ชีวิตที่พอเพียง 3618. ฤดูกาลงานมูลนิธิ



งานมูลนิธิเป็นงานภาคประชาสังคม เป็นการทำงานสาธารณะโดยภาคประชาชนรวมตัวกันจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลทำงานเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง    โดยไม่ยุ่งกับการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องอำนาจ    สมัยก่อนสิบยี่สิบปีมาแล้วคนมักคิดว่าการทำงานมูลนิธิเป็นการทำงานอาสาสมัคร ไม่มีรายได้ใดๆ    ซึ่งมีทั้งส่วนที่จริงและไม่จริง

ส่วนที่จริงคือ กรรมการมูลนิธิไม่มีเงินเดือน    ไม่มีค่าตอบแทน มีแต่ค่าเบี้ยประชุมครั้งละ ๑ - ๓ พันบาท    แต่หากเป็นมูลนิธิของบริษัทเอกชนอาจให้มากกว่านั้น    ส่วนที่ไม่จริงคือ เจ้าหน้าที่มูลนิธิมีเงินเดือน ในระดับเท่าๆ หรือมากกว่าเงินเดือนราชการนิดหน่อย แต่สวัสดิการได้น้อยกว่า   

ในสหรัฐอเมริกา President ของมูลนิธิ ได้เงินเดือนเท่าๆ ซีอีโอของบริษัท    ผมเคยได้ยินว่า President ของบางมูลนิธิได้เงินเดือนมากกว่าอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเสียอีก    นั่นในอเมริกานะครับ    โดย President ของมูลนิธิทำงานบริหาร และทำเต็มเวลา    ส่วนในประเทศไทย ประธานมูลนิธิไม่ใช่เจ้าหน้าที่ประจำ    ตัวหัวหน้าเจ้าหน้าที่ประจำคือผู้จัดการมูลนิธิ   

ช่วงก่อนและหลังปีใหม่ ผมมีการประชุม ๔ มูลนิธิ    คือ มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPF)    มูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAF)    และมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์    สามแห่งนี้ผมเป็นประธาน     กับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ซึ่ง นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็นประธาน  ผมเป็นรองประธาน    เป็นกิจการเพื่อการพัฒนาประเทศที่ก่อผลกระทบสูงมาก แม้เป็นกิจการเล็กๆ ทั้ง ๔ มูลนิธิ    ที่กิจการใหญ่ที่สุดในสี่มูลนิธิคือ IHPF  มีกิจการราวๆ ปีละหนึ่งร้อยล้านบาท   

มูลนิธิเหล่านี้ ทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ    โดยสร้างข้อมูลหลักฐาน (evidence) ขึ้นมาใช้อ้างอิง     จึงย่อมมีองค์กรหรือหน่วยงานที่เสียประโยชน์    และใช้กโลบายขึ้นมาบ่อนทำลาย     การทำประโยชน์แก่ส่วนรวม จึงไม่ใช่ว่าจะราบรื่นเสมอไป     แต่ความมุ่งมั่นอดทน ทำงานตรงไปตรงมาตามหลักวิชาการ จะเป็น “เกราะบังศาสตร์พ้อง”    วิดีทัศน์นี้   และ วีดิทัศน์นี้ เป็นตัวอย่างคำอธิบายคุณค่าผลงานของ HITAF แก่คนระดับชาวบ้านทั่วไป     

ในฐานะประธานและกรรมการมูลนิธิ ไม่ใช่ฝ่ายจัดการ ไม่ได้ดำเนินการ    แต่เป็นฝ่ายกำกับดูแล (governance)    ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของสังคม  มาดูแลว่าองค์กรนี้ทำหน้าที่ก่อประโยชน์ต่อบ้านเมืองจริง    ไม่ทำอะไรนอกเหนือจากที่ได้จดทะเบียนไว้    และช่วยให้คำแนะนำฝ่ายจัดการและดำเนินงานให้ทำงานได้ผลดี    ให้ฟันฝ่าความยากลำบากไปได้    ซึ่งความยากลำบากก็มาจากสารพัดเรื่อง    แล้วแต่มูลนิธิ    เรื่องที่ต้องระมัดระวังมากคือเรื่องการเงิน    ที่จะไม่รั่วไหล  และไม่ขาดแคลน   

ที่สำคัญอีกเรื่องคือเรื่องคน    เพราะมูลนิธิทั้ง ๔ เป็นมูลนิธิทางวิชาการ  ทำงานวิชาการเพื่อสังคม    ต้องการคนเก่งและดีมาทำงาน    จึงต้องเลี้ยงให้ดีพอสมควร อย่างน้อยก็ดีกว่าราชการหน่อยหนึ่ง    แต่จะให้สูงแบบธุรกิจเอกชนนั้นทำไม่ได้    เราจึงสูญเสียคนเก่งให้เอกชนไปบ้าง แต่ไม่มาก    นอกจากเลี้ยงดีแล้ว ก็ต้องฝึกคนใหม่ๆ ขึ้นมาทำงานทดแทนคนเก่า หรือเพิ่มคนขึ้น    สองมูลนิธิแรกมีกลไกสร้างนักวิจัยระดับปริญญาเอก โท ที่น่าสนใจมาก    โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ และภายในประเทศ     

เนื่องจากมูลนิธิทั้งสี่เป็นมูลนิธิที่ทำงานวิชาการ    ดังนั้นงบประมาณส่วนที่เป็นค่าตอบแทนบุคลากรจึงสูงมาก     ตกราวๆ ครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายทั้งหมด    กรรมการมูลนิธิต้องคอยเตือนว่า ในการตั้งงบประมาณรายจ่ายปีหน้า  ต้องระวังอย่าตั้งงบเงินเดือนเกินร้อยละ ๕๐ ของประมาณการรายจ่าย     เพราะจะทำให้ภาระการเงินด้านบุคลากรค่อยๆ สูงขึ้น    ซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงด้านความยั่งยืนมั่นคงด้านการเงิน   

อีกประเด็นหนึ่งที่ภาคประชาสังคมมักอ่อนแอ  คือด้านการจัดการ     ระบบการจัดการมักสับสนบทบาทและความรับผิดชอบ    รวมทั้งการจัดการการเงิน และการบัญชี     มัวแต่ตั้งหน้าตั้งตาทำงานวิชาการ     คนแก่อย่างผมที่โชกโชนด้านการจัดการเหล่านี้    จึงมีประโยชน์ในการเข้าไปทำหน้าที่ บอร์ด ให้คำแนะนำ    และกำกับดูแล      

วิจารณ์ พานิช    

๒ ม.ค. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 674771เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2020 16:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มกราคม 2020 16:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท