PeeNate
ผศ. ดร. ตรีเนตร ตันตระกูล

การพัฒนาผู้นำในชนบท : ผศ.ดร.ตรีเนตร ตันตระกูล


บทความสารคดีบทบาทของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในการพัฒนาชนบท ตรีเนตร ตันตระกูล¹

บทคัดย่อ บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายบทบาทกำนันผู้ใหญ่บ้านที่ทำหน้าที่ในการพัฒนาชนบท ในสามบทบาทคือ บทบาทตัวแทนภาครัฐ บทบาทผู้นำชุมชน และบทบาทนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งพบว่าบทบาทของกำนันผู้ใหญ่บ้านมีองค์ประกอบทั้งหมด 17 องค์ประกอบคือ ด้านส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม ด้านการบริหารกำลังคน ด้านการสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ ด้านความรับผิดชอบ ด้านการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรม ด้านความสนใจต่อสมาชิกแต่ละคน ด้านการเผยแพร่ข่าวสารและดูแลสภาพแวดล้อม ด้านการให้บริการ ด้านการเป็นหัวหน้าชุมชน ด้านการจัดตั้งและพัฒนากลุ่มอาชีพ ด้านการให้ความยุติธรรม ด้านการเผยแพร่ความรู้ใหม่ๆ ด้านการเป็นแหล่งข่าวทางราชการ ด้านการป้องกันและการช่วยเหลือ ด้านการรักษาระเบียบวินัยของคนในชุมชน ด้านการป้องกันอบายมุข ด้านการรักษาความสะอาดของครัวเรือน และเมื่อนำบทบาทของกำนันผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับรางวัลกำนันผู้ใหญ่บ้านที่มีผลงานพัฒนาดีเด่นมาเปรียบเทียบกับกำนันผู้ใหญ่บ้านที่ไม่ได้รับรางวัล พบว่ามีความแตกต่างกันในเรื่องการรักษาระเบียบวินัยของคนในชุมชนกับด้านการรักษาความสะอาดของครัวเรือน

คำสำคัญ : กำนันผู้ใหญ่บ้าน, นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์, รางวัลกำนันผู้ใหญ่บ้านที่มีผลงานพัฒนาดีเด่น

¹นักศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง Email: [email protected]

บทนำประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 (2504-2509) หลังจากธนาคารโลก (World Bank) เข้ามาสำรวจสภาวะเศรษฐกิจของไทยและมีข้อเสนอแนวทางการพัฒนา โดยใช้กลยุทธ์การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มรายได้ประชาชาติ (ดำรงค์ ฐานดี, 2538:157) และเพื่อให้สามารถเข้าสู่การแข่งขันในโลกตลาดเสรีเท่าเทียมต่างประเทศ ทำให้ไทยต้องปรับกระบวนการพัฒนาภายใต้เศรษฐกิจทุนนิยมยุคใหม่ จากพื้นฐานประเทศเกษตรกรรม ปรับเปลี่ยนสู่ฐานการผลิตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ประกอบกับกระแสโลกาภิวัตน์ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศและการพัฒนาชนบทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งหลังจากมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาแล้ว 7 ฉบับ ผลการพัฒนากลับทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในด้านเศรษฐกิจระหว่างชุมชนเมืองกับชนบท ปัญหาความยากจนเรื้อรัง ปัญหาหนี้สินและความเสื่อมโทรมด้านสภาพแวดล้อม จากปัญหาดังกล่าวทำให้ทุกรัฐบาลให้ความสำคัญกับบทบาทภาครัฐในการพัฒนาด้วยการมอบหมายให้กระทรวงและองค์การต่างๆ ร่วมกันในการพัฒนาประเทศพร้อมกันในทุกๆด้านเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในชนบท โดยเฉพาะแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 (2540-2544) เป็นฉบับที่เปลี่ยนวิธีการพัฒนาโดยหันมาเน้นที่ “การพัฒนาคน” โดยมุ่งให้ คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา และเกิดการบูรณาการเป็นองค์รวม ทั้งด้านศักยภาพของคน สภาพแวดล้อมของสังคม สมรรถนะทางเศรษฐกิจและภาครัฐ เพื่อให้คนชนบทมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การกระจายการพัฒนาสู่คนในชนบทซึ่งมีจำนวนมากถึง 34,961,000 คน (มหาวิทยาลัยมหิดล,สถาบันวิจัยประชากรและสังคม, 2556: 1-2) เพื่อให้คนเหล่านั้นสามารถดูแลและบริหารงาน บริหารอาชีพด้วยตนเองได้ รัฐบาลจึงให้กระทรวงมหาดไทยซึ่งมีหน้าที่หลักคือ การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน (สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย, 2545) รับผิดชอบเพื่อนำนโยบายและใช้เครื่องมือที่เหมาะสมไปใช้ในการพัฒนา โดยกลไกหนึ่งที่กระทรวงมหาดไทยใช้ในการบริหารงานในส่วนภูมิภาคคือ การสร้างผู้นำชุมชนที่ประชาชนยอมรับและสามารถปฏิบัติงานตามแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายจากส่วนกลาง กำนันผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทยในระดับที่ใกล้ชิดกับชาวชนบทมากที่สุดจึงนับเป็นกลไกสำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างนโยบายกับการปฏิบัติและเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็งได้ (อภิชัย สมบูรณ์ปกรณ์, 2549)กำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขณะเดียวกันยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนเพราะมีที่มาจากการเลือกของคนในพื้นที่ ในอดีตคนในชนบทพึ่งพาบทบาทและอำนาจหน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นส่วนมาก เพราะนอกจากการทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว กำนันผู้ใหญ่บ้านยังเป็น ผู้นำทางความคิด รวมทั้งนำความเจริญจากภายนอกเข้ามาในหมู่บ้าน (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, 2546) จากบทบาทดังกล่าว กำนันผู้ใหญ่บ้านจึงทำหน้าที่เหมือนเป็นนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในชนบท โดยพชร สันทัด (2555: 15-26) อธิบายว่าบุคลากรหรือทรัพยากรมนุษย์ คือผู้ผลักดันและดำเนินงานให้นโยบาย แผนการและมาตรการต่างๆขององค์การบรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์การที่กำนันผู้ใหญ่บ้านทำหน้าที่ด้วยความเสียสละ และสามารถพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้ากระทรวงมหาดไทยจึงมอบรางวัลให้แก่ผู้ที่มีผลงานพัฒนาดีเด่นหรือที่เรียกว่า “รางวัลกำนันผู้ใหญ่บ้านแหนบทองคำ” ในวันที่ 10 สิงหาคม ของทุกปี ซึ่งรางวัลดังกล่าวมีหลักการพิจารณาสำคัญแบ่งเป็น 4 ด้าน (สุริยะ วิริยะสวัสดิ์, 2556) คือ1. มีความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อส่วนรวม 2. เก่งด้านความประพฤติและตั้งใจทำงาน 3. เก่งการบริหารงาน4. เก่งในการนำราษฎรในตำบล หมู่บ้านไปในทิศทางที่ชัดเจนแต่ในขณะเดียวกันจากการเปลี่ยนแปลงในมาตราที่ 14 (11) แห่งพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2551 ได้กำหนดให้ผู้ใหญ่บ้านพ้นจากตำแหน่ง เมื่อมีอายุครบหกสิบปี และไม่ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงานโดยให้ประชาชนเป็นผู้มีส่วนร่วมในการประเมินด้วย (สุนทรชัย ชอบยศ, 2555) จากประเด็นดังกล่าว กำนันผู้ใหญ่บ้านจึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับภาระหน้าที่ ในสภาวะการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและสภาพแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อให้สถาบันกำนันผู้ใหญ่บ้านยังคงดำรงอยู่คู่กับนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพื่อให้บรรลุจุดหมายร่วมกันคือ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนชนบทการที่มีผู้ได้รับตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยมตั้งแต่พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา นับเป็นระยะเวลาที่ยาวนานถึง 64 ปี บทบาทของกำนันผู้ใหญ่บ้าน ที่เป็นผู้นำชุมชนในท้องถิ่น จึงเป็นสิ่งที่ควรศึกษาว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้นำแต่ละคนมีบทบาทต่างกัน ผู้นำแต่ละคนมีกลยุทธ์และวิธีการอย่างไรในการปฏิบัติงานที่แตกต่างจากกำนันผู้ใหญ่บ้านคนอื่นๆ จนนำไปสู่การพัฒนาชนบทให้ประสบความสำเร็จและประชาชนต่างให้การยอมรับ สามารถผ่านกระบวนการพิจารณาตามกฎเกณฑ์ที่กระทรวงกำหนด ทั้งนี้เพราะผู้นำท้องถิ่นเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด การพัฒนาใด ๆ จะประสบความสำเร็จไม่ได้หากคนในชุมชนไม่มองเห็น ยอมรับและปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันกับผู้นำของตนอย่างไรก็ตามเมื่อกำนันผู้ใหญ่บ้านต้องรับหน้าที่พร้อมกันทั้งสามบทบาทย่อมทำให้เกิดแรงกดดันเพื่อทำงานอย่างเต็มความสามารถ ซึ่งฟาริสและแพรี่ (Faris and Parry, 2011: 132-151) อธิบายว่าภาวะผู้นำในการบริหารจัดการองค์การภาครัฐจะเผชิญกับแรงกดดันทางด้านระเบียบข้อบังคับรวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการบริหารราชการ ดังนั้นกำนันผู้ใหญ่บ้านที่มีความอดทนมีความมานะพยายามเพื่อให้งานประสบความสำเร็จจึงเป็นผู้ที่องค์การปรารถนาสอดคล้องกับงานวิจัยของภิชา ผลเรือง (2555) ที่ศึกษากระบวนการพัฒนาภาวะผู้นำของผู้นำชุมชนตามแนวมาตรฐานผู้นำชุมชนในประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) พบว่าการพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชนเมื่อผู้นำผ่านกระบวนการพัฒนาแล้ว มีพลังที่จะขับเคลื่อน พูดเก่ง พูดดีมีลีลา มีความอดทนอดกลั้น มีอุดมคติ มีอุดมการณ์นักพัฒนา เสียสละและรับผิดชอบ เมื่อพิจารณาถึงบทบาทหน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้านจากอดีตถึงปัจจุบันในแง่ของการพัฒนาอาจสรุปได้ว่ากำนันผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่สำคัญคือการพัฒนาชนบท พัฒนาหมู่บ้านและสภาพแวดล้อมให้มีคุณภาพที่ดี ซึ่งหมายถึงทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่ประกอบด้วย ด้านสุขภาพ ด้านที่อยู่อาศัย ด้านการศึกษา ด้านการประกอบอาชีพและด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต โดยนายสุริยะ วิริยะสวัสดิ์ (2556) รองอธิการวิทยาลัยการปกครองได้กล่าวบรรยายเพื่อให้ความรู้แก่กำนันผู้ใหญ่บ้านว่า หน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้านในการพัฒนาชุมชนหรือการพัฒนาสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านอย่างยั่งยืนเป็นหน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้านและคนในหมู่บ้านร่วมกันคิดร่วมกันทำเพื่ออนุรักษ์ รักษา และใช้ประโยชน์ของสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ต่อคนรุ่นปัจจุบันไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานต่อ ๆไปภายใต้สภาพการณ์ปัจจุบันที่รัฐกำหนดนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลมีความเข้มแข็งและสามารถสนองตอบความต้องการของประชาชนในพื้นที่มากขึ้น แต่บทบาทของกำนันผู้ใหญ่บ้านในฐานะตัวแทนของรัฐก็ยังคงมีความสำคัญในด้านการเชื่อมโยงและประสานราชการระหว่างส่วนกลางกับส่วนภูมิภาค (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, 2546) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ห่างไกลมีความเป็นชนบทสูงในปัจจุบันตำแหน่งของกำนันผู้ใหญ่บ้านยังคงเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองของกระทรวงมหาดไทย และเป็นตัวแทนของประชาชนในชนบท จึงควรได้รับการพัฒนาและส่งเสริมให้มีคุณภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งองค์การ ทั้งนี้เพื่อให้กำนันผู้ใหญ่บ้านนำความรู้ ความสามารถไปพัฒนาประชาชนในทุกพื้นที่ให้ได้รับการพัฒนาไปในกรอบที่เป็นทิศทางเดียวกัน เพื่อจะได้ประสบความสำเร็จตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่วางไว้ ดังนั้นความสำเร็จในการพัฒนาชุมชนจึงขึ้นกับความสามารถของกำนันผู้ใหญ่บ้านที่จะทำให้เกิดการยอมรับและการให้ความร่วมมือ ซึ่งผู้นำแต่ละคนย่อมมีวิธีการในการบริหารจัดการที่ไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ย่อมขึ้นกับปัจจัยที่แตกต่างกันออกไป ผู้วิจัยจึงนำคุณสมบัติต่างๆตามทฤษฎี ข้อกำหนดและจากงานวิจัยมาสรุปเป็นคุณสมบัติที่คาดหวังในเบื้องต้นเพื่อใช้เป็นกรอบในการศึกษากรอบแนวคิดการศึกษา

วิธีการวิจัย จากกรอบแนวคิดจึงได้ข้อสรุปบทบาทกำนันผู้ใหญ่บ้านประกอบด้วยบทบาทย่อย 3 บทบาทคือ บทบาทผู้นำชุมชน บทบาทตัวแทนของรัฐ และบทบาทนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่กำนันผู้ใหญ่บ้านปฏิบัติไปในคราวเดียวกัน ซึ่งในแต่ละบทบาทยังมีตัวแปรที่มีความซ้ำซ้อน และแตกต่างกันหลายตัวแปร จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการวิจัย ในการหาองค์ประกอบภายในแต่ละบทบาทได้ชัดเจน เพื่อประโยชน์ในการพัฒนากำนันผู้ใหญ่บ้านในอนาคต ในการศึกษานี้ ผู้วิจัยเลือกใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณโดยสร้างแบบสอบความคิดเห็นและนำไปให้ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบคุณภาพความตรงเชิงเนื้อหาและนำไปใช้กับประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่เป็นกำนันผู้ใหญ่บ้าน 1,007 คนในจังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีข้อคำถามทั้งหมด 65 ข้อ แบ่งเป็นคำถามข้อมูลเบื้องต้น 11 ข้อ และข้อคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมของกำนันผู้ใหญ่บ้านที่เป็นบทบาทตัวแทนภาครัฐ บทบาทผู้นำชุมชน และบทบาทนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 54 ข้อ เมื่อได้คำตอบแล้วจึงนำไปวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อค้นหาองค์ประกอบของบทบาท และหาความแตกต่างระหว่างกำนันผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับรางวัลกำนันผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยมกับผู้ที่ไม่ได้รับรางวัลผลการศึกษา ภายใต้บริบทผู้นำชุมชน ตัวแทนภาครัฐ และนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่กำนันผู้ใหญ่บ้านดำเนินพฤติกรรมไปในคราวเดียวกัน จากผลวิเคราะห์พบว่ากำนันผู้ใหญ่บ้านใช้บทบาทต่างๆกัน 17 บทบาท ในการพัฒนาชนบท แต่ขณะเดียวกันในทุกบทบาทยังมีรายละเอียดที่กำนันผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับรางวัลและไม่ได้รับรางวัลปฏิบัติเหมือนกัน และปฏิบัติแตกต่างกัน ดังนี้ตาราง 1 องค์ประกอบของบทบาทของกำนันผู้ใหญ่บ้าน องค์ประกอบ ตัวแปร1. บทบาทด้านส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม - การชักจูงให้คนในชุมชนรู้จักการแบ่งปันให้แก่คนที่ควรให้ด้วยความเต็มใจ- การสนับสนุนให้คนในชุมชนรู้จักตอบแทนบุญคุณคนอื่น- การชักชวนให้คนในชุมชนพร้อมให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน- การส่งเสริมให้คนในชุมชนมีความประพฤติที่ซื่อตรง- การควบคุมให้คนในชุมชนอยู่ในกฎและระเบียบ- การชักจูงให้คนในชุมชนปฏิบัติต่อบุคคลอื่นอย่างสุภาพอ่อนโยน 2. บทบาทด้านการบริหารกำลังคน - การจัดการประชุมเพื่อให้คนในชุมชนช่วยกันแก้ปัญหา- การพิจารณาบุคคลที่มีความสามารถมาช่วยในแต่ละกิจกรรมได้เหมาะสม- ความสามารถในการประมาณการจำนวนคนที่จะเข้าช่วยในแต่ละกิจกรรมได้ เหมาะสม- การพิจารณาชนิดของงานให้เหมาะสมกับคุณสมบัติของแต่ละคน- ความพร้อมที่จะรับผลที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดความผิดพลาด3. บทบาทด้านการสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ - การเชิญวิทยากรจากหน่วยงานต่างๆมาให้ความรู้แก่คนในชุมชน- การส่งคนในชุมชนไปดูงานอาชีพในพื้นที่อื่นที่ประสบความสำเร็จ- การจัดให้มีการฝึกอบรมอาชีพต่างๆ- การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่นนอกชุมชน4. บทบาทด้านความรับผิดชอบ - การใช้ความอดทนต่อปัญหาและอุปสรรค- การใช้ความพยายามทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จตามกำหนด- การทำงานให้ถูกต้องตามข้อบังคับและกฎหมาย5. บทบาทด้านการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรม - การจัดให้มีกิจกรรมให้คนในชุมชนดูแลสภาพแวดล้อมร่วมกัน- การชักชวนให้คนในชุมชนช่วยกันดูแลรักษาแหล่งน้ำธรรมชาติ- การดูแลการดำเนินการของกลุ่มออมทรัพย์ในชุมชน- การจัดให้มีกิจกรรมในเทศกาล ประเพณีของไทย- การรณรงค์ให้คนในชุมชนร่วมกันรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณีของไทย- การจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดความสามัคคี6. บทบาทด้านความสนใจต่อสมาชิกแต่ละคน - การติดตาม สอดส่องการกระทำผิดกฎหมาย- การจัดแบ่งงานไม่ให้กระทบกับเวลาส่วนตัวของแต่ละคน- การแยกแยะผลงานที่เกิดขึ้นจากงานของสมาชิกในชุมชน- การจัดลำดับผลงานที่เกิดขึ้นก่อน-หลัง เพื่อความต่อเนื่องของงาน- การทำให้คนในชุมชนเห็นว่าแต่ละคนมีส่วนช่วยในการทำงานของทีมงานทั้งหมด7. บทบาทด้านการเผยแพร่ข่าวสารและดูแลสภาพแวดล้อม - การเผยแพร่ข่าวสารผ่านสื่อต่างๆในชุมชน- การจัดการประชุมเพื่อเผยแพร่ข่าวสาร- การชี้แจงข่าวสารแก่คนในชุมชน- การจัดให้คนในชุมชนช่วยกันดูแลสภาพแวดล้อม8. บทบาทด้านการให้บริการ - การจัดให้มีการบริการด้านทะเบียนแก่คนในชุมชน- การเป็นผู้ติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคนในชุมชน- การขอความช่วยเหลือหน่วยงานเมื่อคนในชุมชนได้รับความเดือดร้อน9. บทบาทด้านการเป็นหัวหน้าชุมชน - การแสดงให้สมาชิกเห็นความสัมพันธ์ระหว่างงานกับชุมชน- การประพฤติตนถูกต้องตามขนบธรรมเนียม ประเพณี- การชื่นชมผลงานของสมาชิกในที่ประชุม- การสนับสนุนความมานะพยายามในการทำงานของคนในชุมชน10. องค์ประกอบในบทบาทด้านการจัดตั้งและพัฒนากลุ่มอาชีพ - การจัดตั้งกลุ่มอาชีพต่างๆ- การขอความช่วยเหลือหน่วยงาน เข้ามาให้ความรู้กลุ่มอาชีพต่างๆ ในชุมชน11. บทบาทด้านการให้ความยุติธรรม - การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชุมชนอย่างไม่ลำเอียง- การตั้งกรรมการขึ้นเพื่อตัดสินข้อพิพาทในชุมชน12. บทบาทด้านการเผยแพร่ความรู้ใหม่ๆ - การศึกษาทำความเข้าใจความรู้ใหม่ๆ- การเผยแพร่ความรู้ที่ได้รับให้คนในชุมชน13. บทบาทด้านการเป็นแหล่งข่าวทางราชการ - การติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชน- การหาข่าวเกี่ยวกับการใช้ยาเสพติดและการกระทำผิดกฎหมาย- การพูดคุย แลกเปลี่ยน ความคิดเห็นกับคนในชุมชน14. บทบาทด้านการป้องกันและการช่วยเหลือ - การรณรงค์คนในชุมชนต่อต้านการใช้ยาเสพติด- การช่วยเหลือคนในชุมชนอย่างรวดเร็วเมื่อเกิดภัยพิบัติ15. บทบาทด้านการรักษาระเบียบวินัยของคนในชุมชน - การควบคุมให้คนในชุมชนอยู่ในกฎและระเบียบ16. บทบาทด้านการป้องกันอบายมุข - การตรวจตราพื้นที่เพื่อไม่ให้มีบ่อนการพนัน- การชักชวนให้คนในชุมชนเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา17. บทบาทด้านการรักษาความสะอาดของครัวเรือน - การสนับสนุนให้แต่ละครัวเรือนทำความสะอาดบริเวณบ้านของตน

จากตารางข้างต้นจึงนำมาจัดกลุ่มเพื่อพิจารณาว่ากำนันผู้ใหญ่บ้านใช้องค์ประกอบในบทบาทใดมากที่สุด ระหว่างบทบาทตัวแทนภาครัฐ บทบาทการเป็นตัวแทนประชาชน และบทบาทนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

อภิปรายผล1. บทบาทตัวแทนภาครัฐ กำนันผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่พัฒนาท้องถิ่นด้วยการรับและนำนโยบายไปปฏิบัติโดยยึดหลักกฎหมายและประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก โดยต้องทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ (4) ขณะเดียวกันยังทำหน้าที่เป็นแหล่งข่าวทางราชการเพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรม (13) และประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารทางราชการให้หมู่บ้านได้รับทราบ (7) พร้อมทั้งทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคนในชุมชน รวมทั้งการขอความช่วยเหลือเมื่อประสบความเดือดร้อน (8) ตลอดจนควบคุมให้คนในชุมชนอยู่ในกฎและระเบียบ (15) ในบทบาทตัวแทนภาครัฐทำให้กำนันผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่รักษาความมั่นคงและสงบเรียบร้อยในชุมชนด้วยการป้องกันมิให้มีการกระทำผิดกฎหมาย ขณะเดียวกันยังทำหน้าที่ปราบปรามเมื่อมีการกระทำผิด เพราะในสังคมตามปกติ การที่ผู้คนปฏิบัติตนภายใต้ระเบียบ ระบบ และกฎเกณฑ์ต่างๆ จะทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกปลอดภัยและมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน2. บทบาทการเป็นตัวแทนประชาชน ในฐานะที่กำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นหัวหน้าชุมชนจึงควรให้ความสำคัญกับทุกคนในชุมชน (6) ด้วยการสนับสนุนความมานะพยายามในการทำงาน (9) หรือทำหน้าที่จัดกิจกรรมต่างๆเพื่อให้เกิดความสามัคคี ส่งเสริมให้ร่วมกันดูแลสภาพแวดล้อม อนุรักษ์และรักษาแหล่งน้ำธรรมชาติ (5) รวมทั้งทำหน้าที่ดูแลการดำเนินการของกลุ่มออมทรัพย์ (10) ตลอดจนรณรงค์ให้คนในชุมชนร่วมกันรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณีของไทย การทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนในกิจกรรมต่างๆ และส่งเสริมให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 11 พ.ศ. 2555-2559 ที่กำหนดยุทธศาสตร์สำคัญในด้านการพัฒนาศักยภาพประชาชนด้วยการให้ประชาชนมีบทบาทสำคัญในกระบวนการพัฒนา 3. บทบาทการเป็นนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กำนันผู้ใหญ่บ้านใช้บทบาทด้านส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม (1) ด้านการบริหารกำลังคน (2) ด้านการสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ (3) ด้านความสนใจต่อสมาชิกแต่ละคน (6) ด้านการให้ความยุติธรรม (11) ด้านการเผยแพร่ความรู้ใหม่ๆ (12) ด้านการป้องกันอบายมุขและการใช้ยาเสพติดตลอดจนช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติ (14,16) และด้านการรักษาความสะอาดของครัวเรือน (17) บทบาทการเป็นนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของกำนันผู้ใหญ่บ้านสอดคล้องกับสมรรถนะของนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ขององค์การราชการในประเทศไทยที่ข้าราชการควรมี (สำนักงานข้าราชการพลเรือน, 2548, หน้า 48-50) ซึ่งระบุว่าข้าราชการควรมีความสามารถในการวางแผนและการบริหารกำลังคน, การบริหารผลงานและการสร้างวัฒนธรรมที่เน้นผลงาน, การบริหารกำลังคนกลุ่มที่มีทักษะและสมรรถนะสูง, ภาวะผู้นำ, การบริหารองค์ความรู้ ความสามารถ ทักษะและประสบการณ์ในการจัดและบริหารระบบ จากทั้ง 3 บทบาทพบว่ากำนันผู้ใหญ่บ้านใช้บทบาทในด้านการเป็นนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มากกว่าบทบาทด้านอื่นซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 - 2544) ต่อเนื่องมาจนถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ( พ.ศ.2555 – 2559) ที่กำหนดให้การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นหัวใจสำคัญของแผนฯ ตามแนวคิดที่ว่า การพัฒนาประเทศคือการพัฒนาคนเพื่อให้สามารถปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม นอกจากจัดองค์ประกอบของบทบาทกำนันผู้ใหญ่บ้านแล้ว ยังพบความแตกต่างของบทบาทระหว่างคน 2 กลุ่มคือกำนันผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับรางวัลผลงานการพัฒนาดีเด่นกับผู้ที่ไม่ได้รับรางวัล โดยทั้งสองกลุ่มปฏิบัติเหมือนกัน 15 บทบาท แต่มี 2 บทบาทที่กลุ่มได้รับรางวัลใช้บทบาทด้านนี้มากกว่า คือบทบาทที่ 15 การรักษาระเบียบวินัยของชุมชน กับบทบาทที่ 17 การรักษาความสะอาดของครัวเรือน จากประเด็นนี้ผู้วิจัยจึงวิเคราะห์ถึงที่มาของความแตกต่าง ดังนี้ ในหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0311.2/ว 1869 (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, 2546) ระบุการปฏิบัติงานของกำนันผู้ใหญ่ในข้อ 2.1 ด้านการปกครองว่า มีหน้าที่ดูแลลูกบ้านให้ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งจะต้องกระทำตามกฎหมาย หรือระเบียบแบบแผนของทางราชการ กระทำตนเป็นตัวอย่างแก่ราษฎร แต่ในการวิจัยของกรมการปกครอง (2540) ได้ข้อสรุปที่แตกต่างออกไป โดยพบว่าการควบคุมดูแลลูกบ้านของกำนันผู้ใหญ่บ้านให้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบแบบแผน เป็นเรื่องที่ปฏิบัติได้ปานกลาง ซึ่งหมายความว่ากำนันผู้ใหญ่บ้านส่วนใหญ่ยังไม่ให้ความสำคัญเพียงพอ หรือให้ความสำคัญน้อยในการปฏิบัติตามกฎหมายของคนในชุมชน ทั้งนี้เนื่องจากหมู่บ้านในชนบทมีประชากรไม่มาก คนส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์ และใกล้ชิดเหมือนเป็นเครือญาติ เมื่อพบการกระทำผิดทำให้มีความเกรงใจและย่อหย่อนไม่เคร่งครัดด้านกฎหมาย ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อผู้อื่นให้เสียหาย ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือ ศรัทธาและรู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรมอันเป็นที่มาของความขัดแย้งจนส่งผลเสียในการทำงาน จากเหตุผลดังกล่าวหากกำนันผู้ใหญ่บ้านทุกคนแสดงบทบาทการทำงานอย่างจริงจัง ตรงไปตรงมาและปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายย่อมได้รับความไว้วางใจความมั่นใจจากลูกบ้าน และจากฝ่ายปกครอง ส่วนประเด็นการรักษาความสะอาดของครัวเรือน กำนันผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับรางวัลสนับสนุนให้แต่ละครัวเรือนทำความสะอาดบริเวณบ้านของตน เป็นบทบาทที่สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยกรมพัฒนาชุมชนในมิติเรื่องการมีสุขภาพอนามัยที่ดี และการมีคุณภาพของที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต และพัฒนาสังคม การจะมี “สุขภาพ” ที่ดีจึงขึ้นกับสิ่งแวดล้อมที่อยู่ภายในบ้านตนเอง ดังนั้นการที่กำนันผู้ใหญ่บ้านให้ความสำคัญในการรักษาความสะอาดในบริเวณบ้าน เป็นการมองในภาพรวมว่า ปัญหาอาจมีที่มาจากจุดเล็กๆ แต่สามารถส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่เชื่อมโยงไปสู่สังคมในวงกว้าง เช่นปัญหาของครัวเรือนที่ไม่รักษาความสะอาดในหมู่บ้านมีการระบายน้ำที่สกปรกลงสู่คูคลอง ส่งผลต่อระบบนิเวศน์ สิ่งมีชีวิตและสภาพแวดล้อม ปัญหาขยะมูลฝอยที่ไม่ได้รับการกำจัดและกลบฝังให้ถูกวิธี จะส่งผลต่อสุขภาพอนามัยอันเป็นที่มาของโรคภัยต่างๆ ทำให้ร่างกายอ่อนแอเกิดปัญหาด้านสุขภาพและส่งผลในการทำงาน กระทบด้านรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ และสุดท้ายคือทำให้คุณภาพชีวิตลดลง
ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 8 จนถึงฉบับที่ 11 ล้วนมุ่งเน้นในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยมียุทธศาสตร์สำคัญด้านการพัฒนาศักยภาพของคน และมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนเพื่อพ้นจากความยากจนและต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ในชนบท โดยหากย่อประเทศไทยเสมือนเป็นองค์การหนึ่ง กำนันผู้ใหญ่บ้านคือนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่มีหน้าที่และบทบาทสำคัญคือเป็นสื่อนำการเปลี่ยนแปลงในองค์การ กำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ที่ช่วยให้นโยบายประสบความสำเร็จด้วยการปฏิบัติตามแนวทางที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด แต่ในทางปฏิบัติกำนันผู้ใหญ่บ้านแต่ละคนมีความสามารถด้านการทำงานไม่เท่ากัน จึงมีทั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับรางวัลและไม่ได้รับรางวัล ผู้ที่ได้รับรางวัลจึงเป็นผู้ที่มีมุมมอง วิสัยทัศน์ และแสดงบทบาทที่แตกต่างออกไป อย่างไรก็ตามเป้าหมายสุดท้ายของกำนันผู้ใหญ่บ้านทั้งปวงที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองในกระทรวงมหาดไทย คือการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อประโยชน์สุขของชาวชนบทนั่นเอง

ข้อเสนอแนะ ด้านนโยบาย 1) ควรจัดระบบโครงสร้าง บทบาทอำนาจหน้าที่ของภาครัฐให้เกิดความสมดุลย์ระหว่างผู้นำภาครัฐ ผู้นำประชาชนและนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเพิ่มบทบาทด้านที่เป็นทางการมากขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 2) ควรจัดระบบการให้ความรู้ ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่แก่กำนันผู้ใหญ่บ้านให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านการปกครองที่กำนันผู้ใหญ่บ้านจะสามารถปฏิบัติภารกิจตามระเบียบ ข้อกำหนดที่กฎหมายวางไว้ได้อย่างเต็มที่ ด้านปฏิบัติการ 1) กระทรวงมหาดไทยควรให้ความสำคัญกับกำนันผู้ใหญ่บ้านในฐานะเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง ด้วยการส่งเสริมให้กำนันผู้ใหญ่บ้านมีโอกาสศึกษาพระราชบัญญัติที่กำหนดให้เป็นผู้รักษากฎหมาย ด้วยการจัดโครงการฝึกอบรม เพื่อให้กำนันผู้ใหญ่บ้านสามารถนำไปใช้ในการควบคุมคนให้อยู่ในกฎระเบียบ และพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างถูกต้อง 2) กระทรวงมหาดไทยควรกำหนดให้กำนันผู้ใหญ่บ้านสามารถจัดทำแผนบูรณาการท้องถิ่นทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในชนบท โดยสนับสนุนให้ร่วมมือกับกระทรวงหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอกสารอ้างอิงกรมการปกครอง. (2540). บทบาทกำนันผู้ใหญ่บ้านที่เหมาะสมในอนาคต. กรุงเทพมหานคร: ประมวลสรุปผลงานวิจัยของสถาบันดำรงราชานุภาพ (2536-2548).กระทรวงมหาดไทย, สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย. (2545). ค้นเมื่อ 10 ธันวาคม 2557, จาก http://www.moi.go.th/portal/page?_pageid=814,106638&_dad=portal&_schema=PORTALดำรงค์ ฐานดี. (2538). รัฐกับการพัฒนา. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. (2546). บทบาทอำนาจหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและการปกครองท้องที่. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา.พชร สันทัด. (2555). ภาวะผู้นำกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในการเตรียมความพร้อมเข้าร่วมประชาคม เศรษฐกิจอาเซียน. วารสารคุณภาพชีวิตกับกฎหมาย, 8(2), 15-26.มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันวิจัยประชากรและสังคม. (2556). ข้อมูลข่าวสารประชากร. ค้นเมื่อ 22 มกราคม 2556, จาก http://www.ipsr.mahidol.ac.th/ipsr-th/Publication Gazette.htmlภิชา ผลเรือง, สมศักดิ์ ศรีสันติสุข, เสาวภา สุขประเสริฐ, และประจักษ์ ผลเรือง. (2555). กระบวนการพัฒนาภาวะผู้นำของผู้นำชุมชน ตามแนวมาตรฐานผู้นำชุมชน ในประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ค้นเมื่อ 10เมษายน 2556, จาก http:/www.graduate.udru.ac.th/grc2012/file../1_272_15072012.doc. สำนักงานข้าราชการพลเรือน. (2548). สมรรถนะและมาตรฐานวิชาชีพนักบริหารทรัพยากรมนุษย์. กรุงเทพมหานคร: ผู้แต่ง.สุนทรชัย ชอบยศ. (2555). การปรับตัวของกำนันผู้ใหญ่บ้านภายใต้บริบทการกระจายอำนาจ. การประชุม วิชาการและการนำเสนอผลงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษา ครั้งที่ 3. ค้นเมื่อ 15 ธันวาคม 2557, จาก www.pol.cmu.ac.th/proceedings-download.php?proceedings_id=75.สุริยะ วิริยะสวัสดิ์. (2556). หลักการทำงานของกำนันผู้ใหญ่บ้านให้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม. ค้นเมื่อ 21 มีนาคม 2556, จาก http://www.iad.dopa.go.th/subject /dopa_mou/12.doอภิชัย สมบูรณ์ปกรณ์. (2556). โครงการงานวิจัยเพื่อวางรูปแบบการพัฒนาของท้องถิ่น. สำนักงานกองทุน สนับสนุนการวิจัย. ค้นเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2557, จาก http://elibrary.trf.or.th/project_content.asp?PJID=RDG5340026Faris, N., & Parry, K. (2011). Islamic organizational leadership within a Western society: The problematic role of external context. The Leadership Quarterly, 22(1), 132-151.

หมายเลขบันทึก: 668216เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2019 15:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2019 17:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท