ใบไม้ร่วงที่เสิ่นหยาง (4) รอยอดีตที่พระราชวังกู้กงเสิ่นหยาง


 

เสิ่นหยางเป็นเมืองเอกขนาดใหญ่ที่สุดแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการเมือง เศรษฐกิจ การคมนาคมของมณฑลเหลียวหนิง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนักและการแปรรูปวัตถุดิบล้วนตั้งอยู่ในเสิ่นหยาง ในปีค.ศ. 2006 เสิ่นหยางได้เป็นเจ้าภาพงานแสดงพฤกษานานาชาติ นอกจากนี้ยังร่วมมือกับปักกิ่งเป็นหนึ่งในเจ้าภาพร่วมโอลิมปิก จัดการแข่งขันฟุตบอลสนามย่อยในมหกรรมโอลิมปิก 2008 อีกด้วย

เสิ่นหยางเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 2,000 ปี ตามตำนานเล่าว่าเมืองใหญ่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือแห่งนี้เคยเป็นเมืองหลวงมาก่อน ซึ่งต่อมาหัวหน้าเผ่าแมนจูได้ยกกองทัพเข้าโจมตีปักกิ่ง โค่นล้มราชวงศ์หมิง สถาปนาราชวงศ์ชิง และย้ายเมืองหลวงจากเสิ่นหยางไปยังกรุงปักกิ่ง

ปัจจุบันเมืองเก่าเสิ่นหยางยังคงมีร่องรอยของวัฒนธรรมโบราณหลงเหลืออยู่ โดยมีสถานที่ที่มีชื่อเสียงได้แก่ พระราชวังกู้กงเสิ่นหยาง ซึ่งที่นี่มีประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมที่ควรค่าไม่น้อยกว่าพระราชวังกู้กงในปักกิ่ง อาคารสองฝั่งถนนโดยรอบพระราชวังกู้กงเสิ่นหยางเป็นสถาปัตยกรรมแบบราชวงศ์ชิงที่ได้รับการอนุรักษ์เอาไว้เป็นอย่างดี ถนนแห่งนี้ได้รับการขนานนามว่า "ถนนโบราณหม่านชิง" "ถนนราชวงศ์ชิง" หรือ "ถนนแมนจู"

   พระราชวังกู้กงเสิ่นหยางเป็นพระราชวังแห่งแรกของราชวงศ์ชิง สร้างขึ้นระหว่าง ค ศ. 1625 - 1936 ประกอบด้วยตำหนักใหญ่น้อยกว่า 300 ห้อง บนพื้นที่กว่า 60,000 ตารางเมตร ใช้เป็นที่ประทับของนู๋เออฮาซื่อ ผู้นำชนเผ่าแมนจู ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ชิง ต่อมาเมื่อเข้ายึดครองกรุงปักกิ่งจากราชวงศ์หมิงได้จึงย้ายไปประทับที่พระราชวังกู้กงในปักกิ่งแทน ส่วนพระราชวังกู้กงเสิ่นหยางใช้เป็นที่ประทับชั่วคราวเมื่อมาตรวจราชการ

ตำหนักบางหลังในพระราชวังกู้กงเสิ่นหยางยังคงจัดแสดงการใช้งานในสมัยโบราณ มีเครื่องใช้ต่างๆ จัดแสดงให้ชม ตำหนักบางหลังได้ดัดแปลงเป็นห้องนิทรรศการแสดงเครื่องใช้ เครื่องประดับต่างๆ ตลอดจนภาพวาดสถานที่ต่างๆ ในเมืองจีน

พระราชวังกู้กงเสิ่นหยางได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี ถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่งดงามและยังคงความสมบูรณ์ของการก่อสร้างเป็นอย่างดี

หมายเลขบันทึก: 671496เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2019 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ธันวาคม 2021 17:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท