PeeNate
ผศ. ดร. ตรีเนตร ตันตระกูล

บทบาทที่ปรึกษาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม : SMEs Business Counselor: ดร.ตรีเนตร ตันตระกูล


ความนำ

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม: Small and Medium Enterprises (SMEs) เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้สรุปจากการจัดงานThailand SME Expo 2015 ว่ามีผู้ประกอบการ SMEs มากถึง 2.9 ล้านรายจากผู้ประกอบวิสาหกิจทั้งประเทศคิดเป็นจำนวนร้อยละ 98 รัฐบาลจึงมีแนวคิด “เชื่อมโยงนโยบายรัฐกับธุรกิจต่อยอดความคิดสู่ความสำเร็จ” ที่เน้นถึงถึงการพัฒนาและต่อยอดการสร้างศักยภาพสร้างโอกาสเพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถแข่งขันในประชาคมอาเซียนที่มีประเทศสมาชิกทั้งสิบประเทศทำให้เกิดการค้าขายมากยิ่งขึ้นตลอดจนมีการไปมาหาสู่กันได้อย่างสะดวกและมีศักยภาพในการแข่งขันกับโลกภายนอก

ปัจจุบัน SMEs ส่วนใหญ่มีข้อด้อยหรือจุดอ่อนในเชิงประกอบการทั้งด้านเทคโนโลยีการผลิตการจัดการและการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆการผลิตยังขาดประสิทธิภาพเนื่องจากผลิตผล (Productivity) ที่ได้มีมูลค่าเพิ่มต่ำนอกจากนั้น SMEs ยังขาดความพร้อมที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนไม่สามารถเข้าถึงตลาดในวงกว้างยังต้องพึ่งพากิจการขนาดใหญ่กว่าทั้งยังขาดความพร้อมเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(Information and communication technology, ICT)รวมทั้งกระแสเศรษฐกิจเสรีทั้งด้านการลงทุนการผลิตและการค้าทำให้ SMEs ไทยต้องประสบกับสภาวะการแข่งขันที่มากยิ่งขึ้นกว่าในอดีตทั้งจากประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นผู้นำในการสร้างมูลค่าเพิ่มและจากประเทศที่มีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานและด้านทรัพยากรต่าง ๆ

ในช่วงที่ผ่านมากิจการ SMEs ยังสามารถดำรงอยู่ได้จากแรงขับของการลงทุนในกิจการหรือสาขาที่มีการได้เปรียบด้านทรัพยากรธรรมชาติและการใช้แรงงานราคาถูกแต่ในโลกเศรษฐกิจเสรีที่มีการแข่งขันด้านการลงทุนการค้าและการบริการและเป็นโลกที่กำลังปรับตัวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) การขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องอาศัยฐานความรู้ตลอดจนสติปัญญาและขีดความสามารถของผู้ประกอบการที่จะต้องสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เกิดผลิตผลใหม่ที่เพิ่มขึ้นเกิดนวัตกรรมตลอดจนมีความสามารถเข้าถึงตลาดแหล่งทุนและการพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น

ที่ปรึกษาวิสาหกิจ SMEs: SMEs Business Counselor(เรียกทั่วไปว่าที่ปรึกษา) เข้ามามีบทบาทในการบริหารกิจการธุรกิจเนื่องจากการขาดประสบการณ์ด้านธุรกิจของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมเพราะส่วนใหญ่เริ่มจากธุรกิจภายในครอบครัวหรือจากความชำนาญทางรูปแบบการบริหารมักขึ้นกับเจ้าของกิจการเพียงคนเดียวการทำธุรกิจจึงมุ่งที่กำไรสูงและเคร่งครัดในการปฏิบัติงานทำให้เกิดความกดดันต่อผู้ที่ทำงานในสถานประกอบการค่อนข้างมากโดยเฉพาะเมื่อธุรกิจได้รับผลกระทบเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกทำให้ไม่สามาถจัดการแก้ปัญหาหรือปรับปรุงการดำเนินธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องรับการการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้ทันที่ปรึกษาจึงเป็นผู้ทำหน้าที่ให้คำแนะนำการดำเนินงานในลักษณะของการฝึกอบรมการสัมมนาการปรึกษาแนะนำด้านการบริหารจัดการการวินิจฉัยการแก้ปัญหาและการปรับปรุงระบบบริหารจัดการการพัฒนาระบบการจัดการมาตรฐานการผลิตและมาตรฐานสิ่งแวดล้อม(ISO 9002 และ 14001)ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาและคุ้มครองผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ

หน้าที่ของที่ปรึกษา

เมื่อธุรกิจ SMEs ต้องการให้ที่ปรึกษา เป็นผู้ที่ให้คำแนะนำและรับผิดชอบต่อเจ้าของกิจการ สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึง คือบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของที่ปรึกษาที่ดี จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติด้านต่าง ๆ นอกจาก “ความเป็นมืออาชีพ” ทั้งด้านประสบการณ์ในการทำงาน ความซื่อสัตย์ สุจริตต่อผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปแล้ว ยังมีหน้าที่ต่าง ๆ ตามนิยามที่นักวิชาการได้ให้ความหมายไว้ดังนี้

Fraser (1996)อธิบายถึงหน้าที่ของ ที่ปรึกษาวิสาหกิจ ว่าเป็นผู้ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการในการสร้างขอบเขตหรือกรอบแนวคิดในการทำธุรกิจที่เหมาะสมที่มีความสำคัญดังต่อไปนี้1. แนะนำวิธีการวัดผลการประกอบการหรือผลสำเร็จทางธุรกิจเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถประเมินศักยภาพของตนเองและมองเห็นจุดเด่นในการดำเนินธุรกิจของตนเอง2. ช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าใจถึงสภาพการณ์ปัจจุบัน ช่วยค้นหาปัญหาและสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงได้อย่างถูกต้อง3. ถามคำถามที่ชัดเจนและจำเป็นต่อการประกอบการในแง่มุมที่ผู้ประกอบการไม่เคยคิด หรือถามตนเองมาก่อน4. กระตุ้นให้ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องในองค์กร เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจองค์กร5. ประเมินและให้ความเห็นต่อกิจกรรมต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ยังมีความหมายโดยทั่วๆ ไปของที่ปรึกษาคือ การเป็นผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความเห็นหรือข้อชี้แนะเพื่อประกอบการตัดสินใจหรือให้แนวทางปฏิบัติแก่ผู้ประกอบธุรกิจ เช่นการให้คำปรึกษาเพื่อการพัฒนาธุรกิจให้ก้าวหน้าและมั่นคงมากขึ้น สามารถจัดให้มีระบบการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใสและมีความยุติธรรม การช่วยเหลือคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์ธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพตลอดจนมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ประกอบการ เพื่อสามารถให้คำปรึกษางานที่เกี่ยวข้องธุรกิจได้อย่างกว้างขวาง

คุณสมบัติที่ดีของที่ปรึกษาธุรกิจ SMEs

นอกจากที่ปรึกษาจะเป็นผู้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือชี้แนะแล้ว ที่ปรึกษาที่ดีจะต้องมีความสามารถรอบรู้ในเรื่องที่ตนเองถนัดและเชี่ยวชาญเป็นอย่างดี ตลอดจนมีคุณสมบัติที่สำคัญอีก ดังนี้1) มีความเชี่ยวชาญในด้านการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา รวมทั้งสามารถวางยุทธศาสตร์เพื่อแก้ปัญหา2) มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับธุรกิจอย่างลึกซึ้ง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่ตนเอง3) มีความรู้ด้านปัจจัยแวดล้อมธุรกิจและสายสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สามารถขอความช่วยเหลือหรือขอความร่วมมือได้เมื่อจำเป็น4) มีคุณธรรม จริยธรรมในการทำงานโดยยึดผลงานมากกว่าผลตอบแทน

การบริหารธุรกิจ SMEs

การทำธุรกิจ SMEs ให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องมีทักษะในการบริหารรวมทั้งมีการวางแผนธุรกิจที่ดีเพื่อลดความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จและเจริญเติบโตอย่างมั่นคง ที่ปรึกษาจึงต้องมีขั้นตอนในการให้คำปรึกษาเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจแก่ผู้ประกอบการในการบริหารงาน โดยมีความซื่อสัตย์เป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์ปัญหา ที่ปรึกษาจะไม่นำความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือความเกรงใจมามีส่วนในการวางแผน หรือวิเคราะห์แผนโครงการเพราะจะทำให้เกิดความผิดพลาดส่งผลด้านลบในอนาคตต่อกิจการได้

แนวทางการศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจ: การวิเคราะห์ปัญหา

เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ที่ปรึกษาจะแนะนำให้ศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจเสียก่อน เพราะเป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการวางแผน หลังจากที่ได้ประเมินความสามารถ ความเชี่ยวชาญพิเศษและความพร้อมของผู้ประกอบการแล้ว จึงนำไปสู่การวิเคราะห์ แล้วตัดสินใจว่า ควรจะเดินหน้าทำธุรกิจต่อไป หรือหยุดเพียงแค่นั้น การศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจเป็นงานที่สำคัญ และต้องใช้ความสามารถประกอบกันหลายๆ ด้าน จึงเป็นหน้าที่ของที่ปรึกษาที่ดีที่จะนำข้อมูลจากการศึกษาและวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ นำเสนอต่อผู้ประกอบการ เพราะมีผลโดยตรงต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของธุรกิจ รวมทั้งการประเมินความสามารถในการทำกำไรระยะยาวหรือต่อโครงการใหม่

แผนธุรกิจ: Business Plan

เมื่อผู้ประกอบการตัดสินใจทำธุรกิจ หลังจากที่ปรึกษาได้สรุปผลการประเมินความเป็นไปได้ของธุรกิจแล้ว ขั้นตอนต่อไปเป็นหน้าที่ของที่ปรึกษาที่จะนำเสนอแผนธุรกิจเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ประกอบการแผนธุรกิจ หมายถึงแผนงานทางธุรกิจที่แสดงถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องปฏิบัติในการลงทุนประกอบการเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายที่วางไว้ โดยประกอบด้วยจุดหมายในการผลิตสินค้า หรือการให้บริการ กระบวนการในการปฏิบัติ การใช้งบประมาณและกำลังคน ผลลัพธ์ที่ได้ และการอยู่รอดของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ส่วนสำคัญในการวางแผนธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุนคือการศึกษาโครงการ (Project Feasibility Study) เมื่อศึกษาแล้วจึงนำผลการศึกษามาตัดสินใจ การศึกษาโครงการจึงเป็นส่วนสำคัญในการวางแผนธุรกิจ

หน้าที่ของที่ปรึกษาธุรกิจในการวางแผน

  1. การวางแผนต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและความเป็นจริง และแสวงหาแหล่งข้อมูลข่าวสาร และคำแนะนำจากภายนอก
  2. ต้องมีความยืดหยุ่น ต้องมีการยอมรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดและผู้ประกอบการ แม้มีเงื่อนไขเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็ยังสามารถดำเนินการทดแทนได้
  3. ต้องคาดหมายเหตุการณ์ หรืออุปสรรคต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้
  4. มุ่งผลสัมฤทธิ์

ขั้นตอนสำคัญในการวางแผนธุรกิจ

ระยะเตรียมการลงทุน (Pre-investment Stage)เป็นระยะที่ต้องศึกษาสภาวะทั่วไปของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการลงทุนว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เมื่อเลือกตัวผลิตภัณฑ์ได้แล้วก็จะทำการศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุน (Project Feasibility Study) หลังจากนั้นก็จะนำผลการศึกษาโครงการมาทำการตัดสินใจอีกครั้งว่า มีความเหมาะสมต่อการลงทุนหรือไม่

ระยะเวลาการลงทุน (Investment Stage) เป็นช่วงระยะเวลาที่ตัดสินใจลงทุน โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างอาคาร สั่งซื้อติดตั้งเครื่องจักร รับสมัครพนักงานฝึกอบรมพนักงานในสายการผลิตต่าง ๆ รวมทั้งการประสานหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้โครงการมีความพร้อมและสามารถผลิตได้ตามระบบแผนงานที่วางไว้

ระยะดำเนินการ (Operational Stage) เป็นระยะเปิดดำเนินการผลิตสินค้าตามแผนงานที่กำหนดไว้ โดยผู้ประกอบการระดับผู้บริหารจะเป็นผู้ดูแลและแก้ปัญหาต่าง ๆ รวมทั้งประสานงานให้งานการผลิต การขายการจัดการและการเงินให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ รวมทั้งการประเมินผลงานจนสิ้นสุดโครงการ

การใช้ข้อมูลในการวางแผนและการควบคุม

การวางแผนเป็นการกำหนดวัตถุประสงค์ กลยุทธ์ นโยบาย แผนงาน วิธีการที่จะช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์เหล่านั้น ดังนั้นในการวางแผนที่ปรึกษาจึงจำเป็นต้องใช้ข้อมูล ทั้งข้อมูลภายในองค์กร เช่น ข้อมูลแสดงฐานการเงิน ผลประกอบการ ฯลฯ และข้อมูลภายนอกที่เกี่ยวข้องเช่น สภาวะแวดล้อมภายนอก, ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี, แหล่งวัตถุดิบเพื่อนำมาวิเคราะห์จัดทำแผนที่ดี ที่เหมาะสมกับสภาวะทุกๆ ด้าน และนำไปวิเคราะห์สร้างแผนเพื่อนำเสนอผู้ประกอบการนำไปปฏิบัติ

ประโยชน์ของการวางแผนธุรกิจ

  1. สำหรับผู้ประกอบการ การวางแผนเป็นการกำหนดเป้าหมายในการลงทุน และดำเนินการเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายนั้น โดยกำหนดเป็นกลยุทธ์ในการดำเนินการเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเผชิญกับปัญหาและแก้ปัญหาได้ รวมทั้งนำไปใช้เพื่อกำหนดอนาคตกิจการโดยศึกษาแนวคิดบนกระดาษ เป็นการประหยัดและลดความเสี่ยง
  2. สำหรับสถาบันการเงินเมื่อผู้ประกอบการต้องการความช่วยเหลือด้านเงินทุนเพื่อประกอบธุรกิจ สถาบันทางการเงินจำเป็นต้องดูแผนธุรกิจประกอบเพื่อพิจารณาสินเชื่อ และมองความเป็นไปได้ในการประกอบการเพื่อความสำเร็จอย่างยั่งยืน นอกจากนั้น สถาบันการเงินยังใช้แผนธุรกิจ เพื่อประเมินผลการดำเนินการของกิจการ และระยะเวลาการคืนทุน และผลกำไรที่ได้สอดคล้องกับระยะเวลาการดำเนินธุรกิจ
  3. สำหรับผู้ปฏิบัติงานและนักลงทุนการมีแผนงานในการดำเนินธุรกิจ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความมั่นใจ และเข้าใจตรงกันกับนโยบายของธุรกิจ มีการกำหนดถึงวิธีการแก้ปัญหา และสามารถปฏิบัติงานไปในทิศทางเดียวกัน มีการประสานงานและร่วมมือกันเพื่อสร้างทีมงานได้อย่างเหมาะสมกับหน้าที่และความรับผิดชอบ ส่วนบุคคลภายนอกสามารถดูผลตอบแทนที่กำหนดไว้ในแผนเพื่อใช้ประกอบการตัดสินหากต้องการเข้าร่วมลงทุน

การพัฒนาแผนปฏิบัติงาน : แผนระยะสั้น

แผนปฏิบัติงานหรือแผนประจำปีเป็นแผนระยะสั้นที่ผู้ประกอบการต้องจัดทำขึ้นเพื่อรองรับกลยุทธ์ที่เลือกมาดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ เป็นการแปลงกลยุทธ์สู่การปฏิบัติงานประจำวัน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการบริหารธุรกิจ

ขั้นตอนในการจัดทำแผนปฏิบัติงาน

  1. การกำหนดเป้าหมายที่เฉพาะชัดเจน เพื่อให้บรรลุผลในเวลาที่แน่นอน เช่น เพิ่มยอดขายขึ้น 10% จากปีที่ผ่านมาภายในเดือนมิถุนายน ปีนี้
  2. กำหนดทรัพยากรและกิจกรรมที่จะดำเนินการ เช่น จำนวนสินค้า จำนวนพนักงาน หรือการโฆษณา ที่เพิ่มขึ้นเป็นพิเศษเพื่อเร่งการขายให้เพิ่มขึ้น 10%
  3. กำหนดวิธีการติดตามผลและควบคุมเช่นรายงานการขายประจำเดือน ประมาณการกระแสเงินสด

การดำเนินการ

วิธีดำเนินการขั้นแรกคือ กำหนดวิธีการทางการตลาดเพื่อให้เป็นไปตามแผนที่ได้เลือกไว้แล้วว่าจะใช้การโฆษณา และการส่งเสริมการขายแบบใด จะเริ่มดำเนินการเมื่อใด ต้นทุนเท่าใด สิ่งเหล่านี้ต้องมีการบันทึกและรวบรวมไว้ให้พร้อมที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้ไม่ว่าจะจัดเก็บบันทึกเหล่านั้นไว้ในรูปของกระดาษ หรือด้วยความคอมพิวเตอร์

การจัดทำงบประมาณเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนปฏิบัติงาน หากสามารถกำหนดงบประมาณได้อย่างเหมาะสมจะช่วยในการติดตามผลการดำเนินงานรายเดือนได้เป็นอย่างดี โดยเปรียบเทียบกับยอดขาย จัดซื้อ และกระแสเงินสด ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ทันเหตุการณ์แผนปฏิบัติงานจะครอบคลุมถึงตารางการทำงาน ตารางการจัดซื้อ ตารางฝึกอบรมพนักงานและงานพิเศษอื่นๆ เช่นการซ่อมแซมสถานที่ หรือการติดตั้งเครื่องจักรใหม่

การเตรียมแผนสำรองเหตุฉุกเฉิน : Contingency Plan

ในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องนั้น สิ่งที่ไม่ได้คาดคิดนานาประการอาจเกิดขึ้นได้ เช่นการสูญเสียบุคคลระดับผู้นำธุรกิจการเสียหายของเครื่องอุปกรณ์หลัก เช่นเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตเครื่องอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ส่วนกลางเพลิงไหม้ น้ำท่วมแผ่นดินไหว การก่อการร้ายไฟฟ้าดับนาน 10 ชั่วโมงติดต่อกัน หรือการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างเฉียบพลัน เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ให้คำปรึกษาธุรกิจมีหน้าที่ให้คำแนะนำเพื่อผู้บริหารควรมีแผนสำรองเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานะการณ์

เครื่องมือบริหารแผนธุรกิจ : Balance Scorecard(BSC)

David Nortonและ Robert Kaplan (1996) ได้ร่วมกันพัฒนาและเสนอแนวคิดใหม่เรียกว่า Balance Scorecard (BSC) ซึ่งมีแนวคิดพื้นฐานคือ ความสำเร็จขององค์กรไม่ควรวัดด้วยความสำเร็จด้านการเงินเพียงด้านเดียว ควรเพิ่มมุมมอง (Perspective) เป็น 4ด้านซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ประกอบด้วย มุมมองด้านการเงิน (Financial Perspective) มุมมองด้านลูกค้า (Customer Perspective) มุมมองด้านกระบวนการภายใน(Internal Process Perspective) และมุมมองด้านการเรียนรู้และพัฒนา (Learning and Growth Perspective)มุมมองทั้งสี่ด้านจะมีวิสัยทัศน์และกลยุทธ์เป็นแกนกลางในการเชื่อมโยง โดยแต่ละมุมมองจะมีวัตถุประสงค์ในการวัดเป้าหมายและแผนงานหรือกิจกรรมประกอบอยู่ภายใน

เป้าหมายระยะยาว : Long Range Goals

ในการกำหนดเป้าหมายระยะยาวของธุรกิจ SMEs ผู้ประกอบการต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าต้องการบรรลุเป้าหมายอะไรและภายในเวลาใด เช่น ต้องการมีสัดส่วนการครองตลาด 20% ภายใน 5 ปี เพื่อจะได้มีแนวทางการกำหนดวัตถุประสงค์ให้สอดคล้องกับนโยบาย พันธกิจและแผนงาน โดยใช้เครื่องมือบริหารแผนธุรกิจ (BSC) ในมุมมองสี่ด้าน

• ด้านการเงิน (Financial) กำหนดวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวกับผลกำไร ผลตอบแทนจากการลงทุน ความสามารถในการอยู่รอดของกิจการ เป็นต้น• ด้านลูกค้า (Customer) กำหนดวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวกับการพัฒนาสินค้าและการบริการที่ลูกค้าต้องการ การสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า การเป็นผู้นำตลาด การสร้างภาพลักษณ์ของกิจการ เป็นต้น• ด้านกระบวนการดำเนินงานภายใน (Internal Business Process) กำหนดวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการจัดการกระบวนการภายในกิจการให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ หรือเพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรภายในได้อย่างคุ้มค่า เป็นต้น• ด้านกระบวนการเรียนรู้และเติบโต (Learning and Growth) กำหนดวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลภายใน ระบบประเมินผลและระบบสร้างแรงจูงใจในการทำงาน การสร้างค่านิยมร่วมภายในกิจการ เป็นต้น

พันธกิจและเป้าหมายระยะยาวคือ กรอบหรือทิศทางในการดำเนินธุรกิจที่ผู้ประกอบการต้องบริหารธุรกรรมต่าง ๆสอดคล้องประสานกันอยู่ตลอดเวลาเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้

สรุป

ที่ปรึกษาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีความสำคัญต่อธุรกิจ SMEs เพราะ SMEs ได้ก่อให้เกิดการจ้างงานและเสียภาษีให้รัฐนำเงินไปพัฒนาประเทศสามารถสร้างรายได้แก่ประชาชนได้มากกว่า 9.7 ล้านคน บทบาทสำคัญของที่ปรึกษาวิสาหกิจคือ การให้คำปรึกษาที่ถูกต้อง เหมาะสม ชี้ทางปฏิบัติกับบุคคลที่ถูกต้อง ในเวลาที่ถูกต้องเพื่อให้การขับเคลื่อนสิ่งต่าง ๆในองค์กรสู่ความสำเร็จ สิ่งสำคัญในการปฏิบัติงานของที่ปรึกษาคือไม่มีหน้าที่บริหารจัดการ หรือตัดสินใจในนามผู้ประกอบการ เป็นเพียงผู้ “ช่วย” ให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายองค์กรเท่านั้น ดังนั้นขอบข่ายความรับผิดชอบของที่ปรึกษาวิสาหกิจ SMEs คือการเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ มีคุณธรรมจริยธรรมและปฏิบัติงานอย่างซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา.

บรรณานุกรม

คู่มือที่ปรึกษาธุรกิจชนาดกลางและขนาดย่อม, Program for APEC-IBIZ. กรุงเทพฯ: สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ. 2544.ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ผลการศึกษาบทรายงานและการวิเคราะห์ของฝ่ายบริหาร (Management Discussion and Analysis MD&A). กรุงเทพฯ: 31ธันวาคม 2540.ธงชัย สันติวงษ์. การบริหารเชิงกลยุทธ์, Strategic Management.กรุงเทพฯ: บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด. พิมพ์ครั้งที่ 2, 2539.วีรพจน์ ลือประสิทธิ์สกุล. ItoshinKanri and Strategic Planning(TQM LIVING HANDBOOK).กรุงเทพฯ: `บริษัท บีพีอาร์ แอนด์ ทีคิวเอ็ม คอนซัสแตนท์ จำกัด. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2541.วรภัทร ภู่เจริญ. ดัชนีวัดผลงาน (Key Performance Indicators).กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สถาบันวิทยาการจัดการแห่งเอเชีย (AIMS). พิมพ์ครั้งที่ 1, 2545.สุรศักดิ์ นานานุกูล. การวางแผนกลยุทธ์เป็นทีม (Strategic Team Planning).กรุงเทพฯ: เอกสารฝึกอบรมบริษัท ควอลิตี้โฟกัส จำกัดสำนักพัฒนาหน่วยบริการอุตสาหกรรม. แนวทางการให้บริการในบทบาทของที่ปรึกษาธุรกิจอุตสาหกรรม. กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม. กรุงเทพฯ : 2533.Arnoldo C. Hax and Nicolas S. Majluf. The Strategy Concept and Process: A Programmatic Approach. Prentice – Hall. Inc., Second Edition.Boys Fraser. Principle of information System: A Managerial Approach. 2nd ed. Massachusetts, 1996.David Norton andRobert Kaplan.The Balanced Scorecard Translating Strategy In Action.Boston: Harvard Business School Press, 1996.

หมายเลขบันทึก: 668220เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2019 16:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2019 17:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท