ทัศนะตั้งกระทรวงปกครองท้องถิ่น


ทัศนะตั้งกระทรวงปกครองท้องถิ่น

14 กันยายน 2562

ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1] 

ในความความเข้าใจสภาวะการกำกับดูแลเป็นการบังคับบัญชาที่ย้อนแย้งยังค้างคาใจคนท้องถิ่นไม่หาย ฉะนั้นแนวคิดที่ต้องการแยกออกมาจากกระทรวงมหาดไทยเป็นเรื่องปกติ การสวนกระแสการตั้งกระทรวงปกครองท้องถิ่นที่มีนักวิชาการ [2]และบิ๊กมหาดไทยท้วงติง [3]จึงเกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อต่อยอดปรับเสริมแนวทางแนวคิดที่ ส.ส.จะเสนอญัตติให้จัดตั้งกระทรวงปกครองท้องถิ่นตามที่ให้ข่าว [4]ด้วยน้ำหนักและเหตุผล หรือจุดที่ป้องกันโต้แย้งไว้ล่วงหน้า อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องตัดความเห็นคัดค้านหรือโต้แย้งเช่น แนวคิดของมหาดไทยออกไปก่อน

เพราะ อปท.ตั้งขึ้นเพื่อจัดให้บริการสาธารณะและแก้ไขปัญหาโดยคนท้องถิ่น ไม่ใช่ตั้งเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลหรือภูมิภาค หากไม่มีท้องถิ่น งานนโยบายภาครัฐ คงไม่เดิน ผู้ที่คู่ควรประเมินผู้บริหารท้องถิ่นก็คือ “ประชาชนในเขตท้องถิ่น” มิใช่มหาดไทย หรือรัฐบาล การกำกับดูแล อปท. ต้องเป็นเรื่องเฉพาะของคน อปท. ที่รู้เรื่องระเบียบแบบแผนของ อปท.ดีเท่านั้น ในประเด็นนี้ การรีบให้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นจึงจำเป็นเพราะ ประชาชนไม่ได้ประเมินผู้บริหารท้องถิ่นมานานมากแล้ว

ลองมาประมวลความเห็นเชิงบวกแง่ดี

(1) ความฉ้อฉลทางเดินของงบประมาณโครงการของรัฐที่ลงสู่ท้องถิ่นต่างหากที่เป็นจุดสำคัญมากที่ส่วนกลางมีปัญหามาตลอด เป็นเรื่องที่รัฐถือว่าสำคัญต้องแก้ไข หรือใส่ใจมากเพียงใดมากกว่า ในเรื่องฐานคะแนนฐานเสียง เรื่องการทุจริตคอรัปชันยาเสพติด เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มเฉพาะคนมิใช่ภาพรวม อปท.มีพร้อมในปัจจัยการบริหาร 4 M แถมยังถูกราชการส่วนภูมิภาคใช้งานมาตลอด หากส่วนกลางยังไม่เข้าใจจุดนี้ว่า อปท. พร้อม ขอทราบเหตุผลที่ไม่กระจายอำนาจ ไม่เลือกตั้งด้วย เหตุเพราะอะไร หรือว่าไปมองที่ตัวเลขสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น (สถ.ผถ.) ใน อบจ. เทศบาล และ อบต. ที่รอเลือกตั้งครั้งใหม่จำนวน 97,940 – 140,000 ตำแหน่ง [5] แต่เครือข่าย "กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน" เป็นฐานเสียงสำคัญของการเลือกตั้งในทุกระดับทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านทั้งหมด 291,244 อัตรา [6] ซึ่งมีอัตราที่มากมายกว่า สถ.ผถ. ถึงกว่าสองสามเท่าตัว ประกอบกับแนวคิดมหาดไทยที่จะรื้อฟื้นตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้านที่ยกเลิกไปโดยผลของการยกฐานเทศบาลกลับมาให้มีจำนวนที่มากขึ้นอีก [7] ก็พอจะเห็นตัวเลขพลังแฝงที่แอบแฝงอยู่ ฉะนั้นแนวคิดของนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งกระทรวงปกครองท้องถิ่น โดยอ้างว่ายิ่งทำให้มีการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางมากขึ้น ในภาวะวิกฤติและเวลาจำกัดเยี่ยงนี้คงไม่ต้องไปห่วงใยในเรื่องการกระจายอำนาจกันมากนัก เพราะอย่างไรเสียกระจายอำนาจ การถ่ายโอนภารกิจ การกระจายอำนาจทางการคลัง ฯ ตามความเห็นของนักวิชาการดังกล่าวมันยิ่งยากเป็นสองสามเท่ากว่าแนวคิดการตั้งกระทรวงท้องถิ่น ด้วยจำนวน อปท. 7,800 กว่าแห่งบริหารงบประมาณเฉลี่ยปีละ 3 แสนล้านบาท [8] ที่ถือว่างบไม่มากนัก เพราะต้องหักงบสวัสดิการ (กว่าร้อยละ 90) เช่น งบผู้สูงอายุ งบค่าอาหารกลางวัน งบนมเด็ก ออกไป ที่จะเหลืองบพัฒนาเพียงนิดเดียว ตกลงว่าท้องถิ่นก็แทบไม่ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกันเลย

(2) ในการบริหารงบประมาณแผ่นดินนั้น ที่ผ่านมา ส.ส.หลายยุคมองว่า นโยบายการเมืองของตนไม่เป็นผล ไม่ถึงชาวบ้านจริง เพราะมีระบบราชการมาคั่นกลางเป็นตัวขัดขวาง ส.ส.มองทะลุรู้แล้วว่า นโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาที่จะเป็นผลงบพัฒนาต้องตรงไปยังท้องถิ่น มันจะผ่านตรงไปถึงชาวบ้านทันที ลดข้อกล่าวหาว่า อปท.อยากจะเป็นรัฐอิสระ เมื่อเป็นกระทรวง ก็ขึ้นตรงต่อส่วนราชการ ตรงประเด็นไม่อ้อมค้อม คงมิใช่การตั้งกระทรวงเพื่อให้ข้าราชการพลเรือนอื่นมาเติบโตแล้วคนท้องถิ่นแท้ได้แต่มองดู แม้ว่าข้าราชการส่วนท้องถิ่นเองจะไม่สามารถไปเป็นราชการส่วนกลางได้ก็ตาม ไม่สามารถเติบโตในสายงานราชการส่วนกลางส่วนภูมิภาคได้ก็ตาม แต่ในความรู้สึกในความเป็นเจ้าขององค์กร (Organization Commitment) ก็น่าจะยังดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และ หากมีหลักเกณฑ์การบริหารงานบุคคลที่ดีพอในการพัฒนาเส้นทางความก้าวหน้าสายอาชีพ (Career Path) ในการถ่ายโอนตำแหน่งระหว่างข้าราชการส่วนท้องถิ่น กับข้าราชการพลเรือนส่วนกลางของกระทรวงปกครองท้องถิ่นก็ยิ่งดี แนวคิดขอให้แยกออกจากมหาดไทยก่อนแล้วคิดต่อในเรื่องอื่นเพื่อคนท้องถิ่นจึงเป็นแบบนี้ และไม่ต้องไปห่วงฐานการเมืองใหญ่เมื่อเจอฐานการเมืองเล็กหากไม่ตรงกันย่อมขัดแย้งกัน ตรงนี้ระบบการเมืองก็ต้องปรับตัวกันเอง เพื่อมิให้ขัดแย้งไปด้วยกันไม่ได้ สรุปว่า ลุยตั้งกระทรวงไปก่อน อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ดีกว่าปล่อยให้ดักดานอยู่กับที่ แม้ว่าการเปิดประเด็นให้ตั้งกระทรวงใหม่นี้ บทสรุปอาจออกมาเป็นอย่างอื่นไปก็ได้ ใครจะไปรู้ เพราะการเมืองไทยเชื่อหมดไม่ได้ ต้องเผื่อคิดไว้ด้วย

  (3) การเมืองยุคเงินทอนผ่านหน่วยงานราชการกำลังถูกตรวจเข้มจากสังคมเริ่มถึงทางตัน จะไปทางไหนเขาก็รู้ทางหมดแล้ว [9] เพราะเสียงสะท้อนของโซเชียลแรงมาก งบประมาณเงินทอนลงพื้นที่แบบที่ผ่านมาถูกกันด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายวินัยทางการเงินการคลัง กฎหมายยุทธศาสตร์ รวมทั้งกฎหมาย ส.ต.ง. และ ป.ป.ช. ข่าวเสียงสะท้อนการจัดสรรงบประมาณที่ไม่สมดุลเท่าเทียม ไม่ตรงนโยบาย ข่าวการระดมทุนบริจาคจากภาคเอกชนและประชาชน อาทิ วิ่งหาเงินให้โรงพยาบาล (ตูนบอดี้สะแลม) ข่าวโซเชียลตีแผ่โครงสร้างถนนที่บกพร่อง มันทำลายความน่าเชื่อถือในกลุ่มใช้อำนาจจัดสรรเงินงบประมาณลงถนัดใจ แถมยังไม่ได้สร้างผลงานให้แก่ ส.ส.อีกฝ่ายแต่อย่างใด

(4) เหตุผลสำคัญประการหนึ่งในระบบแผนหนึ่งเดียว (One Plan) [10] ในระบบประสานแผนเพื่อการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ ที่ต้องเชื่อมต่อและประสานงานกัน หากมี “กระทรวง” จะเป็นทางเชื่อมสำคัญใน 2 ประการ ได้แก่ (1) เชื่อมการวางแผนพัฒนา คือ เสริมการประสานความร่วมมือระหว่าง อปท.ให้ภารกิจร่วมบรรลุผล เกิดประโยชน์ อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล คุ้มค่า ด้วยใช้หลัก 4 M และการประสานระหว่าง อปท. ด้วยกันเอง และ (2) เชื่อมการจัดสรรงบประมาณลงสู่ภูมิภาคต่าง ๆ คือ บทบาทเชื่อมโยง แก้ไข ปรับปรุง ระเบียบกฎหมาย และวิธีการจัดสรรงบประมาณ 

(5) การมีกระทรวงปกครองท้องถิ่น จะเป็นตัวกรองแก้ไขโครงการพัฒนาจังหวัด กลุ่มจังหวัดที่อาจไปสนองกลุ่มการเมืองเจ้าถิ่น หรือข้าราชการส่วนกลาง เช่น ไบค์เลน แผนพัฒนาทางเดินแหล่งท่องเที่ยวตามพื้นที่หน่วยราชการ เช่น กรมชลประทาน กรมป่าไม้ กรมอุทยาน ฯลฯ งบพัฒนาอาจไปกระจุกสนองกลุ่มคนบางพวกได้

(6) การตั้งกระทรวงปกครองท้องถิ่นหากมองมิติความเชื่อมโยง ในจุดแข็งข้อดีที่มี ชี้แนะในจุดอ่อนข้อเสีย การเปรียบเทียบในเหตุการณ์การพัฒนาที่ผ่านมา การศึกษาภารกิจร่วมของ อปท. แบบฝรั่งเศส ญี่ปุ่น แล้วนำมาเปรียบเทียบไทย รวมทั้ง การหยั่งเชิงความคิดเห็นของคน อปท. ฯลฯ ในวินาทีนี้ถือว่าจำเป็นมาก เพราะคน อปท.ย่อมมีสิทธิ “เลือกทางเดินในอนาคตของตนได้” หากคนท้องถิ่น ถ้ามีอิสระจริง ๆ แล้วย่อมมีทางเดินของตนเองที่ดีกว่าแน่นอน

(7) ที่สำคัญคน อปท. จึงเห็นว่าการมีสังกัดเฉพาะของตนเองจึงดีกว่าแน่นอน อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดเชื่อว่า พรรคการเมืองใดที่กุมอำนาจรัฐ พรรคนั้นก็ย่อมได้เปรียบมีอำนาจต่อ อปท. แต่คงไม่เหมือนภาคราชการแบบปัจจุบันแน่นอน ผู้ที่ถูกกระทบ คือกลุ่มการเมืองขั้วตรงกันข้ามรัฐบาลเท่านั้น การเมืองไทยต้องทดลองไปทีละขั้นไม่ข้ามขั้น นอกจากนี้ อปท.จะตกเป็นลูกไล่ ในภารกิจแอบแฝงต่าง ๆ ของราชการอื่นทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคใด เช่น ภารกิจงานกาชาด งานประเพณี งานรัฐพิธี น่าจะเป็นบทบาทตรงของ อปท. ในพื้นที่ได้ ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่โดยภาพรวมกระทรวงท้องถิ่นจะตอบโจทย์ได้ดีกว่าเดิม

(8) ในกระแสการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ว่าจะรุนแรงเข้มข้นบ้างก็ไม่เป็นไร แต่ความล่าช้าในการจัดการเลือกตั้ง โดยอ้างเหตุอื่นๆเพื่อลดแรงต้านทานมิใช่เหตุผลที่ดี หากมีกระทรวงปกครองท้องถิ่นแล้ว ความขัดแย้งระหว่าง “ท้องถิ่น” กับ “ท้องที่” คงไม่ต้องขัดแย้งกัน เพราะแยกกฎหมายกันออกจากกันชัดเจน  ข้าราชการก็เป็น “ข้าราชการส่วนท้องถิ่น” ตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 [11] ได้รับรองไว้แล้ว

(9) ส.ส.พรรคทางเลือกใหม่ กลุ่มใหม่ หน้าใหม่ ที่ต้องการสร้างผลงานรวมทั้งกลุ่ม ส.ส.เก่าด้วยก็อาจจะมาสมทบด้วย ความเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้น เป็นการเปลี่ยนฐานกำลังของรัฐบาลเดิมๆ จากทหารผสมพลเรือนไปในตัว

(10) ที่ผ่านมานักการเมืองระดับชาติที่เคยมีอำนาจไม่เข้าใจบริบทท้องถิ่นและสับสนในทิศทางการพัฒนาท้องถิ่นที่แท้จริง ขาดความเข้าใจกับคำว่า “กระจายอำนาจ” มีแต่ “รวบอำนาจกระชับอำนาจ” ในทุกๆ เรื่อง เหมือนการถอยหลังลงคลอง [12] ที่สำคัญก็คือที่ผ่านมา “การถ่ายโอนภารกิจอำนาจล้มเหลว” [13] เพราะ ไม่มีองค์กรติดตามประเมินผลแบบมืออาชีพที่ตรงงานอาชีพ เช่น ช่าง สาธารณสุข การศึกษา สิ่งแวดล้อม ฯลฯ และองค์กรประสานการถ่ายโอน ก็มิใช่มืออาชีพในด้านนี้โดยตรง

(11) นอกจากนี้ส่วนกลางที่กำกับดูแล อปท.คือ กระทรวงมหาดไทย (มท.) มักยกเว้นระเบียบพัสดุ อปท. ครั้นระเบียบพัสดุใหม่นี้เปลี่ยนเป็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทยก็หันกลับมาแก้ไขในระเบียบการเงินการงบประมาณฯแทน แถมมียกเว้นระเบียบอีกต่างหาก คิดแบบง่ายว่าเพราะไม่รู้หรืออย่างไรว่า หน่วยตรวจสอบ (ส.ต.ง. และ ป.ป.ช.) เขาตรวจสอบอะไรบ้าง ตกลงว่า อปท. ต้องถูกตรวจสอบอย่างน้อยในงานสำคัญ 4 งาน คือ (1) แผนพัฒนา (2) งบประมาณ (3) การเงินการบัญชี (4) การพัสดุและทรัพย์สิน ซึ่งงานเหล่านี้ทุกอย่างเข้าระบบเคาน์เตอร์อิเล็กทรอนิกส์ ที่มีบันทึกเหตุการณ์ ขอบข่ายงาน วัน เวลา การแก้ไขยกเว้นระเบียบของ มท. จึงเป็นเพียง “การแก้ตามที่ยกเว้นให้มา” เท่านั้น อีกทั้งหน่วยงานและข้าราชการส่วนท้องถิ่นต้องเจอวินัยการเงินการคลังที่มีโทษทางวินัยอาญาและโทษปรับทางปกครองด้วย หาก ส.ต.ง.มีระบบการตรวจที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพประสิทธิผล คุ้มค่า และตามระบบกฎหมายข้อมูลข่าวสารที่เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องจะไปแก้ไขเอกสารย้อนหน้าย้อนหลังจึงมิอาจกระทำได้ เพราะ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ใช้เวลาแบบ real time ปัจจุบันเท่านั้น กล่าวคือ E-plan E-budget E-laas E-gp ล้วนต่างมีเงื่อนไขห้วงเวลา มีการบันทึก มีการประเมิน คิดจะไปแก้ไขย้อนเวลา แบบปะผุ ตัวเลขมันก็ฟ้อง การมีคำสั่งพิเศษ เพื่อมาปรับแก้บัญชีปรับแล้วปรับอีกคงใช้ไม่ได้แน่

ยกแม่น้ำทั้งห้ามาว่ากัน ยังมีอีกมากมาย ในที่นี้ขอสงวนสิทธิมองแง่บวกคงไม่ว่ากัน เพราะมันจำเป็นจริง ๆ ที่ผ่านมามันวุ่นวายก็เพราะผู้กำกับดูแลมักไปเขียนแก้กฎหมายให้ล็อกไปหมด อ้างเพื่อกันโกง อ้างเพื่อการปฏิรูป แต่พอเอาเข้าจริงแล้ว รัฐและส่วนกลางกลับทำไม่ได้ และทำตรงข้ามด้วยซ้ำ จะไปโทษคนอื่นคนไกลไม่ได้ ต้องโทษตัวเองจึงจะถูก จริงไหม นี่คือทางออกของการตั้ง “กระทรวงปกครองท้องถิ่น” เพราะสถานการณ์ทุกวันนี้ อปท.นับวันจะกลายเป็น “องค์กรหลังเขา” ไปแล้ว

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 66 ฉบับที่ 52 วันเสาร์ที่ 14 - วันศุกร์ที่ 20 กันยายน 2562, บทความพิเศษ หน้า 9, ทัศนะตั้งกระทรวงปกครองท้องถิ่น, สยามรัฐออนไลน์, 14 กันยายน 2562, https://siamrath.co.th/n/10276...

[2]ยุทธพร อิสรชัย, “กระทรวงท้องถิ่น” คือหายนะของการกระจายอำนาจ ... วิพากษ์ตั้งกระทรวงใหม่ กระจายอำนาจจริงหรือ ?, มติชนรายวัน หน้า 2, 5 กันยายน 2562

[3]“บิ๊กป๊อก” ไม่เห็นด้วยตั้ง “กระทรวงท้องถิ่น” เผยเลือกตั้งท้องถิ่นปลายปี 62-ต้นปี 63, 3 กันยายน 2562, https://www.prachachat.net/politics/news-367381& ชี้จัดตั้ง'กระทรวงท้องถิ่น'แค่แนวคิดอธิบดี, กรุงเทพธุรกิจ, 15 กุมภาพันธ์ 2558, https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/634895& สมาพันธ์ปลัดอบต.หนุนตั้งคณะกรรมการท้องถิ่นแห่งชาติ (คทช.), มติชน, 11 กันยายน 2557

[4]เสกสรรค์ กิตติทวีสิน, เดินหน้าชน 9ก.ย.62 : กระทรวงท้องถิ่น, 9 กันยายน 2562, https://www.matichon.co.th/columnists/news_1662158& สส.หนุนผ่าตัดมหาดไทย ชงผุด‘กระทรวงท้องถิ่น’, 2 กันยายน 2562, https://www.thaipost.net/main/detail/44773& ‘ภูมิใจไทย’ ดันตั้งกระทรวงท้องถิ่น ชี้ ‘มท.-พปชร.’ โดดขวางหวั่นอำนาจลด, 11 กันยายน 2562, https://mgronline.com/specialscoop/detail/9620000087303

[5]เนชั่นสุดสัปดาห์เจาะฐาน “มหาดไทย” ยุค “บิ๊กป๊อก 2” เดิมพันใหญ่เลือกตั้งท้องถิ่น, 30 สิงหาคม 2562, https://www.nationweekend.com/content/detail/695 

& ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม, กางแผนมหกรรมเลือกตั้งท้องถิ่น คาดคนตื่นตัวสูงครั้งประวัติศาสตร์, โพสต์ทูเดย์, 28 สิงหาคม 2562, https://www.posttoday.com/politic/news/598939  

[6]เนชั่นสุดสัปดาห์, 30 สิงหาคม 2562, อ้างแล้ว  

[7]“บิ๊กตู่”ซื้อใจกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน เร่งแก้กม.คืน721ตำแหน่งทั่วประเทศ, 29 สิงหาคม 2562, https://www.thansettakij.com/content/408409     

[8]ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม, โพสต์ทูเดย์, 28 สิงหาคม 2562, อ้างแล้ว & งบท้องถิ่น”63รัฐฯ ปัน8.2แสนล้าน “งบประเทศ” ขอกันเพลิน 5.09 ล้านล้าน, 7 กันยายน 2562, https://mgronline.com/daily/detail/9620000085686

[9]การตรวจสอบพฤติกรรมนักการเมือง โดย ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังท้องถิ่นไท, มติชนรายวัน ปีที่ 42 ฉบับที่ 15152, 5 กันยายน 2562, https://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act01050962§ionid=0130&day=2019-09-05   

[10]เป็นแนวคิดว่าการจัดทำและประสานแผนพัฒนาในระดับพื้นที่ต้องเป็น “ลักษณะแผนเดียวกัน” (One Plan) หรือเป็นแผนพัฒนาที่เกิด “ความเชื่อมโยงกันในทุกระดับเป็นแผนเดียวกัน” (One Plan)    

[11]ดู รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 250 วรรคท้าย

[12]ถอยหลังลงคลอง 'จาตุรนต์’ ค้านตั้งกระทรวงท้องถิ่น เพิ่มนายใหม่สวนทางกระจายอำนาจ, 4 กันยายน 2562 , https://www.naewna.com/politic/438045  & https://siamrath.co.th/n/10093...

[13]ประเด็นการถ่ายโอนภารกิจล้มเหลวสำคัญมาก เพราะ ที่ผ่านมามีการถ่ายโอนภารกิจ แต่กระทรวงมหาดไทย (มท.) ประเมินผลการถ่ายโอนไม่ได้ ไม่ถูก เพราะ มท. นั่งทับตัวเองอยู่ ที่สำคัญคือ มท. ไม่มีเจ้าหน้าที่ “วิชาชีพ” เฉพาะทาง มหาดไทย มองแต่การใช้อำนาจ ไม่มองมิติวิชาชีพ เน้นแต่ตำแหน่ง เรื่องทักษะไม่ได้มอง เช่น การบริการมองแค่งานเก็บขยะ งานการประปาฯ ฉะนั้น งานบริการแบบมืออาชีพ วิชาการ ที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบ จึงไม่เกิด กระทรวงที่เกิดขึ้นใหม่ ไม่ใช่กระทรวงที่ยกฐานะมาจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แต่ต้องเป็น “สายวิชาชีพ” ที่ถ่ายโอนเวียนหมุนมารวมกัน โดยมีกฎหมายกำกับดูแลของตนเอง

หมายเลขบันทึก: 668300เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2019 00:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กันยายน 2019 12:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท