เทา-งามสัมพันธ์ : ว่าด้วยเรื่องเล่าและตำนานในชุมชน


ไม่ใช่แค่เรื่องศาลตาปู่เท่านั้นหรอกที่ผมสนใจ เรื่องราวของ “หลวงพ่อองค์ใหญ่” ก็เป็นอีกเรื่องที่ผมให้ความเคารพและสนอกสนใจไม่แพ้กัน แต่ยังไม่มีโอกาสได้เสาะหาความรู้จากปากคำของชุมชน รู้แต่เพียงว่ารูปลักษณ์ของหลวงพ่อที่ปั้นขึ้นมานี้ถอดแบบมาจาก สปป.ลาว พอได้ฟังเช่นนี้ จึงไม่แปลกว่าชุมชนบ้านโคกกรวดมีหลายชาติพันธุ์ ทั้งที่เป็นลาวพวน ไทยพวน คนไทยเชื้อสายจีน รวมถึงคนไทย (สยาม) มาปักหลักตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 (เวลาประมาณ 09.00 น.)  

ทันทีที่คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่และนิสิตในเครือเทา-งามสัมพันธ์ เดินทางมาถึงโรงเรียนวัดพรหมเพชร ต.โคกกรวด อ.ปากพลี จ.นครนายก  ทีมผู้ประสานงานของเจ้าภาพ (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) ก็นำทุกคนเข้าสู่พิธีการกราบสักการะสิ่งศักดิ์ในโรงเรียนฯ

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ว่านี้ ประกอบไปด้วย “หลวงพ่อใหญ่ (พระพุทธรูป)  ศาลตาปู่ผ้าขาว ศาลตาปู่ขุนเกด ศาลย่าหงส์ทองและศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง”



จุดแรกที่เข้าไปกราบสักการะ ก็คือ “หลวงพ่อใหญ่” ตามติดด้วย “ศาลตาปู่ผ้าขาว” ถัดจากนั้นก็มาสู่ศาลตาปู่ขุนเกด ศาลย่าหงส์ทอง และศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง” ตามลำดับ

ผมไม่รู้หรอกว่าผู้มาเยือน “ชาวเทา-งาม” เข้าใจ  หรือให้ความสำคัญกับพิธีกรรมเช่นนี้มากน้อยหรือไม่  

แต่สำหรับผมแล้ว  ผมให้ความสำคัญอย่างมาก 

การให้ความสำคัญของผม ไม่ใช่ว่าผมเติบโตมากับเรื่องราวในทำนองนี้หรอกนะครับ  หากแต่เชื่ออย่างไม่กังขาว่า “สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญจริงๆ เพราะถ้าไม่สำคัญ ชาวบ้านจะมากราบเคารพบูชาทำไมกัน

ยิ่งมาเห็นเช่นนี้  ผมยิ่งแปลกใจและให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ  เพราะพื้นที่ตั้งของโรงเรียนแห่งนี้มีทั้งวัด ทั้งศาลตาปู่อยู่ในอาณาเขตเดียวกัน  เรียกได้ว่ามีมิติครบทั้งที่เป็นวิถีพุทธ วิถีพราหมณ์  วิถีผีบรรพชน และวิถีราชการ อันหมายถึงโรงเรียน –

แต่ก็น่าเสียดายอยู่มากโขเลยทีเดียว  เพราะในทางกระบวนการเรียนรู้นั้น  ไม่ปรากฏการเชื้อเชิญให้บุคคลสำคัญในชุมชน  หรือที่เรียกว่า “เฒ่าจ้ำ” ได้เล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้ผู้มาเยือนได้สดับรับฟังเป็น “ความรู้”  จะมีก็แต่การมาตระเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ และทำหน้าที่บอกกล่าวให้แต่ละคนพนมมือ กราบไหว้ ขอพร


ผมยืนยันว่าผมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก  จึงอดทนรอให้พิธีต่างๆ ได้เสร็จสิ้นลง 

ต่อเมื่อผู้คนเข้าโหมดเก็บสัมภาระเข้าที่พัก  ผมจึงยืนดักรอสอบถามคนในชุมชนด้วยตนเอง  ซึ่งก็โชคดีมากที่ผมได้พบปะกับคุณแม่ “เกษร สมพิศ (พานนิล)”

คุณแม่เกสร คือเฒ่าจ้ำประจำหมู่บ้าน ปัจจุบันอยู่ในวัย 67 ปี !

แม่เกสรบอกเล่าให้รู้ว่า “การเป็นเฒ่าจ้ำของชุมชนนี้ เป็นการดำรงตำแหน่งตามสายตระกูล  เป็นการเลือกผ่านกระบวนการของคนทรง  ผู้ที่ถูกเลือกจะไม่สามารถปฏิเสธหน้าที่อันนี้ได้  และแม่เกสรก็ทำหน้าที่นี้ยาวนานมาร่วมๆ จะ 20 ปีเข้าให้แล้ว”

นอกจากแม่เกสรแล้ว  ผมยังมีโอกาสพูดคุยกับชาวบ้านอีก 2-3 คน  ปากคำทุกท่านตรงกันอย่างหนักแน่น  นั่นคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่กราบไหว้กันนี้  คือศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน  คอยทำหน้าที่ปกปักรักษาผู้คนในชุมชนให้อยู่เย็นเป็นสุข และเต็มไปด้วยอภินิหารต่างๆ มากมาย ดังนั้นคนในชุมชนและต่างชุมชนจึงนิยมมากราบไหว้บนบานศาลกล่าวอย่างไม่หยุดหย่อน


เช่นเดียวกับการบอกเล่าถึงปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติว่าในบางคืน ที่อาจเป็นได้ทั้งวันพระ  หรือวันที่มีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้นในหมู่บ้าน จะมีคนเห็นภาพของ “ตาปู่” นุ่งขาวห่มขาวขี่ม้าสัญจรลัดเลาะไปทั่วทั้งหมู่บ้าน  ประหนึ่งมาบอกข่าวเล่าแจ้ง ประหนึ่งมาปกป้องคุ้มครองลูกๆ หลานๆ ในชุมชน

สำหรับผู้มาเยือนที่เป็นคนนอกอย่างผม  - ผมไม่กังขาหรอกว่า เรื่องราวต่างๆ เป็นจริงเป็นเท็จแค่ไหน  แต่ยืนยันว่า ผมสุขใจมากที่ได้รับฟังเรื่องราวในทำนองนี้  และมองว่า นี่คืออีกหนึ่งกลไกอันสำคัญของการจัดระเบียบชุมชนผ่านความเป็น “คติชนวิทยา” อย่างน่ายกย่อง  ซึ่งคนนอกอย่างเราๆ มาชุมชนนี้ทั้งทีก็ควรต้องเรียนรู้เอาไว้บ้าง  มิเช่นนั้นจะเรียก “ค่ายอาสาพัฒนา”  ในแบบ “เรียนรู้คู่บริการ” หรือ "ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้" ได้อย่างไร !

นอกจากนั้น ผมยังได้แลกเปลี่ยนกับชุชนเป็นการส่วนตัว  โดยบอกว่าผมไม่ค่อยเห็นชุมชนใดที่มีทั้งวัด ทั้งโรงเรียนและศาลปู่ตา (ตาปู่) อยู่ด้วยกันเช่นนั้น  อย่างมากก็เป็นวัดกับศาลาปู่ตา หรือไม่ก็เป็นโรงเรียนกับวัด  เพราะศาลาปู่ตา  เท่าที่เห็นก็มักแยกตัวออกไปอยู่อีกที่อันเป็นป่าชุมชนของหมู่บ้านนั้นๆ เสียมากกว่า –

และหลายๆ ที่ก็เรียกสถานที่ตรงนั้นว่า “ดอนปู่ตา” นั่นเอง


ส่วนที่นี่  ผมก็แปลกใจอยู่ไม่ใช่ย่อย  เพราะมีศาลตาปู่อยู่ในพื้นที่เดียวกันมากกว่า 1 ศาล  นั่นยังไม่รวมถึงศาลเจ้าแม่ตะเคียนทองด้วย

ผมไม่รู้หรอกว่าพี่น้องในเครือเทา-งาม มีความรู้ หรือเข้าใจมากน้อยแค่ไหนเกี่ยวกับเรื่อง “ปู่ตา” 

แต่สำหรับผมแล้ว  ผมพอจะมีความรู้เข้าใจเพียงเล็กน้อยเพียงสังเขปว่า  “ผีปู่ตา” ก็คือผีบรรพบุรุษของชาวอีสาน – ผีบรรพบุรุษที่เมื่อครั้งยังมีลมหายใจเป็นมนุษย์นั้นก็คือกลุ่มคนที่ก่อร่างสร้างหมู่บ้านนั่นเอง  ทั้งนี้คำว่า “ปู่”ชาวอีสานเรียกแทน “ปู่-ย่า” ส่วนคำว่า “ตา” เป็นคำเรียกแทน “ตา-ยาย” โดยชาวอีสานจะทำพิธีเลี้ยงปู่ตาในช่วงเดือน 3 และเดือน 6 อันเป็นห้วงก่อนการ “ลงนา” และที่สำคัญคือต้องเลี้ยงก่อนที่จะเลี้ยง “ผีตาแฮก” ที่อยู่ตามไร่นา


นี่เป็นเพียงเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่ติดตัวผมมาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็ก 

ความรู้เหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการศึกษาค้นคว้าใดๆ เท่าใดนัก  ทว่าเกิดจากการพบเห็นและซึมซับมาจากวิถีประเพณีในหมู่บ้านของผมเอง  หรือกระทั่งการได้เห็นพ่อ หรือแม่นำพาชาวบ้านประกอบพิธีในเรื่องเหล่านี้  เพราะ “สายตระกูล” ของผมก็เกี่ยวโยงกับการเป็น “เฒ่าจ้ำ” มาเช่นกัน

ไม่ใช่แค่เรื่องศาลตาปู่เท่านั้นหรอกที่ผมสนใจ  เรื่องราวของ “หลวงพ่อองค์ใหญ่” ก็เป็นอีกเรื่องที่ผมให้ความเคารพและสนอกสนใจไม่แพ้กัน  แต่ยังไม่มีโอกาสได้เสาะหาความรู้จากปากคำของชุมชน  รู้แต่เพียงว่ารูปลักษณ์ของหลวงพ่อที่ปั้นขึ้นมานี้ถอดแบบมาจาก สปป.ลาว

พอได้ฟังเช่นนี้ จึงไม่แปลกว่าชุมชนบ้านโคกกรวดมีหลายชาติพันธุ์ ทั้งที่เป็นลาวพวน ไทยพวน  คนไทยเชื้อสายจีน  รวมถึงคนไทย (สยาม)  มาปักหลักตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่  แถมในบางถ้อยคำยังบอกกับผมว่า ชุมชนแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ยึดโยงในช่วงปลายสุโขทัยกับอยุธยาตอนต้นด้วยเหมือนกัน


นี่เป็นเพียงมุมเล็กๆ ที่ผมสัมผัสและพาตัวเองเสาะหาจากพื้นที่  ยังไม่มีเวลาสืบค้นผ่านระบบสารสนเทศใดๆ  และยืนยันว่า  หากโครงการเทา-งามสัมพันธ์ สามารถขยายการเรียนรู้เรื่องเหล่านี้สู่มวลนิสิต หรือแม้แต่บุคลากร ผมเชื่อว่านั่นคือการยกระดับค่ายเทา-งามสัมพันธ์ขึ้นในอีกมิติหนึ่ง ซึ่งมีช่องทางขับเคลื่อนได้หลายวิธี  ไม่ว่าจะเป็นเชิญปราชญ์ชาวบ้านมาบอกเล่า  การจัดทำเอกสารเพิ่มเติม  การมอบหมายนิสิตลงพื้นที่สัมภาษณ์ข้อมูล

ซึ่งกระบวนการเหล่านั้น  สามารถนำมาผลิตเป็นสื่อการแนะนำชุมชนได้ด้วยเช่นกัน เพราะเท่าที่ผมเดินดู-สอบถามดู ก็ไม่ปรากฏข้อมูลที่เป็นรูปธรรมในเรื่องเหล่านี้ 

ยิ่งในช่วงพบปะผู้นำชุมชน ก็ไม่มีการบอกเล่าข้อมูลด้านประวัติศาสตร์วัฒนธรรมชุมชน ยิ่งน่าเสียดาย-

ครับ-หากทำได้  ผมเชื่อเหลือเกินว่า จะช่วยให้ค่ายครั้งนี้มีมิติ “เรียนรู้คู่บริการ”  หรือมีคุณค่าและมูลค่ามากยิ่งขึ้น เพราะไม่ใช่ค่ายบริการสังคมทั่วไป หากแต่มีมิติอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ประวัติศาสตร์ –วัฒนธรรม เป็นต้น

ภาพ : พนัส ปรีวาสนา
เขียน : อังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 / วัดพรหมเพชร / นครนายก

หมายเลขบันทึก: 675663เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2020 16:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2020 16:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ณัฐภูมินทร์ ภูครองผา

กิจกรรมโครงการเทา-งามสัมพันธ์ที่มุ่งเน้นการจัดกิจกรรมบรูณาการ ทั้ง 5 ด้านแล้ว ยังได้สะท้อนถึงการเรียนคู่บริการอีกหนึ่งมิติและยังได้ทราบถึงประวัติของชุมชนซึ่งถือถือมีความสำคัญไม่น้อยไม่กว่าการจัดกิจกรรมด้านอื่นๆด้วยกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท