ชีวิตที่พอเพียง 3636. PMA 2020 : 4. PMA Lecture



เป็นกำหนดเหมือนกันทุกปี    ว่าก่อนวันพระราชทานรางวัล ๑ วัน ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลจะไปเยี่ยมคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล    ปีนี้คือวันที่ ๒๙ มกราาคม ๒๕๖๓

วันที่ ๒๙ มกราคม ผมไปฟ้ง PMAYP Mentor Lecture III  จัดที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลศิริราช  เรื่องวิตามินดี    ได้ฟัง ศ. นพ. สุทิน ศรีอัษฎาพร บรรยายเรื่องสถานะด้านวิตามิน ดี ในผู้ป่วยไทยที่เป็นโรคกลุ่ม คาร์ดิโอเมตะบอลิก    และ นพ. นิพิธ เจริญงาม เสนอเรื่อง เปรียบเทียบผลของการให้ Vitamin D3  กับ 25-hydroxyvitamin D3 ในผู้ใหญ่ที่มีภาวะการดูดซึมอาหารบกพร่อง  กับในคนที่การดูดซึมอาหารปกติ    ซึ่งผลคือ เนื่องจากวิตามินดีไม่ละลายน้ำ จึงไม่ดูดซึมในผู้ที่มีภาวะการดูดซึมอาหารบกพร่อง    แต่เนื่องจาก 25-hydroxyvitamin D3 ละลายน้ำ  จึงดูดซึมได้ดีในผู้ที่มีภาวการณ์ดูดซึมอาหารบกพร่อง

ขอย้ำว่าเรื่องวิตามิน ดี นี้คนไทยเข้าใจผิดมานานว่าคนไทยมีวิตามินนี้เหลือเฟือ เพราะบ้านเราแดดดี    เวลานี้ผลงานวิจัยบอกว่า หนึ่งในสามของคนไทยพร่องวิตามิน ดี    และอีกหนึ่งในสามทำท่าจะพร่อง  

เนื่องจากหมอนัดทำฟันช่วง ๑๐ - ๑๒ น. ผมจึงพลาดโอกาสฟัง Prof. Michael F. Holick  พูดเรื่อง Vitamin D Translational Research ซึ่งทราบภายหลังว่าท่านพูดดีมาก   

หลังจากไปร่วมรับประทานอาหารเที่ยง ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจัดต้อนรับผู้ได้รับพระราชทานรางวัลทั้งสองคือ Professor Ralf F.W. Bartenschlager แห่ง Molecular Virology Laboratory, Heidelberg ในสาขาการแพทย์     และ Professor David Mabey  แห่ง London School of Hygiene and Tropical Medicine ในสาขาสาธารณสุข    ที่ห้องประชุมตึกอำนวยการ อย่างทุกปี    อิ่มอร่อยปากจากอาหารอิตาเลียนจาก Piccolo Italian Restaurant แล้ว    ก็ถึงรายการที่ผมรอคอย    เพื่อความอิ่มอร่อยทางสมอง คือการบรรยายพิเศษของผู้ได้รับพระราชทานรางวัล

 

Hepatitis C virus elimination : Achievements and Challenges

ศาสตราจารย์ Ralf Bartenschlager  เล่าว่าท่านเรียนจบปริญญาเอกสาขาไวรัสวิทยา โดยวิจัยเรื่องไวรัสตับอักเสบ บี จากมหาวิทยาลัย ไฮเดลแบร์ก ในปี ค.ศ. 1989    ซึ่งเป็นปีที่ค้นพบตัวไวรัสตับอักเสบ Non-A, Non-B  และได้ชื่อว่า HCV (Hepatitis C Virus)   ท่านจึงตัดสินใจทำวิจัยเรื่อง HCV โดยไปทำที่ห้องปฏิบัติการของบริษัทเอกชน    ได้ศึกษา HCV genome  และ NS3 protease   แล้วตัดสินใจกลับไปทำวิจัยต่อในมหาวิทยาลัย     พอดีมหาวิทยาลัย Mainz จัดตั้งสถาบันวิจัยไวรัสที่ใหญ่โตมาก ภายใต้ศาสตราจารย์ M. Reddehase   ท่านจึงได้เข้าไปตั้งทีมวิจัย HCV   เริ่มด้วยการทำความเข้าใจ genome organization    ต่อด้วย HCV polymerase   ตามด้วยการพัฒนาระบบการเพาะเลี้ยงเซลล์เพื่อเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ไวรัส    ทำอยู่ ๖ ปี ก็ไม่สำเร็จ    จวนจะล้มเลิกก็บังเอิญลองวิธีใหม่ และสำเร็จ    โดยการศึกษา HCV replicon เพียงบางส่วน    ก็สามารถตรวจพบโปรตีนของไวรัสได้    และพัฒนาวิธีขยายพันธุ์ไวรัสได้สำเร็จ   และพัฒนาต่อเนื่องจนมีวิธีขยายพันธุ์แบบอัตโนมัติ  

ความฉลาดของท่านคือ เมื่อไวรัสทั้งตัวเพาะเลี้ยงยาก  ก็เพาะขยายพันธุ์เพียงบางส่วนของไวรัส  จึงสำเร็จ  

จาก replicon system  นำไปสู่การพัฒนายาต้านไวรัส HCV   ที่ยารุ่นแรกได้ผลไม่ดีในผู้ป่วยที่ตับชำรุดมากแล้ว (ตับแข็ง -  cirrhosis)    แต่ยารุ่นหลังๆ ได้ผลดี   แต่ราคายังแพง    เป้าหมายของการรักษาคือเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งตับตามมา     ยาต้านไวรัสได้ผลดีมาก แต่ก็ยังมีความท้าทายอีกมาก ดังในบทความ (๑)    คือ คนจนเข้าไม่ถึง เพราะราคาแพง    อัตราการวินิจฉัยต่ำ (ราวๆ ร้อยละ ๒๐)    การใช้ยาไม่ได้ผลเพราะเชื้อดื้อยา    แม้ให้ยาขจัดไวรัสได้แล้ว ตับที่ชำรุดมากยังคงดำเนินสู่มะเร็งตับ    และแม้ให้ยาขจัดไวรัสหมดไปจากตัวแล้ว ก็ยังได้รับการติดเชื้อใหม่ได้  

คำแนะนำต่อคนรุ่นใหม่ที่อยากใช้ชีวิตเป็นนักวิจัยอยู่ในรูปที่ ๓     

ฟังการบรรยายของนักวิจัยที่ประสบความสำเร็จยอดเยี่ยมแล้ว จะสัมผัสได้ถึงความเป็นคนถ่อมตน  มองเรื่องราวต่างๆ ตามความเป็นจริงและระมัดระวัง    ไม่โอ้อวดในความสำเร็จ 

 

Towards Elimination of Blinding Trachoma

 ศาสตราจารย์ David Mabey เล่าว่าท่านเกิดและโตในประเทศ แกมเบีย อัฟริกาตะวันตก    เมื่อโตขึ้นพ่อแม่ส่งเข้าเรียนที่ประเทศสหราชอาณาจักร    จนจบแพทย์จากมหาวิทยาลัย อ๊อกซฟอร์ด    จึงคิดกลับไปทำงานที่ประเทศแกมเบีย    เป็นหมอของ “Gate Clinic” MRC Lab   โชคดีได้ mentor ดี คือ Dr. Hilton Whittle ที่เมื่อ David Mabey ขอคำแนะนำว่าน่าจะหาทางขจัด โรคริดสีดวงตา (trachoma) ที่เกิดจากเชื้อ Clamydia trachomatis ก็ได้ลูกยุว่าให้หาวิธีดำเนินการเลย    โดยเบื้งต้นให้หาวิธีวินิจฉัยโรคเสียก่อน  

ในช่วงทศวรรษ 1970  มีนักวิจัยกลุ่มอื่นทดลอง trachoma vaccine  ซึ่งในที่สุดพบว่าล้มเหลว    ช่วงปี 1984 ท่านทดลองป้ายยา tetracycline ชนิดขี้ผึ้ง วันละ ๒ ครั้ง เป็นเวลา ๖ สัปดาห์ พบว่าตาอักเสบจากการติดเชื้อ C. trachomatis หายได้    และหลังจากนั้นไม่นานก็มียา azithromycin ซึ่งกินครั้งเดียวบำบัดได้    ทีมของท่านทดลองป้ายยา ๖ สัปดาห์  เทียบกับกิน azithromycin ครั้งเดียว    พบว่าได้ผลเท่าๆ กัน   แต่ไม่ว่าใช้ยาใดเกิดการติดเชื้อใหม่ได้   รายงานใน Lancet  ปี 1993     

ท่านได้ไปขอร้องให้บริษัท Pfizer บริจาคยา azithromycin     จึงทดลอง mass treatment ทั้งหมู่บ้าน    ลองพร้อมกันหลายหมู่บ้าน    พบว่านอกจากการติดเชื้อ Clamydia trachomatis หาย    มาลาเรียก็ดีขึ้น   และความเจ็บป่วยทั่วไปลดลง     ในปี 1998 World Health Assembly จึงมีมติกำหนดการดำเนินการ เพื่อให้ภาวะตาบอดจาก trachoma ไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขภายในปี 2020   โดยกำหนดสภาพดังกล่าวว่าหมายถึง  (๑) prevalence ของการติดเชื้อ Clamydia trachomatis ในเด็กอายุ ๑๕ ปีลงไป น้อยกว่าร้อยละ ๐.๒  (๒) พบอาการริดสีดวงตา น้อยกว่าร้อยละ ๕ ในเด็กอายุ ๑ - ๙ ปี  และ (๓) มีขีดความสามารถในการตรวจหาและบำบัดการติดเชื้อ Clamydia trachomatis        

มีการรณรงค์มาตรการ SAFE (Surgery, Antibiotics, clean Faces, Environment)    และทดลองดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว    และพบว่าการให้ยาแบบปูพรมได้ผลลดอัตราติดเชื้อ  C. Trachomatis    หากปูพรมได้สูง และไม่มีการเคลื่อนย้ายประชากร   การดำเนินมาตรการ SAFE ได้ผลดี    แต่ผลลัพธ์ที่คาดหมายจะไม่ทันปี 2020    น่าจะล่าไปเกือบสิบปี   

จะเห็นว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลปีนี้ ให้แก่ผลงานด้านโรคติดเชื้อทั้งคู่    รางวัลด้านการแพทย์เป็นการแก้ปัญหาโรคไวรัส ที่นำไปสู่โรคตับแข็งและมะเร็งตับ    เป็นความสำเร็จจากผลงานวิจัยด้าน biomedical    รางวัลด้านสาธารณสุขเป็นการแก้ปัญหาการติดเชื้อแบกทีเรียที่นำไปสู่ตาบอด   ความสำเร็จเกิดจากการวิจัยภาคสนาม        

คนทั่วไปที่สนใจผลงานทั้งสอง ชมได้จากรายการทีวีช่อง ๙ ที่ถ่ายทอดสดพิธีพระราชทานรางวัลในวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๓  (๒) 

วิจารณ์ พานิช  

๓๐ ม.ค. ๖๓


   

หมายเลขบันทึก: 675746เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2020 19:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2020 19:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท