คัน ‘มือ’ คันไม้


(ภาพวาดผนังถ้ำรูปมือ อายุหลายหมื่นปี ที่อาจเก่าแก่ที่สุดในโลก ประเทศอินโดนีเซีย ปรับปรุงจาก tnews.co.th)

‘มือ’ (hand) เป็นอวัยวะส่วนที่อยู่ปลายสุดของท่อนแขน มีความสำคัญอันดับต้นๆ โดยเฉพาะต่อลำดับวิวัฒนาการของเหล่าฝูงมนุษย์ นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน งานศิลปะในยุคดึกดำบรรพ์แรกเริ่มที่เรียกว่า ‘ศิลปะถ้ำ’ ทั้งหลาย มักปรากฏรูป ‘มือ’ ปะปนอยู่ด้วยเสมอๆ เป็นอวัยวะที่แยกตัวออกจาก ‘ตีน’ ส่วนที่อยู่ปลายสุดของท่อนขาอย่างชัดเจนยิ่ง

คนไทยลุ่มเจ้าพระยาเรียกมือว่า ‘มือ’ แบบคำพื้นฐานชนิดไทยแท้ เพราะใช้กันอย่างคล้ายคลึงกว้างขวางในหมู่ผู้คนที่พูดภาษาไท-กะได หรือขร้า-ไท อ้างอิงจาก “Austronesian Basic Vocabulary Database” ค.ศ. 2008 เช่น

คำสืบสร้างไท-ไตโบราณ (Proto-Tai) ว่า *mwɯ: A /มวือ/

คำสืบสร้างกัม-สุยโบราณ (Proto-Kam-Sui) ว่า *k-mja1-t /-มยะ-/

คำสืบสร้างหลี/ไหลโบราณ (Proto-Hlai) ว่า *C-mɯ: /-มือ/ (Norquest ค.ศ. 2007)

คำสืบสร้างขร้าโบราณ (Proto-Kra) ว่า *mja A /มยะ/

ซึ่งอาจารย์ ดร.วีระ โอสถาภิรัตน์ (ค.ศ. 2018) ได้สืบสร้างคำไท-กะไดดั้งเดิมแบบสองพยางค์ไว้ว่า *(C)imɤː /-อิเมอ/ (C เสียงพยัญชนะ)

โดยธรรมชาติ สังเกตว่า ‘มือ’ มีลักษณะยื่นยาว ประกอบด้วยสองส่วนหลักคือ ส่วนฐานแผ่แบตัว ที่เรียกว่า ‘ฝ่ามือ’ และส่วนยื่นแยกออกไปจากฐาน ที่เรียกว่า ‘นิ้วมือ’ จำนวนห้านิ้ว เพื่อใช้สำหรับจับยึดสิ่งต่างๆ สอดคล้องกับคำนิยามของพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คัดยกมาท่อนหนึ่งความว่า

“(๑) น. อวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายอยู่ต่อจากปลายแขนประกอบด้วยฝ่ามือและนิ้วมือ สำหรับจับเป็นต้น, เรียกสิ่งหรืออุปกรณ์บางชนิดที่มีรูปร่างอย่างมือและใช้จับแทนมือได้ เช่น มือกล มือหุ่นยนต์

(๒) น. เรียกผู้ร่วมเล่นการพนันบางอย่างหรือแชร์เป็นต้น ว่า มือ เช่น คนหนึ่งจะเล่นกี่มือก็ได้

(๓) น. หนวดของไม้เลื้อยบางชนิดใช้เกาะสิ่งอื่นอย่างมือ เช่น มือตำลึง มือบวบ

(๔) น. ลักษณนามบอกจำนวนนับ ๕ ลูก เป็น ๑ มือ (ใช้ในเวลานับผลไม้บางชนิด เช่น มะปราง มังคุด เงาะ).”

เมื่อเทียบกับคำเรียก ‘มือ’ ของตระกูลภาษาอื่นๆ ที่อยู่ในแถบย่านนี้ พบว่าคำสืบสร้างไท-กะไดดั้งเดิม *(C)imɤː มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง เช่น

คำสืบสร้างออสโตรเอเชียติกดั้งเดิม (Proto-Austroasiatic) ว่า *tiːʔ /ตีะ/

คำสืบสร้างม้ง-เมียนดั้งเดิม (Proto-Hmong-Mien) ว่า *-bɔuX /-บอุฃ/

คำสืบสร้างจีนโบราณ (Old Chinese) ว่า *n̥uʔ ออกเสียงไม่ก้องคล้าย /นุะ/

คำสืบสร้างทิเบต-พม่า (Proto-Tibeto-Burman) ว่า *l(y)ak /ลั(ย)ก/

ยกเว้น อย่างชนิดน่าสนใจ กับคำเรียกดั้งเดิมของพวกออสโตรนีเซียน (Proto-Austronesian) ที่สืบสร้างว่า *(qa)lima ออกเสียงคล้าย /(คา)ลีมา/ (Blust ค.ศ. 1999) ซึ่งได้ถูกนักสืบประวัติทางภาษาบางท่าน ทำการเปรียบเทียบแสดงความพัวพันทางเชื้อสายต่อกันไว้ เช่น อาจารย์ ดร.วีระ โอสถาภิรัตน์ ในบทความชื่อ “Austro-Tai revisited” ปี ค.ศ. 2013 หรือศาสตราจารย์ Roger Blench ในบทความชื่อ “Tai-Kadai and Austronesian are related at multiple levels and their archaeological interpretation” ปี ค.ศ. 2018 เป็นต้น    

และคำเรียก ‘มือ’ *(qa)lima อันเป็นที่รวมกันของเพรียวนิ้วทั้งห้า ยังถูกใช้เรียกร่วมกับจำนวนนับ ‘5’ *lima อีกด้วย ซึ่งศาสตราจารย์ Robert A. Blust ถือว่า *qa- เป็นอุปสรรคที่ถูกเติมเข้าไปข้างหน้าอย่างไม่รู้ที่มาที่ไป คัดจาก “The Austronesian Comparative Dictionary” ค.ศ. 2010 มาบางส่วนความว่า

“This form is puzzling, as it is clearly derived from *lima ‘five’, but *qa- is not a known affix. A number of other languages reflect *lima as both ‘five’ and ‘hand’, in the latter meaning presumably by reduction of the longer form. In other cases the two senses are distinguished by stress, as in Bontok limá ‘five’ : líma ‘hand and arm’,”

ถอดความ: รูปคำนี้น่าฉงน เพราะชัดเจนว่ามาจากคำว่า *lima ในความหมายของจำนวนนับ ‘ห้า’ เว้นแต่ *qa ไม่ได้เป็นหน่วยเติมที่รู้จัก บางภาษาใช้ *lima ทั้งในแง่ของ ‘ห้า’ และ ‘มือ’ หรือในบางพวกใช้การเน้นเสียงบนตำแหน่งพยางค์ที่ต่างกันเพื่อระบุความหมาย เช่น Buntok ถ้าเน้นเสียงพยางค์หลังจะหมายถึง ‘ห้า’ ถ้าเน้นที่พยางค์หน้าจะหมายถึง ‘มือและแขน’ เป็นต้น

คำเรียก ‘มือ’ ที่ควรเกี่ยวพันร่วมเชื้อ ระหว่างไท-กะได *(C)imɤː และออสโตรนีเซียน *(qa)lima นำมาสู่ความสงสัยใคร่รู้ถึงรากเหง้าความเป็นมา เป็นอย่างมาก

ในความเห็นของผม ตัวบ่งชี้ไขข้อข้องใจสำคัญน่าจะอยู่ที่พยางค์ *(C)i- และ *li- ซึ่ง ณ ปัจจุบันขณะตีความว่า ตั้งต้นจากรากคำ *li ผู้อยู่ในกลุ่มเดียวกับรากคำ *ri และ *Ri อันเป็นกลุ่มรากคำพยางค์เดียวเก่าแก่ ที่มีความหมายนามธรรมเหมือนกันว่า ‘บางสิ่งปริผลิคลี่เผยตัวออกมาจากการปกปิดปกคลุมไว้’ เขียนเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า ‘to sprout, to expose’ ตรงกับรากคำ *li บิดเกลียว, เบี่ยงเลี้ยว, ลม, หมุนเวียน (to twist, turn, wind, whirling) ของ E.M. Kempler Cohen (ค.ศ. 1999) ซึ่งสามารถพบเจอกลุ่มรากคำนี้ แฝงฝังตัวอยู่ในคำต่างๆ ของทั้งออสโตรนีเซียนและไท-กะได

ที่พิเศษคือ คำจำนวนมากของออสโตรนีเซียนสามารถสืบสาวขึ้นไปถึงชั้นดั้งเดิม (Proto-Austronesian) อันเป็นหนึ่งในหลักฐานชั้นดีสนับสนุนว่า รากคำพยางค์เดียวเป็นได้ทั้งคำประเภท *CV (C เสียงพยัญชนะ, V เสียงสระ ไม่มีตัวสะกดปิดท้าย) และ *CVC (แบบมีตัวสะกดปิดท้าย) และยังพบรากคำนี้ได้ในคำทั่วไปของพวกฟอร์โมซาน ไม่ได้จำกัดแต่เพียงคำของพวกมาเลย์-อินโดนีเซีย-ฟิลิปปินส์เท่านั้น

อย่างในคำออสโตรนีเซียนดั้งเดิม เช่น *aRi /อารี/ ตรงรี่เข้ามา, *baRija /บารียา/ ไม้ขัดด้ายพุ่งยาว, *diRi /ดีรี/ ยืนขึ้น, *duRi /ดูรี/ หนาม, เดือย, ก้าง, *kaRi /การี/ คำพูดคำกล่าว, *kuRi /กูรี/ ซี่ฟันของคราด, *lidam /ลีดัม/ ลิ้นยื่น, *likaC /ลีกัตซ/ ฟ้าผ่าเปรี้ยง, *lipen /ลีเปน/ แถวของฟัน, *liqeR /ลีเคอร/ คอตั้ง, *Rinu /รีนู/ กระด้งสานฝัดข้าวเปลือก, *suli /ซูลี/ ดึงกลับลงมา และ *waRi /วารี/ วัน หรือตะวัน

และคำไท-กะไดที่พบการเรียกใช้อย่างกว้างขวาง เช่น

คำว่า ตะ ‘วัน’ (sun/day): คำโบราณของหลี/ไหลว่า *hŋwən /ฮเงวิน/ (Norquest), *awan A /อะวัน/ (Ostapirat), ข้า/ขร้าว่า *(h)wən A /(ฮ)เวิน/, ลักกยาว่า *wan A2 /วัน/, กัม-สุยว่า *hŋwan 1 /หงวัน/ และไท-ไตว่า *ŋwan A /งวัน/ เทียบได้โดยตรงกับคำออสโตรนีเซียนดั้งเดิมว่า *waRi บนความหมายนามธรรมว่า ‘ผู้ปริเผยตัวโผล่พ้นออกมาจากความมืดมิดที่ห่อหุ้มรายล้อมรอบ และสาดแสงอันอบอุ่นแผ่ไพศาลไปทั่วทั้งผืนโลกแห่งเมืองลุ่ม’

คำว่า ‘รี’ ยาว (long): คำโบราณของลักกยาว่า *rai A /รัย/, กัม-สุยว่า *ʔra:i 3 /อร้าย/, ข้า/ขร้าว่า *ri C /ริ้/ และไท-ไตว่า *rɯj A /รึย/

คำว่า ข้าว ‘สาร’ (husked rice): คำโบราณของข้า/ขร้าว่า *sal A /สัล/และไท-ไตว่า *sa:l A /สาล/ เทียบกับคำออสโตรนีเซียนดั้งเดิมว่า *suli /ซูลี/ ดึงกลับลงมา หรือคำมาลาโย-โพลีนีเซียนสาขาตะวันตกโบราณว่า *seli /เซอลี/ หน่ออ่อน 

(ยังอาจ) กินความจนถึงคำว่า กระ ‘ดูก’ (bone): คำโบราณของหลี/ไหลว่า *Cuɾɯ:k /-ลืก/ (Norquest); *urɨ:k /อุรืก/ (Ostapirat), กัม-สุยว่า *tla:k 7 /ตลาก/, ข้า/ขร้าว่า *dək D /เดิก/ และไท-ไตว่า *C̥.duk D /-ดุก/ เทียบกับคำออสโตรนีเซียนดั้งเดิมว่า  *duRi /ดูรี/ หนาม, เดือย, ก้าง 

และคำว่า ‘ปลี’ กล้วย (banana blossom): คำไท-ไตโบราณว่า *pli: A /ปลี/

รวมไปถึงคำไทยลุ่มเจ้าพระยา เช่น ‘กรี’ แหลมบนหัวกุ้ง, ‘คลี่’ คลายตัว, ‘ปริ’ แตกแยก, ‘ปรี่’ ล้นทะลัก, ‘ผลิ’ ใบหน่ออ่อน, ‘ริ’ เริ่มบางสิ่ง, ‘รี่’ เข้ามา, ‘หรี่’ สายตา, ‘สี’ ฝัดข้าว เป็นต้น

(ดูเรื่อง ‘‘ทุเรียน’, ‘durian –ดุริอัน’ และสิ่งยาว ‘รี’’, ‘ข้าว ‘สาร’ กับการตำขัดสี’ และ ‘รากเหง้าเงา ‘ตะวัน’’ ประกอบ)

บนนัยยะเชิงนี้ เมื่อนำรากคำ *li มาใช้กับ *qa- บางทีอาจเป็นที่มาของ ‘อุปสรรค’ หน่วยเติมหน้าคำเก่าแก่ชนิดสองพยางค์ว่า *qali- (หรือแม้แต่ *kali-) แม้ว่าทางหนึ่ง มักแสดงนัยยะที่เกี่ยวข้องกับโลกของจิตวิญญาณ หากในอีกทางหนึ่ง กลับแสดงอาการของบางสิ่งคลี่เปิดเผยตัวให้เห็น และเมื่อใช้ร่วมกับ *ma เป็น *lima ก็ปรากฏกิ่งก้านนิ้วทั้งห้าสาขา ปริโผล่ยื่นยาวออกมาจากฝ่ามือ แล้วในทางมุมกลับยังหมายถึง การรวมตัวของนิ้วเรียวยาวทั้งห้า ชนิดพร้อมเพรียงเข้าเป็นหนึ่งกำปั้น

ดังนั้น ด้วยการสืบสาวตีความจากรากคำพยางค์เดียว *li ข้างต้น คำเรียก ‘มือ’ ของไท-กะไดและออสโตรนีเซียน จึงไม่ใช่สิ่งใดที่แปลกแปร่ง ว่าไปในครั้งบรรพกาลคือ การเรียกขานอวัยวะส่วนปลายสุดของท่อนแขน ตามลักษณะทางธรรมชาติ ทั้งในฐานะของเพรียวนิ้วที่แตกกิ่งยื่นยาวออกไปจากฝ่ามือ และในฐานะของจำนวนนับขั้นพื้นฐาน ‘ห้า’ นั้นกระมัง

จึงขอเสนอเป็นข้อสังเกต แบบคัน ‘มือ’ คันไม้ เพื่อการถกเถียงไว้ในที่นี้

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช

จันทบุรี 30 มกราคม พ.ศ. 2563  

อ้างอิง

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. พ.ศ. 2554. พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสภา. (www.royin.go.th)

Blench Roger. 2018. Tai-Kadai and Austronesian are related at multiple levels and their archaeological interpretation (Draft circulated for comment). (academia.edu)

Blust, Robert A. and Trussel, Stephen. 2010: revision 2019. Austronesian Comparative Dictionary. (www.trussel2.com)

Cohen, E. M. Kempler. 1999. Fundaments of Austronesian roots and etymology. Canberra: Pacific Linguistics, Research School of Pacific and Asian Studies, Australian National University. (www.en.wiktionary.org)

Greenhill, S.J., Blust. R, & Gray, R.D. 2008. The Austronesian Basic Vocabulary Database: From Bioinformatics to Lexomics. Evolutionary Bioinformatics 4: 271-283. (www.language.psy.auckland.ac.nz)

Ostapirat, Weera. 2000. Proto-Kra. In Linguistics of the Tibeto-Burman Area, vol. 23. no. 1: 1-251. (www.sealang.net)

Ostapirat, Weera. 2013. Austro-Tai revisited. The 23rd Annual Meeting of the Southeast Asian Linguistics Society, May 29-31, Chulalongkorn University, Bangkok. (www.jseals.org/seals23)

Pittayaporn, Pittayawat. 2009. The Phonology of Proto-Tai. In Partial Fulfillment of the Requirements for the Degree of Doctor of Philosophy, Faculty of the Graduate School of Cornell University. (www.ecommons.cornell.edu)

หมายเลขบันทึก: 674873เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2020 06:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2020 14:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท