"แหวนหัวนะโม" ความเชื่อ ความหวัง ความงมงาย? ความเชื่อเรื่อง


#ความเรียง 

"แหวนหัวนะโม" ความเชื่อ ความหวัง ความงมงาย? ความเชื่อเรื่องเครื่องรางของขลังในสังคมไทย 

โดย วาทิน ศานติ์ สันติ (14/3/2563)

ผมเห็นข่าวคนไทยกับเครื่องรางของขลังกับความเชื่อในการการป้องกันเชื้อไวรัส โควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลก จนรู้สึกกลัวแทบไม่กล้านะออกจากบ้านในทุกวันนี้ เช่น เนชั่นทีวีออนไลน์ วันที่ 12 มีนาคม 2563 พาดหัวข่าวว่า "วัดแทบแตก!!! ชาวบ้านแห่เช่าบูชาแหวนหัวนะโม วัดดังเมืองคอน เชื่อป้องกันโควิด – 19" คมชัดลึกออนไลน์ วันที่ 12 มีนาคม 2563 พาดหัวข่าวว่า "ชาวบ้านแห่เช่าบูชาแหวนหัวนะโม เชื่อปัดเป่าโรคร้าย โควิด 19"

และเมื่อมีคนแชร์ข่าวไปเผยแพร่ใน Social Media ผู้คนก็ต่างแห่มาวิจารณ์ว่า "งมงาย" บ้าง "โง้" บ้าง แต่ในฐานะที่ผมเป็นนัก (ศึกษา) คติชนวิทยา (สมัครเล่น) ผมมองว่าปรากฏการณนี้ปกติมากสำหรับสังคมไทย ในสังคมเอเชีย หรือในทุกสังคมโลก

เราทุกคนล้วนแต่มีความเชื่อในบางสิ่งบางอย่างที่อาจจะเหมือนกันหรือแตกต่างกันไป บางสิ่งบางอย่างที่เราไม่เชื่อเราก็มักจะดูถูกเหยียดหยามหรือมองคนอื่นที่เชื่อว่า "โง่" "งมงาย" ซึ่งแน่นอนว่าคนที่เขาไม่เชื่อในบางสิ่งที่เราเชื่อ เขาก็มีสิทธิ์มองว่าเรางมงายด้วยเช่นกัน

ในกรณีนี้ มันก็คือปรากฏการณ์ที่สังคมใดสังคมหนึ่งแสดงออกถึงความหวั่นไหวทางด้านจิตใจ กำลังใจ ความไม่ชื่อมั่นและความรู้สึกไม่ปลอดภัย ผู้คนจึงหาวิธีการบางสิ่งบางอย่าง สิ่งหนื่อธรรมชาติ เพื่อให้มีกำลังใจให้ดำเนินชีวิตอยู่บนโลกนี้ได้ แม้ในอนาคตนั้นจะได้ผลหรือไม่ได้ผลก็ตาม บางสิ่งบางอย่างที่ว่าก็คือเครื่องราง "แหวนหัวนะโม"

เพราะเหตุใดผู้คนจึงแห่กันไปบูชาแหวนหัวนะโม ที่เชื่อกันว่าถ้าบูชาแล้วจะสามารถป้องกันไวรัส โควิด-19 ได้

รศ.ดร. อุดมพร ชั้นไพบูลย์ จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาคณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้อธิบายของมูลเหตุการใช้เครื่องรางของมนุษย์ ไว้ในหนังสือ "สังคมวิทยาศาสนา" ดังนี้

1. มนุษย์ไม่เข้าใจสภาวะของเรื่องนั้นอย่างแท้จริง พยายามไข่คว้าหาที่พึ่งทางใจโดยคิดว่าสิ่งนั้นจะสามารถบันดาลในสิ่งที่พึงประสงค์ได้สามารถยึดเหนี่ยว จิตใจได้

2. มนุษย์ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ต้องหาสิ่งปลอดโปร่งใจ แสวงหาหลักค้ำประกันบางสิ่งบางอย่าง เพื่อให้เกิดความอบอุ่นทางใจ

3. มนุษย์มีความอ่อนแอ โดยเฉพาะเมื่อประสบ ภัยจากสภาพแวดล้อมต่างๆ จึงต้องหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาช่วยให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อให้จิตผูกพันกับเครื่องรางทำให้เกิดสมาธิหรือนึกถึงอันตรายที่จะเกิด การใช้เครื่องรางเป็นสิ่งบำรุงขวัญและกำลังใจเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์บางอย่าง

4. มนุษย์ไม่รู้จุดหมาย เมื่อเห็นคนอื่นมีก็อยากมีบ้าง โดยไม่ทราบถึงวัตถุประสงค์ของเครื่องรางนั้นว่ามีไว้เพื่ออะไร เมื่อมีคนนิยม จึงต้องการมีไว้ในการครอบครองตามสมัยนิยม

เครื่องรางมักจะอยู่ในรูปแบบ ของเครื่องประดับร่างกาย ใครก็ใช้ได้ เพศไหนจะใช้ได้ ไว้ไหนจะใช้ได้ หรือแม้แต่ชนชั้นไหนก็ใช้ได้ นอกจากนี้เครื่องรางยังมีหน้าที่ เป็นของที่ระลึก ของสะสม สร้างความภาคภูมิใจ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพของผู้ครอบครอง อีกด้วย

หากลองมองให้ลึกลงไปแล้ว การใช้เครื่องราง ในที่นี้หมายถึง "หัวแหวนนะโม" ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาด เป็นความงมงายอย่างหนึ่ง หลายคนมองว่าเมื่อเข้าอยู่ยุคสมัยที่โลกใบนี้มีความเจริญก้าวหน้าไปด้วยเทคโนโลยี ไม่ควรจะมีความเชื่ออะไรแบบนี้อีกแล้ว ซึ่งหากมองปรากฏการณ์นี้ เทียบกับเหตุการณ์หรือพฤติกรรมของคนไทยในสังคมในอีกหลายเหตุการณ์ มันก็ไม่ต่างอะไรกับหลายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่เราหลายคนมองว่าเป็นเรื่องปกติ ทุกคนที่ทำตามกันก็เป็นบุคคลที่มีความคิดแบบปกติ เช่น

ช่วงเทศกาลปีใหม่ หลายคนก็ต่างขอพรไหว้พระทำบุญ แล้วก็หวังให้อานิสงส์ผลบุญนั้นจะได้ส่งผลไปให้กับบุคคลที่รัก เจ้ากรรมนายเวร และให้ส่งผลดีกับตัวเองในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่าผลนั้นจะจริงหรือไม่จริงก็ไม่มีใครอธิบายได้

เมื่อถึงวันคล้ายวันเกิด หลายคนก็ไปทำบุญไหว้พระ ถวายสังฆทาน ทำบุญซื้อโลงศพ และกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศลให้กับคนที่เรารัก เพื่อเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตและการเข้าสู่อายุที่มากขึ้น

หรือการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล เราก็หวังว่ากุศลนั้นจะส่งผลได้ดังหวัง ซึ่งเราไม่มีทางรู้ว่าจะได้ดังหวังหรือไม่

แม้แต่ในสถานการณ์ที่ฉุกเฉินที่สุด เช่นบุคคลที่เรารักประสบอุบัติเหตุ รักษาพยาบาลอยู่ในขั้นสุดท้ายโอกาสรอดน้อยมาก เราก็พยายามไปบนบานศาลกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ต่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นจะอยู่ใกล้หรือไกลอย่างไร ไปอย่างยากลำบากแค่ไหนเราก็ยังไป เพียงแค่มีมีข่าวว่าที่นั่นดี ที่นั้นช่วยได้ เราไปหมด ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริงมากน้อยแค่ไหน เราก็ยังหวังให้เกิดปาฏิหาริย์ช่วยให้คนที่เรารักรอดพ้นจากอันตราย

บางคนไปไหว้พระพรหมหน้าโรงแรมเอราวัณเพื่อขอพรและขอให้มีโชคมีลาภ

บางคนนำดอกไม้แดง หรือดอกกุหลาบสีแดง ไปไหว้หน้าศาลพระตรีมูรติหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ก็ขอความรัก

บางคนไปไหว้หุ่นไอ้ไข่ ณ วัดเจดีย์ไอ้ไข่เพื่อขอโชคลาภ

บางคนไปไหว้ศาลแม่นาคพระโขนงที่วัดมหาบุศย์เพื่อไม่ให้แฟนตนเองติดทหาร

บางคนตัดชายผ้าถุงแม่มาใส่กรอบห้อยคอ เพื่อสำนึกในบุญคุณและเชื่อว่าน่าจะคุ้มครอง

บางคนสักเลขยันต์คาถาไว้บนผิวหนัง เพื่อหวังให้อยู่ยงคงกระพัน มีเสน่ห์ และรู้สึกว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง บางคนนำผ้าหรือเสื้อที่เขียนด้วยอักขระเลขยันต์ไว้กับตัวเพราะเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือความศักดิ์สิทธิ์นั้นคุ้มครอง

บางคนห้อยพระเครื่องที่คอ บางคนแขวนตะกรุดไว้ที่เอว บางคนฝังเหล็กไหลไว้ในร่างกาย เมื่อวานให้เกิดความอยู่ยงคงกระพันแคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งหลาย

บางคนกราบไหว้ตุ๊กแก 2 หัว จิ้งจก 5 หาง ปลีกล้วยเป็นรูปพญานาค กราบไหว้ต้นไม้ ขัดถูก้อนหินรูปประหลาด ฯลฯ เพื่อขอหวยขอโชคลาภ

เราตั้งศาลพระภูมิตั้งศาลปู่ย่าตายาย เอาไว้ที่บ้าน มีของเซ่นไหว้ทุกวันสำคัญ เพราะเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะคุ้มครองเราให้รอดพ้นปลอดภัยจากบางสิ่งบางอย่างที่เรามองไม่เห็น

เรากราบไหว้พระพุทธปฏิมากรองค์สำคัญของประเทศ เช่น พระพุทธสิหิงค์เชียงใหม่ พระพุทธชินราชที่พิษณุโลก พระมงคลบพิตรอยุธยา พระแก้วมรกตที่กรุงเทพมหานคร พระพุทธโสธรที่ฉะเชิงเทรา ฯลฯ เราเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถดลบันดาลและให้พรเราสมหวังในสิ่งที่ต้องการได้

ไหนจะความเชื่อของชาวต่างชาติเช่นการพับกระดาษเป็นนกกระเรียนของชาวญี่ปุ่น เชื่อว่า คนที่พับให้หรือคนป่วยพับนกกระเรียนได้หนึ่งพันตัว เทพเจ้าจะพรให้เขาแข็งแรงกลับมามีสุขภาพดี

ไหนจะพิธีกรรมมากมายที่เราเชื่อว่าถ้าได้ทำแล้ว ปฏิบัติแล้วจะสามารถช่วยรักษาอาการป่วยไข้ ช่วยปัดเป่าโรคภัยให้หายได้ เช่น

พระราชพิธีอาพาธพินาศ เป็นพระราชพิธีสำคัญที่เกิดขึ้นในต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รัชสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อเกิดอหิวาตกโรคระบาดทั่วกรุงเทพฯ ผู้คนล้มตายจำนวนมาก มากจนไม่สามารถจัดการศพได้ทัน มีการนำมากองไว้ที่เผาศพจำนวนมาก และมากไปจนถึงไม่สามารถจัดการได้ทันจึงจำเป็นต้องนำไปลอยทิ้งน้ำ จึงได้จัดพระราชพิธีนี้ขึ้นมาเพื่อหวังว่าอานิสงส์นั้นจะปัดเป่าโรคภัยให้หายไปได้

พิธีสวดพานยักษ์ พิธีกรรมที่เนื้อหาในอาฏานาฏิยสูตรมาสวด เพื่อปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บและสิ่งเลวร้ายทั้งหลาย

หรือในงานวรรณคดีไทย ก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องรางของขลังไว้หลายเรื่อง แต่เรื่องที่โดดเด่นที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องขุนช้างขุนแผน เช่น พลายชุมพลลูกของขุนแผน เป็นทหารเป็นนักรบ มีเวทมนตร์คาถาติดตัวมากมาย แต่พลายชุมพลก็ยังต้องสร้างความมั่นใจให้กับตนเอง ด้วยการใส่เครื่องรางของขลัง ปรากฏในเพลงรำพลายชุมพล ตอนพระไวยแตกทัพ พลายชุมพลแต่งตัวเป็นมอญ ยกทัพหุ่นยนต์ ทำทีให้ข่าวแพร่ไปว่าพวกมอญใหม่ ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ดังนี้

"แล้วจัดแจงแต่งกายพลายชุมพล
ปลอมตนเป็นมอญใหม่ดูคมสัน
นุ่งผ้าตาหมากรุกของรามัญ
ใส่เสื้อลงยันต์ย้อมว่านยา
คอผูกผ้าประเจียดของอาจารย์
โอมอ่านเสกผมผัดหน้า
คาดตะกรุดโทนทองของบิดา
โพกผ้าสีทับทิมริมขลิบทอง"

ไม่ใช่แค่ฝั่งของขุนแผน (พระเอก) เท่านั้นที่มีวิชาอาคมและมีเครื่องรางของขลังติดตัวมากมาย ฝ่ายตรงข้ามกับขุนแผนก็มีวิชาอาคมไม่แพ้กัน เช่น ตีเพชรกล้า แม่ทัพลาวได้ใส่เครื่องรางของขลังและสักลายลงคาถาอาคมไว้กับตัว ดังนี้

"แขนขวาสักรงเป็นองค์นารายณ์
แขนซ้ายสักชาดเป็นราชสีห์
ขาขวาหมึกสักพยัคฆี
ขาซ้ายสักหมีมีกำลัง
สักอุระรูปพระโมคคัลลาน์
ภควัมปิดตานั้นสักหลัง
สีข้างสักอักขระนะจังงัง
ศีรษะฝังพลอยนิลเม็ดจินดา
ฝังเข็มแล่มทองไว้สองไหล่
ฝังเพชรเม็ดใหญ่ไว้แสกหน้า
ฝังก้อนเหล็กไหลไว้อุรา
ข้างหลังฝังเทียนคล้าแก้วตาแมว
เป็นโปเปาปุบปิบยิบทั้งกาย
ดูเรี่นรายรอยร่องเป็นถ่องแถว
แต่เกิดมาอาวุธไม่ผ่องแผ้ว
ไม่มีแนวหนามขีดสักนิดเดียว"

แม้แต่ในงานจิตรกรรมก็ยังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องเครื่องรางของขลัง ในที่นี้ขอกล่าวถึงงานจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์จังหวัดน่าน ภาพ "ปู่ม่านย่าม่าน" หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ "กระซิบรักบันลือโลก " จิตรกรโดย หนานบัวผัน วาดช่วงปี พ.ศ. 2410 - 2417 ระหว่างการบูรณะซ่อมแซมวัดภูมินทร์ในสมัยเจ้าอนันตฤทธิวรเดช ครองเมืองน่านซึ่งตรงกับปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาพปู่หมาน แสดงให้เห็นความนิยมของชาวไทยในล้านนา (รวมถึงชาวพม่า) ที่ว่ากันว่าเป็นชายแท้ ชายชาตินักรบ เป็นภาพบุรุษสักลายบนตัว และอักขระเลขยันต์ด้วยหมึกสีแดง ตั้งแต่ท้องลงมาถึงหัวเข่าสักลายสีดำ ลักษณะเช่นนี้หลายคนเรียก "ลาวพุงดำ"

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานั้น ตัวอย่างคติความเชื่อเรื่อง สิ่งเหนือธรรมชาติเครื่องรางของขลังในสังคมไทยในส่วนน้อยมาก ๆ ที่ยกมานำเสนอ ซึ่งเรามองว่าเป็นสิ่งโง่งมงายหรือไม่ แล้วถ้าหากเป็นสิ่งงมงาย อะไรคือตัวแบ่งระหว่างคำว่าโง่งมงายกับไม่โง่งมงาย

ทั้งหมดทั้งมวลนั้นแม้ดูว่าจะมีความแตกต่างกัน แต่สุดท้ายปลายทางก็เหมือนกันคือ เราเชื่อว่า เครื่องรางของขลัง วัตถุมงคล สิ่งเหนือธรรมชาติ หรือพิธีกรรมบางอย่างนั้น จะสามารถส่งผลได้ อย่างน้อยที่สุดก็ทางด้านจิตใจ เพื่อให้เรารู้สึกมั่นคง มีเรี่ยวแรงกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไปได้เหมือนกันนั่นเอง

ทุกคนล้วนแต่มีความโง่งมงายในบางสิ่งบางอย่างที่แตกต่างกันออกไปทั้งสิ้น ไม่มีใครไม่มี ดังนั้นการเคารพความเชื่อที่แตกต่างของคนอื่นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สังคมสงบสุข

สุดท้ายนี้ผมขออนุญาตยกคำพูดของท่าน ผศ.ดร.สุภัทรา บุญปัญญโรจน์ จากภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หนึ่งในอาจารย์ผู้ถ่ายทอดวิชาคติชนวิทยาให้กับผม ได้กล่าวไว้ในประเด็นนี้อย่างน่าสนใจว่า

"animism สอนให้เราไม่ดูถูกทุกอย่างบนโลกใบนี้เพราะทุกอย่างทุกสิ่งบนโลกมีชีวิต มีจิตใจและ คติ spiritual ยังโน้มนำให้เราเคารพต่อความเชื่อผู้อื่น แม้นมันจะดูไร้สาระในสายตาเราก็ตาม"

ภาพประกอบจาก Nation tv online https://www.nationtv.tv/main/c...

เอกสารประกอบการเขียน
เสาวลักษณ์ อนันตศานต์. (2546). คติชนกับศาสนา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
อุดมพร ชั้นไพบูลย์. (2562) สังคมวิทยาศาสนา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคําแหง.

หมายเลขบันทึก: 676132เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2020 15:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2020 14:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท