ปัญหาฝุ่นพิษเป็นวาระแห่งชาติ


ปัญหาฝุ่นพิษเป็นวาระแห่งชาติ

15 กุมภาพันธ์ 2563

ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

สถานการณ์ฝุ่นพิษ

องค์กรอนามัยโลกหรือ “WHO” กำหนดมาตรฐานค่าเฉลี่ยของฝุ่นละอองในอากาศต่อปีไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และต่อวันอยู่ที่ระดับไม่เกิน 25 ไมโครกรัม/ ลบ.ม. เป็นฝุ่นขนาดเล็กมากๆ (Particulate Matters) เกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น เผาหญ้า, ไฟป่า, ควันจากไอเสียรถยนต์, ควันจากอุตสาหกรรม ฝุ่นพวกนี้ลอยขึ้นไปอยู่ในชั้นบรรยากาศได้เป็นเดือน สามารถเคลื่อนไปตามกระแสลมได้เกือบพันกิโลเมตร ฝุ่นที่เป็นพิษถึงขั้นเป็นอันตรายมีผลกระทบต่อร่างกายต้องเกิน 50 ไมโครกรัม /ลบ.ม. ในกทม.ช่วงต้นมกราคมค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 83 – 85 ไมโครกรัมทำให้ถูกยกระดับติดอยู่ในแชมป์อันดับ 8 ของโลกตัวเลขพวกนี้ขึ้นลงตามช่วงที่มีฝุ่นมากหรือน้อยบางครั้งก็ติดอันดับ 4 ของโลก จากการจัดอันดับ 10 ประเทศที่มีค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองต่อปีที่อยู่ในเกณฑ์สูงกว่ามาตรฐาน [2]

ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษพบว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา PM 2.5 มาจาก 2 สาเหตุหลักด้วยกัน คือ [3](1) การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซล  และ (2) การเผาพืชตามไร่นา เฉลี่ยเกิดจากการจราจร 72 % เผาวัชพืช 15 % อุตสาหกรรม 5 % และอื่นๆ [4]อย่างไรก็ตาม ค่ามาตรฐานเฉลี่ยสูงสุดที่เกินยังหาคำตอบไม่ได้ว่าทำไมค่าควันพิษจึงสูง อีกทั้งหลายจังหวัดซึ่งไม่น่าจะเป็นปัญหาจากปัจจัยจราจรหรืออุตสาหกรรม เช่น จันทบุรีบางช่วงค่า PM 2.5 สูงกว่ามาตรฐานถึง 1.7 เท่า ขณะที่จังหวัดตราด, เชียงราย, ตาก, แพร่, น่าน แม้แต่บนดอย เช่น อำเภออุ้มผาง มีแต่ป่าและเขาแต่ ค่าควันพิษก็ยังสูงเกินมาตรฐาน [5] มาตรฐานค่าวัดฝุ่นต้องไม่มีค่า AQI เกินกว่า 100 แต่ปรากฏว่าของไทย โดยเฉพาะ กทม. และเชียงใหม่ สูงมากกว่า 150 AQI อย่างไรก็ตามค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ที่กำหนดไทยแตกต่างจากมาตรฐานข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกซึ่งกำหนดไว้ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ไทยกำหนดที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (เฉลี่ย 24 ชั่วโมง) [6]

ควันจากเผาไร่ไฟป่าไอเสียรถยนต์ซ้ำซากจำเจ

นับเป็นปัญหาของประเทศมาอย่างน้อย 3 ปีแล้วที่คนไทยวันนี้รู้จักฝุ่นละออง PM 2.5 ไร่ถูกเผา ไฟไหม้ป่า ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ดูว่าจะเป็นเรื่องซ้ำซาก จำเจ ค้างคามาหลายยุคหลายสมัย แต่อย่างหนึ่งที่ไม่มีใครกล่าวถึง คือความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงจากการเผา โดยเฉพาะการเผาไร่ เผาตอซังข้าวในนา เกษตรกรรมเกษตรอินทรีย์ปุ๋ยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำไมชาวนาต้องเผาฟางก่อนไถนา ทั้งๆที่มันเป็นปุ๋ย มีเสียงบ่นจากบ้านนอกมาว่า ควัน ฝุ่น เกิดจากคนเผาใบอ้อยแทบจะทั้งสิ้น ก่อนตัดก็เผาป่าอ้อย หรือพอตัดเสร็จ ก็เผาใบอ้อย เมื่อเผาเสร็จหรือไฟลามก็แจ้ง อบต.เทศบาลมาดับไฟ เหมือนกันทุกที่ ไม่ว่าที่ไหน ทางอีสาน ที่ปลูกอ้อยเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศจาก 12 ล้านไร่ [7] หรือแถบชายแดนแม่สอด แม่ระมาด จังหวัดตาก ก็เผาหมด คนเผาช่างไม่สงสารคนดับที่ทำงาน อปท.กันบ้างเลย เพราะเผาแล้วเผาเลย ไม่คอยควบคุมให้ลุกลาม พอลามก็เดือดร้อนคนดับ อันตรายมาก ควันพิษด้วย เผากันทั้งวันทั้งคืน ยิ่งเผาหนักในช่วงเดือนธันวาคม – พฤษภาคม ของทุกปี เพราะเป็นช่วงฤดูการหีบอ้อยที่มีระยะเวลาในการเปิดหีบ 4 เดือน ถึง 4 เดือนครึ่ง

ตัวเลขของการเผาในภาคการเกษตรอยู่ที่ราว 20 % โดยแบ่งเป็นการเผา 3 อย่าง ได้แก่ การเผาตอซังข้าว-ข้าวโพด ใบอ้อยและวัชพืช [8] เป็นวิถีชีวิตปกติที่เคยเผามาทุกปี เกษตรกรรายหนึ่งบอกว่า “เขาเผาเป็นเรื่องปกติเพราะเขาจน” หรือด้วยความเชื่อมาช้านานว่าเพื่อ ฆ่าหนอนกอข้าว ไล่ฆ่าหนูกัดข้าวต้องเผาให้โล่ง เผาป่าได้เห็ด ดอกกระเจียว แต่เป็นทำลายฮิวมัสหน้าดินเสียหาย ชาวเขาก็เช่นกันการเผาป่าทำไร่เลื่อนลอย แม้จะหมุนเวียนสามแปลงเพาะปลูกพืชไร่แปลงละปี อีกสองแปลงมีระยะเวลาฟื้นฟูก็ไม่ดี

ปัญหามลพิษที่เกิดจากการเผาป่า เผานา เผาไร่ เผาหญ้า เผาขยะเป็นปัญหาในชนบทมาช้านาน เพราะกว่า 80 % ของคนไทยมีอาชีพเกษตรกรรม [9]มาพักหลังเจอปัญหาฝุ่นควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม และ ควันดำรถยนต์อีก ที่ยังไม่รวมฝุ่นจากการก่อสร้างหรือการประกอบกิจการโรงงานต่าง ๆ อีกมากมาย ประกอบกับสถานการณ์โลกที่มีการเผาป่า เผาขยะมากมาย ทำให้เกิดควันพิษข้ามระหว่างประเทศได้ โดยเฉพาะฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 หรือ PM 10 ที่ขนจมูกไม่สามารถกรองได้ ยิ่งช่วงนี้ ปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (Novel Coronavirus) สายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดจากเมืองอู่ฮั่น [10] ประเทศจีน เป็นสายพันธุ์เดียวกับโรคหวัดนก-ซาร์ส โรคเมอร์ส ที่ระบาดเมื่อสิบปีก่อน [11] ซ้ำกระหน่ำมาอีก เป็นสองเด้ง ตกลงในในเขตเมืองก็ต้องสวมหน้ากากอนามัยกันเป็นแถวด้วยเหตุนี้

การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ

กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท 0624/ว 7552 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2562 [12] สั่งการทุกจังหวัด ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 กำหนดให้การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็น “วาระแห่งชาติ” ให้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ให้เข้มงวด บังคับใช้กฎหมายตามแผนปฏิบัติฯแก้ไขฝุ่นละอองให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ ทั้งมาตรการระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว และแผนเผชิญเหตุช่วงวิกฤตตามระดับความรุนแรง เน้นมาตรการลดฝุ่นจากแหล่งกำเนิด เพราะ มีปัญหาค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน (50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) ในหลายพื้นที่

เป็นที่น่ายินดียิ่งที่จะมีแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ตามประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) อย่างเป็นระบบ ลงวันที่ 24 มกราคม 2563 [13]  

บทบัญญัติโทษเผาหญ้า-ขยะติดคุก-ปรับ   

ชาวบ้านไม่ทราบว่าการเผาหญ้า เผาขยะ เผาป่า และเผาสิ่งไม่พึงประสงค์ ที่ตนเองกระทำมาช้านานผิดกฎหมาย ที่เป็นสาเหตุของการเกิดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ดังนี้ [14]

(1) การเผาหญ้า หรือขยะ หรือสิ่งอื่นใดในที่ดินของตนเองนั้น ยังไม่รุนแรงถึงขั้นที่อาจจะเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ของบุคคลอื่น เพียงแต่ก่อให้เกิด กลิ่น แสง สี เสียง รังสี ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แก่ผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงที่เรียก “เหตุรำคาญ” การกระทำเช่นนี้เป็นความผิดอาญา มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับ ไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 มาตรา 25, 26, 28, 28/1, 74) [15]

(2) แต่หากมีความรุนแรงถึงขั้นที่ “น่าจะ” เป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่น เช่นนี้เจ้าของที่ดินผู้เผาจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 220 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท ทั้งนี้โดยที่ไม่ต้องเกิดเพลิงไหม้หรือความเสียหายขึ้นจริงๆเลย เพียงแต่น่าจะเกิดก็เป็นความผิดตามมาตรา 220 แล้ว หากเกิดอันตรายขึ้นแก่ทรัพย์สินหรือบุคคลอื่นจริงๆ ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น ตามมาตรา 218 หรือมาตรา 224 แล้วแต่กรณีซึ่งมีระวางโทษสูงสุดถึงประหารชีวิตยกเว้นหากทรัพย์สินที่เกิดเพลิงไหม้หรืออาจจะเกิดเพลิงไหม้นั้นมีราคาเล็กน้อย ผู้กระทำก็จะได้รับโทษเบาลงตามมาตรา 223

(3) หากลักษณะการเผาหญ้าหรือขยะหรือสิ่งอื่นใดในที่ดินของตนเองนั้น ผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผลได้อยู่แล้วว่า ลักษณะการจุดไฟเผาของตนอาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้อย่างแน่นอน เช่น จุดไฟในลักษณะที่ใกล้เคียงกับบ้านหรือทรัพย์สินของคนอื่นอย่างมาก ในช่วงที่ลมแรง เช่นนี้ ผู้กระทำผิดย่อมมีความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217-218 แล้วแต่กรณี ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกขั้นสูงถึงประหารชีวิต

(4) ไฟไหม้โดยประมาท เป็นเหตุให้ทรัพย์ผู้อื่นเสียหาย กรณีเผาป่าหรือเผาสิ่งใดใกล้บ้านเรือนคนอื่น หรือในชุมชนก็ต้องระวัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 225 ผู้ใดทำให้ไฟไหม้โดยประมาท เป็นเหตุให้ทรัพย์ผู้อื่นเสียหาย หรือน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตคนอื่น ต้องระวางโทษคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ [16]

การควบคุมมลพิษจากควันไฟและฝุ่นละอองจากการเผา

กรณีเหตุรำคาญตามกฎหมายการสาธารณสุขการเผาในที่โล่งการเผาหญ้าเผาวัชพืชเผานาเผาไร่เผาขยะฯ ตามบันทึกการตอบข้อหารือศูนย์บริหารกฎหมายสาธารณสุข เรื่อง การขอหารือเกี่ยวกับการตราเทศบัญญัติ เรื่องเสร็จที่ 34/2560 [17] ท้องถิ่นต้องมีประกาศรณรงค์ขอความร่วมมือห้ามเผา เนื่องจาก อปท. จะไม่มีอำนาจออกข้อบัญญัติท้องถิ่นควบคุมมลพิษจากควันไฟและฝุ่นละอองจากการเผา

มีกรณีตัวอย่างศึกษา (1) ประกาศจังหวัด (กอ.ปภ.จว.) เรื่อง กำหนดเขตควบคุมการเผาในที่โล่งทุกชนิดและมาตรการทางกฎหมายในการควบคุม 90 วัน ห้ามการเผาทุกชนิด (ระบุห้วงเวลา) ใช้ฐานอำนาจตาม พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ที่มีสาระสำคัญห้ามเผาสิ่งต่าง ๆ ในที่โล่งในห้วงระยะเวลาที่กำหนด [18] (2) ประกาศ อบต./เทศบาล เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ฐานอำนาจตาม พรบ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 (3) ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ฐานอำนาจตาม พรบ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 [19] (4) ประกาศ อปท. ห้ามเผาขยะวัชพืชในพื้นที่โล่ง ฐานอำนาจตาม พรบ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 (5) ประกาศประชาสัมพันธ์ อปท. ขอความร่วมมืองดการเผาในที่โล่งและพื้นที่การเกษตร ห้ามเผาป่า วัชพืช ไร่นา ไร่อ้อย พร้อมรณรงค์ให้เกษตรกรไทย ร่วมใจหยุดเผาในไร่นา หยุดเผาพร้อมกัน ในห้วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2563 [20]“ไม่จุดไฟ ไม่เผาป่า” ลดปัญหาหมอกควัน เป็นต้น

ข้อดีข้อเสียของการหยุดเผา

ได้ประโยชน์ไถกลบตอซัง ใช้ปรับปรุงบำรุงดิน หรือ นำตอซังมาใช้เป็นพลังงานทดแทน ผลิตอาหารสัตว์ ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ มีรายได้เพิ่มจากการเพาะเห็ด เป็นต้น กรณีของไฟป่านั้นนักวิชาการเห็นว่า ไฟป่ามีประโยชน์ ถ้าใช้อย่างเหมาะสม เพราะเป็นการสร้างสมดุลธรรมชาติได้เป็นอย่างดี แต่มิใช่การเผาโดยฝีมือมนุษย์หรือไฟไหม้จากธรรมชาติที่รุนแรง จนทำให้เกิดความสูญเสียทางระบบนิเวศ

ข้อเสีย เพราะ ผิดกฎหมาย ดินเสื่อมโทรม เกิดฝุ่นละออง หมอกควันและก๊าซพิษ ทำลายสุขภาพ เป็นอันตรายต่อชีวิต กระทบการท่องเที่ยว สรุปผลเสียคือ [21] (1) อินทรียวัตถุ จากพืช ตอซัง ใบพืช และส่วนต่างๆ ที่เป็นอินทรียวัตถุ ซึ่งอุดมไปด้วยธาตุอาหารพืชที่ใช้ในการบำรุงดิน (2) น้ำบนผิวดิน ที่ระเหยออกไปเมื่อได้รับความร้อนจากการเผาไร่ นา ทำให้หน้าดินแห้ง หญ้าที่ปกคลุมและป้องกันการสูญเสียน้ำก็ถูกเผาทำลายไปด้วย (3) ที่สุดคือสูญเสียจุลินทรีย์ดิน ที่ต้องใช้ในการทำหน้าที่เปลี่ยนสภาพปุ๋ยที่ใส่ลงให้กับพืช ให้ไปอยู่ในสภาพที่พืชสามารถนำไปใช้ได้  

ทางเลือกการแก้ไขปัญหาการเผาไร่เผานาฯ

(1) ตั้งโรงไฟฟ้าขยะเป็นต้นแบบในการกำจัดขยะแบบครบวงจร [22] เช่นที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (2) การเลี้ยงปลวก [23] ลดการเผาใบไม้ พลิกบทบาทปลวก สร้างรายได้ (3) การไถกลบตอซัง [24] ไถปรับหน้าดินพลิกตอซัง สร้างดินยั่งยืนฟื้นสิ่งแวดล้อม (4) การลดปริมาณขยะให้น้อยลง และทั้งยังลดปัญหามลพิษและช่วยลดสภาวะโลกร้อนเรียกว่า ซีโร่ เวสท์ (Zero Waste) [25] (5) สร้างมูลค่าประโยชน์สิ่งเหลือจาก ‘อ้อย’ [26] ตั้งแต่รากจรดใบ เป็นไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากกากโมลาส ไขอ้อยทำเครื่องสำอาง น้ำตาลดิบทำถุงพลาสติกย่อยสลายเองได้ (5) เกษตรอินทรีศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง สร้างการรับรู้สู่ชุมชนเกษตรกรหยุดเผา เริ่มทำ “น้ำหมักย่อยสลายตอซัง” ชื่อโครงการ “Zero Burn เกษตรปลอดการเผา ชาวนาไทยไร้ฝุ่นควัน” โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ [27] (6) สร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ใช้ “ใบอ้อย” เป็นเชื้อเพลิง เริ่มนำร่องแล้วโดย “กลุ่มมิตรผล” หวังแก้ปัญหาการเผาอ้อยที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ตามแผนโรดแมปของรัฐบาลจะไม่มีอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงานน้ำตาลภายในปี 2565 [28] (7) กำแพงเพชรโมเดล [29] ลดปริมาณการเผาโดยเก็บใบอ้อยมาอัดแท่งขายเป็นวัตถุดิบส่งโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวล (8) ลดปัญหาฝุ่นละอองโดยใช้มาตรการรณรงค์สมัครใจ [30] เพราะมีปัจจัยทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ (9) โซลาร์เซล ผ่านช่องทางกรมอนุรักษ์พลังงานโครงการโซลาร์เซล [31] เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ “ลดก๊าซเรือนกระจก” ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องเพื่อเข้าสู่ระบบ “คาร์บอนเครดิต” (Carbon Credit) เป็น Carbon Footprint [32]

ถือได้ว่าปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 เป็นวาระแห่งชาติจริง ๆ

[1]Phachern Thammasarangkoon & Ong-art Saibutra, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 67 ฉบับที่ 22 วันเสาร์ที่ 15  - วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563, บทความพิเศษ หน้า 9, สยามรัฐออนไลน์, 15  กุมภาพันธ์ 2563, https://siamrath.co.th/n/132817  

[2]ธนิต โสรัตน์, มาตรการรับมือฝุ่นพิษไม่มีอะไรใหม่...ต้องรู้ต้นตอก่อนแก้ปัญหา, 27 มกราคม 2563, https://www.posttoday.com/economy/columnist/612823   

[3]ภัทรียา นวลใย, ทำไมต้องเผาอ้อย ?, ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธปท., คอลัมน์ ระดมสมอง ประชาชาติธุรกิจ, 13 เมษายน 2562,  https://www.prachachat.net/columns/news-314852   

[4]“ประยุทธ์” ชี้ ต้นเหตุฝุ่น PM 2.5 คือประชาชน แนะคนทนไม่ไหว ปิดจมูก-สวมหน้ากาก, 20 มกราคม 2563, จากมติชนออนไลน์, https://www.prachachat.net/politics/news-412555  

[5]ธนิต โสรัตน์, 27 มกราคม 2563, อ้างแล้ว

[6]ไม่ทน! ภาคประชาสังคมจี้รัฐแก้ไขฝุ่น PM 2.5 อย่างยั่งยืน เปิดให้ประชาชนร่วมเขียนนโยบาย, ไอลอว์, 23 มกราคม 2563, https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_268012 

สุรชัย ตรงงาม ตัวแทนมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ผู้ที่ออกมาแสดงความเห็น

[7]ปีการผลิต 2561/62 มีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยทั่วประเทศในเขตพื้นที่สำรวจรวม 47 จังหวัด จำนวน 12,236,074 ไร่ : รายงานพื้นที่ปลูกอ้อย ปีการผลิต 2561/62, สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย, กันยายน 2562, http://www.ocsb.go.th/upload/journal/fileupload/923-9040.pdf 

[8]รัชพล ธนศุทธิสกุล, 7 กุมภาพันธ์ 2562, อ้างแล้ว, ข้อมูล ดร.กิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย

[9]อาชีพเกษตรกรรมจากประชากรทั้งหมดไม่ถึง 80% แต่หากคิดจากฐานสัดส่วน GDP ถึง 80%, รัชพล ธนศุทธิสกุล, 7 กุมภาพันธ์ 2562, อ้างแล้ว

ปี 2523 ภาคเกษตรมีถึง 70% ของประชากรทำงาน ปี 2558 มีเกษตรกรไทย จำนวน 25.07 ล้านคนคิดเป็น 38.14 % ของประชากรทั้งประเทศ เกษตรกรรมในประเทศสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายด้าน คือ การทำนา (มากที่สุด) การทำสวนยางพารา การทำสวนผลไม้ การทำพืชไร่ การเลี้ยงสัตว์ (Wikipedia)

ปี 2561 มีครัวเรือนเกษตรกรที่ “ขึ้นทะเบียนเกษตรกร” ทั่วราชอาณาจักรจำนวน  7,271,759  ครัวเรือน

ภาคเกษตรหรือภาคชนบทเป็นฐานรากที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย มีประชากรในภาคเกษตรถึงประมาณ 25 ล้านคนหรือเกือบ 40 % ของประชากรทั้งประเทศ ในมิติมหภาค ภาคเกษตรสร้างรายได้ต่อระบบเศรษฐกิจ  9 % ของ GDP มีพืชสำคัญที่มีสัดส่วนใน GDP ภาคการเกษตรถึง  80 % คือ ข้าว และยางพารา

ดู ดร.เสาวณี จันทะพงษ์ และ นางสาวพรชนก เทพขาม, นวัตกรรมการเกษตร: ทางออกปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทย ตอน 1, บทวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจ สายนโยบายการเงิน 10 เมษายน 2561,  https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/DocLib_/Article_11Apr2018.pdf

[10]องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศชื่อที่เป็นทางการสำหรับใช้เรียกโรคทางเดินหายใจที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ว่า “โควิด-ไนน์ทีน” (Covid-19) โดยชื่อนี้มาจากคำย่อในภาษาอังกฤษของคำว่าโคโรนา ไวรัส และดีซีส (Disease) : 12 กุมภาพันธ์ 2563, https://www.bbc.com/thai/features-51473472

[11]ปี 2002 การระบาดเชื้อไวรัสซาร์ส (SARS-CoV) หรือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS; Severe Acute Respiratory Syndrome) ซึ่งมีผู้ติดเชื้อสูงถึง 8,000 คน ใน 26 ประเทศทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตกว่า 600 คน

ปี 2012 การระบาดเชื้อไวรัสเมอร์ส ( MERS-CoV) โรคซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์โคโรน่า (MERS Corona Virus : MERS-CoV) ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะเยื่อหุ้มปอดและหลอดลม ซึ่งมีผู้ติดเชื้อกว่า 2,500 คน ใน 27 ประเทศทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตกว่า 858 คน

ดู ไวรัสมรณะ! จาก “ซาร์ส”- “เมอร์ส” สู่ “โคโรนา”, สยามรัฐออนไลน์,  24 มกราคม 2563, https://siamrath.co.th/n/128445

[12]หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0624/ว7552 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2562 เรื่อง การป้องกันและลดผลกระทบจากกรณีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก(PM2.5), http://122.155.1.141/site6/cms-download_content.php?did=32006  & แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง”, กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กันยายน 2562, http://air4thai.pcd.go.th/webV2/download_book.php?bookid=35 

[13]ประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) อย่างเป็นระบบ ลงวันที่ 24 มกราคม 2563, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนพิเศษ 26 ง วันที่ 31 มกราคม 2563 หน้า 68-69, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/026/T_0068.PDF

[14]เปิดบัญญัติโทษ “เผาหญ้า-ขยะ” ติดคุก 30 วัน ถึง 7 ปี สั่งปรับหลักพันถึงหมื่น, 31 มกราคม 2562, https://www.sanook.com/news/7663558/

&  ดู หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0804.5/ว 0924 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 เรื่อง แนวทางการดำเนินการตามกฎหมายกับผู้จุดไฟเผาตอซังข้าวหรือพืชไร่ต่างๆ และเผาป่าทำให้เกิดเหตุรำคาญ, http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2020/2/23067_1_1581580773879.pdf?time=1581581273789

[15]มาตรา 28/1เมื่อปรากฏว่ามีเหตุรำคาญเกิดขึ้นตามมาตรา 27 หรือมาตรา 28 เป็นบริเวณกว้างจนก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของสาธารณชน ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจประกาศกำหนดให้บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา

การระงับเหตุรำคาญตามวรรคหนึ่ง และการจัดการตามความจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้มีเหตุรำคาญนั้นเกิดขึ้นอีกในอนาคต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขตามที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นประกาศกำหนด

ในกรณีที่เหตุรำคาญตามวรรคหนึ่งได้ระงับจนไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของสาธารณชนแล้ว ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นประกาศยกเลิกพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญนั้นโดยไม่ชักช้า

*** มาตรา 28/1 เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการสาธารณสุข (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560

[16]สายตรงกฎหมาย อยู่กับ ทนายรัชพล ศิริสาคร, 5 ตุลาคม 2560, https://www.facebook.com/LawByRachaponsLawyer/posts/2036722679893701/

[17]ข้อสังเกต อปท. ไม่มีฐานอำนาจตราข้อบัญญัติฯ ว่าด้วยเหตุรำคาญ (เกี่ยวกับควันพิษ ตาม พรบ. ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นอำนาจของ กรมควบคุมมลพิษ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2535) ตาม พรบ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ตามบันทึกการตอบข้อหารือศูนย์บริหารกฎหมายสาธารณสุข เรื่อง การขอหารือเกี่ยวกับการตราเทศบัญญัติ เรื่องเสร็จที่ 34/2560 ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2560, http://laws.anamai.moph.go.th/download/website2559/Webboard/34-2560.pdf

[18]ตัวอย่าง ประกาศ กอ.ปภ.จว.พะเยา ลงวันที่ 30 มกราคม 2563 เรื่อง กำหนดเขตควบคุมการเผาในที่โล่งทุกชนิดและมาตรการทางกฎหมายในการควบคุม 90 วัน ห้ามการเผาทุกชนิด ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 30 เมษายน 2563

และ ประกาศจังหวัดนครราชสีมา เรื่อง ขอความร่วมมือห้ามเผาเด็ดขาด ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2561 - 2562 ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2561

ดู โคราช สั่ง32อำเภอ ห้ามเผาเด็ดขาด ฝ่าฝืนมีโทษหนัก, 16 มกราคม 2562, https://www.matichon.co.th/region/news_1320235

[19]ดู ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ลงวันที่ 30 มกราคม 2562

[20]สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประชาสัมพันธ์ เกษตรกรไทยร่วมใจหยุดเผาในไร่นา หยุดเผาพร้อมกัน มกราคม - พฤษภาคม 63, https://www.opsmoac.go.th/news-preview-421891792995

& ประกาศกรมส่งเสริมการเกษตร หยุดเผา!พร้อมกัน“มกราคม-พฤษภาคม”/ผิดกฎหมาย-อันตรายต่อชีวิต, 21 มกราคม 2563, https://www.kaset1009.com/th/articles/180926-หยุดเผา!พร้อมกัน“มกราคม-พฤษภาคม”/ผิดกฎหมาย-อันตรายต่อชีวิต

[21]เผานา เผาไร่ เกษตรกรเสียอะไร, Erawan Co.,Ltd., https://www.erawanagri.com/burns-farm/

[22]'อยุธยา'ลั่น1ปีเกิดแน่เมืองต้นแบบกำจัดขยะ มหาดไทยทุ่ม500ล.ผุดบ่อขยะบางบาล-ผนึก กฟภ.ตั้งโรงไฟฟ้า, ข่าวประชาชาติธุรกิจ, 19 มกราคม 2558, เป็นกรณีตัวอย่าง “Zero Waste” อยุธยาเดินหน้าเมืองนำร่องกำจัดขยะ ล้นเมือง

[23]ลดการเผาใบไม้ พลิกบทบาทปลวก สร้างรายได้, 23 มกราคม 2563, https://youtu.be/lhj1BO-UDJ4 

โดยครูหนุ่มที่ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย

[24]ชาวนาสอนรัฐ ลดเผาตอซัง, ไทยรัฐ, 1 พฤษภาคม 2562, https://www.thairath.co.th/news/local/1557046  

โดย นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ หมอดินอาสากรมพัฒนาที่ดิน จ.สุพรรณบุรี

& การไถกลบตอซัง สร้างดินยั่งยืนฟื้นสิ่งแวดล้อม, กรมพัฒนาที่ดิน, http://www.ldd.go.th/WEB_Bio/PDF/Plow.pdf 

ข้าวโพด อ้อย และพืชไร่ หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตจะมีเศษวัสดุเหลือใช้ จากตอซังปริมาณมาก

[25]รัชพล ธนศุทธิสกุล, ไขปริศนา “เกษตรกรไทย” ทำไมต้องเผา? สร้างมลพิษทางอากาศ, 7 กุมภาพันธ์ 2562, เวลา 19:06 น, https://www.posttoday.com/social/general/579607

“ซีโร่ เวสท์”เซ็ตแก้ไขระยะยาว “ปรับทัศนคติและให้เวลา ที่สำคัญต้องให้ความเข้าใจในองค์ความรู้ของการเพิ่มมูลค่าจากสิ่งที่หลงเหลือ” วิธีการแก้ไขในระยะยาวที่จะทำให้เกษตรกรรมการอิงเผาหมดไป คือการนำวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรมาแปรรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเป็นแนวทางสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศษวัสดุเหลือทิ้ง

ข้อมูล ดร.กิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย

[26]รัชพล ธนศุทธิสกุล, 7 กุมภาพันธ์ 2562, อ้างแล้ว, ข้อมูล ดร.กิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย

[27]ชาวนาสอนรัฐ ลดเผาตอซัง, 1 พฤษภาคม 2562, อ้างแล้ว

[28]เชื้อเพลิงชีวมวลจากใบอ้อย: พืชพลังงานทางเลือกจากเกษตรกรไทยเพื่อความยั่งยืนของสังคมไทย, 17 กันยายน 2562, ข่าวทั่วไป ThaiPR.net, https://www.ryt9.com/s/prg/3042685& ทุ่มซื้อ”ใบอ้อย” ตันละพัน มิตรผลนำร่อง ลดฝุ่น PM 2.5, 9 กุมภาพันธ์ 2563, https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_138760

[29]ลดปัญหาฝุ่นละอองต้องใช้มาตรการสมัครใจ, 20 มกราคม 2563, https://www.komchadluek.net/news/regional/411523

[30]ลดปัญหาฝุ่นละอองต้องใช้มาตรการสมัครใจ, 2563, อ้างแล้ว,  เป็นข้อเสนอของ ภาดาท์ วรกานนท์ ผู้อำนวยการคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมของพรรคพลังประชารัฐ

[31]หมายถึง กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน 

ดู ก.พลังงาน ส่งมอบระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ที่ศรีสะเกษ, (แก้ไขปัญหาภัยแล้ง) ข่าวอีสานเช้านี้ NBT UBON, 14 กุมภาพันธ์ 2563, https://www.youtube.com/watch?v=NJ_Q5iJ1T3I&feature=youtu.be& “โซลาร์ภาคประชาชน” พลังงานแสงอาทิตย์ 100 เมกะวัตต์ …จากปี 2562 สู่ 10 ปี แห่งอนาคต, 18 มิถุนายน 2562, Green Network, https://www.greennetworkthailand.com/โซลาร์ภาคประชาชน-ปี-2562/  

โซลาร์ภาคประชาชนผู้ใช้พลังงานประเภทครัวเรือนขนาดเล็กภายในประเทศจะกลายเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าผ่านเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) เพื่อใช้เอง (Self-Consumption) ก่อนนำส่วนที่เหลือใช้ส่งขายการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) ภายใต้กรอบกำลังผลิตติดตั้งครัวเรือนละไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ (kWp) อัตราราคารับซื้อไฟฟ้าที่ 1.68 บาทต่อหน่วย ที่ระยะเวลารับซื้อไฟฟ้ารวม 10 ปี

[32]คาร์บอน ฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint)คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วย ตลอดวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ เริ่มต้นตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การประกอบชิ้นส่วน การใช้งาน จนกระทั่งถึงการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังการใช้งาน โดยทำการคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่าต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ สาเหตุของการเกิดสภาวะโลกร้อน สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งทั่วโลกได้พยายามแก้ปัญหาโดยการประชาสัมพันธ์ให้มีการแสดงข้อมูล คำนี้สินค้าที่มาจากทางยุโรปใช้คำนี้ เพราะได้มีการประกาศให้มีการเริ่มใช้กันตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท