ชีวิตที่พอเพียง 3643. PMA 2020 : PMAC 2020 / UHC 2020 : PL 2 – Making Financing for UHC SAFE



๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓   ๙.๐๐ - ๑๐.๐๐ น.

ดูประเด็นย่อ และรายชื่อวิทยากรได้ที่ (๑)     SAFE เป็นคำย่อ จากหลักการ Sustainable, Adequate, Fair, Efficient หมายความว่า การจัดงบประมาณสนับสนุนระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้าต้องใช้หลัก S.A.F.E. นี้   

ในทางปฏิบัติ ไม่มีประเทศใดดำเนินการได้สัมบูรณ์    เป็นที่รู้กันว่าโดยทั่วไป มีการใช้เงินสูญเปล่าร้อยละ ๒๐ - ๔๐   จึงต้องเอาประเด็นนี้มา ลปรร. กัน

ปัญหาหลักคือกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงการคลังคุยกันไม่รู้เรื่อง     หรือไม่คุยกัน    หรือกระทรวงการคลังและการเมืองมองผลประโยชน์ระยะสั้นเหนือผลระยะยาว    

สส. ญี่ปุ่น ที่เคยเป็น รมช. คลัง และ รมช. ต่างประเทศให้ความเห็นคมมากว่า     หากส่งเสริมให้คนดูแลสุขภาพตนเอง เขาจะเปลี่ยนจากผู้ใช้ภาษี (เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพ)    มาเป็นผู้จ่ายภาษี (เพราะสุขภาพแข็งแรง ทำงานมีรายได้ดี จ่ายภาษีแก่รัฐ)     ทำให้ผมมีความภาคภูมิใจในตนเองว่า ผมเป็นคนหนึ่งในหมู่พลเมืองแบบนั้น      

หลักการสำคัญของ UHC คือรัฐเข้าไปรับผิดชอบระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้า     โดยใช้เงินภาษีของประชาชน    ไม่ปล่อยให้ประชาชนต่างคนต่างรับผิดชอบตนเอง     เมื่อระบบเข้าสู่กองกลาง  และอยู่ในสภาพที่ทรัพยากรมีจำกัด     สมาชิกของระบบ (คือประชาชน) จึงต้องมีมุมมองภาพรวม และมีจิตสาธารณะ    คือรู้จักคิดจากมุมส่วนรวมด้วย    ระบบนี้จึงจะ SAFE    แต่พลเมืองมีฐานะต่างกัน    จึงเกิดแนวคิดว่า ปรับระบบให้มี OPP (Out-of Pocket Pament) คือผู้ใช้บริการจ่าย อย่างเหมาะสม จะดีไหม   

ไทยเราเคยใช้ระบบ จ่าย ๓๐ บาท    เพื่อป้องกันการใช้บริการอย่างไม่เหมาะสม     แต่ต่อมาก็ยกเลิกไปด้วยพลังประชานิยมทางการเมือง    ซึ่งน่าจะถือเป็นก้าวถอยหลังในทางระบบ    แต่ญี่ปุ่นมีระบบ co-payment    ที่คนรวยจ่ายมาก คนจนจ่ายน้อยหรือไม่จ่ายเลย    เยอรมนีก็เคยฟรีหมด และพัฒนามามี co-pay ในปัจจุบัน    ผมเสียดายที่ลืมเสนอให้ในการประชุมขอเชิญผู้รู้จากเยอรมนีมา ลปรร. ประสบการณ์ด้วย   

จะเห็นว่าการมี OPP หากจัดระบบดีน่าจะเป็นคุณมากกว่าเป็นโทษ    แต่ประเทศที่ระบบ UHC อ่อนแอ    ประชาชนต้องจ่าย OPP อย่างไร้เหตุผล     และอาจนำไปสู่ความยากลำบากทางการเงิน   

การใช้กลไก OPP ที่เป็นคุณ คือใช้กำกับการใช้บริการอย่างไม่สมเหตุสมผล    และใช้ป้องกันไม่ให้ใช้บริการมากเกินไป    รวมทั้งเพื่อสร้าง equity ทางสังคม             

วิจารณ์ พานิช  

๑๗ ม.ค. ๖๓


   

หมายเลขบันทึก: 675897เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2020 18:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มีนาคม 2020 18:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท