รายงานสรุปการให้เหตุผลทางกิจกรรมบำบัด จากกรณีศึกษาที่ศูนย์กายภาพบำบัด(เชิงสะพานสมเด็จปิ่นเกล้า)


รายงานสรุปการให้เหตุผลทางกิจกรรมบำบัด จากกรณีศึกษาที่ศูนย์กายภาพบำบัด(เชิงสะพานสมเด็จปิ่นเกล้า)

กรณีศึกษา  ด.ช.พัด (นามสมมติ) อายุ 9 ปี Dx: Microcephaly วัน เดือน ปีเกิด : 6 กรกฎาคม 2553 

ผู้ดูแลหลัก : แม่

อาการแสดง : ไม่สามารถพูดเป็นคำ ได้แค่ออกเสียง เข้าใจสิ่งที่ได้ยินแต่ไม่ทั้งหมด ข้อต่อผิดรูป มี fluctuating muscle tone ไม่สามารถควบคุมรยางค์ในการใช้งานได้ มีการกะแรงที่ไม่เหมาะสมและมีช่วงสมาธิสั้น ไม่รู้จักการรอคอย วอกแวกง่าย

การศึกษา : ไม่ได้เข้าศึกษาในสถาบันการศึกษา

ความต้องการของผู้ดูแล (Need) : ผู้รับบริการสามารถช่วยเหลือตนเอง และเข้าใจคำสั่งเบื้องต้นได้

จุดแข็ง (Strengths) :

  • ด้านผู้รับบริการ
    • ผู้รับบริการมีPerceptual processing ในด้าน kinesthesia โดยสามารถรับรู้ว่ามีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นกับส่วนของร่างกายในทิศทางใด และสามารถเคลื่อนไหวร่างกายไปในทิศทางที่ต้องการได้
    • ผู้รับบริการมี Sensory Awareness คือผู้รับบริการมีการตระหนักรู้ถึงสิ่งเร้า ทั้งด้านแสง เสียง และการเปลี่ยนแปลงรอบๆ เช่น เมื่อยื่นตุ๊กตาลิงที่ผู้รับบริการชอบเล่นให้ ผู้รับบริการก็มีการเคลื่อนตัวและเอื้อมมือมาหาตุ๊กตาลิง มีการหันหาเสียงเมื่อมีคนเรียกชื่อซ้ำๆ มีการหันไปมองเมื่อเห็นว่าแม่กำลังเดินมา
  • ด้านสิ่งแวดล้อม 
    • ผู้รับบริการมีแม่ที่คอยสนับสนุนการพามาฝึกกิจกรรมบำบัดและการทำกายภาพบำบัด
    • มีการปรับสิ่งแวดล้อมที่บ้านเพื่อให้ผู้รับบริการสามารถเคลื่อนย้ายตัวได้
  • สิ่งที่ผู้ดูแลมีความกังวลเกี่ยวกับผู้รับบริการ (Concerns in relation to performing occupations and daily life activities) 
    • แม่ของผู้รับบริการมีความกังวลถึงความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองของผู้รับบริการในอนาคต
  • สิ่งที่ผู้รับบริการมีศักยภาพพร้อมที่จะนำมาวางแผนการรักษา(Areas of potential occupational disruption) 
    • ด้าน Perceptual processing และ Sensory Awareness

ปัจจัยขัดขวาง :  เนื่องจากตามคิวของคลินิก สามารถมาฝึกได้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมงเท่านั้นส่งผลให้ผู้รับบริการไม่ได้รับการฝึกอย่างเต็มที่

Diagnostic clinical reasoning

  • ด้านการวินิจฉัยทางการแพทย์
    • ผู้รับบริการได้รับวินิจฉัยเป็น microcephaly (Q00-Q07, ICD10)(*) ตามเกณฑ์การวินิจฉัยของ WHO คือ ความยาวเส้นรอบศีรษะที่มีค่าต่ำกว่า Percentile ที่ 3 หรือต่ำกว่า -2 SD ของค่าปกติในเพศและกลุ่มอายุครรภ์ของทารกนั้นๆ ซึ่งมักจะสัมพันธ์กับความผิดปกติทางสมอง และการที่ผู้รับบริการมี Delayed Development คือมีพัฒนาการช้ารอบด้านเกิดจากการมีภาวะแทรกซ้อนของ Microcephaly 
  • ด้านการวินิจฉัยทางกิจกรรมบำบัด
    • จากการที่ผู้รับบริการได้รับการวินิจฉัยเป็น microcephaly ส่งผลต่อCurrent Occupational Role Performance คือ Occupational Deprivation : จากการขาดโอกาสเข้าร่วมทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตที่จำเป็น การเข้าร่วมกิจกรรมในสังคม การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ รวมถึงการเข้าเรียนตามช่วงวัยเนื่องด้วยความพิการ

(*) อ้างอิง https://www.icd10data.com/ICD10CM/Codes/Q00-Q99/Q00-Q07/Q02-/Q02

Procedural clinical reasoning :  เนื่องจากในกรณีศึกษานี้ได้รับการทำกิจกรรมบำบัดมาเป็นเวลา 6 ปี ทำให้นักศึกษาไม่ได้ลงในส่วนของการประเมินจริง แต่จากข้อมูลของโรคและอายุของเด็ก สิ่งที่นักศึกษาจะทำในกระบวนการทางกิจกรรมบำบัดหากได้มีโอกาสประเมิน คือ เริ่มจากการสัมภาษณ์ผู้ปกครองและประเมินองค์ประกอบในการทำกิจกรรมด้านต่างๆของผู้รับบริการ เพื่อนำไปสู่การวางแผนการรักษาและข้อควรส่งเสริมหรือระมัดระวังต่อไป โดยอ้างอิงตามความสามารถของผู้รับบริการในปัจจุบัน เนื่องจากตัวโรคไม่สามารถประเมินความสามารถตามพัฒนาการเพียงอย่างเดียวได้ ซึ่งเริ่มจากการประเมินได้แก่

ประเมินองค์ประกอบในการทำกิจกรรมด้านการรับความรู้สึก โดยจะประเมิน 3 ด้าน คือ

  • การตระหนักรู้ถึงสิ่งเร้า (Sensory Awareness) โดยการซักถามผู้ดูแลของเด็กว่าเด็กสามารถได้ยิน มองเห็น รับรู้ความเป็นไปรอบๆตัวเด็กได้หรือไม่ รวมทั้งผู้บำบัดมีการสังเกตการรับรู้เหล่านี้ของเด็กผ่านช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม โดยด้านการมองเห็น ผู้บำบัดประเมินโดยการยื่นของเล่นให้เด็กแล้วดูการตอบสนองของเด็กของเล่นในมือผู้บำบัด ด้านการได้ยิน ผู้บำบัดอาจทดสอบโดยการทำเสียงดัง เช่น การปรบมือ การเขย่ากรุ๊งกริ๊ง แล้วสังเกตดูการตอบสนองต่อเสียงของเด็ก ส่วนด้านการรับรู้ความเป็ฯไปรอบๆตัวเด็ก ผู้บำบัดใช้วิธีการสังเกตขณะที่ทำกิจกรรมแล้วมีคนเดินเข้าออก มีคนเรียกชื่อ มีเสียงเปิดปิดประตู แล้วดูว่าเด็กมีการหันหาตามเสียงหรือไม่ 
  • กระบวนการรับรู้ความรู้สึก (Sensory processing) เป็นการประเมินการรับความรู้สึกตั้งแต่ผู้รับบริการรับข้อมูลจากสิ่งเร้าในสิ่งแวดล้อม จนถึงการตอบสนองต่อสิ่งเร้านั้นๆ อาจทำได้โดยการใช้แบบประเมิน Sensory Profile 
  • กระบวนการรับรู้ (Perceptual Processing) โดยจะประเมิน การรับรู้การเคลื่อนไหว (Kinesthesia) โดยสังเกตจากการที่ผู้รับบริการสามารถใช้ส่วนของร่างกายเคลื่อนไหวไปยังที่ที่ต้องการได้อย่างถูกต้อง การตอบสนองต่อความเจ็บ (Pain Response) โดยผู้บำบัดซักถามผู้ปกครองถึงการแสดงออกของเด็กเมื่อได้รับอาการบาดเจ็บ เช่น เมื่อหกล้ม เด็กมีการตอบสนองอย่างไร รับรู้หรือไม่การรับรู้ความลึก (Depth Perception) เป็นการประเมินความสามารถทางสายตาเกี่ยวกับระยะห่างและความลึกของวัตถุ ซึ่งช่วยในการกะระยะการเคลื่อนไหว ซึ่งเนื่องจากผ็รับบริการสามารถเคลื่อนไปยังที่ต่างๆได้ด้วยตนเองแม้จะเดินไม่ได้ ดังนั้นผู้บำบัดอาจประเมินโดยซักถามผู้ปกครองว่าขณะเคลื่อนย้ายตัวภายในบ้าน ผู้รับบริการมีการกะระยะไปยังที่ที่ต้องการถูกหรือไม่ เมื่อมีทางต่างระดับแล้วผู้รับบริการสามารถเคลื่อนที่ผ่านไปได้หรือไม่ และอาจสังเกตจากการเคลื่อนไหวของผู้รับบริการเมื่ออยู่ที่คลินิก

ประเมินองค์ประกอบในการทำกิจกรรมด้านระบบประสาทและกล้ามเนื้อ (Neuromusculoskeleton) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้สามารถเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกายได้ โดยสิ่งที่จะประเมินในหัวข้อนี้ ได้แก่ 

  • การประเมินช่วงการเคลื่อนไหว(Range of Motion) ของผู้รับการประเมินทั้งPROM และ AROM โดยใช้แบบฟอร์มการประเมินช่วงการเคลื่อนไหว และGoniometerเป็นเครื่องมือในการวัด
  • การประเมินความตึงตัวของกล้ามเนื้อ(Muscle Tone) โดยการคลำกล้ามเนื้อที่กำลังทำงาน(Muscle Mass) การจับส่วนของร่างกายให้มีการเคลื่อนไหว(Passive Movement) โดยดูว่าเมื่อจับส่วนของร่างกายเด็กให้มีการเคลื่อนไหวแล้วเด็กมีการเคลื่อนไหวง่ายหรือยากลำบาก และมีการต้านแรงต่อการทำการเคลื่อนไหวของผู้บำบัดหรือไม่ สุดท้ายคือการยกส่วนของแขนหรือขาของเด็กขึ้น แล้วปล่อยให้ส่วนของแขนหรือขาตกลงมาตามแรงโน้มถ่วงของโลก แล้วดูว่าเด็กมีการยั้งส่วนของร่างกายไม่ให้ตกลงมาได้หรือไม่ หรือนอกจากนี้ ผู้บำบัดอาจซักถามผู้ดูแลถึงการทรงท่าของเด็กขณะนั่ง หรือนอนร่วมด้วย 
  • การประเมินความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ(Muscle Strength) โดยสังเกตการยก ถือของเล่นของเด็กว่ามีความมั่นคงและรับน้ำหนักของเล่นต้านแรงโน้มถ่วงโลกได้หรือไม่ 
  • การประเมินการควบคุมการทรงท่า (Postural Control) โดยจะประเมินทั้งปฏิกิริยารักษาสมดุลของร่างกายโดยสังเกตผู้รับบริการขณะที่ให้นั่งบนพื้นผิวที่ไม่มั่นคง เช่นบนกระดานทรงตัวแล้วดูการตอบสนองของผู้รับบริการ และการประเมินปฏิกิริยาป้องกันตนเอง โดยทำให้เกิดการเปลี่ยนตำแหน่งของร่างกายโดยอาจจะผลักให้ร่างกายเสียสมดุลบนพื้นผิวที่ไม่มั่นคง เช่น กระดานทรงตัว แล้วดูปฏิกิริยาการป้องกันการล้มของผู้รับบริการ โดยผู้บำบัดต้องเป็นผู้Supportเด็กเพื่อป้องกันอันตราย

ประเมินองค์ประกอบในการทำกิจกรรมด้านการเคลื่อนไหว (Motor) ซึ่งจำเป็นต้องใช้การคลื่อนไหวเพื่อไปทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การเล่น โดยการเคลื่อนไหวที่จะประเมินในผู้รับบริการมีดังนี้ 

  • การประเมินกล้ามเนื้อมัดใหญ่ (Gross Motor) โดยสังเกตการเคลื่อนไหวอิสระของผู้รับบริการขณะทำกิจกรรมที่กำหนดให้ เช่น ให้ผู้รับบริการเข้ามาหยิบตุ๊กตา 
  • การประเมินการควบคุมการเคลื่อนไหว (Motor control) โดยดูจากการที่ผู้รับบริการสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวส่วนของร่างกายให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ต้องการ เช่น สามารถเอื้อมมือมาหยิบตุ๊กตาได้ 
  • การประเมินการประสานงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก(Fine Motor) โดยจะดูการเอื้อม กำ นำ ปล่อยวัตถุของผู้รับบริการ รวมถึงรูปแบบการใช้มือ (Prehension pattern) ด้วยการนำของเล่นที่มีรูปทรงต่างๆมาให้ผู้รับบริการหยิบจับทีละชิ้น โดยยังไม่ให้ผู้รับบริการเห็นของชิ้นอื่นๆ

ประเมินองค์ประกอบในการทำกิจกรรมด้านสติปัญญา ความคิด ความเข้าใจ (Cognitive Integration and Cognition) โดยการให้คำสั่งง่ายๆกับผู้รับบริการ แล้วดูความเข้าใจ เช่น มา หยุด ไม่ เอา ปล่อย และยังประเมินช่วงความสนใจด้วยการจับเวลาที่ผู้รับบริการให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรม

ประเมินองค์ประกอบในการทำกิจกรรมด้านจิตใจ อารมณ์ และทักษะทางสังคม (Psychological Components and Psychosocial skill) โดยการซักถามผู้ดูแล เช่น การแสดงออกที่บ้านกับคลินิก การตอบสนองเวลาดีใจ เสียใจ หิว หรือการสังเกต เช่น สีหน้าเมื่อเห็นว่าแม่ผู้รับบริการเดินเข้ามา

เมื่อประเมินครบทุกองค์ประกอบ แล้วก็จะเข้าสู่การรวบรวมปัญหา และวิเคราะห์ เพื่อที่จะนำไปสู่การวางแผนการทำกิจกรรมบำบัดที่สอดคล้องกับข้อมูลของผู้รับบริการที่ได้จากการประเมิน รวมถึงคิดวิธีการประเมินผลหลังการทำกิจกรรมบำบัดว่าเป็นไปตามเป้าประสงค์ที่วางไว้หรือไม่ ซึ่งปัญหาสำคัญที่พบจะเป็นด้านการสื่อสารโดยเป้าประสงค์ที่ได้วางไว้คือ 

  1. ผู้รับบริการสามารถสื่อสารความต้องการพื้นฐานได้ วิธีการ คือ การใช้สิ่งของที่ผู้รับบริการคุ้นเคยและใช้เป็นประจำมาสอนคำศัพท์ผู้รับบริการซ้ำๆให้เกิดการเรียนรู้ เช่น จานข้าว ผู้บำบัดก็สอนผู้รับบริการว่านี่คือจานข้าว พร้อมกับดึงความสนใจจากผู้รับบริการด้วยการใช้ของเล่นที่มีสีและเสียงให้ผู้รับบริการมองตาม (sensory-base stimulation) เนื่องจากในข้อมูลผู้รับบริการนั้นสามารถหันตามเสียงได้ โดยระหว่างการฝึกก็ให้ผู้ดูแลซึ่งเป็นแม่ของผู้รับบริการลองทำไปด้วย พร้อมกับให้เป็น Home Program กลับไปทำเองที่บ้าน เพื่อเพิ่มระยะเวลาที่ผู้รับบริการจะได้เรียนรู้

Interactive clinical reasoning : มีการใช้ RAPPORT (Therapeutic Relationship) 

ในการพูดคุยสร้างปฏิสัมพันธ์โดยเมื่อพบกับผู้รับบริการเป็นครั้งแรกได้มีการเข้าไปสร้างปฏิสัมพันธ์ด้วยการเข้าไปเล่นกับผู้รับบริการ รวมถึงมีการปรับโทนเสียงและสีหน้าที่ดูเป็นมิตรเนื่องจากผู้รับบริการเป็นเด็ก และไม่สามารถพูดคุยได้ เพื่อเป็นการสร้างความคุ้นเคยให้กับผู้รับบริการ และเนื่องจากผู้รับบริการได้รับผลกระทบจากตัวโรค ส่งผลให้ผู้รับบริการมีพัฒนาการที่ไม่สมวัย ทำให้ยังไม่สามารถเข้าใจและพูดคุยได้ จึงได้มีการเข้าไปพูดคุยสร้างปฏิสัมพันธ์กับแม่ของผู้รับบริการซึ่งเป็นผู้ดูแลหลัก อย่างเข้าใจและไม่ตัดสิน เพื่อที่จะได้รู้ถึงข้อมูลสุขภาพต่างๆของผู้รับบริการ ทั้งข้อมูลโรค ประวัติการคลอด ประวัติการรักษา การทำกิจวัตรประจำวันและกิจกรรมการดำเนินชีวิตต่างๆ รวมไปถึงข้มูลต่างๆ ที่จะทำให้นักศึกษามีความเข้าใจความคิด ความรู้สึก อารมณ์ และความต้องการของผู้รับบริการและผู้ดูแลได้

การประยุกต์ใช้กรอบอ้างอิงร่วมกับการให้บริการทางกิจกรรมบำบัด Conditional Reasoning  

จากการที่ครอบครัวของผู้รับบริการมีการให้ความสำคัญและต้องการให้ผู้รับบริการสามารถช่วยเหลือตัวเองและสามารถเข้าใจคำสั่งเบื้องต้นได้ จึงได้มีการนำข้อมูลที่ได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของผู้รับบริการ อาการที่แสดง บุคคลที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลปัจจัยส่งเสริมและขัดขวาง ตั้งเป้าประสงค์ และวางแผนการรักษาเรื่องการฝึกการสื่อสารภายใต้การใช้กรอบอ้างอิงทางกิจกรรมบำบัด เนื่องจากปัญหาด้านการสื่อสารจะไปขัดขวางการทำกิจกรรมต่างๆของผู้รับบริการที่ควรได้ทำ เช่น การเล่น การเข้าสังคม ดังนั้น การสื่อสารจึงเป็นเป้าประสงค์ที่ถูกตั้งขึ้น โดยให้ผู้รับบริการใช้สิ่งของที่ผู้รับบริการคุ้นเคยและใช้เป็นประจำมาสอนคำศัพท์ผู้รับบริการซ้ำๆให้เกิดการเรียนรู้ เช่น จานข้าว ผู้บำบัดก็สอนผู้รับบริการว่านี่คือจานข้าว พร้อมกับดึงความสนใจจากผู้รับบริการด้วยการใช้ของเล่นที่มีสีและเสียงให้ผู้รับบริการมองตาม(เป็นการใช้sensory-base stimulation) เนื่องจากในข้อมูลผู้รับบริการนั้นสามารถหันตามเสียงได้ โดยระหว่างการฝึกก็ให้ผู้ดูแลซึ่งเป็นแม่ของผู้รับบริการลองทำไปด้วย พร้อมกับให้เป็น Home Program กลับไปทำเองที่บ้าน เพื่อเพิ่มระยะเวลาที่ผู้รับบริการจะได้เรียนรู้ โดยใช้กรอบอ้างอิง Developmental FoR เพื่อดูว่าผู้รับบริการมีระดับพัฒนาการอยู่ในช่วงไหน แล้วต้องฝึกแบบใดให้เหมาะสมกับระดับพัฒนาการของผู้รับบริการ และใช้กรอบอ้างอิง NDT FoR เนื่องจากผู้รับบริการมีความตึงตัวของกล้ามเนื้อที่ไม่คงที่ จึงใช้กรอบอ้างอิงนี้ในการปรับความตึงตัวของกล้ามเนื้อผู้รับบริการก่อนทำการฝึก และใช้Behavioral frame of reference ในการปรับพฤติกรรมชองผู้รับบริการ โดยอาจให้รางวัลเมื่อผู้รับบริการทำกิจกรรมสำเร็จ สุดท้ายมีการใช้ Teaching and Learning FoR ในการสอนผู้รับบริการในการฝึกการสื่อสาร รวมถึงใช้ในการสอนแม่ของผู้รับบริการถึงวิธีการที่จะนำไปฝึกผู้รับบริการที่บ้าน

สรุปความก้าวหน้าของกรณีศึกษาผ่าน SOAP NOTE ครั้งที่1

S : เด็กชายพัด อายุ 9 ปี Dx.Microcephaly ผู้ดูแลหลักซึ่งเป็นแม่มีความต้องการให้ลูกช่วยเหลือตนเองทั้งหมดและสื่อสารได้

O : ผู้รับบริการไม่สามารถพูดคุยสื่อสาร ข้อต่อบริเวณขาผิดรูป อยู่ไม่นิ่ง ขาดการจดจ่อในการทำกิจกรรม เดินไม่ได้ เคลื่อนย้ายตนเองโดยใช้มือ 2 ข้างยกตัวไปตามพื้น ชอบนำมือเข้าปาก ยกแขน 2 ข้างให้แม่อุ้มเมื่อเห็นแม่เดินเข้ามา

A : ผู้รับบริการมี Occupational Deprivation จากการขาดโอกาสเข้าร่วมทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตที่จำเป็นเนื่องด้วยความพิการ , มี Sensory Awareness มีการตระหนักรู้ถึงสิ่งเร้า , Delayed Development , มี fluctuating muscle tone , Short attention span (1 Min), ไม่สามารถควบคุมรยางค์แขนในการทำกิจกรรมได้

P : Improve attention span โดยใช้ sensory-base stimulation

     ฝึกการสื่อสารคำง่ายๆจากสิ่งของที่ผู้รับบริการใช้จริง

     ให้ความรู้แม่ของผู้รับบริการเกี่ยวกับตัวโรคเกี่ยวกับความสามารถของผู้รับบริการที่สามารถฝึกได้

     ให้ Home Program กับแม่เพื่อกลับไปฝึกผู้รับบริการที่บ้าน

     แนะนำการส่งไปฝึกเดินเข่ากับนักกายภาพบำบัด


สรุปความก้าวหน้าของกรณีศึกษาผ่าน SOAP NOTE ครั้งสุดท้าย

S : เด็กชายพัด อายุ 9 ปี Dx.Microcephaly ผู้ดูแลหลักซึ่งเป็นแม่มีความต้องการให้ลูกช่วยเหลือตนเองได้บ้างและเข้าใจคำสั่งเบื้องต้นได้ ผู้รับบริการส่งเสียงที่ไม่มีความหมายเมื่อให้ทำกิจกรรมเป็นเวลานาน

O : ผู้รับบริการไม่สามารถพูดคุยสื่อสาร ข้อต่อบริเวณขาผิดรูป อยู่ไม่นิ่ง แต่สามารถให้ความร่วมมือทำกิจกรรมได้นานกว่าครั้งแรก เดินไม่ได้ เคลื่อนย้ายตนเองโดยใช้มือ 2 ข้างยกตัวไปตามพื้น สามารถยืนเข่าได้ มีการเคลื่อนตัวไปหาตุ๊กตาที่ผู้รับบริการถือมาทุกครั้ง เอามือเข้าปากน้อยลง

A : ผู้รับบริการมี Sensory Awareness มีการตระหนักรู้ถึงสิ่งเร้า , Delayed Development , มี fluctuating muscle tone , Short attention span (แต่เพิ่มจากครั้งแรกเป็น3 Min), ไม่สามารถควบคุมรยางค์แขนในการทำกิจกรรมได้

P : Improve attention span โดยใช้ sensory-base stimulation

     ฝึกทักษะการสื่อสารเบื้องต้นจากสิ่งของที่ใช้จริงด้วยจำนวนคำที่เพิ่มขึ้น

     ให้กิจกรรมกระตุ้นการยืนเข่าผ่านการเล่นเพื่อส่งเสริมการฝึกเดินเข่าจากการฝึกกับนักกายภาพบำบัด

     ให้ Home Program กับแม่เพื่อกลับไปฝึกผู้รับบริการที่บ้าน

 

Pragmatic Reasoning

  • เนื่องจากมีเวลามาฝึกที่คลินิกจำกัด ผู้บำบัดจึงหาวิธีให้ผู้รับบริการได้ฝึกเพิ่มเติมโดยการให้ Home program
  • มีการพูดคุยถึงสิทธิ์ที่ผู้รับบริการได้รับ การศึกษาพิเศษ
  • มีการหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรค Microcephaly (1)
  • มีการนำข้อมูลวิธีการประเมินจากหนังสือการประเมินทางกิจกรรมบำบัด (2)
  • และจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กรณีศึกษากับอาจารย์ มีคำแนะนำถึงกรณีศึกษา ดังนี้
    • การที่จะฝึกกิจกรรมบำบัดในเด็กที่ขาดความสนใจจดจ่อ และมีปัญหาพัฒนาการช้ารอบด้าน ควรฝึกให้เด็กเข้าใจคำสั่งง่ายๆก่อน เพื่อที่เด็กจะได้เข้าใจเวลาที่เรากระตุ้นให้เด็กร่วมมือในการทำกิจกรรม ซึ่งนำไปสู่ช่วงความสนใจที่เพิ่มขึ้น
    • การสร้างปฏิสัมพันธ์ไม่จำเป็นต้องเป็นคำพูดอย่างเดียว แต่เราสามารถแสดงออกจากสีหน้า ท่าทาง น้ำเสียงได้
    • การจะตั้งเป้าประสงค์ เราต้องรู้ปัญหาที่สำคัญและสามารถแก้ไขได้ก่อน เพื่อที่จะได้เรียงลำดับความสำคัญอย่างถูกต้อง
    • ควรให้ข้อมูลตัวโรคและความสามารถที่ผู้รับบริการจะสามารถฝึกได้ เพื่อป้องกันการคาดหวังในความสามารถที่สูงเกินไป ด้วยการอธิบายให้ผู้ปกครองได้เข้าใจ

อ้างอิง

(1) http://www.smj.ejnal.com/e-jou...

(2) หนังสือกิจกรรมบำบัดในผู้รับบริการเด็ก : การประเมินทางคลินิก ผู้เขียน รองศาสตราจารย์สร้อยสุดา วิทยากร


Story telling

การที่ได้ทราบว่าจะต้องไป observe กรณีศึกษาของเด็กชายพัด ในครั้งแรก มีความกังวลอย่างมากเนื่องจากไม่เคยเจอผู้รับบริการที่เป็น Microcephaly มาก่อน ทำให้ต้องมีการไปศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับตัวโรคเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่ค่อยได้พบบ่อยมากนัก และเมื่อถึงวันที่ต้องไปสังเกตผู้รับบริการที่คลินิกกิจกรรมบำบัด พี่ที่เป็นเจ้าของเคสได้ลองให้นักศึกษาเล่นกับผู้รับบริการ เพื่อฝึกการสร้างสัมพันธภาพกับผู้รับบริการ ก็พบว่าผู้รับบริการยังไม่ยอมเล่นและให้ความร่วมมือกับนักศึกษา เนื่องจากนักศึกษาเป็นบุคคลที่ไม่คุ้นเคยกับผู้รับบริการ พี่ที่เป็นเจ้าของเคสจึงได้มีการแนะนำวิธีที่จะทำให้ผู้รับบริการมีปฏิสัมพันธ์ ด้วยการที่ให้เราได้ใช้เวลากับผู้รับบริการเยอะๆเพื่อสร้างความคุ้นเคย แต่ในขณะเดียวกัน นักศึกษาก็ยังมีโอกาสได้พูดคุยกับแม่ของผู้รับบริการซึ่งเป็นผู้ดูแลหลัก ซึ่งในการพูดคุยครั้งแรกอาจจะยังไม่ได้ข้อมูลที่ชัดเจนมากนักเนื่องจากเวลาที่จำกัด อีกทั้งยังต้องมีการสร้างปฏิสัมพันธ์กับแม่ของผู้รับบริการ โดยการบอกว่านักศึกษาเป็นใครมาจากที่ไหน และมีวัตถุประสงค์ในการขอสัมภาษณ์ข้อมูลเพื่ออะไร เพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับแม่ของผู้รับบริการต่อนักศึกษากิจกรรมบำบัดด้วย จนเวลาผ่านไป นักศึกษาก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งดีๆที่เกิดขึ้นระหว่างการเข้าไปสังเกต และเก็บข้อมูลจากผู้รับบริการ โดยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นมีทั้งการเปลี่ยนแปลงของผู้ดูแลซึ่งก็คือ แม่ของผู้รับบริการ การเปลี่ยนแปลงของผู้รับบริการ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวนักศึกษา กล่าวคือ แม่ของผู้รับบริการรู้ถึงวิธีการดูแลและส่งเสริมพัฒนาการของผู้รับบริการ และยังมีความเข้าใจทั้งตัวโรคและความสามารถที่ผู้รับบริการจะพัฒนาไปถึงได้มากขึ้น ส่วนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากผู้รับบริการ คือ ผู้รับบริการมีความร่วมมือในการฝึกดีขึ้น มีการได้รับการฝึกที่หลากหลายและมีความยากมากขึ้น แต่ยังคงอยู่ในระดับความสามารถของผู้รับบริการ ในขณะนั้นอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้นักศึกษาเชื่อว่าถ้าได้รับการฝึกไปเรื่อยๆ ถึงแม้อาจจะใช้เวลานานแต่ผู้รับบริการก็จะมีความสามารถเพิ่มขึ้นได้ตามลำดับแน่นอน สุดท้ายคือ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อตัวนักศึกษา คือการที่ได้ไปสัมผัส และเรียนรู้ในกรณีศึกษานี้ ทำให้นักศึกษามีความเข้าใจในตัวโรค และรู้ถึงวิธีการเข้าหาผู้รับบริการมากขึ้น มีความคิดที่เป็นระบบมากขึ้น และที่สำคัญคือทำให้นักศึกษารู้จักการหาเหตุผลมาประกอบการทำกิจกรรมต่างๆที่ได้ทำร่วมกับผู้รับบริการ ซึ่งจะสามารถนำไปปรับใช้ได้อีกในอนาคต

หมายเลขบันทึก: 675607เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2020 01:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2020 19:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท