ภาวะผู้นำเชิงกลยุทธ์กับการสร้างความยุติธรรมในองค์กร


ตอนที่ 1. ความหมายของกลยุทธ์ความยุติธรรมในองค์การ ความยุติธรรมในองค์การ Bracha & Syed (2014) กล่าวว่า หมายถึง บทบาทของความยุติธรรมที่องค์การจัดสรรให้กับบุคลากรซึ่งเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน เป็นสิ่งที่บุคลากรตัดสินว่าได้รับการปฏิบัติด้วยความยุติธรรมในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ซึ่งมีอิทธิพลต่อการทำงาน Cohen-Charash (2001) กล่าวว่า เป็นการรับรู้ความยุติธรรมที่ได้รับภายในองค์การของบุคลากรที่สัมพันธ์กับผลลัพธ์ Cropanzano and Molina (2015) ได้ให้ความหมายว่า เป็นความยุติธรรมในการตัดสินใจในเหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่างๆ ในองค์การโดยใช้องค์ความรู้ในการประเมินระดับของความยุติธรรมที่เป็นมาตรฐานสากล
ความสัมพันธ์ระหว่างความยุติธรรมในองค์การกับความผูกพันองค์การซึ่งส่งผลต่อศักยภาพของการดำเนินธุรกิจและการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถและเตรียมรองรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของตลาดทั้งในปัจจุบันและอนาคตสิ่งสำคัญที่ควรให้ความทุ่มเทเป็นอย่างมากคือ การเตรียมกำลังและความพร้อมทางด้านทรัพยากรบุคคล เนื่องจากการดำเนินงานมีความจำเป็นต้องใช้กำลังคนเป็นจำนวนมาก ดังนั้นสิ่งสำคัญคือจะทำอย่างไรให้บุคลากรเกิดการรับรู้ความยุติธรรมขององค์การ ซึ่งจะส่งผลกับความผูกพันต่อองค์การและทำให้บุคลากรทำงานกับองค์การเป็นระยะเวลานานและมีประสิทธิภาพ (Pillai, Williams and Tan, 2001: 312-332) โดยความผูกพันต่อองค์การและความพึงพอใจในงานเกิดจากการรับรู้ความยุติธรรมในองค์การ Harvey and Haines III (2005: 53-68) กล่าวว่า เมื่อบุคลากรมีความรู้สึกว่าองค์การมีความยุติธรรมและจริงใจต่อบุคลากรทุกคนแล้ว ผลที่จะตามมาคือ ความผูกพันที่บุคลากรมีต่อองค์การ ที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกที่ดีจะทำให้บุคลากรพอใจและเป็นพลังขับเคลื่อนในการทำงานต่อไปโดยทุ่มเทความรู้ความสามารถให้กับการทำงานอย่างเต็มที่ ดังนั้นการรับรู้ความยุติธรรมของบุคลากรจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรปฏิบัติ เพื่อเป็นการป้องกันการสูญเสียทรัพยากรที่มีคุณค่าขององค์การต่อไป ปัจจัยที่มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างความยุติธรรมในองค์การกับความผูกพันต่อองค์การ เพื่อสร้างให้บุคลากรเกิดการรับรู้ที่ดีภายในองค์การและนำไปสู่ความผูกพันต่อองค์การ (Ming-Tien Tsai and Nai-Chang Cheng, 2012: 1069–1080) อันจะเป็นประโยชน์ที่ทำให้มีความตั้งใจ ปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเทอย่างเต็มความสามารถเพื่อองค์การอย่างแท้จริง โดยไม่คิดที่จะลาออกอันนำไปสู่การรักษาบุคลากรที่มีคุณค่าเหล่านี้ไว้ให้คงอยู่กับองค์การตลอดไปและเหตุผลที่ต้องมีความผูกพันต่อองค์การ ก็เพราะว่า ทุกองค์การต่างต้องการความเจริญก้าวหน้า โดยมีบุคลากรเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามทิศทางที่องค์การกำหนดไว้ ซึ่งต้องอาศัยความรู้ ความสามารถของบุคลากร และพร้อมทุ่มเทให้กับการทำงาน แต่การที่จะทำให้บุคลากรเกิดความรักภักดีต่อองค์การได้นั้น สิ่งสำคัญคือ การที่องค์การต้องให้ความจริงใจ ปฏิบัติต่อบุคลากรด้วยความยุติธรรม โปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นธรรม กระบวนการประเมินผลการปฏิบัติงาน ที่เปิดโอกาสให้บุคลากรได้แสดงความคิดเห็นและสามารถตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องของการประเมินได้ โดยมีมาตรฐานเดียวกัน หรือการที่ผู้บังคับบัญชาให้เกียรติ คำนึงถึงสิทธิของบุคลากรอย่างยุติธรรม รวมทั้งมีการให้ข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอและมีการอธิบายหรือสื่อสารได้อย่างถูกต้องเหมาะสมสิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลความผูกพันต่อองค์การทั้งสิ้น และเมื่อบุคลากรมีความรู้สึกด้านบวกกับการรับรู้ความยุติธรรมแล้ว จะนำไปสู่การแสดงพฤติกรรมที่ดีต่อองค์การที่นอกเหนือจากหน้าที่การทำงาน เช่น การให้ความช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน การมีส่วนร่วมในองค์การ ดังนั้นต้องทำให้บุคลากรของตนเกิดความรักภักดี ผูกพันต่อองค์การด้วยใจ เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มพลังในการขับเคลื่อนให้องค์การบรรลุไปสู่เป้าหมายและสู่ความยั่งยืน ความยุติธรรมในองค์การ เกี่ยวข้องกับกฎเกณฑ์และบรรทัดฐานทางสังคมที่ใช้ในการควบคุมดูแลการจัดสรรผลตอบแทน ทั้งการให้รางวัลและการลงโทษ ที่บุคลากรควรจะได้รับ รวมถึงกระบวนการที่ใช้ในการตัดสินใจเพื่อจัดสรรผลตอบแทนและการตัดสินใจด้านอื่นๆ รวมทั้งการปฏิบัติต่อกันระหว่างบุคคลด้วย Nigel Vaughan Smith (2012: 57–74) กล่าวว่า ความยุติธรรมในองค์การ ประกอบด้วย ความยุติธรรมด้านผลตอบแทน (Distributive Justice) การรับรู้ความยุติธรรมจากผลตอบแทนหรือการจัดสรรผลตอบแทนที่มีความถูกต้องเหมาะสมซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้ปฏิบัติงานมีผลการปฏิบัติงานที่ดีขึ้นจะสร้างความรู้สึกในทางจิตใจของบุคลากรที่มีต่อองค์การ ที่รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์การ มีความใส่ใจในเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวข้องมีความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำงานในองค์การ ความรู้สึกว่าตนจะได้รับสิ่งตอบแทนในแง่ของผลประโยชน์เพื่อแลกเปลี่ยนกับการคงอยู่ในองค์การโดยแสดงออกในรูปของพฤติกรรมในการทำงานว่าจะทำงานอยู่กับองค์การนั้นต่อไป และไม่โยกย้ายเปลี่ยนแปลงที่ทำงาน ความยุติธรรมด้านกระบวนการ ที่องค์การกำหนดผลตอบแทน เช่น กระบวนการตัดสินใจ แบ่งปันสิ่งต่างๆ ในองค์การรวมทั้งความยุติธรรมด้านปฏิสัมพันธ์ ที่ได้รับการปฏิบัติด้วยความยุติธรรม เป็นความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหัวหน้างานกับบุคลากร เช่น ความยุติธรรมด้านการให้ข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอและถูกต้อง และความยุติธรรมด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นความรู้สึกของบุคลากรว่าตนเป็นบุคลากรคนหนึ่งขององค์การแล้วมีความผูกพันกับองค์การ เพราะเชื่อว่าสิ่งนี้คือความถูกต้องและความเหมาะสมที่ควรจะทำ เนื่องจากความผูกพันต่อองค์การนั้นเป็นหน้าที่หรือเป็นพันธะผูกพันที่ตนในฐานะบุคลากรที่เป็นบุคลากรต้องปฏิบัติโดยหัวหน้างานที่เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง ซึ่งจะมีอิทธิพลของพลังขับเคลื่อนในการทำงาน ความยุติธรรมในองค์การและความผูกพันที่มีต่อองค์การส่งผลต่อพลังขับเคลื่อนในการทำงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลและหากบุคลากรมีการรับรู้ความยุติธรรมในองค์การด้านผลตอบแทนและด้านการมีปฏิสัมพันธ์ จะส่งผลถึงด้านจิตใจ ด้านการคงอยู่และด้านบรรทัดฐาน ดังนั้นเพื่อให้บุคลากรรับรู้ความยุติธรรมในองค์การ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปัน โดยมีกระบวนการพิจารณาผลตอบแทนที่ชัดเจน โปร่งใส รวมทั้งมีการสื่อสารข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับบุคลากรในช่องทางที่หลากหลายและครอบคุลมเพื่อให้ทราบข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับบุคลากรมากยิ่งขึ้นและควรให้ผลตอบแทนในรูปแบบอื่นที่นอกเหนือจากเงินเดือน เช่น โอกาสการเติบโตในหน้าที่การงาน การฝึกอบรม และการให้รางวัลในการทำงาน อีกด้วย ในการจัดการที่ดีเกี่ยวกับระบบผลตอบแทนของบุคลากร เนื่องจากมีความสำคัญอย่างมากในการเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการจัดการผลการปฏิบัติงานของบุคลากร โดยต้องมีการพัฒนาอยู่เสมอ เพื่อให้โครงสร้างของค่าตอบแทนมีความเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินขององค์การประสบความสำเร็จ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับบุคลากรทุกคน มีความโปร่งใสและมีข้อกำหนดเกี่ยวกับระดับเงินเดือนที่ชัดเจนและควรตระหนักถึงความสำคัญในการออกแบบหรือการทำให้บุคลากรเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการปฏิบัติงาน เพราะบุคลากรหากมีความภูมิใจคอยให้ความช่วยเหลือ ทำให้บุคลากรอยากทำงานให้ดีที่สุดและพัฒนาความผูกพันต่อองค์การอย่างความต่อเนื่อง ควรให้ความสำคัญในการออกแบบหรือการทำให้บุคลากรเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการปฏิบัติงาน เช่น ลักษณะงานต้องทำให้เกิดความท้าทายและมอบหมายให้ตรงกับลักษณะบุคคล เพื่อให้เกิดความพึงพอใจในงาน ซึ่งทำให้บุคลากรอยากทำงานอยู่กับองค์การและต้องเอาใจใส่ในคุณภาพชีวิตในการทำงานของบุคลากร เปิดโอกาสให้มีความก้าวหน้าในงาน ให้ได้ฝึกอบรมหรือศึกษาดูงานนอกองค์การ การส่งเสริมให้ได้เป็นผู้นำ ในการทำงานให้โอกาสในการก้าวหน้าหรือมีส่วนร่วมในงานหรือกิจกรรมในการออกความคิดเห็นหรือควบคุมการทำงานจนประสบผลสำเร็จ ตลอดจนมีการกำหนดโอกาสความก้าวหน้าในสายอาชีพไว้อย่างชัดเจนในแต่ละตำแหน่งงาน แสดงให้เห็นว่าบุคลากรในแต่ละตำแหน่งจะมีโอกาสเติบโตหรือมีโอกาสก้าวหน้า สรุปได้ว่าความยุติธรรมในองค์การและความผูกพันของบุคลากรต่อองค์การ เกิดจากการสนับสนุนจากองค์การ ให้มีการจัดบรรยากาศที่อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน ในด้านผลตอบแทนและสวัสดิการ การให้โอกาสในเรื่องการเลื่อนตำแหน่ง มีความมั่นคงในการทำงาน การเห็นคุณค่าให้ได้รับการยอมรับ ความไว้วางใจ จะทำให้เพิ่มความผูกพันต่อองค์การ รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์การจากกระบวนการต่างๆ จะส่งผลดีกับทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายบุคลากรเองรู้สึกว่าองค์การมีความเอาใจใส่ในตัวบุคลากรและให้ผลตอบแทนที่ยุติธรรม และฝ่ายองค์การได้รับผลดี คือ บุคลากรให้การสนับสนุนจากองค์การดีขึ้น ส่งผลต่ออารมณ์ในการทำงาน มีความผูกพัน ลดความเครียด การลาออกลดลง การปฏิบัติงานของบุคลากรก็ดีขึ้นด้วย การกำหนดแนวทางในการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม เช่น การจ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสมและยุติธรรม จัดสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ ให้โอกาสในการใช้และพัฒนาความสามารถ เสริมสร้างความมั่นคงและโอกาสในการเจริญเติบโตของบุคลากร รวมไปถึงให้ความใส่ใจในสภาพแวดล้อมภายในที่ทำงานเป็นต้นและความยุติธรรมในองค์การ ความผูกพันต่อองค์การ จะนำไปสู่การสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานขององค์การเพื่อก้าวไปสู่ความ เป็นเลิศในระดับสากล รวมทั้ง ความยุติธรรมในองค์การอาจมีความแตกต่างกันในเนื้อหาปลีกย่อยแต่ความหมายหลักส่วนใหญ่จะสอดคล้องกัน ผู้วิจัยจึงสรุปความหมายของความยุติธรรมในองค์การว่าคือสิ่งที่องค์การจัดสรรให้กับบุคลากรด้วยวิธีการที่เป็นมาตรฐานสากลและการประเมินระดับของความยุติธรรมนั้นบุคลากรสามารถตัดสินว่าได้รับการปฏิบัติด้วยความยุติธรรมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลตอบแทน การจัดสรรงานและความสัมพันธ์ ด้วยตนเองหรือไม่

หมายเลขบันทึก: 668056เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2019 20:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2019 20:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท