ภูมิหลังสงครามยิว - อาหรับทั้ง 4 ครั้งฉากหลังในซีรีส์ Spy (2019 Netflix Original)


[บทความภาพยนตร์] ภูมิหลังสงครามยิว - อาหรับทั้ง 4 ครั้งฉากหลังในซีรีส์ Spy (2019 Netflix Original)

โดย วาทิน ศานติ์ สันติ (28/12/2562)

Spy (2019) Netflix Original จัดว่าเป็นซีรีย์แนวสายลับ การจรกรรมข้อมูลทางการทหารและการต่างประเทศ ที่ใช้เรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์รวมถึงบุคคลจริงที่มีอยู่จริงในหน้าประวัติศาสตร์มาเล่าได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งอยู่ในช่วงระหว่างสงครามครั้งใหญ่ยิว- อาหรับ ครั้งที่ 2 ปี 1956 ถึง ครั้งที่ 3 ปี 1967 หนังสนุกอย่างเหลือเชื่อ เป็น Mini Series ที่มีเพียง 6 ตอน ซึ่งได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์เป็นอย่างท่วมท้น หาชมได้ใน Netflix

#บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์

Spy ว่าด้วยเรื่องราวของ เอลี โคห์เอน สุดยอดสายลับ จากหน่วยข่าวกรองที่ขึ้นชื่อว่ามีประสิทธิภาพยอดเยี่ยมที่สุดในโลก คือ มอสสาด ของอิสราเอล เขาคือหนึ่งในสุดยอดสายลับที่เก่งกาจที่สุดของโลกคนหนึ่ง ในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษที่ 1960 เขาสามารถแทรกซึมเข้าไปในซีเรีย โดยมีโฉมหน้าเป็นนักธุรกิจข้ามชาติ เป็นคนที่มีความเฉลียวฉลาดหลักแหลม พูดได้หลายภาษา มีความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำทหารหลายคน และกลายเป็นคนสนิทของ อามิน อัลฮาเฟซ ผู้นำคณะรัฐประหารปี 1963 จนได้รับการเสนอชื่อเป็นรองรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของซีเรีย แต่ถูกจับได้ซะก่อน

เขาสามารถส่งข่าวให้กับทางอิสราเอลได้หลายครั้ง มีส่วนในการยับยั้งเหตุการณ์ร้ายหลายครั้ง เขาเป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้อิสราเอล ได้รับรู้จุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของซีเรีย โดยเฉพาะบริเวณที่ราบสูงโกลัน แต่ด้วยความทะเยอทะยาน ความมั่นใจในตัวเองมากเกินไป ทุกครั้งที่เขาส่งข่าวถึงอิสราเอล เขาส่งในห้องพักของตัวเอง จนท้ายที่สุดทางการซีเรียจับได้

โคห์เอนถูกจับขึ้นศาลทหาร พิจารณาคดีกินเวลา 40 วัน เหนื่อยก็หาโจรกรรมจำข้อมูลสำคัญของชาติ เขาถูกซ้อมทรมานสาหัด และถูกตัดสินให้ประหารชีวิตด้วยการแขวนคอที่จตุรัสมาร์เจะห์ ดามัสกัส ในปี 1965 ประชาชนซีเรียนับหมื่นมาดูการประหารครั้งนี้ด้วยความโกรธแค้นชิงชัง แต่ในขณะเดียวกันเขาคือวีรบุรุษของชาวยิว

หลังจากถูกแขวนคอ ร่างของเขาก็ถูกแขวนประจาน ทิ้งไว้เป็นเวลา 6 ชั่วโมง ซีรียไม่เคยส่งร่างเขากลับมายังอิสราเอลจนถึงปัจจุบัน หลังจากนั้น 2 ปีในปี 1967 อิสราเอลทำสงครามกับชาวอาหรับ เรียกสงครามครั้งนี้ว่าสงคราม 6 วัน อิสราเอลสามารถยึดที่ราบสูงโกลันได้ อันเป็นผลมาจากการข่าวของ โคห์เอน นั่นเอง

และแม้ในปัจจุบันเหตุการณ์จะผ่านไปมากกว่า 50 ปีแล้ว ก็ยังมีชาวอิสราเอลหลายคนได้ทวงคืนร่างของโคห์เอน ให้กลับมายังอิสราเอล แต่ทางซีเรียก็ไม่เคยตอบรับเลย

เนื่องจากภาพยนตร์ซีรีส์เรื่องนี้ได้เล่าเรื่องเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ หากใครติดตามข่าวสารเหตุการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของของยิวและอาหรับ ที่อยู่ในช่วงเวลาของเหตุการณ์ที่ไหนเล่านั้น คงต้องทราบว่าความสัมพันธ์ของกลุ่มชาติติพันธ์ทั้งสองนั้น จะได้ว่าเป็นแบบคนละขั้วเลยทีเดียว

Spy เป็นซีรี่ส์สืบสวนสอบสวนเนื้อหาเข้มข้นเล่าเรื่องราวของวงการสายลับอิสราเอลที่อยู่ในช่วงสงครามยิวอาหรับ ในช่วงทศวรรษที่ 1960s เอาไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งทำให้เราเห็นว่าเพราะเหตุใดชาติยิวจึงสามารถรอดพ้นจากการโจมตีของชาติอาหรับได้หลายต่อหลายครั้ง ทำให้เห็นถึงความทุ่มเทขององค์กรสายลับมอสสาดว่ามีประสิทธิภาพมากมายเพียงใด มีความชุ่มเทเพียงใด มีการใช้เงินทุนและทรัพยากรมีคุณค่าเพื่อให้ได้ข้อมูลข่าวสาร ประโยชน์ต่อการป้องกันประเทศมากเพียงใด

ดังนั้นในบทความนี้จึงขอเล่าถึง ภูมิหลังของสงครามยิว- อาหรับ (Arab–Israeli Conflict) ทั้ง 4 ครั้งใหญ่ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เป็นภาพสะท้อนแสดงถึงความขัดแย้งทางด้านเชื้อชาติ ศาสนาและพื้นที่ ที่สำคัญที่สุดในเหตุการณ์โลกในยุคปัจจุบันนี้ได้อย่างไร

ปัญหาอิสราเอล – ปาเลสไตน์มีมาอย่างยาวนานมีสาเหตุที่สำคัญคือ

#ความเชื่อดั่งเดิมของชาวยิว

ชาวยิวเชื่อว่า ดินแดนคานาอัน หรือ ปาเลสไตน์ เป็นดินแดนแห่งพันธสัญญาที่พระเจ้าประธานให้แก่ชาวยิวตามคำภีร์พันธสัญญาเดิม ชาวยิวเมื่อครั้งก่อนได้กระจัดพัดพรายไปตามดินแดนต่าง ๆ ทั่ว ดินแดนอาหรับ ยุโรป เนื่องจากเหตุการณ์ เช่น ชาวยิวถูกกวาดต้อนเข้าไปเป็นทาสในอียิปต์ เดินทางไปค้าขายในยุโรปและตั้งหลักแหล่งอยู่ในประเทศนั้น ๆ การเป็นผู้ที่มีความสามารถทางด้านค้าขาย การเงิน การคลัง ทำให้ชาวยิวเป็นเจ้าหนี้ในหลาย ๆ ประเทศ แม้กระทั้งกษัตริย์เช่นสเปน ยิวได้เก็บดอกเบี้ยราคาแพง เอาเปรียบลูกหนี้มากมาย เมื่อลูกหนี้ไม่มีเงินใช้จึงเกิดการขับไล้กวาดล้างชาวยิวในที่ต่าง ๆ ผนวกกับการที่ประเทศลูกหนี้นับถือศาสนาคริสต์ทำให้ยิวถูกต่อต้านในสเปน โปรตุเกส ซึ่งเป็นกลุ่มในประเทศคริสตจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น ยิวบางกลุ่มยอมเปลี่ยนศาสนาเพื่อความอยู่รอด บางกลุ่มที่เคร่งครัดได้หลบหนีไปยังประเทศต่าง ๆ

แต่เหตุการณ์ที่สำคัญ ที่กลายเป็นบ่อเกิดแห่งความขัดแย้งระหว่างชาติ ศาสนาและพื้นที่ คือ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939 – 1945) ดินแดนปาเลสไตน์ซึ่งเป็นของอังกฤษ มีชาวอาหรับเข้ามาอาศัยอยู่มาก (อพยพเข้ามาภายหลัง) ชาวยิวในยุโรปได้หลบหนีสงครามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กลับมาในดินแดนแห่งนี้ อันเนื่องมาจากความเชื่อเดิมตามพันธสัญญาของพระเจ้า และต้องการพึ่งใบบุญอังกฤษ สร้างความไม่พอใจให้กับชาวอาหรับที่อาศัยอยู่ เกิดการปะทะกันบ่อยครั้ง อังกฤษไม่สามารถควบคุมได้

#การจัดตั้งรัฐยิว

เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษมอบปาเลสไตน์ให้กับองค์การสหประชาชาติดูแล องค์การสหประชาติ (อเมริกาซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่) มีมติแบ่งดินแดนปาเลสไตน์เป็น 2 รัฐ คือ รัฐยิวและรัฐอาหรับ ส่วนนครศักดิ์สิทธิ์เยลูซาเลมให้อยู่ในภาวะทรัสตี (United Nations Trust Territories)

ฝ่ายยิวยอมรับมติดังกล่าว แต่ฝ่ายอาหรับไม่ยอมรับเพราะเห็นว่าสหประชาชาติตัดสินไม่ยุติธรรม โดยให้เหตุผลทางประวัติศาสตร์ว่า พวกตนเคยทำสงครามเพื่อดินแดนของพระมูฮัมหมัดนี้ในศตวรรษที่ 7 เช่นกัน จึงอ้างสิทธิในการครอบครองดินแดน ส่วนฝ่ายยิวอ้างว่า ตนเคยครองครองดินแดนแห่งนี้ในสมัยกษัตริย์เดวิท (ผู้รวบรวมชนชาติยิวตามคัมภีร์เดิม) จึงมีสิทธิในการครอบครองดินแดน ความขัดแย้งที่กล่าวมากลายเป็นชนวนสงครามที่ยาวนานนับครั้งใหญ่ได้ 4 ครั้ง และครั้งย่อยอีกมากมายสืบมาจนถึงปัจจุบัน จึงเป็น สาเหตุปัจจุบันที่ทำให้เกิดความขัอแย้งขั้นรุนแรงคือ การก่อตั้งรัฐยิวนั่นเอง

#สงครามยิวอาหรับ

สงครามยิว-อาหรับ ครั้งที่ 1 ปี 1948

วันที่ 14 พ.ย. 1948 ยิวประกาศความเป็นชาติโดยจัดตั้งรัฐอิสราเอล สร้างความไม่พอใจให้กับชาวอาหรับ อีก 2 วัน ต่อมา วันที่ 16 พ.ย. 1948 กองทัพอาหรับ 6 ประเทศ ได้แก่ อียิปต์ (ผู้นำ) ซีเรีย เลบานอน จอร์แดน อิรักและซาอุดิอารเบียเข้าโจมตีอิสราเอล สงครามครั้งนี้อิสราเอลเป็นฝ่ายชนะ ยึดดินแดนได้มากกว่าที่สหประชาชาติกำหนดให้ และถือว่าเป็นสงครามเพื่ออิสรภาพของชาวยิว แต่ฝ่ายอาหรับก็สามารถยึดกรุงเยรูซาเลมฝั่งตะวันตกและเขตเวสแบงค์ได้

สงครามยิว-อาหรับ ครั้งที่ 2 ปี 1956

อิสราเอลเป็นฝ่ายโจมตีอียิปต์ เพราะอียิปต์ได้เสริมกำลังเพื่อล้มล้างอิสราเอลอย่างเพียงพอ อีกทั้งยังยึดคลองสุเอชแต่เพียงผู้เดียว สงครามครั้งนี้อังกฤษและฝรั่งเศสเข้าแทรกแซงเพราะไม่พอใจที่อียิปต์ยึดครองคลองสุเอส และยังสร้างความวุ่นวายต่อไปอีกคือ รัสเซียยื่นคำขาดต้องการให้อังกฤษกับฝรั่งเศสถอนตัว ซึ่งเอมริกาเห็นด้วยกับรัสเซีย เรียกสงครามครั้งนี้ว่า “วิกฤตการณ์คลองสุเอส” ผลคือ อิสราเอล อังกฤษ ฝรั่งเศสถอนตัวออกจากดินแดนอียิปต์ อิสราเอลได้ผลประโยชน์คือ สิทธิในการใช้น่านน้ำอากาบาดังเดิม และได้รับความคุ้มครองในฉนวนกาซ่าจากกองกำลังสหประชาชาติ

สงครามยิว-อาหรับ ครั้งที่ 3 ปี 1967

อียิปต์ปิดอ่าวอากาบา ห้ามไม่ให้เรือสินค้าของอิสราเอลผ่าน สร้างความเสียหายให้กับเศราฐกิจอิสราเอล อียิปเรียกต์ร้องให้กองกำลังสหประชาติถอนกำลังจากฉนวนกาซ่าและพรมแดนระหว่างอียิปต์กับอิสราเอล เมื่อกองกำลังสหประชาชาติถอนตัว กองทัพอียิปต์เคลื่อนพลเข้ามาแทนที่เข้ายึดฉนวนกาซา สงครามจึงเกิดขึ้นในวันที่ 5 มิถุนายน 1967 สงครามกินเวลาเพียง 6 วัน ครั้งนี้อิสราเอลยึดดินแดนอาหรับได้มากมาย เช่น ฉนวนกาซา คาบสมุทรไซนาย ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนหรือเขตเวสต์แบงก์ทั้งหมด และยึดเยรูซาเลมกลับมาได้ อีกทั้งยังยึดที่ราบสูงโกลันของซีเรียได้อีกด้วย ทำให้ดินแดนของอิสราเอลขยายตัวออกไปถึง 4 เท่า นับว่าเป็นความสูญเสียมากที่สุดของชาติอาหรับ เรียกสงครามครั้งนี้ว่า “สงคราม 6 วัน”

สงครามยิว-อาหรับ ครั้งที่ 4 ปี 1973

ฝ่ายอาหรับเริ่มบุกใน “วันยมคิปเปอร์” ซึ่งเป็นวันหยุดงานของชาวยิว ฝ่ายอาหรับนำโดยอียิปต์รุกข้ามคลองสุเอซ ขณะที่ซีเรียบุกทางเหนือ การบุกอย่างราวเร็วแบบศึกสองด้านนี้เพราะ การได้เปรียบบนโต๊ะประชุมที่มีการเจรจากันก่อนหน้านี้, กลัวอิสราเอลจะเริ่มสงครามก่อนเพราะต้องแก้แค้นที่ถูกโจมตีครั้งใหญ่ถึง 3 ครั้ง ต้องการได้ดินแดนที่เสียไปคืนมาอย่างรวดเร็ว ชาติอาหรับต้องการล้างอายในสงครามครั้งที่ผ่าน ๆ มา ในครั้งแรกอิสราเอลเป็นฝ่ายถอย แต่ก็สามารถตีโต้อาหรับกลับไปทั้งสองด้าน และยังสามารถยึดฝั่งตะวันออกของคลองสุเอซไว้ได้อีก

สงครามครั้งนี้เกิดความวุ่นวายไปทั่วโลก อเมริกาเข้าช่วยฝ่ายอิสราเอล รัสเซียเข้าช่วยอาหรับ อาหรับใช้น้ำมันเป็นเครื่องต่อรอง เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันไปทั่วโลก การปะทะกันเป็นไปอย่างรุนแรงจนจะกลายเป็นสงครามนิวเคียร์ สหประชาติส่งทหารเข้ามาระงับเหตุ ทั้งสองฝ่ายจึงลงนามหยุดยิง

#ผลกระทบของสงครามที่มีผลต่อนานาประเทศ

ความเสียหายทางเศรษฐกิจ สงครามทั้ง 4 ครั้งทำลายทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมาก ผู้คนขาดที่อยู่อาศัย เศรษฐกิจของอิสราเอลและอียิปต์ตกต่ำ โดยเฉพาะอียิปต์สูญเสียรายได้จากการเก็บค่าผ่านคลองสุเอส และต้องเสียงบประมาณจำนวนมากในการซ่อมแซมคลองสุเอส

ความแตกแยกภายในกลุ่มประเทศอาหรับ เมื่อสงครามสงบลง อียิปต์ทำตามข้อตกลงที่แคมป์เดวิด กลุ่มประเทศต่าง ๆ ที่เป็นพันธมิตรกับอียิปต์ มองว่าอียิปต์เป็นผู้ทรยศ จนนำไปสู้การลอบสังหารประธานาธิบดีซาดัสของอียิปต์ ในปี ค.ศ. 1982 กลุ่มประเทศอาหรับเกิดการแตกแยก ไม่ยอมทำตามผู้นำโลกอาหรับเช่นอียิต์เหมือนเช่นเคย

เพิ่มการเป็นศตรุและความเกลียดชังให้กับชาวยิวและชาวอาหรับ การที่ชาวยิวยึดดินแดนของชาวอาหรับได้จำนวนมาก และการปฏิบัติอย่างโหดร้านทารุณต่อชาวอาหรับในดินแดนดังกล่าว ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

Spy หากดูแบบไม่เจาะลึกแบบจับผิดเกินไปนัก ผมว่าทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์นั้นค่อนข้างสมจริงสมจัง ไม่ว่าจะเป็นด้านเนื้อหา ข้อเท็จจริง อุปกรณ์ ข้าวของเครื่องใช้ เครื่องแต่งกาย รถยนต์ สิ่งของประดับฉาก การสร้างร้านร่วงห้างสรรพสินค้า ค่อนข้างทำได้ดีมาก

นอกจากนี้ยังสอดแทรกบุคคลสำคัญของโลกตะวันออกกลางและผู้ก่อการร้าย ที่เรารู้จักกันดีเช่น mohammad Bin laden, Osama bin Laden อดีตผู้ก่อการร้ายอันดับ 1 ของโลกในยุคปัจจุบัน และ Yasser Arafat ผู้นำคนสำคัญของปาเลสไตน์ศตรูคนสำคัญของอิสราเอลในช่วงเวลาต่อมา เรียกได้ว่าเป็นการอ้างอิงถึงบุคคลสำคัญของโลก ที่คาบเกี่ยวตั้งแต่ช่วงเวลาของหนังมาจนถึงในยุคปัจจุบัน ให้คนดูได้ตื่นเต้นเล่น ๆ ให้หายคิดถึง

ใครที่ชอบ ซีรี่ส์แนวสืบสวนสอบสวนแนวสายลับที่ใช้อุปกรณ์สายลับทันสมัย ใครที่ชอบประวัติศาสตร์ สงครามยิว-อาหรับ ชอบความสมจริงสมจัง ชอบความรุนระทึกและสะเทือนอารมณ์ แนะนำให้ชมซีรีย์ Spy เรื่องนี้เลยครับ

วาทิน ศานติ์ สันติ

บทความเรื่องเรียนจากการเรียนการสอน จากภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

เอกสารประกอบการเขียน

นันทนา เตชะวณิชย์. (2561). ประวัติศาสตร์ตะวันออกกลาง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

น้ำเงิน บุญเปี่ยม. (2558). โลกร่วมสมัย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง,

อรพินท์ ปานนาค.(2558).ประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาในคริสต์ศตวรรษที่ 20. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง,

#MovieStationReview #สถานีหนัง #ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ #ภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริง #ซีรีย์แนวสายลับ #ซีรีย์จากNetflix #OriginalNetflix #Spy #สงครามยิวอาหรับ #ArabIsraeliConflict

หมายเลขบันทึก: 674070เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2019 06:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2020 16:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท