เผาหัวการเลือกตั้งตอนสอง


เผาหัวการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นตอนสอง

1 กุมภาพันธ์ 2563

ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

ปลัด อปท.ไม่เป็นกรรมการการเลือกตั้ง

เมื่อหลายปีก่อนแกนนำปลัด อปท. มีแนวคิดไม่เห็นด้วยในบทบาทการจัดการเลือกตั้งที่ให้ปลัด อปท. เป็น “คณะกรรมการการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยตำแหน่ง” (กกต.ท้องถิ่น) ในจำนวนเดิม 5 คน ด้วยหวั่นผลกระทบต่าง ๆ ที่ตามมาโดยเฉพาะมักเกิดเหตุเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายหลังการเลือกตั้ง ด้วยความหวาดระแวงว่าไม่เป็นกลาง เป็นต้น พร้อมวอนกระทรวงมหาดไทยให้แก้กฎหมาย

ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 [2] (สถ.หรือ ผถ.) มีสาระคือ ข้อ 27 [3] กำหนดให้หัวหน้าพนักงานส่วนท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ผอ.กต.ท้องถิ่น) ยกเว้น เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับผู้สมัคร หรือมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่าอาจก่อให้เกิดความไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมในการเลือกตั้งหรือมีเหตุจำเป็นอื่นใด ให้แต่งตั้งปลัดจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอ ข้อ 7 [4] กำหนดให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอร่างประกาศให้มีการเลือกตั้งต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด เมื่อได้รับเห็นชอบแล้ว ให้ประกาศให้มีการเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสามสิบวัน

ข้อ 12 [5] กำหนดหลักเกณฑ์เขตเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น โดยยึดจำนวนราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง ในกรณีของ (1) กทม. (2) อบจ. ตามเขตอำเภอแบ่งเขตละ 1 คน (3) เทศบาลและเมืองพัทยา มี 2-4 เขต ๆ ละ 6 คน (4) อบต. ตามเขตหมู่บ้านปกติหมู่บ้านละ 1 คน (5) อปท.อื่น

ข้อ 31 [6] กำหนดคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกต.ท้องถิ่น) (1) กทม.และ อบจ.จำนวน 5 คน (2) เทศบาล เมืองพัทยา และ อบต. จำนวน 3 คน โดยแต่งตั้งจากข้าราชการและเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตจังหวัดหรืออำเภอที่ อปท. หรืออาจแต่งตั้งจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีภูมิลำเนาในเขตจังหวัดหรืออำเภอนั้นซึ่งมิได้เป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ จำนวนไม่เกิน 2 คน โดยนอกจากจะมีคุณสมบัติ ตามข้อ 31 แล้ว ต้องมีคุณสมบัติ ตามข้อ 32 [7] (เช่นมีอายุ 30 ปีบริบูรณ์) และไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามข้อ 33 ที่สำคัญ เช่น ข้อ 33 (9) [8] เป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น หรือลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ว่าด้วยการคุณสมบัติ กกต.ท้องถิ่น

ข้าราชการ ของ อปท.ซึ่งมีประสบการณ์มากกว่าข้าราชการประเภทอื่นในการจัดเลือกตั้งท้องถิ่น กกต.ห้ามสมัครเป็น กกต.ท้องถิ่น เปิดโอกาสเฉพาะข้าราชการอื่นเท่านั้น อย่างกรณีจัดเลือกตั้งของเทศบาล เป็นข้าราชการ อบจ.ก็ไปสมัครไม่ได้ เพราะมีลักษณะต้องห้าม นัยว่าระเบียบเขาห้ามเพื่อความเป็นกลาง แต่มีเหตุผลใดว่าข้าราชการอื่นจะเป็นกลางด้วย เพราะข้าราชการท้องถิ่นไม่ได้เป็นข้าราชการการเมือง ต้องมีความเป็นกลางทางการเมืองอยู่แล้ว หรือ เกรงว่าหากจัดการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วผู้มาทำหน้าที่ กกต.ท้องถิ่นถือว่ามีส่วนได้เสียในกระบวนการยุติธรรมในการเลือกตั้ง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง น่าคิดว่าคนทำงานเป็นมีประสบการณ์ แต่กลับเป็นบุคคลต้องห้าม อ้างเพื่อความเป็นกลาง แต่ความจำเป็นต้องการคนที่มีความรู้มาช่วยงานยังจำเป็น หรือต้องการถ่วงดุลส่วนร่วมจากคนนอกในการตรวจสอบ

สารพันระเบียบกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น

(1) สาระสำคัญที่ควรทราบ สรุปเหตุผล พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 คือเพื่อ (1) คำนึงการมีส่วนร่วมของประชาชน (คะแนนมากกว่า โหวตโน) (2) กำหนดคุณสมบัติผู้สมัครใหม่ นับอายุถึงวันเลือกตั้งทั้งผู้ใช้สิทธิและผู้สมัคร (3) ป้องกันการทุจริตการเลือกตั้ง

(2) กรณีเทศบาล ผู้สมัครไม่มีข้อยกเว้นให้สำหรับการเสียภาษีในเขต เคยศึกษา เคยรับราชการในเขต เช่นหลักเกณฑ์เดิม ผู้สมัครต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิด ไม่ยกเว้นในเรื่องโอนสัญชาติ

(3) ข้อสังเกตที่น่าสนใจในวาระอายุ ผอ.กกต.ท้องถิ่น กกต.ท้องถิ่น เริ่มตั้งแต่ประกาศให้มีการเลือกตั้ง จนถึงประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง [9] อายุ กกต.อปท.จะเหมือนกับ อายุ ผู้ตรวจการการเลือกตั้ง ค่าตอบแทนรายเดือน กกต.ท้องถิ่น เช่น มีหน่วยเลือกตั้งไม่เกิน 10 หน่วย ได้เดือนละ 4,500 บาท ถ้าเกินคิดเพิ่มเป็นหน่วย มีข้อสงสัยว่า ค่าตอบแทนจะลากยาวเหมือนกรณี ผตล.หรือไม่ เพราะการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านมาลากเวลาประกาศออกไปทำให้ ผตล.ได้ค่าตอบแทนเพิ่ม หรือการยืดเวลาประกาศรับรองผลเลือกตั้งออกไป ย่อมทำให้ต้องจ่ายเงินตอบแทน และอื่น ๆ เพิ่มขึ้น

(4) ผอ.กกต.อปท.ไม่ได้เป็น กกต.อปท. เป็นเพียง ผอ.และเลขาในที่ประชุม กกต.อปท. ตามที่ กกต.ท้องถิ่นสั่งการ อำนาจจัดการ ออกคำสั่ง จะไปรวมศูนย์ที่ ผอ.กกต.จังหวัด แต่การตัดสินใจ จะไปอยู่ กกต.กลาง

(5) การเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งที่ผ่านมาพบว่า การส่งข้อมูลรายงานเบื้องต้นทางเน็ตมือถือล้มเหลวบางจุด เครือข่ายหนาแน่นรองรับไม่เพียงพอ หรือบางพื้นที่ไม่มีสัญญาณในวันเลือกตั้ง แต่ระบบความไม่นิ่งไม่แน่นอนเด็ดขาดของผลคะแนน ประกอบกับความล่าช้าในขั้นตอนและการรายงานผล ควรปรับแก้ไข แต่อย่างไรก็ตามขั้นตอนการเลือกตั้งท้องถิ่นจะแตกต่างจากการเลือกตั้ง ส.ส. ที่สามารถนำปัญหาอุปสรรคมาปรับใช้ได้บ้าง

(6) การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้หลังจากที่ว่างเว้นมา 5-8 ปีเต็ม ๆ จึงเกิด “New Voter” เป็นจำนวนมากถือเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะทำให้เกิดมุมมองความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่ยึดติดในระบบอุปถัมภ์

บทเฉพาะกาลเกี่ยวกับงบเลือกตั้งท้องถิ่น

มีข้อสังเกตน่าสนใจคือ [10](1) ผอ.กกต.จว.สามารถประกาศค่าใช้จ่ายของผู้สมัครได้เลย ก่อนที่ กกต.ส่วนกลางจะประกาศให้มีการเลือกตั้ง (2) ค่าใช้จ่ายของผู้สมัครรับเลือกตั้ง นับจากวันที่ กกต.ส่วนกลางประกาศให้ถึงวันเลือกตั้ง (3) ช่วงนี้กำลังมีการสรรหา กกต.ท้องถิ่นทั่วประเทศ สบายใจได้ กกต.ส่วนกลางเป็นคนเลือก และคงประกาศเมื่อมีมติ ครม.ว่าเลือกตั้งวันใดแล้ว

การลากยาวเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ดีแน่

มีการตั้งข้อสังเกตการเลือกตั้งท้องถิ่นว่าจะเป็นเลื่อนไปอีกหรือไม่ ด้วยสาเหตุทางการเมือง เช่น การวางฐานขุมอำนาจทางการเมืองของฝ่ายรัฐ หรือช่วงนี้ก็อาจอ้างงบประมาณของรัฐผ่านล่าช้า เป็นต้น เพราะแม้งบจัดการเลือกตั้งในส่วนใหญ่ อปท.จะมีพร้อม แต่งบ กกต.ย่อมต้องมาจากส่วนกลาง ยิ่งมีข่าวว่า กกต.พยายามของบประมาณจัดซื้อเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เครื่องลงคะแนนที่ใช้ในหน่วยเลือกตั้ง ด้วยเม็ดเงินที่สูงย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐจะมีงบส่วนนี้ เพราะ กกต.ไม่มีเงินสำหรับค่าใช้จ่าย ที่จริงใช้เงินท้องถิ่นถึงร้อยละ 95 แต่ กกต. ต้องมีงบบริหารจัดการส่วนหนึ่งในภารกิจเลือกตั้งท้องถิ่นต่างๆ เช่น การประชุมคณะกรรมการแบ่งเขตเลือกตั้ง เบี้ยเลี้ยงของเหน้าที่ในการเดินทางช่วงเลือกตั้งและอื่นๆ

การชะลอการเลือกตั้งออกไปอีกอาจเป็นผลเสียต่อคะแนนเสียงและภาพลักษณ์ของรัฐบาล โดยเฉพาะจากคน อปท. ที่เป็นฝ่ายตรงข้าม (ฝ่ายค้าน) นายก อปท. จะถามหาสาเหตุที่ไม่มีการเลือกตั้งว่าเพราะเหตุใด ทำไมไม่เลือกตั้ง เพราะเขารอการเลือกตั้งมานานมากถึง 5-8 ปีแล้ว เป็นกระแสกดดันที่รัฐบาลต้องหาทางคลี่คลาย ท่ามกลางสังคมโซเซียลปัจจุบันที่มีมือถือเป็นทุกสิ่งทุกอย่างข่าวสารถึงกันหมดเรียกว่าเป็นกล้อง CCTV เคลื่อนที่ที่ทรงพลังมาก เพราะสังคมแต่ก่อนเป็นสังคมปิดตอนนี้เปิดแล้ว

ส่ออาการโรคเลื่อนเพราะการแบ่งเขตเลือกตั้ง

ล่าสุด กกต.แจ้งเรื่องแนวทางการแบ่งเขตเลือกตั้งท้องถิ่นแก้ไขระเบียบ กกต.ใน 2 ประการ คือ ประการแรก จำนวนราษฎรในแต่ละเขตที่ใกล้เคียงกัน คือไม่เกินร้อยละสิบของอัตราค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรหนึ่งเขต เช่นเทศบาลตำบล มีประชากร (ใช้คำว่าราษฎร) 5,000 คน หาร 2 ก็เขตละ 2,500 คน เกินได้ 5% ลดน้อยได้ 5% (รวมช่วงห่าง 10%) ดังนั้นราษฎรในเขตจะต้องอยู่ที่ 2,250 -2,750 คน ซึ่งคลาดเคลื่อนอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 10 ตามระเบียบข้อ 13 วรรคสอง (ค) [11] ตามที่แก้ไขใหม่ ประการที่สอง การสรรหาผู้แทนในคณะกรรมการแบ่งเขตระดับจังหวัด ตามบทเฉพาะกาล (ระเบียบฯ ข้อ 232) [12] สรุปคือ ผู้แทน อบจ. 1 คน ผู้แทน ทน. ทม.และผู้แทน ทต.ให้เลือกกันเองเหลือ ทน. 1 คน ทม. 1 คน ทต. 1 คน

ล่าสุดมีข่าวไม่ดีในการแส “ข่าวเลื่อนการแบ่งเขต” ออกไปน่าจะมีผลว่า ผู้ได้ประโยชน์คือใคร เพราะการแบ่งเขตเลือกตั้งสามารถดำเนินการได้ทันตามกรอบเวลาที่กำหนด และส่วนใหญ่เขตเลือกตั้งคงเดิม ยกเว้นกรณี อบต.ยุบรวมควบรวม หรือ เทศบาลที่มีบ้านจัดสรรเพิ่มจำนวนมาก ทำให้มียอดประชากรเพิ่มในบางหมู่บางชุมชนต้องเปลี่ยนแปลงเขตใหม่ เทคนิคของเจ้าหน้าที่ทำให้ยุ่งเข้าไว้ทำให้ดูว่ามีงานมากเข้าไว้ เพื่อจะได้ผลงานได้งบมากขึ้นน่าจะใช้ไม่ได้สำหรับภารกิจการเลือกตั้ง อปท.ครั้งนี้ อย่างไรก็ตามขั้นแรกให้เอา “กกต.อปท.” (ท้องถิ่น) ออกมาโชว์ก่อนก็ยังดี เผื่อจะลดกระแสกดดันต่างๆลงบ้าง

มันสวนกระแสเชื่อมั่นของคน อปท. ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้น่าจะไร้ปัญหาไม่น่าจะลากยาว เพียงรอ ครม. เป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้งท้องถิ่นเท่านั้น เพราะ กกต. เตรียมแบ่งเขตการเลือกตั้งแล้วเสร็จต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 การสรรหา กกต.อปท. ภายใน 11 มีนาคม 2563 ต้องเสร็จ [13] ด้วยงบประมาณ 7,800 ล้านพร้อม

ผู้ตรวจการเลือกตั้งต้องมาปฏิบัติหน้าที่ท้องถิ่นด้วย

ปรัชญาเบื้องหลังที่มาของ “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” (ผตล.) วาระ 5 ปี มีข้อสงสัยว่าแนวคิดนี้มีที่มาอย่างไร พอจับความได้ว่า ในเบื้องต้นเพื่อแก้ไขการใช้อิทธิพลของ กกต. ประจำพื้นที่ที่มีความใกล้ชิดกับผู้สมัครหรือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ มักมีการช่วยเหลือกันเกื้อกูลกัน (ฟอกตัว) โดยกำหนดให้ให้มีการแต่งตั้ง ผตล. แบ่งกลุ่มจังหวัดๆ ละ 7-8 จังหวัด โดยมีผู้เห็นต่างท้วงติงบ้างจนกระทั่งตราเป็นกฎหมายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 [14] และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยผู้ตรวจการเลือกตั้ง พ.ศ. 2561 [15] ได้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการคัดเลือกและการแต่งตั้ง รวมถึงบทบาทหน้าที่ของผู้ตรวจการเลือกตั้งไว้ เป็นข้อสังเกตว่า ผลการศึกษาวิจัยเมื่อคราวการเลือกตั้งที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ผู้ศึกษาวิจัยเสนอ [16] ให้แก้ไขให้เปลี่ยนผู้ตรวจการเลือกตั้งกลับไปเป็นระบบ “กกต.จังหวัด” เช่นเดิม โดยให้มี ผตล. แค่ช่วงการเลือกตั้ง และ ให้ยกเลิกระเบียบยิบย่อยของ กกต.ต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรค สาเหตุสำคัญน่าจะมีที่มาจากการขาดประโยชน์ และขาดศักยภาพ ผตล. จะใช้คนผิวเผินช่วงสั้น คงยุ่งยาก เข้าไม่ถึงข้อมูลจริง การสืบค้นข้อมูลทำได้ยาก การยกเลิก ผตล.ที่ต้องมีการแก้ไขกฎหมายจึงยากกว่า

การจัดการอบรมเพื่อเตรียมการเลือกตั้งของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

ที่ผ่านมา สถ. เป็นเพียงการประชุมประชาสัมพันธ์ชี้แจงเตรียมการล่วงหน้า มิได้ดำเนินการเชิงปฏิบัติการแต่อย่างใด ทำให้การอบรมมักไม่ได้ผล สิ้นเปลืองงบประมาณเพราะจัดการประชุมอบรมโดยที่การเลือกตั้งยังไม่มีความแน่นอน โดยเฉพาะระเบียบกฎหมาย หรือความพร้อมด้านต่าง ๆ เพราะ อำนาจจัดการการเลือกตั้งเป็นของ กกต. ส่วน สถ. มิได้มีอำนาจแต่อย่างใด การตั้งกองการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นส่วนราชการภายในของ สถ. หามีอำนาจหน้าที่ไม่ สถานะไปรษณีย์ผู้แจ้งข่าวก็ไม่ใช่ เพราะ กกต. สามารถแจ้งตรงต่อ ผวจ. ได้ เป็นไปได้ว่าตั้งกองการเลือกตั้งท้องถิ่นมาเพื่อหวังใน “การประชุมอบรมชี้แจงการเลือกตั้งท้องถิ่น” เพราะสามารถใช้งบประมาณของ อปท. ได้เต็ม ๆ

หัวข้อนี้ลงไว้เผื่อว่า สถ. จะได้ช่วยกันคิดวางแผนแก้ไข Timeline การเลือกตั้งท้องถิ่นได้บ้าง

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 67 ฉบับที่ 21 วันเสาร์ที่ 8 - วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563, บทความพิเศษ หน้า 9, "เลือกตั้งท้องถิ่นส่ออาการโรคเลื่อนเพราะการแบ่งเขต", สยามรัฐออนไลน์, 8 กุมภาพันธ์ 2563, https://siamrath.co.th/n/131240  

[2]ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 137 ก วันที่ 17 ธันวาคม 2562 หน้า 1-74, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/137/T_0001.PDF

[3]ข้อ 27 ก่อนวันครบวาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหกสิบวันหรือเมื่อมีกรณีที่ต้องมีการเลือกตั้งเพราะเหตุอื่นใดนอกจากครบวาระ

ให้หัวหน้าพนักงานส่วนท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น เป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้ระบุประเภทและชื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการเลือกตั้งนั้นและให้มีหน้าที่และอำนาจตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562

ในกรณีที่ปรากฏว่า หัวหน้าพนักงานส่วนท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับผู้สมัคร หรือมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่าอาจก่อให้เกิดความไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมในการเลือกตั้งหรือมีเหตุจำเป็นอื่นใด ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดตรวจสอบข้อเท็จจริงพร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อพิจารณาแต่งตั้งปลัดจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอ แล้วแต่กรณี เป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นแทน

[4]ข้อ 7 ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอร่างประกาศให้มีการเลือกตั้งตามแบบ ส.ถ./ผ.ถ. 1/1 ส.ถ./ผ.ถ. 1/2 หรือ ส.ถ./ผ.ถ. 1/3 แล้วแต่กรณี ต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด เมื่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดได้เห็นชอบ ตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 แล้วให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประกาศให้มีการเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสามสิบวัน

เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้จัดส่งสำเนาประกาศดังกล่าวไปให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด เพื่อรายงานคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยเร็ว

[5]ข้อ 12 เขตเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(1) การเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ให้ถือเขตเป็นเขตเลือกตั้ง ถ้าเขตใดมีจำนวนราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งเกินหนึ่งแสนห้าหมื่นคน

ให้แบ่งเขตนั้นออกเป็นเขตเลือกตั้งตามจำนวนสมาชิกสภากรุงเทพมหานครที่จะพึงมี โดยแต่ละเขตเลือกตั้งต้องมีจำนวนราษฎรใกล้เคียงกัน สำหรับจำนวนสมาชิกสภากรุงเทพมหานครที่จะพึงมีในแต่ละเขตให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร

(2) การเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ให้ถือเขตอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง

ในกรณีที่อำเภอใดมีสมาชิกได้เกินกว่าหนึ่งคน ให้แบ่งเขตอำเภอเป็นเขตเลือกตั้งเท่ากับจำนวนสมาชิกที่จะพึงมีในอำเภอนั้น และมีสมาชิกเขตเลือกตั้งละหนึ่งคน สำหรับจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่จะพึงมีในแต่ละอำเภอให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัด

(3) การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบล ให้แบ่งเขตเทศบาลเป็นสองเขตเลือกตั้ง การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลเมือง ให้แบ่งเขตเทศบาลเป็นสามเขตเลือกตั้ง การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครหรือการเลือกตั้งสมาชิกสภาเมืองพัทยา ให้แบ่งเขตเทศบาลหรือเขตเมืองพัทยาเป็นสี่เขตเลือกตั้ง ในการแบ่งเขตเลือกตั้งต้องมีจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลหรือสมาชิกสภาเมืองพัทยาเท่ากันทุกเขตเลือกตั้ง

(4) การเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ให้ถือเขตหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง เว้นแต่กฎหมายว่าด้วยสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

(5) การเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ให้ถือเขตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเป็นเขตเลือกตั้ง เว้นแต่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

[6]ข้อ 31 เมื่อมีกรณีที่ต้องมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้มีหน้าที่และอำนาจตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 โดยให้เป็นไปตามจำนวนและหลักเกณฑ์ ดังนี้

(1) กรุงเทพมหานคร และองค์การบริหารส่วนจังหวัด ให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวนห้าคน โดยแต่งตั้งจากข้าราชการและเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตจังหวัดที่เป็นเขตเลือกตั้ง หรืออาจแต่งตั้งจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีภูมิลำเนาในเขตจังหวัดนั้นซึ่งมิได้เป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ จำนวนไม่เกินสองคน โดยใช้ชื่อว่า “คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร” หรือ “คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ระบุชื่อจังหวัด)” แล้วแต่กรณี

(2) เทศบาล เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนตำบล ให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวนสามคน โดยแต่งตั้งจากข้าราชการและเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตอำเภอที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นตั้งอยู่ หรืออาจแต่งตั้งจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีภูมิลำเนาในเขตอำเภอนั้นซึ่งมิได้เป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ จำนวนไม่เกินสองคน โดยใช้ชื่อว่า “คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเทศบาล (ระบุประเภทและชื่อเทศบาล)” หรือ “คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเมืองพัทยา” หรือ “คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนตำบล (ระบุชื่อตำบล)” แล้วแต่กรณี

[7]ข้อ 32 กรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากจะมีคุณสมบัติตามข้อ 31 แล้ว ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบปีบริบูรณ์ในวันสมัครหรือวันที่ได้รับการทาบทาม

(3) มีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริต

[8]ข้อ 33 กรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(1) ติดยาเสพติดให้โทษ

(2) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช

(3) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่

(4) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

(5) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

(6) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ

(7) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง

(8) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ไม่ว่าจะได้รับโทษหรือไม่ได้รับโทษ โดยพ้นโทษหรือต้องคำพิพากษามายังไม่ถึงห้าปีนับถึงวันเลือกตั้งแล้วแต่กรณี

(9) เป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น หรือลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

[9]ดูระเบียบ กกต.ฯ ข้อ 29ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ้นจากหน้าที่เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้ง  

[10]ดู ระเบียบ กกต.ฯ บทเฉพาะกาล ข้อ 230ในการเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 และระเบียบนี้มีผลใช้บังคับ ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดประกาศกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครก่อนคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้ง ตามแบบ ส.ถ./ผ.ถ. 1/12

การคำนวณค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร ให้คำนวณค่าใช้จ่ายของผู้สมัครที่ใช้จ่ายไปตั้งแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้งจนถึงวันเลือกตั้ง

[11]ระเบียบกกต. ฯ ที่แก้ไขใหม่ ข้อ 13 วรรคสอง (ค)แก้ไขใหม่เป็น “(ค) ทุกรูปแบบต้องมีจำนวนราษฎรในเขตเลือกตั้งใกล้เคียงกันโดยผลต่างของจำนวนราษฎรระหว่างเขตเลือกตั้งไม่ควรเกินร้อยละสิบของอัตราค่าเฉลี่ยราษฎรหนึ่งเขต ยกเว้นการแบ่งเขตเลือกตั้งที่มีเหตุจำเป็นหรือมีข้อจำกัดต้องระบุเหตุผลโดยละเอียดไว้ด้วย เช่น ถูกจำกัดด้วยลักษณะภูมิประเทศ เป็นต้น”

ดู ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนที่ 9 ก วันที่ 30 มกราคม 2563 หน้า 17-18, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/009/T_0017.PDF

[12]ดู ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563, อ้างแล้ว, ข้อ 232ในการเตรียมการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นสำหรับการเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ การดำเนินการตามข้อ 13 วรรคสาม ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ในส่วนของผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ประกอบด้วยตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นประเภทละหนึ่งคน ดังนี้ ผู้แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้แทนเทศบาลนคร ผู้แทนเทศบาลเมือง ผู้แทนเทศบาลตำบล ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่น และในการประชุมของคณะกรรมการแบ่งเขตเลือกตั้งให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการแบ่งเขตเลือกตั้งมอบหมายตัวแทนเข้าร่วมประชุมชี้แจงให้ความเห็นและข้อเสนอแนะประกอบการพิจารณาแบ่งเขตเลือกตั้งด้วย

[13]ก่อนหน้านั้นมีข่าวลือว่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นในช่วงกลางเดือน กรกฎาคม 2563

ดู ท่านคิดว่า จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้นในเดือน กรกฎาคม 63 หรือไม่, 8 มกราคม 2563, https://www.matichon.co.th/matichon-poll/news_1871710

&  แกนนำ ขรก.ยันรัฐบาล – กกต. เคาะเลือกตั้งท้องถิ่นไร้ปัญหางบประมาณปี 63 ล่าช้า, 25 มกราคม 2563, https://www.matichon.co.th/politics/news_1917225

& ดู  ระเบียบ กกต.ฯ ข้อ 13ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดดำเนินการเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นและหลักเกณฑ์ตามข้อ 12 โดยพิจารณาจำนวนราษฎรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากประกาศจำนวนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งโดย…

[14]พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนที่ 93 ก วันที่ 13 กันยายน 2560 หน้า 1-31, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/093/1.PDF

มาตรา 28ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือการเลือกสมาชิกวุฒิสภาแต่ละครั้งให้คณะกรรมการจัดให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งขึ้น เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละจังหวัด ในระหว่างเวลาที่มีการดำเนินการเลือกตั้ง เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือกตั้ง และการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือการกระทำใดที่จะเป็นเหตุทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายแล้วรายงานให้คณะกรรมการหรือกรรมการทราบเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป ในกรณีที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งมีอำนาจแจ้งเตือนให้ปฏิบัติให้ถูกต้องได้ ถ้าไม่มีการดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องให้รายงานให้คณะกรรมการหรือกรรมการทราบโดยเร็ว ในการนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดมีหน้าที่สนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของผู้ตรวจการเลือกตั้งด้วย

คณะกรรมการจะมอบหมายให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่จะมอบอำนาจของคณะกรรมการหรือกรรมการที่มีตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมิได้

ระหว่างเวลาที่มีการดำเนินการเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง หมายความถึงเวลาตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งจนถึงวันที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งหรือภายหลังจากนั้นอีกไม่เกินหกสิบวันตามที่คณะกรรมการกำหนด

วิธีการรายงานตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งต้องกำหนดให้สามารถรายงานได้โดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติงานของผู้ตรวจการเลือกตั้งให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด

ในกรณีที่มีการเลือกตั้งเพิ่มเติมหรือการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง หรือมีการออกเสียงประชามติ หรือมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น คณะกรรมการจะสั่งให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งไปปฏิบัติหน้าที่ตามกำหนดเวลาที่เห็นสมควรก็ได้ แต่ในการแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามมาตรา 30

[15]ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยผู้ตรวจการเลือกตั้ง พ.ศ. 2561, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 29 ก วันที่ 26 เมษายน 2561 หน้า 34-48, ได้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการคัดเลือกและการแต่งตั้ง รวมถึงบทบาทหน้าที่ของผู้ตรวจการเลือกตั้ง, https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20180430155754.pdf 

ข้อ 8เพื่อประโยชน์ในการควบคุม กำกับ ดูแลการเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการคัดเลือกบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาในแต่ละจังหวัด จังหวัดละแปดคน เพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง

ข้อ 20เมื่อพ้นระยะเวลาตามข้อ 19 แล้ว ไม่ปรากฏว่าผู้ได้รับการคัดเลือกขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ได้รับการคัดเลือกนั้นเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง โดยให้จัดทำเป็นบัญชีรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งไว้

บัญชีรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้มีระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งแต่งตั้ง

กรณีไม่อาจแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาในจังหวัดใดให้ครบตามจำนวนตามข้อ 17 คณะกรรมการการเลือกตั้งจะไม่แต่งตั้งผู้มีภูมิลำเนาในจังหวัดนั้นเลยหรือจะแต่งตั้งน้อยกว่าที่กำหนดไว้ก็ได้ หรือจะแต่งตั้งผู้ที่ผ่านการคัดเลือกตามข้อ 17 จากจังหวัดอื่นแทนให้ครบจำนวนก็ได้

ข้อ 23ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือการเลือกสมาชิกวุฒิสภาเป็นการทั่วไปแต่ละครั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งจากบัญชีรายชื่อตามข้อ 20 เป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด

ข้อ 24ให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด จังหวัดละไม่น้อยกว่าห้าคนแต่ไม่เกินแปดคน ดังต่อไปนี้

(1) จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้งไม่เกินห้าเขตเลือกตั้ง ให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดห้าคน

(2) จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้งหกถึงแปดเขตเลือกตั้ง ให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดหกคน

(3) จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้งเก้าถึงสิบเอ็ดเขตเลือกตั้ง ให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดเจ็ดคน

(4) จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้งตั้งแต่สิบสองเขตเลือกตั้งขึ้นไป ให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดแปดคน

ข้อ 26ในการจับสลากเพื่อแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด ให้เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือผู้ที่เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมายเตรียมการจับสลากโดยจัดให้มีสลาก ซึ่งปรากฏชื่อ นามสกุล จังหวัด จากบัญชีรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งใส่ในภาชนะแยกเป็นรายจังหวัดแล้วจัดภาชนะเป็นกลุ่มจังหวัด ตามบัญชีแนบท้าย (มี 10 กลุ่มจังหวัด)

[16]เปิดผลวิจัยเลือกตั้ง 24 มี.ค.62 ปัญหาระบบ”จัดสรรปันส่วนผสม”, 27 กันยายน 2562, https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/848791

หมายเลขบันทึก: 674954เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2020 14:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2020 11:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท