ปฏิจจสมุปบาท


อิมัสมิง สะติ อิทังโหติ
เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี
อิมัสสุปปาทา อิทัง อุปปัชชะติ
เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร
เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป
เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะมีชาติเป็นปัจจัย จึงมี ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสและอุปายาสะ
ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้
อิมัสมิง อะสะติ อิทัง นะ โหติ
เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี
อิมัสสะนิโรธา อิทังนิรุชฌะติ
เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป
ก็เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือแห่งอวิชชา
จึงมีความดับแห่งสังขาร
เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ
เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป
เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ
เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ
เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา
เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา
เพราะมีคงามดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน
เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ
เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ
เพราะมีความดับแห่งชาติ
ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส และอุปายาสะทั้งหลายจึงดับสิ้น
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้

จากหนังสือตถาคตภาษิต วัดสองพี่น้องพระอารามหลวง



อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิด สังขาร ได้อย่างไร?
อวิชชาคือ ความไม่รู้ ในอริยสัจ ๔
สังขาร คือ ความคิด นึก การปรุงแต่งด้วยส่วนประกอบของจิต(เจตสิก)ทั้งที่เป็นกุศล เช่น ศรัทธา ละอาย เกรงกลัวต่อบาป ความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง และที่เป็นอกุศล เช่น ทิฏฐิ มานะ อิจฉา ตระหนี่ โลภ โกรธ หลง เป็นต้น
เมื่อมีอวิชชา คือความไม่รู้ ความโง่เขลา อยู่ในจิต จึงคิด นึก ปรุงแต่งจิตไป ให้เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง คิด นึก ปรุงแต่งจิตอย่างไรก็ทำกรรมไปตามนั้นทั้งดี ทั้งชั่ว ซึ่งทำให้มีผลกรรม(วิบาก)ตามมา



สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ได้อย่างไร
สังขาร คือการคิด นึกปรุงแต่งจิตให้เป็นกุศลหรืออกุศล แล้วทำให้เราทำกรรมดีหรือชั่ว ลงไปทำให้เกิดผลกรรม(วิบาก) เมื่อคนถึงแก่ความตาย
วิญญาณ (หมายถึงจิตที่ทำหน้าที่เกิดใหม่ในภพ ภูมิใหม่ เรียกว่าปฏิสนธิวิญญาณ) ก็จะเกิดตามมาในภพภูมิใหม่ ด้วยอำนาจแห่งผลกรรมดีหรือชั่วที่เกิดจากสังขารปรุงแต่งไว้นั่นเอง



วิญญาณ เป็น ปัจจัยให้เกิดนามรูป อย่างไร
วิญญาณ คือจิตที่ทำหน้าที่เกิดใหม่ในภพภูมิใหม่(ปฏิสนธิวิญญาณ) เมื่อคนถึงแก่ความตาย วิญญาณนั้นก็จะเกิดในภพภูมิใหม่ทันที ด้วยอำนาจแห่งผลกรรมดีกรรมชั่ว หากเกิดเป็นคน นามรูป จะเกิดในครรภ์มารดาทันที
นามรูป คืออะไร
นามคือ ธรรมชาติที่น้อมไปสู่อารมณ์ ได้แก่ การรู้คิด นึก และการทำหน้าที่ของจิตเกี่ยวกับ เวทนา( คือความรู้สึกสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ )สัญญา (คือความจำได้ หมายรู้ สี แสง เสียง กลิ่น รส สัมผัส เรื่องราว ประสบการณ์ เป็นต้น)สังขาร(ความคิด นึก ปรุงแต่งจิต) วิญญาณ(อันนี้หมายถึงธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ตาเห็นรูป เกิดการรับรู้ทางตาเรียกจักขุวิญญาณ หูได้ยินเสียง เกิดการรับรู้ทางหูเรียกโสตวิญญาณ เป็นต้น เป็นคนละอย่างกับปฏิสนธิวิญญาณ ที่เป็นจิตที่ทำหน้าที่เกิดในภพภูมิใหม่)
รูป คือ ส่วนที่เป็นร่างกายของคนเรา ประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟมารวมกันเข้า เป็นส่วนต่างๆ เช่น ผม เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก เลือด
รูป ที่เกิดขึ้นใหม่ๆในครรภ์มารดา จะมีพัฒนาการ ดังนี้ เริ่มเกิด เป็น หยดน้ำใส ๑ สัปดาห์ เป็นฟองน้ำ ๑ สัปดาห์ เป็น เมือกไข่ ๑ สัปดาห์ เป็นก้อน ๑ สัปดาห์ เป็นปุ่ม ๕ ปุ่ม ๑ สัปดาห์ หลังจากนั้นจึงพัฒนาเป็น ศีรษะ ๑ แขน ๒ และขา ๒ อีก ๑ สัปดาห์



นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดสฬายตนะ อย่างไร
หลังจาก ปฏิสนธิวิญญาณ(จิตที่ทำหน้าที่เกิดใหม่ในภพภูมิใหม่)เกิดขึ้นหากเป็นมนุษย์ นามรูปก็จะเกิดในครรภ์มารดาทันที
หลังจากรูปพัฒนาเป็นศีรษะ ๑ แขน ๒และขา ๒แล้ว อีก ๑ สัปดาห์ก็จะพัฒนา เป็นอายตนะทางตา หู จมูก ลิ้น ส่วน สฬายตนะ(หมายถึงอายตนะ ๖คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ)นั้นจะพัฒนาให้สมบูรณ์เต็มที่ภายหลัง
สฬายตนะ หมายถึงประสาทตา ประสาทหู ประสาทจมูก ประสาทลิ้น และประสาทกาย เป็นรูปที่ใส เป็นวัตถุที่สามารถให้จิตอาศัยเกิดขึ้นรับอารมณ์ต่างๆ คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สิ่งที่มาถูกต้องกาย)และธรรมารมณ์(อารมณ์ที่ใจรู้,อารมณ์ที่เกิดทางใจ)ได้



สฬายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ อย่างไร
สฬายตนะ คืออายตนะ๖ ได้แก่ประสาทตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เมื่อเกิดขึ้นมา ผัสสะก็ย่อมเกิดตามมา
ผัสสะ หมายถึงการที่อายตนะ ทั้ง๖ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ กระทบกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(อ่อน แข็ง ร้อน เย็น ไหว)และธรรมารมณ์(อารมณ์ที่รู้ด้วยใจ)
ตากระทบรูปเรียกรูปารมณ์
หูกระทบเสียงเรียกสัททารมณ์
จมูกกระทบกลิ่นเรียกคันธารมณ์
ลิ้นกระทบรสเรียกรสารมณ์
กายกระทบโผฏฐัพพะเรียกโผฏฐัพพารมณ์
ใจกระทบกับธรรมารมณ์เรียกธรรมารมณ์
ผัสสะ เป็นส่วนประกอบเข้ากับจิต(เจตสิก)ทำหน้าที่ปรุงแต่งจิตให้กระทบกับอารมณ์ต่างๆดังกล่าวข้างต้น



ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนาอย่างไร
ผัสสะ หมายถึงการที่อายตนะทั้ง ๖ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบกับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์
ส่วน เวทนา ได้แก่ความรู้สึก มี๓ อย่างคือ สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์(อุเบกขา)
เมื่อ ตากระทบรูป จะเกิดการรับรู้รูปเรียกว่า จักขุวิญญาณ รับรู้แล้วก็อาจเกิดความรู้สึกพอใจ เรียกว่าสุขเวทนา ไม่พอใจเรียกว่าทุกขเวทนา กลางๆเรียกว่าอุเบกขาเวทนา
เมื่อหูกระทบเสียง จะเกิดการรับรู้ทางหูเรียกว่าโสตวิญญาณ ก็เกิดเวทนาได้ ๓ ลักษณะเช่นกัน
ในทำนองเดียวกัน เมื่อจมูกกระทบกลิ่น ลิ้นสัมผัสรส
กายสัมผัสโผฏฐัพพะ ใจสัมผัสกับธรรมารมณ์ก็จะเกิดการรับรู้ แล้วเกิด ความรู้สึกที่เรียกว่าเวทนา ทั้ง๓แบบนั่นเอง
จึงกล่าวได้ว่าผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา



เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา อย่างไร
เวทนาเป็นความรู้สึก สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ เมื่อรับรู้อารมณ์จากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์
ส่วนตัณหา คือความทะยานอยาก หรือความดิ้นรนของใจ มี๓ อย่างคือ ๑.กามตัณหา คือความทะยานอยากในกามเช่นอยากได้สิ่งที่น่ารัก น่าใคร่ สิ่งที่สวยงาม
๒.ภวตัณหา คือความทะยานอยากในภพ หรืออยากเป็น อยากอยู่ในตำแหน่งดีๆ อยากเกิดในที่ดีภพดีๆ
๓.วิภวตัณหา ความอยากไม่เป็น ไม่เกิดในที่ในภพไม่ดี ไม่อยากเป็นคนจน เป็นต้น
เมื่อเวทนาเกิดรู้สึกพอใจทะยานอยากในกามก็เกิดกามตัณหา เมื่อเวทนาเกิดรู้สึกพอใจอยากเป็นอยากเกิดในภพต่างๆก็เกิดภวตัณหา เมื่อเวทนา รู้สึกพอใจไม่อยากเป็น ไม่อยากเกิดในภพนั้นๆ ก็เกิดวิภวตัณหา
จึงกล่าวว่า เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาดังนี้



ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทานอย่างไร
อุปาทาน หมายถึงความยึดมั่น ถือมั่นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลงแปรปรวน เป็นความสุข เป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวเรา แบ่งเป็น ความยึดมั่นในกาม ความยึดมั่นในทิฏฐิ ความยึดมั่นในข้อปฏิบัติ ศีลวัตร และความยึดมั่นในตัวตน
เมื่อเกิดความพอใจ ความติดใจ ในกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา จึงเกิดความยึดมั่น ถือมั่นในกาม ในทิฏฐิ ในข้อปฏิบัติ ในตัวตน ว่าถูกต้อง เที่ยงแท้ เป็นเรา เป็นของเรา
ตัณหาจึงเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทานดังกล่าว


อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพได้อย่างไร
ข้อนี้อธิบายง่ายๆว่าเมื่อมีอุปาทานคือการยึดมั่นถือมั่นอย่างไร คนเราก็จะปฏิบัติไปตามนั้น ถ้ายึดมั่นในกุศลกรรมก็ทำดี ถ้ายึดมั่นในอกุศลกรรมก็ทำชั่ว ผลของกรรม(วิบาก)ก็จะนำไปเกิดในภพ ภูมิต่างๆเช่น กามภพ คือสวรรค์๖ชั้น มนุษย์ และอบายภูมิ ๔
รูปภพ คือพรหม มีรูป ๑๖ ชั้น และอรูปภพ คือ พรหมไม่มีรูป ๔ ชั้น นั่นเอง



ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติอย่างไร
ชาติ หมายถึงปฏิสนธิจิต คือจิตที่ทำหน้าที่ไปเกิดในภพภูมิต่างๆทั้ง ๓ ภพคือกามภพ รูปภพ และอรูปภพ เมื่อมนุษย์ใกล้ตาย จุติจิต(จิตทำหน้าที่ตาย)เป็นจิตสุดท้ายในโลกมนุษย์ จะเกิดขึ้นแล้วดับไป ในทันทีนั้น ปฏิสนธิวิญญาณ (จิตที่ทำหน้าที่เกิดใหม่ในภพภูมิใหม่)ก็จะเกิดขึ้นตามมา เป็นการเกิดในภพภูมิใหม่อีกครั้ง ด้วยอำนาจแห่งวิบากกรรม



ชาติเป็นปัจจัย ให้เกิด ชรา(แก่) มรณะ(ตาย) โสกะ(ความเศร้าโศก)ปริเทวะ(ความคร่ำครวญปริเทวนาการ)ทุกขะ(ความทุกข์ทางกาย)โทมนัส(ความเสียใจ)อุปายาสะ(ความคับแค้นใจ) ตราบใดที่ยังมีชาติ คือการเกิด สัตวโลก ย่อมไม่มีผู้ใดหนีพ้น สิ่งเหล่านี้ไปได้

คำสำคัญ (Tags): #ปฏิจจสมุปบาท
หมายเลขบันทึก: 670789เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2019 12:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2019 12:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท