 หรือ ปัญหาเรื่องการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น (อปท.) ในปี 2563 นี้ หรือ ปัญหาการเรียกร้องการบริหารงานบุคคลของข้าราชการส่วนท้องถิ่น หรือ ปัญหาเรื่องการกระจายอำนาจของท้องถิ่น (เช่นจังหวัดจัดการตนเอง) [5] หรือ ปัญหาการบุกรุกป่า หรือที่ดิน สปก. หรือ ปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประเด็นมากขึ้นในช่วงนี้ หรือ ปัญหาการเรียกร้อง “แฟลชม็อบ” ของกลุ่มนักศึกษานักเรียน ฯลฯ เหล่านี้ ล้วนถูกกลบทิ้งไปหมดแล้วด้วยกระแส “โควิด-19” ที่หนักหนาสาหัสกว่า แต่ในขณะเดียวกัน กระแสเกี่ยวเนื่อง “โควิด-19” เช่น ข่าวการกักตุน “หน้ากากอนามัย” ที่มองว่าเป็นการทุจริตได้ประการหนึ่งแรงมากขึ้น [6] รวมถึงข่าวเชิงบวกสร้างขวัญกำลังเข้ามาแทน เช่น การสวดมนต์ไล่เชื้อโควิด-19 [7] หรือ การปิดเมือง (การตรวจเข้มคัดกรองคนเข้าพื้นที่ฯ) ฯลฯ เป็นต้น

กระแสรองในเรื่องเกี่ยวเนื่อง “โควิด-19” เช่น การทำหน้ากากอนามัยผ้าของ อปท. [8] การปิดสถานศึกษา [9] การปิดสถานบริการฯ [10] การงดการจัดการประชุมอบรมที่มีการรวมหมู่คนที่มีจำนวนกว่า 100 คน [11] การกักตัวกักกันกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ อปท. ไว้ 14 วัน [12] การหยุดงานของข้าราชการไม่ต้องไปทำงานช่วง 14 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลา [13] การตรวจหาเชื้อฟรีโดยหน่วยงานสถานพยาบาลของรัฐ [14] การเลื่อนวันหยุดราชการช่วงสงกรานต์ [15] มาตรการช่วยเหลือเยียวยาแก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบฯ [16] การ ปชส.ชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน ที่มิวายยังถูกกล่าวจาก IO (Information Operation) ฝ่ายตรงข้าม หรือ ผู้เห็นต่างมากมายว่า รัฐบาลมีการปกปิดข้อมูลในจำนวน ผู้ติดเชื้อ หรือจำนวนหน้ากากอนามัยที่มี หรือกล่าวหาว่ารัฐบาลทำไม่ถูกต้อง ฯลฯ  แน่นอนว่าในระยะนี้ IO ทั้งสองฝ่ายต้องยุติบทบาทลงให้สิ้น เพราะข้อมูลข่าวสารมีมาก แพร่ได้รวดเร็ว การเผยแพร่ข้อมูลภายใต้สถานการณ์วิกฤติไม่ว่าผิดหรือถูกก็ตาม ย่อมทำให้เกิดการแตกตื่น เพราะ ในสถานการณ์เช่นนี้มันมี “ความแตกตื่นเงียบ” (Silent Panic) [17] ด้วยการขาดความเชื่อมั่น ไม่เชื่อรัฐบาล มีความวิตกกังวลสูงซ่อนอยู่ ต่างคนต่างดิ้นรนแบบตัวใครตัวมัน ที่มีอยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว ฉะนั้น จึงอย่าไปเพิ่มความแตกตื่นโดยไม่จำเป็น

ภารกิจการเฝ้าระวังที่สำคัญ

นอกจากการฝึกอบรมให้ชาวบ้านรู้จักการทำหน้ากากอนามัยผ้าไว้ใช้เองแล้ว การสำรวจข้อมูลผู้เดินทางเข้ามาในพื้นที่ อปท. โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ หรือ เป็นกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงที่ทราบ “ความเสี่ยง” แน่ชัดแล้ว เช่น เดินทางกลับมาจากสนามมวย [18]มาจากจังหวัดฉะเชิงเทรา [19]จากการไปสอบคัดเลือกสัมภาษณ์สายงานผู้บริหารท้องถิ่น [20]ฯลฯ เป็นความอ่อนไหวของทีมเฝ้าระวังในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง ในที่นี้ก็คือ อปท. นั่นเอง เพราะ ปลัด อปท. ผอ.กองสาธารณสุข นักบริหารงานสาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯ ได้รับการแต่งตั้งเป็น “เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558” [21] เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ การมอบอำนาจในพื้นที่จังหวัดที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ถือเป็นการบูรณาการการควบคุมโรคเชิงพื้นที่ที่ถูกต้องที่สุด

อย่าลืมภัยแล้งและปากท้องชาวบ้าน

ที่จริง อีกไม่กี่วันกี่เดือนนี้ ถามว่า “ภัยแล้งน่ากลัวไหม” เป็นคำถามที่คนไทยต้องลืมไว้ก่อน แม้ว่าเรื่องนี้จะได้มีการรณรงค์ไว้เมื่อก่อนปลายปีที่แล้ว (2562) ก็ตาม ฝาก “รัฐ-เอกชน-ชุมชน ร่วมน้อมนำศาสตร์พระราชาสู่การจัดการน้ำอย่างยั่งยืน“ ใช้  “ความรู้คู่คุณธรรม’พาไทยรอดภัยแล้ง” [22] หลักสำคัญว่าต้องมี “น้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก” ชีวิตอยู่ที่ใดต้องมีน้ำคนอยู่ได้ หากไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ตามหลักทฤษฎี “ระเบิดจากภายใน” [23] ท่ามกลางวิกฤติสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การเกิดภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลก ที่สำคัญที่สุดที่จะลืมไม่ได้เด็ดขาดคือ “เรื่องปากเรื่องท้องของชาวบ้าน” เพราะเมื่อคนหิวเขาจะไม่ทนอะไรได้สักอย่าง

การระบาดระยะที่ 3 และการปิดเมือง

หลายมาตรการเป็นการบริหารภายใต้วิกฤติของฝ่ายบริหาร ล่าสุดมีการเรียกร้องให้ “ปิดเมือง” [24]ที่มิใช่หมายถึงการปิดกั้นห้อง แต่เป็นการคัดกรอง ติดตาม สถานการณ์ ของเมือง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค เพราะ จากตัวเลขของผู้ป่วยที่เกินกว่า 200 คน [25] ถือได้ว่าเป็นการก้าวเข้าสู่การระบาดระดับที่ 3 (Andemic period) แล้ว [26] มิใช่การเฝ้าระวังในระดับที่ 2 (Pandemic alert period) เพราะ มีการแพร่เชื้ออย่างแพร่หลายในระหว่างคนในประเทศด้วยกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข่าวจากสมาคมอุรเวชช์ชี้ว่า [27] หากไทยคุมเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ได้ภายในมีนาคม 2564 ไทยจะมีผู้ติดเชื้อถึงประมาณ 200,000 คน

อย่างไรก็ตาม นิสัยคนไทยที่ง่าย ๆ อะไรก็ได้ ต้องปรับเปลี่ยน จากเดิมที่ว่า “กินร้อนช้อนกลาง” คงไม่ใช่ แต่คือ “กินร้อนช้อนของใครของมัน” ให้ยกเลิกช้อนกลาง เพราะช้อนกลางทุกคนจับช้อนอันเดียวกัน หรือ การขายของตามตลาด ชุมชนต่าง ๆ การชุมนุม ร่วมกัน ต้องมีวินัยมากขึ้น เช่น ไม่ขายของเกินเวลา ไม่นั่งอยู่ใกล้ชิดติดกัน ต้องเว้นระยะห่าง 1 เมตร [28] กล่าวคือ ช่วงนี้ทุกคนต้องมีวินัย มีสติ และอดทน ให้มากขึ้นหลายเท่าตัว การเตรียมการณ์เข้าสู่การระบาดระยะที่ 3 เป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลต้องรีบประเมินสถานการณ์ และ ตัดสินใจ เพราะ มาตรการระดับที่ 3 กับ ระดับที่ 2 แตกต่างกันมาก ไม่จำเป็นต้องรอ เพราะนักวิชาการบางท่านได้ประเมินแล้วว่าผ่านระยะที่ 2 ไปแล้ว และ การระบาดนี้ค่อนข้างยาวนานถึง 1-2 ปี [29] จนกว่าผู้คนจะเกิด “ภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติ” เป็นภูมิคุ้มกันหมู่ ที่หมายความว่า การหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มิอาจกระทำได้ ต้องปล่อยไปตามธรรมชาติ นี่เป็นหลักการระบาดวิทยา

ขอฝากพี่น้องคนไทย โดยเฉพาะคน อปท. ท่านมีภารกิจใหญ่หลวงที่น่าภาคภูมิใจมาก ๆ ในการเฝ้าระวัง “โควิด-19” เพราะท่านได้รับฉันทานุมัติมอบหมายจากรัฐแล้ว ในฐานะที่ท่านเป็นคนในพื้นที่ ที่รู้อะไรต่อมิอะไรมากกว่าคนอื่น

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, Municipality Officer ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 67 ฉบับที่ 27 วันเสาร์ที่ 21 - วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม 2563, บทความพิเศษ หน้า 9,  สยามรัฐออนไลน์, 21 มีนาคม 2563,  https://siamrath.co.th/n/140513

[2]หลักระบาดวิทยาและการป้องกันควบคุมโรค, กัลยาณี จันธิมา,

 http://odpc9.ddc.moph.go.th/trc/Sheet/Sheet51/EpiAdvance/SheetEpiAdvance51-8.pdf

ระบาดวิทยา (Epidemiology) คือ การศึกษาเกี่ยวกับ การศึกษาเกี่ยวกับ สาเหตุ(ตัวกำหนด) และ การกระจายของการเกิดโรคในประชากร โดยมุ่งนำผลไปใช้ควบคุมโรค

[3]สถานการณ์ฝุ่นพิษ PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ติดอันดับ 5 ของโลก ดู เชียงใหม่วิกฤต! ค่า 'ฝุ่น PM 2.5' พุ่งติดอันดับ 5 ของโลก,15 มกราคม 2563, https://www.tnnthailand.com/content/26279

[4]รัฐ-เอกชน-ชุมชน ร่วมน้อมนำศาสตร์พระราชาสู่การจัดการน้ำอย่างยั่งยืนใช้ ‘ความรู้คู่คุณธรรม’พาไทยรอดภัยแล้ง, โลกวันนี้, 18 มีนาคม 2563, http://www.lokwannee.com/web2013/?p=393811 

[5]ในช่วงปี 2557 ก่อนการยึดอำนาจของ คสช. มีข้อเสนอ “จังหวัดจัดการตนเอง” ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการปกครองส่วนท้องถิ่นทางเลือก มีการทดลองหารูปแบบและประชุมกลุ่มประชามติกันมานานหลายปี เช่น ที่จังหวัดเชียงใหม่ ร่างเดิมชื่อ “ร่าง พรบ.การบริหารจังหวัดปกครองตนเอง”

[6]ป.ป.ช.จ่อสอบคนสนิท'ธรรมนัส'ปมกักตุนหน้ากากอนามัย, เดลินิวส์, 9 มีนาคม 2563, https://www.dailynews.co.th/politics/761838   

[7]รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอร่วมสวดบทรัตนสูตร ปัดเป่าภัยพิบัติและโรคร้าย สร้างขวัญกำลังใจ เริ่ม 25 มีนาคม 2563 บทสวด ระตะนะสุตตัง (รัตนสูตร)  เป็นพระสูตรที่พระอานนท์เถระเรียนจากพระพุทธองค์โดยตรง เพื่อใช้สวดขจัดปัดเป่าภัยพิบัติร้ายแรงทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับชาวกรุงเวสาลี ปัจจุบันนิยมสวดรัตนสูตรทุกครั้งที่มีการทำน้ำพระพุทธมนต์ ทั้งยังมีอานุภาพป้องกันจากโจรผู้ร้าย นายผู้ปกครอง อาวุธ เคราะห์กรรม สัตว์ร้ายและภัยธรรมชาติอีกด้วย

ดู รัฐบาลเชิญสวดมนต์ ไล่โรค 'โควิด-19', 18 มีนาคม 2563, https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/871344

[8]หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด มท 0819.2/ว732 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2563 เรื่อง แนวทางปฏิบัติการดำเนินการโครงการพลังคนไทยร่วมใจป้องกันไวรัสโคโรนา (COVID-19) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563, http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2020/3/23207_1_1583814996485.pdf?time=1583926682619  

[9]หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด มท 0816.2/ว 788 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2563 เรื่อง การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (C0VID-19) ในสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2020/3/23221_1_1583918003802.pdf?time=1583918998733

[10]ปิด 14 วัน! ‘สถานศึกษารัฐ-เอกชน -ผับ-บาร์-โรงหนัง-สนามมวย’ ลด COVID-19 แพร่ระบาด, 17 มีนาคม 2563, https://www.thebangkokinsight.com/310440/  & กทม.สั่งปิดห้างสรรพสินค้า-ตลาดทั่วกรุง 22 วัน มีผลพรุ่งนี้, ทศพร โชคชัยผล BTEXECU2, 21 มีนาคม 2563, https://businesstoday.co/cover-story/21/03/2020/ปิดห้าง/

[11]ประกาศกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เรื่อง งดกิจกรรมการจัดโครงการฝึกอบรมและสัมมนาของหน่วยงานในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ลงวันที่ 17 มีนาคม 2563, http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2020/3/23269_1_1584506186121.pdf

[12]รัฐบาลสั่งยกเลิกศูนย์กักกันทั่วประเทศ ส่งกลับภูมิลำเนาให้ท้องถิ่นกักตัว, 11 มีนาคม 2563, https://www.posttoday.com/politic/news/617351  

[13]รัฐบาลสั่งเตรียมพร้อมระบบดิจิทัล รองรับข้าราชการทำงานที่บ้าน, 12 มีนาคม 2563, https://www.posttoday.com/politic/news/617473   

[14]สธ. แจงสงสัยเป็นป่วยโควิด-19 ตรวจ-รักษาฟรีทุกรพ. วอนอย่ากังวลการระบาด ชี้ทุกคนป้องกันตัวเองได้, 15 มีนาคม 2563, https://www.matichon.co.th/politics/news_2056856

[15]รัฐบาลยกเลิกจัดงาน "สงกรานต์"ทั่วประเทศ, THANSETTAKIJ.COM, 13 มีนาคม 2563, https://www.thansettakij.com/content/politics/424704& ให้เลื่อนวันหยุดราชการในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ. 2563 (วันที่ 13-15 เมษายน 2563) ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0505/ว109 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2563    

[16]มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนาต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงทางอ้อม ระยะที่ 1, 10 มีนาคม 2563, https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/27052

[17]อ้างจาก ดร. พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์, คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 17 มีนาคม 2563    

[18]สธ.แถลง พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มอีก 60 ราย รวมยอดสะสม 272 ราย ชี้ “ผับ-สนามมวย” แหล่งแพร่เชื้อใหญ่, https://www.prachachat.net/general/news-434356

หลังจากมาตรการ lockdown กทม. มีมาตรการให้ท้องถิ่นกักตัวคนกลับจาก กทม. ดู หนังสือคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ด่วนที่สุด ที่ สธ 0410.7/ว 217 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2563  เรื่อง ขอความร่วมมือจัดทำแผนปฏิบัติการค้นหา เฝ้าระวัง และป้องกันโรค ระดับอำเภอและหมู่บ้าน กรณีผู้เดินทางกลับจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล & ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 21 มีนาคม 2563, https://drive.google.com/file/d/10Vtk_yHhudRukmQpWpxd0RimCE8wstm9/view

[19]ข่าว นายก อบจ.ฉะเชิงเทราติดเชื้อโควิด-19

ดู กักตัว 485 ชีวิต ใกล้ชิด 'นายกอบจ.ฉะเชิงเทรา' พบเสี่ยง 24 ราย, 18 มีนาคม 2563, https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/871436     

[20]ไฟเขียว! ขรก.ท้องถิ่นกักตัวโควิด 14 วัน ไม่นับเป็นวันลา, 13 มีนาคม 2563, https://poonamtongtin.com/บทความ/793/ไฟเขียว!%20ขรก.ท้องถิ่นกักตัวโควิด%2014%20วัน%20ไม่นับเป็นวันลา

& หนังสือสำนักงาน ก.จ. ก.ท. และ ก.อบต. ด่วนที่สุด ที่ มท 0809.3/ว 811 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2563 เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการลาของข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรณีปฏิบัติตามการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19, http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2020/3/23235_1_1584073589329.pdf?time=1584674360455

[21]ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนพิเศษ 58 ง วันที่ 13 มีนาคม 2563 หน้า 4-7, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/058/T_0004.PDF

ดู ฉบับที่ 3 ข้อ 7 ให้ข้าราชการสังกัดราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งดำรงตำแหน่งต่อไปนี้ เป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เฉพาะในเขตท้องที่ที่ตนมีอำนาจหน้าที่ดูแลและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการ ...

และ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2563, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนพิเศษ 58 ง วันที่ 13 มีนาคม 2563 หน้า 8-9, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/058/T_0008.PDF

ดู ฉบับที่ 4 ข้อ 5 ให้ข้าราชการสังกัดราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งดำรงตำแหน่งต่อไปนี้ เป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เฉพาะในเขตท้องที่ที่ตนมีอำนาจหน้าที่ดูแลและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการ ...

หน้าที่ นายกอปท. ปลัด และ ผอ.กองสาธารณสุขใหม่ดังนี้ (1) มีหน้าที่ในการออกเยี่ยมตรวจสังเกตอาการผู้ที่ถูกกักกันตัวในเขต อปท.ของตน (2) มีหน้าที่จัดหาอุปกรณ์วัสดุที่ใช้ในการออกปฏิบัติงานเช่น ชุดปฏิบัติงาน หน้ากากถุงมือยาง เวชภัณฑ์ยาต่างๆ (3) ถ้าพบผู้ป่วยติดเชื้อให้แจ้งโรงพยาบาลให้มารับตัวไปรักษา (4) มีหน้าที่จัดให้มีเจ้าหน้าที่ทำความสะอาด สถานที่อาศัยของผู้ติดต่อให้ปลอดโรค

ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว 1552 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2563 เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการควบคุมเพื่อสังเกตอาการของผู้เดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตโรคติดต่อหรือเป็นพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง กรณีโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID 19))

[22]โลกวันนี้, 18 มีนาคม 2563, อ้างแล้ว  

[23]ระเบิดจากข้างในคือ เราต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนที่เราเข้าไปพัฒนาให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อนแล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอก ทำตามลำดับขั้น คือ ในการทรงงานของพระองค์จะทรงเริ่มต้นจากสิ่งจำเป็นของประชาชนที่สุดก่อน และหลังจากนั้นจึงเชื่อมโยงไปถึงประโยชน์ด้านอื่นๆต่อไป : หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9    

[24]มาตรการ “ปิดเมือง” (Lockdown) ที่แท้จริงในทางระบาดวิทยานั้น คือมาตรการเข้มข้นที่ใช้จัดการกับพื้นที่ระบาดเข้มข้น โดยสั่งปิดเมืองห้ามเข้าออกก่อน แล้วจึงปิดประตูบ้านคือให้ผู้คนทั้งเมืองช่วยกันอยู่กับบ้าน เพื่อตัดหนทางติดต่อระหว่างคนต่อคนให้เหลือน้อยที่สุด พร้อมกับเร่งตรวจสอบค้นหาผู้ป่วยมารักษา พร้อมทั้งเก็บตัวผู้ต้องสงสัยมาอยู่ในที่จำกัดให้ทั่วถึงที่สุด ซึ่งหากทำได้จริงจนเจ้าไวรัสหมดเหยื่อคนใหม่ ส่วนคนเก่าก็ถูกเก็บไปหมดแล้ว เมืองนั้นก็จะหมดผู้ติดเชื้อหน้าใหม่ไปในที่สุด

แต่กรณีของไทยคงไม่ใช้ปิดเมือง แบบ Lockdown ห้ามเข้าออกเมืองและบ้านตัวเองแบบเมืองอู่ฮั่น ของจีน หรือ การปิดประเทศในยุโรป เช่น อิตาลี เสปน แต่เป็นการใช้มาตรการ Lockdown ตรวจเข้มคัดกรองคนเข้าออกพื้นที่ฯในการควบคุมโรคฯ เช่นการนำร่องปิดจังหวัดในจังหวัดบุรีรัมย์ และ จังหวัดอุทัยธานี รวมทั้งการ “กักตัวเองอยู่กับบ้าน” (Quarantine) หรือ มาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”

[25]สถิติยอดผู้ป่วยติดเชื้อในรอบวันที่ผ่านมาเฉลี่ยวันละประมาณ 30 ราย และ ยอดได้ทะลุเกินกว่า 200 ราย เป็นรวมยอดสะสม 212 ราย เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 

[26]ไทยเข้าสู่ระยะ3หรือยัง'หมอยง'แนะแนวทางการปฏิบัติลดการกระจายโควิด-19, 13 มีนาคม 2563, https://www.thaipost.net/main/detail/59634

นักวิชาการแพทย์ประเมินว่าสถานการณ์การระบาดของไทยต้องเข้าสู่ “ระยะที่ 3” และได้เข้าสู่ระยะที่ 3 เมื่อจำนวนผู้ป่วยเกินกว่า 200 ราย รัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจดำเนินการเรียกว่า “เจ็บตอนนี้ ดีกว่าเจ็บตอนหลัง”

ดู มาฟัง Corona Virus เรื่องจริงจาก Dr Erik team President Bill Clinton : Tom Julpas Kruesopon, 18 มีนาคม 2563, https://www.facebook.com/kruesopon/videos/10216618967375814/

[27]ดู สารเฉพาะกิจจากนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯ เรื่อง เดินหน้าฝ่าวิกฤตโควิด-19, 19 มีนาคม 2563, https://www.thoracicsocietythai.org/2020/03/18/covid-19-perspectives/  & คาดอีก30วัน ป่วยโควิด-19 แตะ 3.5 แสนคน ถ้าไม่ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”, ไทยรัฐออนไลน์, 20 มีนาคม 2563, https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1799818

[28]เป็นมาตรการป้องกันการติดเชื้อโดยมีระยะห่างกัน (Social Distancing) เรียก "การเว้นระยะห่างทางสังคม" เช่น การเว้นระยะห่างระหว่างตัวเรากับคนที่มีอาการไอหรือจามนั้นควรรักษาความห่างอยู่ที่อย่างน้อย 1 เมตร

ดู รู้จัก Social Distancing ห่างกันสักนิด ลดการแพร่ COVID-19, 19 มีนาคม 2563, https://techsauce.co/news/social-distancing-prevent-covid-19

[29]อย่างไรก็ตาม นพ.ผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกัน Dr.Erik Fleischman ของประธานาธิบดีบิล คลินตัน ที่เคยไปควบคุมโรคอีโบล่า (Ebola) ปี 2014 ที่อาฟริกา ให้ความเห็นว่า หากรัฐบาลมีมาตรการควบคุมที่เหมาะสมถูกต้องคาดว่าภายในเวลาอีก 2 เดือนสถานการณ์การระบาดจะหยุด

ดู Dr Erik team President Bill Clinton : Tom Julpas Kruesopon, 18 มีนาคม 2563, อ้างแล้ว

& อย่างไรก็ตาม มีอีกทฤษฎีหนึ่ง คือ Herd Immunity คือการปล่อยให้คนติดเชื้อแล้วตายไปส่วนหนึ่งเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันอัตโนมัติ

ข้อเสนอเพื่อรับมือการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคทางเดินหายใจโควิด-19 ที่ตกเป็นข่าวฮือฮาและถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในขณะนี้ เห็นจะได้แก่เรื่องที่ เซอร์ แพทริก วัลแลนซ์ หัวหน้าที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลอังกฤษ เสนอให้มีการสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” (Herd immunity) ในกลุ่มประชากรของประเทศ เพื่อเป็นกลยุทธ์บริหารและควบคุมการแพร่ระบาดที่ยั่งยืนในระยะยาว เซอร์วัลแลนซ์อธิบายว่า จะต้องปล่อยให้ประชากรส่วนใหญ่ซึ่งอาจคิดเป็นจำนวนมากถึง 60% ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันในหมู่ผู้ที่หายป่วยและรอดชีวิต โดยภูมิคุ้มกันนี้จะกลายเป็นสมบัติส่วนรวม ซึ่งช่วยปกป้องกลุ่มคนไม่มีภูมิคุ้มกันจากเชื้อร้ายได้โดยอัตโนมัติ ทั้งยังป้องกันการกลับมาระบาดซ้ำของโรคในภายหลังด้วย

ดู ไวรัสโคโรนา : “ภูมิคุ้มกันหมู่” คืออะไร เหตุใดนักวิทยาศาสตร์พากันคัดค้าน ไม่ให้ใช้ต้านโควิด-19, BBC, 16 มีนาคม 2563, https://www.bbc.com/thai/51911994

หมายเลขบันทึก: 676232เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2020 00:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2020 19:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท