ชีวิตที่พอเพียง 3621 บทความ เซลล์สมองสังคม โดย ศ. นพ. ประเวศ วะสี


แนวคิด โครงสร้าง “เซลล์สมองสังคม” เพื่อมหาวิทยาลัย ราชบัณทิตยสภา

พรรคการเมือง และประเทศไทย


โดย


ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเวศ วะสี
ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์

๑.
“ความจริงมีชัยเหนือทุกสิ่ง”


  “สตฺยเมว ชยเต” - จากเสาศิลาจารึกพระเจ้าอโศก ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน สถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนาของพระศาสดา[*]

ความจริงหรือกฎความจริงของธรรมชาติ ย่อมเป็นพื้นฐานของธรรมชาติทั้งปวง ทั้งทางฟิสิกส์ ชีววิทยา และสังคม สังคมเป็นส่วนเกิดทีหลังที่ยังไม่มีเวลาวิวัฒน์ไปสู่ความลงตัว จึงดิ้นรนขลุกขลักระส่ำระส่ายรุนแรง ทางสังคมยังขาดการเรียนรู้กฎความจริงของธรรมชาติที่ปรากฎทางฟิสิกส์ และทางชีววิทยา เพื่อนำมาใช้ทางสังคม

ระบบร่างกายมนุษย์ซึ่งเป็นผลจากวิวัฒนาการประมาณ ๓,๕๐๐ ล้านปี ธรรมชาติมีเวลาสร้างระบบที่ดีที่สุด ในระบบร่างกายมนุษย์มีส่วนประกอบที่หลากหลายสุดประมาณ แต่เชื่อมโยงบูรณาการกันอย่างสมบูรณ์ เกิดเป็น “องค์รวม” (Whole) องค์รวม คือ ความเป็นคนที่มีคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์ต่างๆ ซึ่งไม่ใช่คุณสมบัติของอวัยวะแต่ละส่วนๆ เช่น หัวใจ ตับ ปอด หรือ สสาร ที่มาประกอบกันเป็นร่างกายมนุษย์

ในความเป็นมนุษย์ แม้มีอวัยวะครบถ้วนเพียงใด ถ้าปัญญาอ่อน ก็เอาชีวิตไม่รอด ธรรมชาติจึงสร้างให้มีสมอง สมองของมนุษย์เป็นโครงสร้างที่วิจิตรที่สุดในจักรวาล ประกอบด้วยเซลล์สมอง ๑๐๐,๐๐๐ ล้านตัว แต่ละตัวเชื่อมโยงกับตัวอื่นๆ อีกหลายหมื่นตัว เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายเซลล์สมอง (Neuronal networks) ที่มีศักยภาพในการเรียนรู้สูงสุด สามารถเรียนรู้ให้บรรลุอะไรก็ได้

ประเทศไทยบริหารประเทศด้วยระบบราชการ ซึ่งเป็นโครงสร้างอำนาจ ขาดโครงสร้างสมอง การขาดโครงสร้างสมองเป็นต้นเหตุที่ลึกของวิกฤตการณ์ประเทศไทย

มหาวิทยาลัยเป็นที่รวมของนักวิชาการและปัญญาชนจำนวนมาก แต่ก็อยู่ในระบบราชการมานาน จึงใช้โครงสร้างอำนาจในการบริหาร ยังขาดโครงสร้างทางสมอง แม้นมีนักวิชาการและปัญญาชนจำนวนมาก แต่ไม่ได้ organize เป็นโครงสร้างทางสมอง ถ้าเข้าใจแนวคิดนี้ ทำได้ไม่ยากและทำได้ทันที


๒.

คุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์เมื่อเกิดความเป็นองค์รวม (Whole)

ความเข้าใจเรื่อง “ส่วนย่อย” (Parts) กับ “องค์รวม”

      สภาพการขาดความเป็นองค์กร (Organization) ของมหาวิทยาลัยและการขาดพลังสร้างสรรค์อันมหาศาลเพราะเหตุนั้น เป็นเรื่องยากที่ชาวมหาวิทยาลัยจะเข้าใจ เพราะก็เห็นกันอยู่ว่ามีชื่อที่เรียกเป็นองค์กรต่างๆ กันอยู่ การมีชื่อเป็นองค์กรกับความเป็นองค์กรอาจไม่ได้ซ้อนทับกัน จะเข้าใจเรื่องนี้ได้จำเป็นต้องอธิบายเรื่อง “ส่วนย่อย” (Parts) กับ “องค์รวม” (Whole)

          ร่างกายของคนหรือมนุษย์ประกอบด้วย แร่ธาตุสสารต่างๆ ที่มีอยู่ในธรรมชาติ

          แร่ธาตุสสารก็มีคุณสมบัติอย่างแร่ธาตุและสสาร

          แต่ความเป็นคนมีคุณสมบัติใหม่ผุดบังเกิดขึ้นมีความมหัศจรรย์เหลือหลาย อันไม่ใช่                 คุณสมบัติของแร่ธาตุสสารอันเป็นส่วนประกอบ

          แร่ธาตุสสารคือ “ส่วนย่อย” (Parts) ความเป็นคนคือ “องค์รวม” (Whole)

จากแร่ธาตุสสารที่กระจัดกระจายอยู่ตามธรรมชาติ มีการก่อตัว (Organize) เป็นองค์รวมหลายระดับขึ้นมาสู่ความเป็นองค์รวมสูงสุด กล่าวคือ

  • (๑) สสารที่หลากหลายและเข้มข้น ประมาณ ๓๐๐ ล้านอณู ก่อตัวขึ้นมาเป็น “เซลล์”

สสารเป็นส่วนย่อย เซลล์เป็นองค์รวม สสารไม่มีชีวิต แต่เซลล์มีชีวิต

  • (๒) เซลล์หลายๆ เซลล์เป็นส่วนย่อยก่อตัวขึ้นเป็น “อวัยวะ” เซลล์หลายๆ เซลล์เป็นส่วนย่อย อวัยวะเป็นองค์รวม อวัยวะ เช่น สมอง หัวใจ ตับ ปอด มีคุณสมบัติใหม่ อันไม่ใช่คุณสมบัติของเซลล์
  • (๓) อวัยวะหลายๆ อวัยวะก่อตัวขึ้นเป็น “คน”

        อวัยวะหลายๆ อวัยวะ คือ ส่วนย่อย ความเป็นคนคือองค์รวม ความเป็นคนมีคุณสมบัติใหม่ ผุดบังเกิดขึ้น (Emerge) อันไม่ใช่คุณสมบัติของอวัยวะ ดังนี้

        ถ้าเข้าใจกระบวนการ “ก่อตัว” และการผุดบังเกิด (Emergence) ของคุณสมบัติใหม่ จะเข้าใจว่าสิ่งมีชีวิตเกิดจากสิ่งไม่มีชีวิตได้อย่างไร นั่นคือเกิดจากกระบวนการธรรมชาติที่เรียกว่า “ก่อตัวขึ้นเอง” หรือ “ก่อตัวเอง” (Self-organization) กล่าวคือ

เมื่อสสารมีความหลากหลายถึงขนาดและมีความเข้มข้นถึงขนาด จะมีอันตรกริยา (Interaction) กัน เกิดสภาพโกลาหล (Chaos) และที่ชายขอบของ chaos จะเกิดการจัดระเบียบ (Order) ขึ้นมาเอง หรือก่อตัวขึ้นเอง (Self organize) เป็นเซลล์ มีผนังล้อมรอบ มีคุณสมบัติใหม่ นั่นคือมีชีวิต

องค์รวมแต่ละระดับ คือ เซลล์ อวัยวะ ความเป็นคน คือความเป็นองค์กร (Organization) มีคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์ผุดบังเกิดขึ้นจากความเป็นองค์รวม

๓.

การขาดความเป็นองค์กรของมหาวิทยาลัย และหน่วยงานต่างๆ

จากความจริงข้างต้น จะเข้าใจการขาดความเป็นองค์กรของมหาวิทยาลัย กล่าวคือ ภาควิชา คือ ที่กระจุกตัวของนักวิชาการประเภทหนึ่ง ที่ไม่ได้ organize กันจนเกิดเป็นองค์รวม และมีคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์ขององค์รวม

คณะ หรือ สถาบันก็เช่นเดียวกัน

มหาวิทยาลัยก็เช่นเดียวกัน

ที่จริง หน่วยงานต่างๆ ก็ทำนองเดียวกัน

นี้จะอธิบายได้ว่า ทำไมในมหาวิทยาลัยจึงเต็มไปด้วยความขัดแย้ง และขาดพลังสร้างสรรค์ เวลาขัดแย้งก็มักคิดว่าอีกข้างเป็นคนเลว

แต่ถ้าลองพิจารณาอาจารย์แต่ละคน จะพบว่าทุกคนก็เป็นคนดี สิ่งที่ขาดคือการคิดเชิงระบบและพฤติกรรมองค์กร

นี่คือปัญหาวิธีคิด (Mindset) ที่ทำให้ติดขัด

คืออาจารย์ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจะคิดแต่ในมิติทางเทคนิควิชาการ แต่ขาดการคิดเชิงระบบโครงสร้างและการจัดการ ระบบและโครงสร้างเป็นปัจจัยกำหนดพฤติกรรมของบุคคลและองค์กร ดังเห็นได้จากในเรื่อง “ส่วนย่อย” และ “องค์รวม” ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น เมื่อขาดความคิดเชิงระบบและโครงสร้าง ก็คิดว่าดีชั่วเป็นกรรมส่วนบุคคล เมื่อเห็นต่างก็เกิดความเกลียดโกรธ นำไปสู่อปิยวาจา ขัดแย้ง ทอนกำลังกัน มหาวิทยาลัยซึ่งควรเป็นดินแดนแห่งความสุขความสร้างสรรค์ ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่เพราะขาดความเป็นองค์กร ซึ่งต่างจากระบบร่างกาย

จุดสำคัญของมหาวิทยาลัยคือพัฒนาความเป็นองค์กร (Organizational Development) ต้องระวังคำว่า “พัฒนาความเป็นองค์กร” กับคำว่า “พัฒนาองค์กร”มีความหมายต่างกัน คำหลังมีความหมายถึงมีความเป็นองค์กรอยู่แล้ว แล้วก็พัฒนาองค์กรในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือหลายเรื่อง แต่คำแรกหมายถึงหน่วยงานยังไม่มีความเป็นองค์กร เป็นเพียงกระจุกของคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งแยกย่อย ยังไม่มีความเป็นองค์รวม ยังไม่มีคุณสมบัติใหม่ ของความเป็นองค์รวมผุดบังเกิดขึ้น

          วิธีพัฒนาความเป็นองค์กรนี้บางทีเรียกว่า “กระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนา” (New Development Paradigm) เป็นกระบวนการ การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interactive learning through action) ในสถานการณ์จริงซึ่งเป็นการเรียนรู้ร่วมกันของทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพื่อ

(๑) สร้างจินตนาการในเป้าหมายร่วมของหน่วยงาน                      = นโยบาย

(๒) ร่วมสร้างแนวทางใหญ่ๆ ของหน่วยงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย        = ยุทธศาสตร์

(๓) ร่วมทำแผนปฏิบัติการ (Plan of action) ของแต่ละยุทธศาสตร์

      (ตามปกติคนในหน่วยงานจะไม่คุ้นเคยกับการทำแผนปฏิบัติการและทำไม่เป็น มักได้แต่   วิพากย์วิจารณ์กัน และคิดว่าฉลาดแล้ว)

การร่วมสร้างนโยบาย การร่วมสร้างยุทธศาสตร์ และการร่วมเรียนรู้ในการทำแผนปฏิบัติการของหน่วยงาน เป็นกระบวนการทางปัญญาอย่างยิ่ง และการทำด้วยการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ ไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้เชื่อถือไว้วางใจกันมาก มีความสุข รวมใจเป็นหนึ่งเดียว เกิดความเป็นองค์กร ที่ทุกคนมีจิตสำนึกในองค์รวม เกิดคุณสมบัติใหม่ คือพลังงานอันมหาศาล (Enormous energy) ของความเป็นองค์กร เต็มไปด้วยพลังของความสุขและความสร้างสรรค์ พลังสร้างสรรค์ของความเป็นองค์กรจะทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เป็นไปได้

เพราะฉะนั้น ถ้าหน่วยงานต่างๆ มีความเป็นองค์กร และองค์กรทั้งหมด organize กัน เกิดความเป็นมหาวิทยาลัย หรือองค์รวมใหญ่ ความเป็นองค์รวมของมหาวิทยาลัยก็จะทำให้มีคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์ผุดบังเกิด (Emerge) ขึ้นมา

เมื่อระบบมหาวิทยาลัยเป็นเช่นนี้ ก็จะบริหารจัดการง่าย ต่างจากทุกวันนี้ซึ่งลำบากยากเข็น และไม่ค่อยได้ผล เพราะขาดความเป็นองค์กร เป็นเพียงประดุจ “สสารทางปัญญา” ที่กระจุกอยู่เป็นหย่อมๆ ไม่ใช่องค์กรทางปัญญา

๔.

“กลุ่มเซลล์สมอง” ๔ กลุ่ม ที่ช่วยพัฒนาความเป็นองค์กรให้มหาวิทยาลัย

          โครงสร้างมหาวิทยาลัยเป็นโครงสร้างระบบราชการ ซึ่งเป็นระบบอำนาจควบคุม มีกฎหมาย กฎกระทรวง ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง ประกาศ รวมกัน ประมาณ ๑๓๐,๐๐๐ ฉบับ ที่ใช้ควบคุมการปฏิบัติ ระบบอำนาจควบคุมกับระบบการพัฒนาไม่เหมือนกัน

อำนาจทำให้แยกส่วนตัดขาด การพัฒนาคือการเชื่อมโยง

          ฉะนั้นโครงสร้างระบบราชการจึงพัฒนาเรื่องที่ซับซ้อนให้สำเร็จได้ยาก เพราะขาดโครงสร้างทางปัญญา

          “กลุ่มเซลล์สมอง” เป็นกลไกเชื่อมโยงทางปัญญา อาจมีชื่อต่างๆ ตามหน้าที่เฉพาะและตำแหน่งแห่งหนที่กลุ่มทำหน้าที่

          เริ่มต้นที่สำนักงานสภามหาวิทยาลัยจัดให้มี “กลุ่มงานพัฒนานโยบาย ประกอบด้วยผู้ที่มีฉันทะและทักษะที่เหมาะกับการทำหน้าที่ดังที่จะกล่าวต่อไป จำนวน ๒-๓ คน หรืออาจมากถึง ๑๐ คน

          ในการประชุมสภามหาวิทยาลัย มักจะมี “ประเด็นทางนโยบาย” คือเรื่องที่สำคัญเกิดขึ้นเสมอ แต่สภายังเอามาทำเป็นนโยบายไม่ได้ เพราะขาดรายละเอียดและการคิดอย่างชัดเจน ประเด็นเหล่านี้ก็เลือนหายไป เป็นการสูญเสียอย่างน่าเสียดาย เป็นเช่นนี้ในทุกสภามหาวิทยาลัย เพราะกระบวนการทางปัญญาไม่ครบวงจร

          หน้าที่ของกลุ่มงานพัฒนานโยบาย คือ

  • (๑) รับรู้ว่ามีประเด็นสำคัญๆ อะไรเกิดขึ้นบ้างในการประชุมสภามหาวิทยาลัยหรือนอกสภามหาวิทยาลัยทั้งใกล้และไกล
  • (๒) นำประเด็นที่คิดว่าสำคัญมากมาพัฒานาเป็นนโยบาย โดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ มาประชุมระดมความคิด พร้อมทั้งแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ เข้ามาเป็นฐานในการระดมความคิด การประชุมระดมความคิดอาจต้องทำหลายครั้ง ในสถานที่ที่มีบรรยากาศเหมาะสม เมื่อเกิดความชัดเจนถึงขั้นน่าปฏิบัติและปฏิบัติได้ สังเคราะห์เป็นนโยบาย นำกลับมาเสนอสภามหาวิทยาลัย
  • (๓) สภามหาวิทยาลัยสามารถพิจารณาด้วยคุณภาพสูงมาก เมื่อผ่านการพัฒนานโยบายตามข้อ ๒ มาแล้ว และตัดสินใจทางนโยบายได้ง่าย อีกทั้งสภามหาวิทยาลัยจะมีเรื่องทางนโยบายทุกครั้งที่ประชุม เมื่อมีการพัฒนานโยบายตามข้อ ๒ เป็นปัจจัยนำเข้า ไม่ใช่ไม่รู้จะพิจารณานโยบายอะไร หรือทำเรื่อง “รูทีน” ที่ใช้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่คุ้มค่า
  • (๔) เมื่อสภามีมตินโยบายอะไรแล้ว บ่อยๆ ครั้งผู้ปฏิบัติในระดับต่างๆ ไม่รับรู้หรือไม่เข้าใจ กลุ่มงานพัฒนานโยบายมีหน้าที่สื่อสารให้ทั่วทั้งองคาพยพขององค์กร รับรู้และเข้าใจนโยบาย จะได้ปฏิบัติได้ถูกต้องตามหน้าที่ในระดับของตนๆ
  • (๕) ประสานความเข้าใจกับ “กลุ่มงานยุทธศาสตร์” “กลุ่มงานแผนปฏิบัติการ” และ “กลุ่มงานติดตามและประเมินผล” ซึ่งจะกล่าวต่อไป ครบวงจรของระบบบริหารจัดการมหาวิทยาลัยซึ่งจะหมุนวน และในแต่ละรอบๆ ทำให้ทุกอย่างดีขึ้นเรื่อยๆ

                    สรุปหน้าที่ของกลุ่มงานที่คล้ายเซลล์สมอง

          เซลล์สมองทำหน้าที่รับข้อมูล (data) แปลให้เป็นข้อสนเทศ (information) พัฒนาเป็นความรู้ (knowledge) สื่อสารข้อความรู้ไปสู่ส่วนต่างๆ

ลองสังเกตหน้าที่ของ “กลุ่มงานพัฒนานโยบาย” ว่าคล้ายเซลล์สมองหรือไม่เพียงใด เมื่อเซลล์สมองจำนวนมากเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย เป็นโครงสร้างของสมอง

เรามาลองดูกันต่อไป ถ้าระบบบริหารของมหาวิทยาลัย เชื่อมโยงกันครบวงจร โดยมี “เซลล์สมอง” เชื่อมโยง ณ จุดเชื่อมต่อของหน้าที่จะมีลักษณะเช่นใด

วงจรการจัดการ (Management loop) มหาวิทยาลัย

วงจรการจัดการมหาวิทยาลัยที่ควรจะเป็น แสดงในภาพข้างล่าง

          โดยทั่วไปหรือเกือบทั้งหมด อาจารย์มหาวิทยาลัยคิดเฉพาะทางเทคนิคทางวิชาการของตนๆ แต่ขาดความคิดเชิงระบบและการจัดการ

          หน้าที่ที่เขียนเป็นเหมือนห่วงโซ่ลงมานั้น คือ ระบบและการจัดการ ซึ่งอาจารย์จะไม่เข้าใจและทำไม่เป็น จึงขาดความเป็นองค์กร การมีกลุ่มเซลล์สมอง       ที่เรียกชื่อว่า

          จะดึงหรือเชื่อมต่อคนในมหาวิทยาลัยเข้ามาเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ         (Interactive learning through action) ในสถานการณ์จริง

          การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริงเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังยิ่ง ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) ในทุกมิติ คือทั้งจิตสำนึก วิธีคิด การเรียนรู้ การเกิดปัญญาร่วม (Collective wisdom) การจัดองค์กร ถือเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนา (New Development Paradigm)

          เรื่องการติดตามและประเมินผล แม้มีบัญญัติไว้ในกฎหมาย แต่มักทำอย่างไม่มีคุณภาพ เช่น สรุปว่า พอใช้ ดี ดีมาก ซึ่งไม่ค่อยมีผลต่อการปรับตัววงจรบริหารจัดการทั้งหมด แต่ถ้ามีกลุ่มเซลล์สมองที่เรียกว่า      กลุ่มงานติดตามและประเมินผล ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ และมีการประเมินเชิงระบบ ทำงานเชิงเซลล์สมอง การติดตามประเมินผลจะมีคุณภาพยิ่ง และเป็นตัวป้อนกลับ (Feedback) ให้ระบบหน้าที่ทุกขั้นตอนรู้ตัว และปรับตัวได้ ฉะนั้นทุกรอบที่ management loop (ดังรูป) หมุนไป ทุกอย่างจะดีขึ้น ดีขึ้นเรื่อยๆ

          เมื่อมหาวิทยาลัย organize ตัวเอง มีความเป็นองค์กร (Organization) หรือองค์รวมในระดับต่างๆ จนกระทั่งถึงองค์รวมของความเป็นมหาวิทยาลัย ก็จะเกิดคุณสมบัติใหม่ที่มหัศจรรย์ต่างๆ

          เมื่อนั้น มหาวิทยาลัยก็จะเป็นประดุจหัวรถจักรทางปัญญาพาชาติออกจากวิกฤตได้

๕.

“กลุ่มเซลล์สมองสังคม” (กซสส.) เกิดง่าย เกิดได้มาก และควรเกิดมากเต็มสังคม

          กซสส. ควรเป็นกลุ่มไม่เป็นทางการ เพราะเกิดง่าย คล่องตัว และมีคุณภาพสูงกว่าการที่เป็นทางการ ไม่มีอำนาจ จึงไม่ขัดแย้งหรือเป็นที่รังเกียจ แต่เป็นกลไกเชื่อมต่อทางปัญญา ซึ่งยังประโยชน์แก่ทุกฝ่ายและร่วมกัน จึงควรเป็นที่ต้องการในการทั้งปวง

กซสส. มีขนาดเล็ก มีผู้ปฏิบัติเพียง ๒-๓ คน หรือมากถึง ๑๐ คน ไม่ควรเกินนี้ จึงอาจเรียกว่ากลุ่ม ๑๐ บางคนเรียกว่าเป็น “กลุ่มจัดการขนาดเล็ก” (Micro-management group) ขนาดเล็กทำให้รู้จักกันทั่วถึงและเชื่อถือไว้วางใจกัน (Trust) สนิท ยังให้เกิดความสุขและเพิ่มประสิทธิภาพ ลดการสูญเสียพลังงานไปกับความขัดแย้งภายใน

          ผู้ปฏิบัติ กซสส. จะเป็นใครก็ได้ คนนอกหรือคนใน กรรมการสภามหาวิทยาลัยบางคน นักธุรกิจรวมทั้งพวก YEC (Young Entrepreneur Chamber of Commerce) ซึ่งมีประมาณ ๖,๐๐๐ คน อาจารย์มหาวิทยาลัย วุฒิอาสา คลังสมอง ราชบัณทิต ข้าราชการที่เกษียณอายุแล้วหรือยัง ทหาร หรือแม้แต่พระสงฆ์องคเจ้า ที่มีฉันทะและทักษะที่จะทำหน้าที่ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

          ฉะนั้น จึงกล่าวว่า กซสส. เกิดง่าย และเกิดได้มาก

          ที่ว่าควรเกิดมากเต็มสังคม ก็เพราะงานต่างๆ มักไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาคุณภาพเด็ก เยาวชน และครอบครัว ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศ หรือการลดการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนประมาณปีละ ๒๐,๐๐๐ คน บาดเจ็บอีกเกือบ ๑ ล้าน ก็ทำไม่สำเร็จ

          แล้วก็อาจจะงงว่าทำไม นโยบายก็มีแล้ว วิชาการก็มีแล้ว ผู้ปฏิบัติก็มีแล้ว จึงยังไม่สำเร็จ

          คำตอบก็พูดไว้ข้างต้นแล้ว คือ ประเทศไทยมีแต่โครงสร้างอำนาจ แต่ขาดโครงสร้างสมอง กซสส. คือเครื่องเชื่อมต่อทางปัญญา ทำให้เกิดโครงสร้างทางสมอง

          ยกตัวอย่างในเรื่อง การพัฒนาคุณภาพเด็ก เยาวชน และครอบครัว ถ้าเอาตำบลเป็นจุดยุทธศาสตร์ ในแต่ละตำบลควรมี กซสส. ๑ กลุ่ม กซสส. เป็นชื่อกลางที่บอกถึงหน้าที่ อาจมีชื่อเฉพาะกิจตามภารกิจ และตามเทศะ เช่น กลุ่มประสานการพัฒนาเรื่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว ตำบล... กซสส. นี้จะเชื่อมโยงการปฏิบัติเข้ากับนโยบายวิชาการและการสนับสนุนการปฏิบัติ ดังรูป

นี้จะเห็นได้ว่าทำไมการพัฒนาทั้งหลายจึงไม่ค่อยได้ผล เพราะมีแต่โครงสร้างอำนาจ แต่ขาดโครงสร้างทางสมอง เมื่อสอดเซลล์สมองที่เรียกว่า กซสส. เข้ามา ก็เท่ากับเติมสิ่งที่ขาด นั่นคือโครงสร้างทางสมอง ก็จะเกิดสัมฤทธิผล

          และเซลล์สมองทางสังคมนี้เกิดขึ้นได้ง่าย และได้มาก

          เพราะสสารทางปัญญามีอยู่มากกระจัดกระจายทั่วไป

          ถ้าเข้าใจ ก็ก่อตัว (Organized) กันขึ้น เป็นองค์กร คือ เซลล์สมอง

          ประดุจสสารในธรรมชาติที่ Self-organized กันขึ้นเป็นเซลล์ที่มีชีวิต

          ความเข้าใจมีอำนาจมากที่เรียกว่า Power of understanding หรือ อำนาจแห่งความเข้าใจ

          ถ้าเราเข้าใจว่าที่อะไรๆ มันไม่ได้ผล เพราะขาดโครงสร้างทางสมอง

          และเข้าใจว่าโครงสร้างทางสมองอยู่ที่เซลล์สมอง

และเข้าใจว่าหน้าที่ของเซลล์สมอง คือ รับข้อมูล (Data) มาแปลให้เป็นข้อสนเทศ (Information) และแปลงข้อสนเทศให้เป็นความรู้ (Knowledge) แล้วทำการสื่อสารความรู้เชื่อมโยงออกไป ซึ่งเท่ากับเป็นกลไกเชื่อมโยงทางปัญญา

          ความเข้าใจหน้าที่ของเซลล์สมอง ทำให้รู้ว่าใครที่จะมีฉันทะและทักษะที่เหมาะสมในการก่อตัวกันเป็นเซลล์สมอง

          ความเข้าใจว่ากลุ่มเซลล์สมองไม่ต้องการความเป็นทางการ จึงเกิดขึ้นได้ง่าย เกิดขึ้นได้มาก มีความคล่องตัวสูง ไม่มีอำนาจ ไม่ต้องการอำนาจ จึงไม่ขัดแย้งกับใคร

๖.

“กลุ่มงานพัฒนานโยบาย” ในสถาบันหลักต่างๆ

จะลดความขัดแย้ง เพิ่มคุณภาพประชาธิปไตย และยกระดับการพัฒนาประเทศ

การตัดสินใจในนโยบายสาธารณะที่ดี เป็นสุดยอดทางปัญญาของชาติใดชาติหนึ่ง การตัดสินใจในนโยบายสาธารณะ กำหนดว่าประเทศจะเดินไปในทิศทางใด จะทำหรือไม่ทำอะไร และทำอย่างไร เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชน

แต่นโยบายสาธารณะที่ดีเกิดขึ้นได้ยาก

เพราะ “อวิชชา” และระบบผลประโยชน์

ที่จริง “ประเด็นนโยบาย” เกิดขึ้นในสังคมตลอดเวลาในลักษณะต่างๆ แต่ไม่มีกลไกพัฒนานโยบาย ที่นำประเด็นนั้นๆ มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ หรือพัฒนาให้เป็นนโยบายที่สามารถปฏิบัติได้ และผ่านการวิเคราะห์มาแล้วว่าให้ผลคุ้มค่า ที่จะทำให้ตัดสินใจได้ง่าย

          ในการชุมนุมหรือเดินขบวนเรียกร้องต่างๆ สิ่งที่เขาเรียกร้องคือ “ประเด็นทางนโยบาย” แต่ยังไม่ใช่นโยบาย รัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติได้ ผู้ชุมนุมก็เกิดอารมณ์ ชุมนุมยืดเยื้อ หรือเกิดทำผิดกฎหมาย รัฐบาลสลายการชุมนุม เกิดความขัดแย้งและรุนแรงทางการเมือง

          ถ้าสถาบันหลักของประเทศที่ได้รับความเชื่อถือจากสังคม เช่น ราชบัณทิตยสภา สภาบันพระปกเกล้า มหาวิทยาลัยหลายมหาวิทยาลัย มี “กลุ่มงานพัฒนานโยบาย” แล้วนำประเด็นนโยบายที่การชุมนุมหรือการเดินขบวนเรียกร้องมาพัฒนาเป็นนโยบาย เมื่อเป็นนโยบายที่ผ่านการวิเคราะห์ สังเคราะห์มาแล้ว ก็เป็นการง่ายที่รัฐบาลจะรับไปปฏิบัติ ทำให้ประเทศก้าวข้ามความขัดแย้งรุนแรง เกิดประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ และการพัฒนายกระดับขึ้นไปสูง เพราะการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี

          ที่มาของประเด็นนโยบาย ได้มีแต่จากการชุมนุมหรือเดินขบวนเท่านั้น โดยเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ สามารถจัดระบบให้มีการเสนอความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ แล้วเอามาจัดหมวดหมู่ และจัดลำดับความสำคัญ “กลุ่มงานพัฒนานโยบาย” หรือ “กลุ่มเซลล์สมอง” ดังกล่าวเลือกประเด็นที่ประชาชนจำนวนมากเสนอและมีความสำคัญสูงมาพัฒนาเป็นนโยบาย ดังนี้ก็เท่ากับประชาชนทั้งประเทศมีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบาย เป็นประชาธิปไตยทางตรงที่มีคุณภาพ มาบรรจบกับประชาธิปไตยทางอ้อม หรือแบบผู้แทน คือการเมืองระบบรัฐสภา เมื่อสิ่งที่ประชาชนเสนอไปเกิดผลทางนโยบาย ก็จะป้อนกลับไปให้กำลังใจประชาชนให้อยากมีส่วนร่วมมากขึ้น กลายเป็นพลังพลเมืองที่ตื่นรู้ (Awaken citizen) ซึ่งเป็นพลังที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และศีลธรรมอันดีงาม ฉะนี้

          หากพรรคการเมืองทำอย่างเดียวกัน คือมี “กลุ่มงานพัฒนานโยบาย” ก็จะเกิดอานิสงส์ ทั้งต่อพรรคและต่อบ้านเมืองในทำนองเดียวกัน

          จะเห็นได้ว่าเรื่องดีๆ สามารถเกิดขึ้นได้บ้านเมืองของเรา ที่จริงคนไทยเป็นคนดี แต่ขาดความคิดเชิงระบบ โครงสร้าง และการจัดการ โครงสร้าง“เซลล์สมองสังคม” จะทำให้เกิดโครงสร้างสมองในสังคมไทย อันทำได้ไม่ยาก และไม่ช้า

๗.

สรุป

          ปฐมเหตุอันนำไปสู่วิกฤตการณ์ต่างๆ อันรวมเรียกว่าวิกฤตชาติ คือ วิธีคิด หรือที่เรียกกันว่า mindset วิธีคิดที่ว่านี้คือคิดว่าอะไรดีชั่วอยู่ที่กรรมส่วนบุคคล อันเป็นการคิดแบบตายตัวแยกส่วน ไม่สอดคล้องกับวิธีคิดทางพุทธ ที่เน้นความเป็นกระแสของเหตุปัจจัย ที่เรียกว่าอิทัปปัจจยตา หรือกระแสของความเป็นเหตุเป็นผล ถ้าคิดแบบสืบสาวราวเรื่องไปตาเหตุปัจจัย ก็จะพบว่า โครงสร้างและระบบเป็นปัจจัยกำหนดพฤติกรรมของบุคคลและองค์กรอย่างสำคัญ

          เมื่อคิดเฉพาะกรรมส่วนบุคคล ขาดความคิดเชิงระบบ และการจัดการ ก็ไม่เข้าใจความเป็นจริง แก้ปัญหาต่างๆ ไม่ได้ ทำให้ปัญหาสะสมจนวิกฤต นอกจากนั้นการเพ่งเล็งเฉพาะกรรมส่วนบุคคล จึงใช้อารมณ์มากกว่าปัญหา คือ เกิดความเกลียด ความโกรธตัวบุคคล แล้วเลยนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง ที่ทำให้เกิดสภาพที่เรียกว่า “คนไทยเหมือนไก่อยู่ในเข่ง” จิกตีกันร่ำไป แต่จิกตีกันจนตายก็ออกจากเข่งไม่ได้ เพราะ “เข่ง” คือโครงสร้างที่ถักทอกันแน่นหนา ต้องใช้ ปัญญาจึงจะออกจากเข่งได้

          แต่ก็ออกไม่ได้ เพราะประเทศไทยเต็มไปด้วยโครงสร้างอำนาจ แต่ขาดโครงสร้างทางสมอง โครงสร้างทางสมองเป็นฐานของปัญญา

          บทความนี้จึงเสนอแนวคิด โครงสร้าง “เซลล์สมองสังคม” หรือ Social neurone “กลุ่มเซลล์สมองสังคม” สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย เร็ว และเกิดได้มาก “กลุ่มเซลล์สมองสังคม” จะไปทำหน้าที่เชื่อมต่อทางปัญญา ทำให้เกิดความเป็น “องค์รวม” (Whole) ในระดับต่างๆ ของสังคม ความเป็นองค์รวมมีคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์ต่างๆ เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยสสารต่างๆ จากธรรมชาติ ซึ่งเมื่ออยู่เป็นธาตุสสารตามธรรมชาติ ก็ไม่มีคุณสมบัติของความเป็นคน แต่เมื่อก่อตัว (organize) ขึ้นเป็นองค์รวมระดับต่างๆ คือ เซลล์ อวัยวะ และความเป็นคนทั้งคน องค์รวมแต่ละระดับก็มีคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์ต่างๆ ความเป็นคนเป็นองค์รวมที่มีคุณสมบัติใหม่อันมหัศรรย์ที่สุดในจักรวาล อันไม่ใช่คุณสมบัติของส่วนย่อย คือ ธาตุสสารต่างๆ

          เพราะวิธีคิดแบบตายตัวและแยกส่วน ทำให้สังคมไทยมีแต่ส่วนย่อย ขาดการได้เสพเสวย คุณสมบัติอันมหัศจรรย์ของความเป็นองค์รวม ที่ถ้าสังคมไทยจะก่อตัว (organize) เป็นองค์รวมในระดับต่างๆ จนเป็นองค์รวมทั้งหมด คือความเป็นประเทศไทยที่มีคุณสมบัติใหม่ขององค์รวมอันมหัศจรรย์

          บทความนี้ได้เสนอแนวคิด โครงสร้าง “กลุ่มเซลล์สมองสังคม” ประเภทต่างๆ เต็มสังคม ซึ่งเกิดได้ง่าย และเร็ว เป็นกลไกที่จะทำให้สังคมไทยสามารถก่อตัวเป็นองค์รวมในระดับและเรื่องต่างๆ ซึ่งจะเชื่อมโยงกันทำให้เกิดความเป็นองค์รวมของประเทศไทย

          ทำให้ประเทศไทยเกิดความลงตัว เกิดคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์ อันจักเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขอันลึกซึ้งแห่งมหาชนชาวสยาม

          เพื่อนคนไทยสามารถศึกษารายละเอียดของแนวคิด โครงสร้าง “กลุ่มเซลล์สมองสังคม” จากบทความข้างต้น

Braincell social from Pattie KB
หมายเลขบันทึก: 675002เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2020 18:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2020 18:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท