ชีวิตที่พอเพียง 3645. PMA 2020 : 11. PMAC 2020 / UHC 2020 : PL 4 – From Political Declaration to Real Action



ดูประเด็นย่อ และรายชื่อวิทยากรได้ที่ (๑)    เป้าหมายของการประชุม ๗๕ นาทีนี้คือ ให้ผู้ปฏิบัติ (actors) หลากหลายบทบาทได้มาบอกว่าตนจะทำ/ไม่ทำอะไร    แต่เมื่อเห็นผู้พูด ๔ คน มาจากกระทรวงสาธารณสุข ๑ คน (ญี่ปุ่น)    จากกระทรวงการคลัง ๑ คน (อัฟริกาใต้)    กระทรวงต่างประเทศ ๒ คน (จอร์เจียและไทย) ผมรู้สึกผิดหวัง

ท่านทูต วิทวัส ศรีวิหค ของไทยเป็นผู้เปิดประเด็นอย่างดีเยี่ยม ว่าการดำเนินการ UHC ที่ดีมี ๖ มิติ   ได้แก่ (๑) แต่ละประเทศต้องออกแบบระบบของตัวเอง  ลอกเลียนไม่ได้  (๒) ภาวะผู้นำต้องเลยกระทรวงสาธารณสุข  เป็นระบบ UHC ของรัฐบาล  ของประชาชน   (๓) มีกฎหมายหนุน  (๔) มีระบบสาธารณสุขมูลฐานที่เข้มแข็ง  (๕) มีการจัดการที่ได้ผล  (๖) มีโครงสร้างพื้นฐานด้านบริการที่ดี   ได้แก่กำลังคนด้านสุขภาพ  และอื่นๆ   

มีการเสนอความเห็นว่าระบบ UHC ที่ดี ต้องแยกระหว่างระบบให้บริการกับระบบซื้อบริการ ที่เรียกว่า provider – purchaser split    ซึ่งประเทศไทยเราเป็นเช่นนั้น    คือตั้ง สปสช. ขึ้นมาทำหน้าที่ purchaser    ใช้วิธีจัดการที่ซับซ้อน มีตัวแทนของฝ่ายต่างๆ ทั้งฝ่ายวิชาการ ฝ่ายผู้ให้บริการ และฝ่ายผู้รับประโยชน์ มานั่งอยู่ในกลไกกำกับดูแล     กระทรวงสาธารณสุขเหลือหน้าที่นโยบาย และให้บริการ    การเปลี่ยนแปลงที่ให้คุณค่ายิ่งใหญ่นี้    ก้าวหน้าและยั่งยืนอยู่ได้โดยวงการสุขภาพไทยต้องจ่ายแพงมาก      คือเกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นภายในระบบสุขภาพเอง    หรือกล่าวตรงๆ ระหว่างหมอกับหมอด้วยกันเอง   

การแย่งชิงอำนาจระหว่างมนุษย์เป็นเรื่องธรรมดา     ขึ้นกับว่าใครคิดเพื่อตนเองหรือกลุ่มตนมากกว่า  กลุ่มใดเห็นแก่ส่วนรวมมากกว่า  

ผู้แทนจากญี่ปุ่นบอกว่า ในระยะเวลา ๖๐ ปีที่ประเทศญี่ปุ่นมี UHC    มีการปรับระบบหลายครั้ง    บางครั้งก็ได้ผลดี บางครั้งก็ไม่ดี    จากผู้อภิปรายท่านอื่น สรุปได้ว่า หลักการคือต้องมีการวิจัยระบบสุขภาพช่วยหนุนการปรับตัว หรือพัฒนาระบบ UHC   เพื่อให้ระบบมีประสิทธิภาพ 

หลักการที่สำคัญคือ ต้องเป็นระบบที่โปร่งใส    และต้องมีการประยุกต์ใช้ Health Informatics สมัยใหม่    ในการจัดการระบบ    และประชาชนต้องเป็นเจ้าของระบบ     

วิจารณ์ พานิช  

๓ ก.พ. ๖๓


   

หมายเลขบันทึก: 675934เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2020 18:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มีนาคม 2020 18:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท