นิทานปรัมปรา เทพนิยาย ตำนาน ต่างกันอย่างไร


#บทความ

นิทานปรัมปรา เทพนิยาย ตำนาน ต่างกันอย่างไร

โดย วาทิน ศานติ์ สันติ (10/2/2560)

ในการศึกษาวรรณกรรมมุขปาฐะ เป็นที่รู้จักกันดีว่า คือการศึกษาข้อมูลคติชนที่เรียกว่า "เรื่องเล่า" เป็นการเล่าหรือถ่ายทอดด้วยปาก หรือการขับร้อง หรือรูปแบบการใช้เสียง สืบทอดต่อกันจนเป็นแบบแผนประเพณี แพร่กระจายไปด้วยการเล่าสู่กันฟัง มีมาตั้งแต่ยังไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น เรื่องเล่าพื้นบ้าน เพลงพื้นบ้าน กวีนิพนธ์พื้นบ้าน เกร็ด นิยายผจญภัยมหากาพย์ สุภาษิต ปริศนาคําทาย เพลงประกอบการละเล่น มุกตลก เป็นต้น เมื่อมีการจดบันทึกแล้ววรรณกรรมมุขปาฐะก็สามารถจัดเป็นวรรณกรรม ลายลักษณ์ได้

เรื่องเล่า (narrative) จะว่าไปแล้วมีความหมายครอบจักรวาล หมายถึงรูปแบบการใช้ถ้อยคำทุกประเภท อาจจะยกเว้นการสนทนาหรือการทักทายแบบง่าย ๆ ในปัจจุบันมักมีการใช้คำสับสนในการเรียกเรื่องเล่า โดยเฉพาะ นิทานปรัมปรา เทพนิยาย และตำนาน วันนี้จะขออธิบายความตามความหมายของคำทั้ง 3 คำแบบพอสังเขปกันครับ (สำหรับท่านที่รู้แล้ว ผู้เขียนขออภัย มา ณ ที่นี้ หรือมีความผิดพลาดประการใดก็ขอน้อมรับคำแนะนำจากท่านผู้รู้ครับ)

นิทานปรัมปรา (myth) หรือเทวปกรณ์ เทพปกรณัม เป็นเรื่องราวเกี่ยวข้องกับเทพเจ้า หรือมนุษย์กึ่งเทพเจ้า มีความเกี่ยวข้องกับพิธีกรรม ลัทธิ ความศักดิ์สิทธิ์ หรือความเชื่อ ตัวละครสำคัญมักไม่ใช่มนุษย์ เรื่องราวจะเกี่ยวข้องกับอดีตอันไกลโพ้น หรืออยู่เหนือกาลเวลา เป็นการอธิบายเหตุ เช่นการกำเนิดโลกกำเนิดมนุษย์ กำเนิดสัตว์ วาระสุดท้ายหรือการทำลายล้าง หรือกิจกรรมต่าง ๆ ของเทวดา เทพเจ้า เช่นการผจญภัย สงครามเทพเจ้า ฯลฯ เช่นนิทานปรัมปราของพวกกรีก อียิปต์ อินเดียเป็นต้น

เทพนิยาย (fairy tale) นิทานมหัจรรย์ก็เรียก เป็นเรื่องแต่งที่มีความนิยมในกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ตัวละครมักอยู่ในตระกูลสูงศักดิ์กล่าวถึงปราสาทราชวัง กษัตริย์ เจ้าชาย เจ้าหญิง เจ้าหญิงตกยาก หญิงธรรมดาอภิเษกสมรสกับเจ้าชาย ฯลฯ เกี่ยวข้องกับเวทย์มนต์คาถาความลึกลับความพิสดาร สิ่งเหนือธรรมชาติ ของวิเศษมหัศจรรย์ มีการกล่าวถึงเทวดาหรือนางฟ้าที่สามารถให้คุณให้โทษมนุษย์ได้ อย่างไรก็ตามเทพนิยายมีความหมายใกล้เคียงกันกับนิทานปรัมปรา ต่างกันตรงที่ เส้นเรื่องในเทพนิยายมักเป็นเรื่องของคนธรรมดา มักมีการเปิดเรื่องด้วยคำว่า "กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว" อีกทั้งเทพนิยายให้ความรู้สึกใกล้ชิดกับโลกแห่งความจริงมากกว่านิทานปรัมปรา เช่น เทพนิยายเรื่องซินเดอเรลล่า เทพนิยายเรื่องสโนว์ไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด นิทานจักรๆ วงศ์ๆ ของไทย เป็นต้น

ตำนาน (legend) เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต มีความเป็นประวัติศาสตร์ อารยธรรมของมนุษย์ หรือคาดว่าน่าจะเคยเกิดขึ้นในอดีต ตัวละครมักมีตัวตนจริง สถานที่มักเป็นสถานที่จริงที่เกิดหรือเกี่ยวข้องกับเรื่องราวนั้นนั้น ตัวละครสำคัญจะเป็นมนุษย์ เช่นวีรบุรุษ กษัตริย์ในอดีต หรือบุคคลสำคัญของท้องถิ่น จะเล่าถึงการอพยพ การทำสงคราม ชัยชนะ การพ่ายแพ้ ฯลฯ เช่น ตำนานของสมเด็จพระนเรศวร ตำนานของพระยาพิชัยดาบหัก ตำนานของย่าโม ตำนานของกษัตริย์อาเธอร์ เป็นต้น

นอกเหนือจากที่ได้กล่าวไป ยังมีคำที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมมุขปาฐะ มากมาย เช่นนิทานพื้นบ้านนิทานอุทาหรณ์ มหากาพย์ นิทานอุปมา ฯลฯ เหตุผลที่มีคำเรียกมากมายเกี่ยวกับวรรณกรรมมุขปาฐะเป็นเพราะว่ามีบทบาทและหน้าที่ต่างกันนั้นเอง ซึ่งแน่นอนว่าไม่อาจจะนำมาเล่าได้หมดในที่นี้ หากมีโอกาสในครั้งต่อไป หรือผู้เขียนไม่ขี้เกียจสันหลังยาวไปซะก่อน คงจะได้มาพบกันอีก

#ภาพประกอบ : ภาพทังกา เขาพระสุเมรุในคติพุทธมหายาน คริสต์ศตวรรษที่ 19 ประเทศภูฏาน จาก en.m.wikipedia.org/wiki/Mount_Meru# ค้นเมื่อ 10/2/2559

#ข้อมูลประกอบการเขียน

เสาวลักษณ์ อนันตศานต์.(2543). ทฤษฎีคติชนและวิธีการศึกษา. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

เสาวลักษณ์ อนันตศานต์. (2558). นิทานปรัมปรากับคติชน. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

ศิราพร ณ ถลาง, บรรณาธิการ. (2558). เรื่องเล่าพื้นบ้านไทยในโลกที่เปลี่ยนแปลง. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

หมายเลขบันทึก: 676179เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2020 18:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2020 18:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท