Chapter 1 : Introduction of Human Capital


สวัสดี เพื่อนสมาชิกทุกท่าน

นี่เป็นครั้งแรกในชีวิต ที่รู้สึกว่าอยากจะลงมือเขียนเรื่องราวความรู้ต่าง ๆ ที่มีโอกาสได้เรียนรู้ทั้งใน และนอกตำราเรียน มาแชร์ให้กับคนอื่นได้รู้ และสามารถนำไปปรับ หรือประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน หรือชีวิตการทำงาน ได้ไม่มากก็น้อย

หลังจากที่เป็นคนอ่านเรื่องราวต่าง ๆ ของคนอื่นมาเป็นเวลานาน จนคิดว่าถึงเวลาแล้ว ที่เราควรที่จะเขียน หรือแชร์ประสบการณ์ต่าง ๆ ให้กับคนอื่นบ้างสักที อย่างน้อยก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้น หรือแรงบันดาลใจเล็ก ๆ ให้กับคนอื่น ในการเริ่มต้นที่จะเปลี่ยนแปลงได้บ้าง

ในปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้เข้าศึกษาปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี สาขาการบริหารจัดการองค์กร พบว่ามีวิชาที่น่าสนใจ อยู่วิชาหนึ่ง ที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ในการที่จะช่วยนำไปพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ คือ ทุนมนุษย์เชิงกลยุทธ์และการพัฒนาองค์กร

มาถึงตรงนี้ หลาย ๆ คน คงสงสัยว่า “มนุษย์มีต้นทุนด้วยหรอ?”….“คนนะไม่ใช่สินค้าจะมีต้นทุนได้อย่างไร?”งั้นในบทนี้เรามาทำความเข้าใจกับคำว่า “ ทุนมนุษย์ ” กันก่อนนะครับ

คำว่า “ทุนมนุษย์” อาจจะเป็นคำศัพท์ใหม่สำหรับหลาย ๆ คน ที่อาจจะไม่เคยได้ยิน ได้ฟังมาก่อนก็เป็นได้ครับแต่คำว่า “ทุนมนุษย์” หรือ “ Human Capital “ นั้นเกิดมาจากแนวคิดทางเศรษฐศาตร์ ที่ไม่ได้มองต้นทุนเป็นเพียงแค่ตัวเงินอย่างเดียว ยังมีต้นทุนอีกมากมายหลายแบบ เช่น ทุนที่มาจากทางสังคม ทุนทางธรรมชาติ และหนึ่งในนั้นก็มีทุนมนุษย์รวมอยู่ด้วย

“ทุนมนุษย์” นั้นเป็นสิ่งที่ติดตัวมาของแต่ละบุคคล ที่ไม่สามารถเปลี่ยนถ่ายโอนย้ายให้กับคนอื่นได้ “ทุนมนุษย์” จึงเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณค่าต่อบริษัท เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างศักยภาพ ประสิทธิภาพ ในการทำงานให้กับบริษัท

“ทุนมนุษย์” เป็นสินทรัพย์ที่เป็นนามธรรมที่ไม่สามารถตีค่าเป็นตัวเงินได้ จึงถูกจัดไว้ในประเภทของสินทรัพย์ที่ไม่อาจวัดได้ (Intangible Assets)

“ทุนมนุษย์” หมายถึง ส่วนผสมของ 3 สิ่ง (Lynda Gratton & Sumantra Ghoshal)
1. ทุนทางปัญญา (Intellectual Capital) เช่น ทักษะ , ความรู้ , ความสามารถในการเรียนรู้ ความเก่ง เชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง, ประสบการณ์ที่สะสมไว้ ฯลฯ

2. ทุนทางสังคม (Social Capital) เช่น เครือข่ายความสัมพันธ์ในสังคมที่คนนั้นมี ฯลฯ

3. ทุนทางอารมณ์ (Emotional Capital) เช่น การรับรู้ตนเอง (Self Awareness) , ความมีศักดิ์ศรี (Integrity) การมีความยืดหยุ่น (Resilience) ฯลฯ

ตัวอย่างข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดของทุนมนุษย์กับทุนทางการเงิน คือ
ทุนทางการเงิน

  • ใช้แล้วหมดไป
  • ยิ่งใช้มาก ยิ่งหมดเร็ว
  • เงินมีโอกาสเสื่อมของมูลค่า

แต่ทุนมนุษย์ นั้น

  • ไม่มีวันหมด ยังอยู่ในตัวเอง
  • ยิ่งใช้งานมาก ยิ่งมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
  • ไม่มีโอกาสเสื่อม

ต้องยอมรับว่า “ทุนมนุษย์” นั้นเป็นที่สำคัญที่สุดของปัจจัยการผลิตที่มีคุณค่า เพราะนอกจากจะทำหน้าที่ผลิตแล้ว ยังต้องรับผิดชอบถึงการผลิตที่จะมีในอนาคตด้วย แต่ก่อนที่คนของเราจะกลายเป็นปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพได้นั้น จึงจำเป็นต้องมีการลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งทักษะ ประสบการณ์ สิ่งที่ต้องการมา หล่อหลอมรวมขึ้นมาจนเป็นตัวของเราในทุกวันนี้ จึงเรียกว่า “ทุนมนุษย์”

ซึ่งคนทุกคนที่เกิดมาต่างมีต้นทุนที่แตกต่างกัน เช่น สติปัญญา,ความฉลาด,บุคลิกภาพ,ความรวดเร็วในการเรียนรู้,สภาพสังคมสิ่งแวดล้อม,ที่อยู่อาศัย,สภาวะการควบคุมอารมณ์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เอง จึงทำให้คนแต่ละคนจึงมี “ทุนมนุษย์” ที่แตกต่างกันออกไป แล้วองค์กรสามารถที่จะพัฒนา “ทุนมนุษย์” ที่แตกต่างกันของแต่ละคนนี้ได้หรือไม่? แล้วจะทำได้อย่างไร?ในบทหน้าเราจะมาพูดถึงเรื่องนี้กันนะครับ

คำสำคัญ (Tags): #human capital#danaisoun#story telling
หมายเลขบันทึก: 675691เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2020 14:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2020 15:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท