น้ำท่วมอีสาน ๒๕๖๒ หนักสุดในรอบ ๖๐ ปี


ปีนี้ (๒๕๖๒) น้ำท่วมอีสานหนักที่สุดในรอบ ๖๐ ปี  เป็นโอกาสดีที่จะได้เรียนรู้เรื่องน้ำท่วมอีสาน ประสบการณ์ครั้งนี้อาจจะมีประโยชน์กว่าหลายครั้งที่ผ่านมา อย่างน้อยก็สามารถจะขนของขึ้นสูงได้ทัน  นิสิตนักศึกษาที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย น่าจะมีองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ และคอยติดตามสถานการณ์แล้วแจ้งพ่อแม่ผู้ปกครองที่บ้านได้  ก่อนจะเข้าใจปรากฎการณ์นี้ มีองค์ความรู้ที่สำคัญ ๆ ที่จำเป็นต้องเข้าใจก่อน ได้แก่ การเกิดฝน-พายุ และปัจจัยที่ทำให้ภัยรุนแรง  ขออธิบายด้วยภาพ ดังต่อไปนี้

๑) การเกิดฝนและพายุฝนในไทย

ท่านใดที่มีลูกหลานประถม-อนุบาล ภาพวงจรการหมุนเวียนของน้ำบนโลก น่าจะช่วยท่านได้ไม่ยากในการอธิบายว่า ฝนมาจากไหน เมฆคืออะไร ทำไมต้องช่วยกันปลูกต้นไม้ ค่อย ๆ ปลูกฝังแบบบ่อยซ้ำย้ำทวนไป จิตใจเขาก็จะค่อยซึมซับเอง 

อ้างอิงที่นี่

ขอเสนอให้ฝึกการคิดแบบองค์รวมด้วยภาพความเชื่อมโยงจากภาพด้านล่างนี้ ที่จะช่วยให้เด็ก ๆ เข้าใจว่าทุกสิ่งอย่างเชื่อมโยงและอิงอาศัยและพึ่งพากันจึงเกิดความสมดุล ถ้าบางสิ่งหายไป ความยั่งยืนจะถูกทำลายไปในที่สุด 

อ้างอิงที่นี่

น้ำที่ระเหยขึ้นไปบนฟ้าเมื่อตกลงมาก็จะกลายเป็นฝน การเกิดฝนแบ่งได้เป็น ๒ แบบ คือ ฝนไม่มีพายุใหญ่ และ ฝนที่มากับพายุใหญ่ เรียกกันทั่วไปว่า พายุฝนซึ่งมีหลายประเภท เดี๋ยวจะกล่าวต่อไป ฝนที่ไม่มีพายุก็คือฝนทั่ว ๆ ไป เกิดขึ้นได้จากร่องความกดอากาศต่ำ ทำให้ไอน้ำที่ลอยขึ้นสูงไปเจออากาศเย็น จึงควบแน่นตกลงมา  ภาพด้านล่างแสดงทิศทางฝนที่เกิดจากร่องความกดอากาศต่ำ ซึ่งทำให้เกิดลมพัดไอน้ำกลายมาเป็นฝนตามฤดูกาล เรียกว่า มรสุมตะวันออกเฉียงใต้ (ลูกศรสีเขียว) หรือเรียกว่า พายุดีเปรสชั่น 

ปี ๒๕๖๒ ฝนตามฤดูกาลนี้ แทบจะไม่มีมาไทยเลย เนื่องจากตรงกับช่วงปีที่เกิดเอลนีโญ่ เกือบจะสิ้นสิงหาคม ทุกเขื่อนในไทยแทบจะไม่มีน้ำเหลือให้เกษตรใช้เลย ข้าวยืนต้นเกือบจะเหลืองแห้งตาย รัฐบาลกำลังจะแจกงบจ่ายรายหัว "ค่าชดเชยภัยแล้ง" อยู่แล้วเทียว 


ส่วนฝนที่มากับพายุ หรือ พายุฝน ที่ก่อตัวหมุนวน ตั้งต้นจากมหาสมุทรแปซิฟิค ทุก ๆ ปี จะมีเฉลี่ยประมาณ ๒๗ ลูก ขณะนี้มาแล้ว ๑๒ ลูก  ๑๐ ลูกก่อนหน้านั้น ประเทศไทยแทบจะไม่ได้น้ำเลย  มีแต่พายุแต่ไม่มีฝน ฝนตกในไทยไม่ถึงร้อยละ ๑๕ ของน้ำที่พายุหอบมา พายุทุกลูกม้วนขึ้นไปใต้หวันและอ่อนกำลังและหายไป  ทำให้คนไทยอีสานเจอปัญหาแห้งแล้งฝนทิ้งช่วงยาวนาน (มิถุนายน-สิงหาคม) ข้าวยืนต้นกำลังจะตายหลายแสนไร่  ผมเคยเขียนแสดงตัวอย่างใกล้บ้านในบันทึกนี้


แต่พอเกือบจะสิ้นสิงหาคม-ต้นกันยายน พายุลูกที่ ๑๑ ที่ชื่อ "โพดุล" ไม่หมุนขึ้นไปไต้หวัน เกาหลี เหมือนที่ควรจะเป็น โพดุลวิ่งตรงผ่านเข้าไทย อีสานบนและเหนือตอนใต้ รับไปเต็ม ๆ  น้ำทั้งหมดที่พายุหอบมา ตกลงมาเป็นฝนในไทยเกือบร้อยเปอร์เซ็น 

เส้นทางเดิน(วิ่ง) ของพายุโพดุล เข้าไทยด้วยความเร็วระดับพายุโซนร้อน ก่อนจะวางฝนในไทยเต็ม ๆ

ภาพแสดงความรุนแรงของพายุฝน


มวลน้ำมหาศาล ท่วมไร่นาไปแล้วกว่า ๑,๕๐๐,๐๐๐ ไร่ อันนี้คงพอจะเยียวยากันได้ แต่ที่ต้องระทมใจที่สุดคือน้ำที่เข้าท่วมหมู่บ้านสูงกว่า ๒ เมตร ดูภาพที่ดาวน์โหลดมาจากข่าว ๆ ต่าง ๆ ต่อไปนี้ 

ถนนมิตรภาพถูกท่วม ตัดขาดเส้นทางสายอีสานที่บ้านไผ่

ชาวบ้านไผ่หนีน้ำขึ้นกำแพง
สองภาพด้านบนนี้ อยู่ที่อำเภอบ้านไผ่ สังเกตภาพล่าง ดูเหมือนชาวบ้านจะรู้ว่าน้ำจะท่วม จึงเอารถมอเตอร์ไซด์ขึ้นไว้บนรถกระบะ แต่คงจะไม่คาดคิดว่าน้ำจะท่วมมากขนาดนั้น 




๒) ความรุนแรงของอุทกภัย

นักวิชาการบอกว่า น้ำท่วมจะกลายเป็น "อุทกภัย" หรือไม่ จะขึ้นอยู่กับปัจจัย ๓ ประการ ได้แก่ ความแรงของพายุฝน ความเปราะบางของระบบการจัดการน้ำท่วม (ความเปราะบาง) และลักษณะของพื้นที่ (ความล่อแหลม) 

น้ำท่วมอีสานคราวนี้ นอกจากปริมาณน้ำและฝนจะมีมากและมาเร็วแล้ว การป้องกันภัยยังไม่ทันการ ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า เราสามารถทำนายได้อย่างแม่นยำก่อนจะพายุโซนร้อนจะมาถึง ๒ หรือ ๓ วัน นั่นแสดงว่า กระบวนการสื่อสารที่จะกระตุ้นให้ชาวบ้านเตรียมการรับมือไม่ชัดเจน การคำนวณปริมาณน้ำไม่มี ไม่มีตัวเลขบอกประมาณการเลยว่าน้ำจะท่วมประมาณกี่เซนติเมตร กี่เมตร ทำให้พื้นที่ล่อแหลมเสี่ยงภัย เช่น พื้นที่ใกล้ ๆ แม่น้ำชี มูล  รับทุกข์ไปเต็ม ๆ 

๓) การป้องกันภัยในอนาคต

ถ้าพูดไปให้ไกลแบบยโลกสวย ก็คงต้องช่วยกันปลูกป่า น้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในทุก ๆ เรื่อง ก่อนจะทำอะไรต้องพิจารณาให้ครอบคลุม ๔ มิติ  ในที่นี้ก็คือ มิติสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องช่วยกันอนุรักษ์ 

หากมองใกล้ในระยะกลาง ทุกชุมชนและพื้นที่คงต้องศึกษาวิธีจัดการน้ำและวางผังการสร้างชุมชนอย่างเป็นระบบ ไม่ให้ถนนขวางทางน้ำ ไม่ให้น้ำวิ่งหนีหายไป น้อมนำเอาเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้กับพื้นที่ของตน 

ใกล้ตัวที่สุดก็คือ ต้องติดตามข่าวสาร นักวิชาการก็ต้องวิจัยให้ได้ความรู้ เครื่องมือ และทักษะในการพยากรณ์ให้แม่นยำ รัฐบาลก็ต้องสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ  

ผมเองก็ไปสัมผัสน้ำท่วมที่มาพอควร ชาวบ้าน ชาวนา ไม่ได้มีปัญหาเท่าใด เพราะทุกคนค่อนข้างจะอุ่นใจ มั่นใจว่าจะมีการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาล 
หมายเลขบันทึก: 668295เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2019 23:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2019 23:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท