บันทึกจากการประชุม Creativity and Critical Thinking ที่ลอนดอน ๑๐. พัฒนาระบบโดยใช้ข้อมูลหลักฐาน



บันทึกชุด บันทึกจากการประชุม Creativity and Critical Thinking ที่ลอนดอน นี้    เป็นการสะท้อนคิดของผม จากการไปร่วมประชุม Creativity and Critical Thinking Skills in School : Moving the Agenda Forward. An international conference organised by the OECD Centre for Educational Research and Innovation (CERI)   24-25 September 2019 - London, UK.   Nesta HQ - 58 Victoria Embankment, EC4Y 0DS (๑) โดยไปกับทีม กสศ.   มี ดร. ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. เป็นหัวหน้าทีม  

รายการก่อนรายการสุดท้าย ของวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๒ เป็น plenary เรื่อง Nudging the system towards improvement    มีวิทยากร ๒ ท่านจาก สหรัฐอเมริกา และ สหราชอาณาจักร    โดยคณะผู้จัดการประชุมระบุว่า session นี้ มีเป้าหมายทำความเข้าใจวิธีการทำให้ครูเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ถูกต้อง    วิธีสร้างข้อมูลหลักฐานที่น่าเชื่อถือสำหรับใช้สื่อสารกับครูและครูใหญ่   วิธีสร้างชุมชนเรียนรู้ในหมู่ครู   มีแนวทางจัดระบบสนับสนุนแบบใหม่ๆ แก่โรงเรียนและแก่ครูอย่างไรบ้าง    จะขยายผลนวัตกรรม หรือ best practice เล็กๆ สู่การดำเนินการในระบบใหญ่ได้อย่างไร   จะเชื่อมโยงเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปการศึกษาได้อย่างไร

ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า ชื่อหัวข้อนี้ใช้คำว่า “nudging the system”   คำว่า nudge แปลเป็นไทยว่า ดุน หรือ รุน    มีหนังสือชื่อ Nudge : Improving Decision About Health, Wealth and Happiness   เขียนโดย Richard H. Thaler & Cass R. Sunstein   บอกว่ามีวิธีการง่ายๆ ที่ช่วยส่งเสริมหรือสนับสนุนให้คนเราตัดสินใจถูกต้อง    ผมเห็นหัวข้อ “nudging the system” ผมก็เดาว่า เป้าหมายของการ nudge คือผู้บริหาร เพราะเป็นผู้ตัดสินใจเชิงนโยบาย    แต่ผมเดาผิด    สาระใน session นี้พุ่งเป้าการ nudge ไปที่โรงเรียน ครู และครูใหญ่    คือเน้นที่ฝ่ายปฏิบัติการ   ในกระบวนทัศน์ของฝรั่ง ตัวละครสำคัญที่สุดของระบบคือฝ่ายปฏิบัติการ ไม่ใช่ฝ่ายนโยบาย

ผมตีความว่า (ไม่ทราบว่าตีความถูกหรือผิด) วงการศึกษาในประเทศตะวันตก เน้นจัดการการเปลี่ยนแปลงโดยไม่เน้นการใช้อำนาจ    แต่เน้นข้อมูลหลักฐานและความรู้    ไม่เน้นการสั่งการจากเบื้องบน    แต่เน้นการริเริ่มสร้างสรรค์ในภาคปฏิบัติการ    เป็นแนวทางที่พวกเราคนไทยไม่คุ้นเคย เพราะเราอยู่ในสังคมอำนาจจนเคยชิน   

สหรัฐอเมริกา             

ศาสตราจารย์ Barbara Schneider, Michigan State University, USA   เสนอว่า ต้องมีการแทรกแซง (intervention) ระบบการศึกษา เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง   ภายใต้เป้าหมายที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม   และมีวิธีวัดผลสำเร็จ    โดยที่ต้องการข้อมูลหลักฐานว่า วิธีการแทรกแซงแบบไหนให้ผลดี แบบไหนไม่ได้ผล (ดูรูปที่ ๑ และ ๒)    ซึ่งในปัจจุบันมีเทคนิควิธีการที่ชัดเจน และแสดงในรูปที่ ๒    เป้าหมายคือเพื่อเพิ่มความผูกพัน  (engagement) กับการเรียน    และสร้างสภาพแวดล้อมที่ต้องการ   

ท่านเล่า โปรแกรม PIRE (Partnership for International Research and Education) (2)   ที่สนับสนุนทุนโดย National Science Foundation (NSF) ของสหรัฐอเมริกา (รูปที่ ๓)    ซึ่งเอ่ยถึง 3D Learning ด้วย    ผมจึงค้นความหมายของคำนี้มาให้แก่ตนเองและแก่ท่านผู้อ่าน    ว่ามีเว็บไซต์ที่บอกว่า หมายถึงรูปแบบการเรียนรู้แบบ e-learning ที่ใช้ VR – Virtual Reality ช่วยให้ได้เผชิญสถานการณ์เสมือนจริง (๓)     แต่ในเว็บไซต์ Next Generation Science Standards (4) บอกว่า 3-Dimensional Learning  หมายถึงสามมิติของการเรียน คือ การปฏิบัติ (practice),  หลักการที่ใช้ได้ในทุกวิชา (crosscutting concepts),  และ หลักการเฉพาะวิชา (disciplinary core ideas)    ผมเข้าใจว่าศาสตราจารย์บาร์บาร่า หมายถึงอย่างหลังมากกว่า  

ฟังดูแล้ว โครงการ PIRE ของสหรัฐอเมริกา ก็เป็นโครงการนานาชาติ    และมีเป้าหมายและวิธีการคล้ายกับโครงการ CCT ของ OECD   แต่ PIRE เน้นด้าน STEM  

โครงการส่วนที่ ศ. บาร์บาร่า ดำเนินการ ทดลองในรัฐมิชิแกนและแคลิฟอร์เนีย    ในนักเรียนจำนวนถึง ๘ พันคน   ครู ๑๓๐   ใน ๑๐ โรงเรียน    เน้นการผูกพัน (engage) นักเรียนเข้ากับสภาพแวดล้อมทางวิทยาศาสตร์    เป็น project-based learning  และ phenomenon-based learning    สภาพแวดล้อมที่เขาใช้สร้างความท้าทายให้นักเรียนอยู่ในรูปที่ ๔    ทำงานวิจัยแบบ cluster randomized trial    ในลักษณะของ efficacy study   หวังนำความรู้ที่ได้ไปขยายผล    มีรายละเอียดในรูปที่ ๔ – ๖   นักเรียนที่เข้าโครงการมี ๒ กลุ่ม คือกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม    มีการจัดวัสดุและกระบวนการช่วยการเรียนรู้ตามที่ระบุในรูปที่ ๖   มีการดำเนินการในวิชาเคมีและวิชาฟิสิกส์ วิชาละ ๓ หน่วย แก่นักเรียนมัธยมปลาย   ตามด้วยการประเมินโดยใช้ rubrics   และใช้ constructive response assessment    ได้รับ ๓๕,๐๐๐ constructive response   เป็นข้อมูลนำมาดำเนินการใช้ AI, machine learning เพื่อสร้างโมเดลการเรียนรู้ใหม่ที่ก้าวหน้ากว่าเดิม    และนำไปสู่วิธีการประเมินเพื่อพัฒนา (formative assessment)  และการประเมินผล (summative evaluation) ที่เหมาะสมกว่าเดิม    

เป้าหมายหลัก คือหาทางจัดการเรียนการสอนที่ดีขึ้นกว่าเดิม ตามที่แสดงในรูปที่ ๗    เน้นใช้ project-based learning (รูปที่ ๘)   และเมื่อเอ่ยถึงความผูกพัน  (engagement) ของนักเรียน    เขาคำนึงถึง การเรียนรู้ในมิติด้านสังคมและอารมณ์ (socio-emotional learning - SEL)   ซึ่งเขามุ่งทำวิจัยหาวิธีวัด   ดังแสดงในรูปที่ ๙ และ ๑๐    ผมประทับใจที่เขามีข้อกำหนดให้ครูทำและไม่ทำในชั้นเรียนแบบ PBL   แล้วเก็บข้อมูลนำมาวิเคราะห์การตอบสนองและผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน    โดยมีการถามนักเรียนว่าปัจจัยใดช่วยการเรียนรู้ ปัจจัยใดขัดขวาง PBL และ SEL   การเก็บข้อมูลจากนักเรียนใช้ App ในโทรศัพท์มือถือ โดย Google ร่วมพัฒนา       

โดยอาศัยเครื่องมือ ไอที ดังกล่าว    สามารถเก็บข้อมูลของนักเรียน และของครูได้เป็นรายคน   รวมทั้งข้อมูลปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับครู    เอามาวิเคราะห์สังเคราะห์ตอบคำถามปัจจัยที่สนับสนุนหรือขัดขวางการเรียนรู้ PBL และ SEL ได้ในมิติที่ลึก และในแต่ละขั้นตอนของกิจกรรม    รวมทั้งช่วยการทำความเข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่าง SEL กับ PBL  

ในโครงการ มีการจัด PLC (Professional Learning Community) เพื่อเรียนรู้ PBL และ 3-Dimensional Learning  ดังแสดงในรูปที่ ๑๑   เนื่องจากในสหรัฐอเมริกา ครูที่สอนวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งไม่ได้เรียนมาด้านวิทยาศาสตร์    เขาจึงเน้นช่วยเหลือครูด้านเนื้อหาวิชา (content knowledge)   ด้านปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ (scientific practice)  และด้านการใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection)   เน้นให้ครูร่วมมือกันในกลุ่มครู  และร่วมมือกับทีมวิจัยและพัฒนา    มีการจัดประชุมกลุ่มย่อย    ประชุมวิชาการ   และมีระบบ hotline ตอบคำถามแก่ครู   

ประเด็นสำคัญที่สุดของโครงการคือ วิธีการที่ครูจะนำไปใช้ในห้องเรียน ครูต้องมีส่วนในการพัฒนาและทดลองใช้    ท่านฉายรูปครูทดลองใส่โซเดี้ยมลงในน้ำ ให้ที่ประชุมดูด้วย    ให้เห็นว่า ทุกการทดลองของนักเรียน ครูต้องเคยทำด้วยตนเองมาก่อน    และในห้องเรียนครูต้องมีทีมงาน ซึ่งอาจเป็นเพื่อนครูด้วยกันเอง    ท่านบอกว่าวิธีการที่ท่านนำมาเสนอนี้เป็นเรื่องใหม่เอี่ยมในสหรัฐอเมริกา    และไม่เคยนำเสนอในที่ประชุมใดมาก่อน    ท่านบอกว่า ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็ก และผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็ก    ทำให้ท่านมีความตื่นเต้นและความสุขอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อนในชีวิตการทำงานวิจัยการศึกษา   

รายละเอียดของผลลัพธ์ของโครงการอยู่ในรูปที่ ๑๒    สิ่งที่ท่านย้ำคือ นักเรียนมีจินตนาการมากขึ้น    มีเจตคติที่ดีต่อความท้าทาย   มีนักเรียนเรียนต่อสายวิทยาศาสตร์มากขึ้น   เป็นผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อน    รวมทั้งครูผูกพันกับปฏิบัติการวิทยาศาสตร์มากขึ้น   

ท่านเล่าว่าตอนเริ่มโครงการ ทั้งครูและนักเรียนไม่ศรัทธา    แต่ตอนนี้ผลที่เกิดคือ transformation ในทุกคนที่เกี่ยวข้อง   โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดการพัฒนา Socio-emotional Skills ในครูและนักเรียน    และในกลุ่มครู ๑๓๐ คนที่เข้าร่วมโครงการ ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่ขอออกจากโครงการ 

ในตอนตอบคำถาม จึงได้ข้อมูลว่า โครงการของ ศ. บาร์บาร่า ทำในนักเรียน ๒ กลุ่ม คือ ชั้น ป. ๓   กับชั้นมัธยมปลาย    โดยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากแหล่งทุน    เข้าใจว่าครูที่เข้าร่วมโครงการก็ได้รับเงินตอบแทนด้วย    จึงเกิดคำถามเรื่องความยั่งยืนเมื่อนักวิจัยถอนตัวออกมาแล้ว    ศ. บาร์บาร่า ตอบว่า ครูบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เมื่อคุ้นเคยกับวิธีการใหม่และเห็นผลดีที่เกิดแก่ศิษย์แล้ว ไม่มีทางที่ตนจะย้อนกลับไปสอนแบบเดิม   

สหราชอาณาจักร

Robbie Coleman, Education Endowment Foundation (EEF), England (5)    พูดเรื่อง Impact Evaluation    เริ่มด้วยการแนะนำ EEF ว่าจัดตั้งขึ้นในปี 2011  เพื่อปิดช่องโหว่สองประการของวงการศึกษาของสหราชอาณาจักร    ประการแรกคือ การจัดการศึกษาแก่เด็กที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ    ประการที่สอง การจัดสารสนเทศสนับสนุนการตัดสินใจของครู ครูใหญ่ และผู้กำหนดนโยบาย ในการตัดสินใจเรื่องยากๆ    โปรดสังเกตนะครับ ว่าวงการศึกษาของเขาคาดหวังให้ครูมีอำนาจและทักษะในการตัดสินใจเองด้วย    ไม่ใช่เอาแต่รอรับคำสั่ง    และการปฏิรูปการศึกษาเน้นการจัดระบบสนับสนุนให้ครูตัดสินใจได้ดี    งานของ EEF จึงกว้างกว่าการพัฒนา CCT  

ประเด็นแรกที่เสนอคือการจัดระบบ เพื่อสร้างข้อมูลหลักฐานคุณภาพสูง  ซึ่งต้องดำเนินการแบบสั่งสม   และประเด็นที่สองคือ วิธีการใช้สารสนเทศที่พัฒนาขึ้นในการ nudge ระบบ   เขาบอกว่า การ nudge ทำง่ายมาก เมื่อมีข้อมูลหลักฐาน    หัวใจอยู่ที่การปรับให้เข้ากับบริบทที่เขาเรียกว่า contextualization    

ในช่วง ๘ ปีที่ผ่านมา EEF เน้นการให้ข้อมูลที่ได้จากการทำงาน แก่วงการศึกษา และแก่สาธารณชนผ่านเว็บไซต์ (5)    ซึ่งเมื่อผมเข้าไปดู ก็พบว่ามีข้อมูลความรู้และวิธีการที่มีคุณภาพสูง        

เขาเล่าโครงการของ EEF ที่เริ่มปี 2011   มีการให้ทุนริเริ่มพัฒนาการเรียนรู้ในโรงเรียน ๑๙๐ โครงการ ในแคว้น England    แต่ละโครงการที่ได้รับการสนับสนุน มีโครงการประเมินที่เป็นอิสระจากโครงการควบคู่ไปด้วย     ส่วนใหญ่ของโครงการมีส่วนที่เป็น RCT (Randomised Controlled Trial) อยู่ด้วย    มีโครงการที่ดำเนินการร่วมกับสถาบันอื่น เช่น ร่วมกับ Royal Society of the Arts ๕ โครงการ   ทดลองวิธีการ co-creator learning ในกรณีนี้เน้นที่ CCT  

โครงการที่ร่วมกับ Young Journalist Academy เพื่อยกระดับทักษะการเขียนของนักเรียนระดับ ป. ๕  อายุ ๙ ปี      ส่งเสริมให้เด็กใช้สื่อที่หลากหลาย เช่น multimedia, podcast, video, จัดทำหนังสือพิมพ์   ส่งเสริมให้เขียนอย่างสร้างสรรค์   ในช่วงแรกเน้น intervention   ปัจจุบันหันมาเน้น efficacy trial   ทดลองใน ๑๐๐ โรงเรียน โดย randomize โรงเรียนทั่ว England   เป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม เพื่อประเมินผลลัพธ์ทักษะด้านการเขียนของนักเรียน    ดูความมั่นใจในการเขียนของตัวนักเรียน (self-efficacy)   และดูระดับไอเดีย (ideation outcome) และความสร้างสรรค์ในการเขียน     รวมทั้งดูผลต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ในภาพรวม   ที่ครูและผู้บริหารการศึกษาต้องรับผิดรับชอบ    โครงการนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ จะสิ้นสุดและมีรายงานออกมาในปี 2020    โครงการนี้น่าสนใจตรงที่คาดหวังผลลัพธ์หลายด้าน    รวมทั้งน่าสนใจวิธีการดำเนินการแบบ RCT   รวมทั้งได้ประเมินความกระตือรือร้นของครูและผู้บริหารการศึกษาในการเข้าร่วมโครงการ   

ปัจจุบันครึ่งหนึ่งของโรงเรียนใน England ที่มี ๑๒,๐๐๐ โรงเรียน เข้าร่วมโครงการกับ EEF   สะท้อนว่า คนในวงการศึกษาของอังกฤษมีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาตนเอง    ต้องการหาวิธีการที่ใช้ได้ผล   

มีประเด็นที่ต้องคิดต่อสองประเด็นคือ 

  1. 1. การให้ครูและผู้บริหารการศึกษามีส่วนในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล ทำเป็น evidence   และการมีส่วนร่วมในการจัดทำข้อเสนอแนะวิธีใช้ evidence นั้น    ซึ่งเป็นไปตามหลักการให้ผู้ปฏิบัติร่วมตั้งโจทย์  และร่วมสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อตอบโจทย์    ซึ่งจะช่วยพัฒนาครูให้มีศักยภาพในการกำกับตนเอง    เชื่อมโยงกับการใช้เครื่องมือ nudging  ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้เกี่ยวข้องในระบบการศึกษาแบบเดียวกับที่ National Institute of Healthcare Excellence (NICE) (๖) ใช้ nudging ในการเปลี่ยนพฤติกรรมคนด้านสุขภาพ (๗)
  2. 2. การร่วมมือกับโรงเรียนในการใช้ evidence ที่พัฒนาได้  ในบริบทที่แตกต่างหลากหลาย    ได้จัดตั้ง Research School Network ทั่ว England   เวลานี้มีโรงเรียนสมาชิก ๔๐ โรงเรียน ตั้งแต่ระดับ nursery  ไปจนถึงระดับมัธยมปลาย    โรงเรียนเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นโรงเรียนแกนนำ (beacon school)   โดย EEF จะจัดกิจกรรมสนับสนุน  โดยจัดฝึกอบรม  จัด course ให้ครูและผู้บริหารการศึกษาเรียน   เพื่อนำ evidence into practice   สิ่งที่พบในการจัดเครือข่ายนี้คือ ทุกโรงเรียนที่สมัครเข้าเป็นสมาชิก นำเอาความรู้และประสบการณ์ดีๆ เข้ามาเสริม    หลักการสำคัญที่เขาต้องการทดสอบคือ ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของระบบ โดยใช้ข้อมูลหลักฐาน ครูและผู้บริหารการศึกษาทำได้ดีกว่านักวิชาการ    โดยที่บทบาทของนักวิชาการก็มีความสำคัญ    แต่ควรเป็นปัจจัยเสริมเท่านั้น ไม่ใช่ปัจจัยหลัก    ที่คิดว่าครูน่าจะทำได้ดีกว่าก็เพราะครูเข้าใจบริบท (context) ของตนดีกว่า     ประเด็นที่สองนี้ เป็นเรื่องของความร่วมมือระหว่าง practitioner กับ researcher ในการใช้ผลงานวิจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ     โดยที่ practitioners เป็นฝ่ายนำ    researchers เป็นฝ่ายหนุน

จากเรื่องราวที่ Robbie Coleman เล่า    เห็นชัดเจนว่าวงการศึกษาในอังกฤษ    มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยการ empower ครู    ให้ครูสร้างข้อมูลหลักฐานเป็น สำหรับใช้ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงวิถีปฏิบัติของครู    และหนุนให้ครูแสดงบทบาทเป็น change agent ในระบบการศึกษา    เป็นยุทธศาสตร์สร้างการเปลี่ยนแปลงแบบ bottom-up    และในช่วงตอบคำถาม ศ. บาร์บาร่า ก็ย้ำเช่นเดียวกันว่า งานวิจัยของท่านมุ่งพัฒนาระบบ    ไม่ใช่มุ่งพัฒนาเทคนิค

 ผมตื่นเต้นมากที่ได้ยินว่า เขาเลียนแบบ NICE ในการนำเอา HITA (Health Intervention and Technology Assessment) เป็นเครื่องมือสร้าง evidence สำหรับใช้ประกอบการตัดสินใจใช้หรือไม่ใช้เทคโนโลยีหรือวิธีบำบัด (โรค) นั้นๆ    เอามาปรับใช้ในวงการศีกษา    สำหรับสร้าง evidence ประกอบการตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีหรือวิธีจัดการเรียนรู้    ปรับสู่ EITA (Education Intervention and Technology Assessment – ชื่อที่ผมตั้งเอง)    แต่วิธีใช้ evidence แตกต่างกัน    ซึ่งผมจะไม่ขยายความในที่นี้  

ศ. บาร์บาร่า เอ่ยถึง Institute of Education Sciences ในช่วงถามตอบ    ทำให้ผมได้กลับมาค้นทำความรู้จักหน่วยงานนี้ของสหรัฐอเมริกา (๘) 

ในช่วงถามตอบ เห็นได้ชัดว่ากิจกรรมตามที่เสนอใน session นี้ ไม่มีวันจบ    เป็นกิจกรรมที่ต้องทำคู่ขนานไปกับการจัดระบบการศึกษา    มิฉะนั้นระบบก็จะล้าหลังตกยุค  

วิจารณ์ พานิช

๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๒ 


       

1

2

3

4

5

6

7

8 PBL

9 Measuring SEL

10 How We Measure SEL

11 PLC

12 Result

13 Speakers

หมายเลขบันทึก: 673052เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2019 17:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2019 17:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท