ชีวิตที่พอเพียง 3635. PMA 2020 : 3. PMA Youth Program Conference 2020



เช้าวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๓ เป็นวันเริ่ม side event ของ PMAC 2020   งานแรกที่ผมมีภารกิจต้องไปร่วมคือ 8th Prince Mahidol Award Youth Program Conference ที่โรงแรมเซนทารา แอท เซนทรัลเวิร์ล ชั้น ๒๓    ซึ่งมีเอกสารการประชุมอ่านหรือดาวน์โหลดได้ที่ (๑)    ผมมีหน้าที่กล่าวเปิดในฐานะประธานกรรมการอำนวยการ   

 เป็นการทำงานที่ช่วยให้คนแก่มีความสุข    เพราะได้ใช้เวลาในบั้นปลายชีวิต ทำงานส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้ทำหน้าที่ผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อประโยชน์ของสังคมวงกว้าง หรือประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์    ในท่ามกลางโลกวัตถุนิยม

เผลอแวบเดียว PMAYP ย่างเข้าปีที่ ๑๒ แล้ว    คือมีการจัดตั้งอย่างเป็นทางการในปี ๒๕๕๑    ผมภูมิใจมากที่การออกแบบโครงการได้ผลดีมาก    คือไม่ใช่แค่พระราชทานทุน    แต่มีการจัดการ lifetime mentoring and networking ด้วย    เพื่อสนับสนุนผู้ได้รับพระราชทานทุนอย่างต่อเนื่อง    เพื่อการบรรลุความฝันของ PMAYP Scholar แต่ละคน

ทีมจัดการโครงการก็ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการเปลี่ยนทีมผู้บริหาร    คือ ศ. นพ. อภิชาติ อัศวมงคลกุล เป็นหัวหน้าใหญ่ หรือประธานคณะกรรมการดำเนินการ    รศ. ดร. อังคณา ฉายประเสริฐเป็นรองหัวหน้าทีม ทำหน้าที่ดูแลสำนักงานจัดการโครงการ    มีทีมงานดำเนินการจากหลายโรงเรียนแพทย์มาช่วยกันอย่างน่าชื่นใจ    ทั้งเรื่อง PMAYP Networking Conference (ที่นัดกันวันวาเลนไทน์   ปีนี้จุฬาฯ เป็นเจ้าภาพ)    และเรื่อง PMAYP Conference ที่คุณภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ และแตกแขนงออกไปจัดเป็น satellite meeting ที่โรงเรียนแพทย์ต่างๆ อย่างปีนี้วันที่ ๒๙ มกราคม ช่วงเช้า มีการประชุมเรื่อง วิตามิน ดี  ที่ศิริราช  พร้อมกันกับการประชุม PMAYP Conference ที่โรงแรมเซนทารา    

โครงการเยาวชน  และการประชุม PMAYP Conference เป็นกลไกหนึ่งของการ modernize  หรือ globalize ระบบสุขภาพของประเทศไทย    โดยใช้คนรุ่นใหม่ คือ PMAYP Scholar เป็นผู้กระทำการ (Agent)    มีการจัดการของ PMAYP Office เป็นกลไกหนุน   

การประชุม PMAYP Conference จัดเป็น Side Event ของ PMAC ทุกปี    และจัดที่โรงแรมเซนทารา แอท เซนทรัลเวิร์ล     แต่ก็มีการประชุมเฉพาะเรื่อง โดยจัดที่โรงเรียนแพทย์ที่เสนอจัดด้วย     โดยปีนี้ศิริราชกับจุฬาเป็นสถานที่ประชุมด้วย

วันที่ ๒๘ มกราคม ช่วงเช้าเป็นการนำเสนอผลงานของ PMAYP Scholars รุ่น ๙    ตอนบ่ายเป็น Dementia Conference     และมี รายการที่ศิริราชคู่กันไปด้วย เรื่อง Epigenetics in Alcohol Use Disorder & Anxiety Disorder

วันที่ ๒๙ มกราคม  ช่วงเช้า เป็นเรื่อง Health Literacy  คณะแพทย์ มช. เป็นเจ้าภาพ (จัดที่เซนทารา)     บ่ายไปประชุมที่จุฬาฯ เรื่อง Microbiome & Probiotics    และเช้าวันที่ ๒๙ ที่ศิริราชมีรายการเรื่อง วิตามิน ดี    เรื่องดีๆ ทั้งนั้น       

วันที่ ๒๘ ผมอยู่กับ PMAYP Conference เกือนทั้งวัน    ได้มีความสุขกับผลงานความสำเร็จของผู้ได้รับพระราชทานทุนโดยตอนเช้ารุ่น ๙ มานำเสนอ พร้อมกับ mentor ต่างประเทศและไทยมานั่งฟังและให้ความเห็นด้วย    

เริ่มจาก นพ. ฆนัท จันทร์ทองดี เสนอเรื่อง prdm2 : An Epigenetic Mediator of Alcohol Dependence and Fear Expression    เป็นงานวิจัยในหนู ทำที่สถาบัน Center for Social and Affective Neuroscience, Linkoping University (มหาวิทยาลัยลินเชอปิง), Sweden    เป็นงานวิชาการด้าน neuropsychiatry    ทำความเข้าใจกลไกความเครียดกับการติดเหล้า เชื่อมโยงกับยีน prdm2   โดยทดลองในหนู     ฟังแล้วผมเข้าใจว่า ยีน prdm2 น่าจะเกี่ยวข้องกับความยีดหยุ่นทางอารมณ์    หนูที่ถูกทำให้ยีน prdm2 ในสมองส่วน prelimbic ไม่ทำงาน    จะจำฝังใจเรื่องน่ากลัว  และหันไปพึ่งเหล้าเพื่อคลายอารมณ์    ฟังเรื่องนี้แล้ว ผมคิดว่า เป็นส่วนของความรู้ที่มีความหมายต่อชีวิตที่ดีของคนเรามาก    ผมคิดว่าคนที่ได้ฝึกความยืดหยุ่นมั่นคงทางอารมณ์ เป็นปัจจัยสำคัญต่อการผจญฟันฝ่าอุปสรรคความยากลำบากสารพัดด้านในอนาคต    งานวิจัยนี้เป็นจุดเล็กๆ ของภาพใหญ่    ในเรื่องความมั่นคงทางอารมณ์

คุณหมอฑนัท น่าจะเข้าไปเสริมพลังวิชาการให้แก่ภาควิชาสรีรวิทยาของศิริราชได้ในอนาคต    โดยจะไปเรียนต่อ PhD ในสถาบันเดิมนี้

เรื่องที่ ๒ Pharmacokinetic Evaluation of Vitamin D 3 and 25-Hydroxyvitamin D3 in Normal and Malabsorptive Adults โดย นพ. นิพิฐ เจริญงาม  จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล    ไปทำวิจัยที่ สาขาวิชา Endocrinology, Diabetes, Nutrition and Weight Management    ภาควิชาอายุรศาสตร์    มหาวิทยาลัยบอสตัน    กับศาสตราจารย์ Michael E. Holick    เราเข้าใจผิดกันมานาน ว่าคนไทยได้แดดมาก ไม่ขาดวิตามินดี    ช้อมูลจากงานวิจัยบอกว่า คนไทยร้อยละ ๓๐ ขาดวิตามินดี  ร้อยละ ๗๐ มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำ     และวิตามินดีมีความสำคัญต่อการทำงานตามปกติของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย    การขาดวิตามินดีจึงมีผลต่อโรคกลุ่ม cardio-metabolic, inflammatory bowel disease, โรคระบบอิมมูน, โรคกระดูก (๒)    ความรู้เรื่องวิตามินดีกับสุขภาพของมนุษย์ มีมากกว่าตอนผมเรียนแพทย์เมื่อเกือบ ๖๐ ปีที่แล้ว อย่างเทียบกันไม่ติด   

คุณหมอนิพิฐ กำลังเรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยบอสตัน    โดยมี Dr. Holick เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา     ในช่วงเวลา ๑ ปีที่ไปฝึกวิจัยในฐานะ PMAYP Scholar มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ถึง ๘ เรื่อง    โดยที่จริงๆ แล้วคุณหมอนิพิฐเริ่มฝึกทำวิจัยตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาแพทย์      

 เรื่องที่ ๓   Development of Evidence-Based Preventive Medicine: Probiotics for Diabetes   โดย พญ. ฐานิสรา ลือฤทธิพงศ์   คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ดู booklet  (๑) หน้า ๓๒)     ซึ่งเมื่อผมฟังแล้ว ก็เข้าใจว่า คุณหมอฐานิสรากำลังฝึกเป็นนักวิจัยด้านเวชศาสตร์ป้องกัน ที่มีความชำนาญด้าน systematic review หรือ evidence synthesis  และ meta-analysis    โดยในชั้นแรกฝึกศึกษาผลของการใช้ probiotics  ในการป้องกันโรคเบาหวาน   ที่สรุปผล meta-analysis ว่ามีแนวโน้มจะได้ผลดี    แต่ต้องการ primary research ในบริบทไทยเพิ่มเติม   

คุณหมอฐานิสราจะไปเรียนต่อปริญญาโท ที่ Johns Hopkins School of Public Health  สถานที่ฝึกตอนเป็น PMAYP Scholar   และเมื่อรู้ใจตนเองว่าชอบเรื่องอะไร ก็จะทำปริญญาเอกต่อไป  

เรื่องที่ ๔  Caring for Caregivers: Implementation of Telehealth to Strengthen Health Care for Caregiver of Geriatric Patients with Chronic Conditions โดย นพ. ภีม สาระสมบัติ  ภาควิชาศัลยศาสตร์อร์โธปิดิกส์  คณะแพทยศาสตร์  มช.   ไปฝึกที่ University of New Mexico สหรัฐอเมริกา   เพื่อเรียนรู้วิธีใช้ TeleECHO (๓) ในการให้ความรู้แก่ care giver    จะเห็นว่า Thai mentor ของคุณหมอภีมคือ อ. ดร. นพ. ชัยสิริ อังกุรวรานนท์ ทำงานที่ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว    โดยคุณหมอภีมมีเป้าหมายชีวิตเป็นหมอศัลยกรรมกระดูก    ซึ่งก็เดาได้ว่า น่าจะสนใจผู้สูงอายุ  การดูแลผู้สูงอายุ    และน่าจะทำให้ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ กับภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัวทำงานใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น  

เรื่องที่ ๕ The Development and Validation of Tablet-Based Cognitive Testing Tool for Thai Older Adults: Thai Brain Health Assessment (Thai BHA)  โดย พญ. สุชานันท์ กาญจนพงศ์  หน่วยเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ  ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  มหาวิทยาลัยมหิดล    ผมอ่านใจว่า คุณหมอสุชานันท์ต้องการพัฒนาตนเองเป็นนักวิชาการด้านโรคสมองเสื่อม    จึงไปศึกษาเทคนิคการทดสอบที่ก้าวหน้าไปจากวิธี paper-based    เมื่อค้นพบ UCSF Brain Health Assessmentก็ติดต่อไป   รศ. ดร. Katherine Possin เล่าว่า ตามปกติได้รับอีเมล์วันละราวๆ ๒๐๐    อยู่ๆ ก็ได้รับอีเมล์แปลก  ที่เมื่ออ่านแล้วรีบตอบทันที    เพราะนี่แหละลูกศิษย์ที่อยากได้   

คุณหมอสุชานันท์โชคดีสองชั้น  คือได้ mentor ที่มีพลังมากทั้งในต่างประเทศ และที่ศิริราช คือ ศ. นพ. วีระศักดิ์ เมืองไพศาล    ท่านบอกว่า ขั้นตอนต่อไปคือการเรียนรู้ยกกำลังสี่ ของคุณหมอสุชานันท์ คือ (๑) วิชาการ  (๒) ประสบการณ์ชีวิต  (๓)  ความร่วมมือ  และ (๔) การทำประโยชน์ให้แก่สังคม   ผมประทับใจคำพูดของ อ. หมอวีระศักดิ์มาก            

 ผมเล่าเรื่อง PMAYP Conference ปีก่อนๆ ไว้ที่ (๔)     และขอแนะนำให้นักศึกษาแพทย์อ่านเรื่องราวเผยใจของ PMAYP Scholar รุ่น ๙ (ปี ๒๕๕๙) ทั้ง ๕ คน ใน booklet  (๑)   หน้า ๔๗ เป็นต้นไป    อ่านแล้วจะได้รับแรงบันดาลใจมาก   และเห็นลู่ทางสร้างตัวเป็นนักวิชาการ โดยเตรียมตัวตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์     

หลังจาก PMAYP Scholar รุ่น ๙  เสนอจบ    ก็เป็นการนำเสนอเรื่อง อดีตและปัจจุบันของ PMAYP Scholar  รุ่น ๓  ปี ๒๕๕๔ สองคนคือ  ผู้ช่วยอาจารย์ทางคลินิก พญ. จิดาภา ว่องเจริญวัฒนา ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล   และ อ. นพ. เสกข์ แทนประเสริฐสุข อาจารย์ภาควิชาสรีรวิทยา  และกรรมการในคณะกรรมการฝ่ายกิจการนิสิต  คณะแพทยศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย       

 ผมกลับมาอ่าน booklet  (๑)  ที่บ้านจนจบเล่ม     ได้ข้อสรุปว่า โครงการทุนเยาวชน รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ได้ทำหน้าที่เป็น platform ให้นักศึกษาแพทย์ที่รักงานวิชาการ ได้มีโอกาสได้เข้าสู่วงการวิชาการในระดับขอบฟ้าใหม่ในเรื่องนั้นๆ    ได้มีแวดวงหรือเครือข่ายทั่วโลก  สำหรับการฝึกฝนพัฒนาตนเอง สู่การทำงานวิชาการในวิชาชีพแพทย์     ทั้งด้านคลินิกเชื่อมโยงกับการวิจัยพื้นฐาน    หรือด้านคลินิกเชื่อมโยงกับการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ    หรือบางคนเข้าสู่การเป็นอาจารย์ทางพรีคลินิก ที่มีงานวิจัยในระดับขอบฟ้าใหม่ของวิชาการด้านนั้นๆ     

วิจารณ์ พานิช  

๓๐ ม.ค. ๖๓


   

หมายเลขบันทึก: 675696เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2020 18:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2020 18:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท