ชีวิตที่พอเพียง 3514. วิจารณ์เรื่องสั้นญี่ปุ่นคัดสรร



หนังสือ เรื่องสั้นญี่ปุ่นคัดสรร (๑) จัดแปลและพิมพ์จำหน่ายโดยสำนักพิมพ์คนบ้าหนังสือ  เป็นหนังสือลำดับที่ ๑ ของสำนักพิมพ์    อ่านแล้ววางไม่ลง

วางไม่ลงเพราะได้เข้าถึง “ความมืดของจิตใจ” ตามที่คุณวิภาดา ตันติโกวิท ผู้แปลกล่าวไว้ในคำนำผู้แปล    ซึ่งเป็นประเด็นที่คนแก่ที่ดำเนินชีวิตแบบผมไม่คุ้น  

ผมเข้าใจว่า  การอ่านวรรณกรรมแบบนี้    ต้องปล่อยให้อารมณ์เคลิบเคลิ้มไปกับผู้เขียน    ซึ่งผมทำไม่เป็น ผมจึงแทบไม่อ่านหนังสือแบบนี้เลย     แต่นี่คุณเนตร รามแก้ว (คนบ้าหนังสือ) บรรณาธิการบริหาร ของสำนักพิมพ์คนบ้าหนังสือ เป็นผู้เลือกหนังสือเล่มนี้มาแปล    ผมจึงเชื่อว่าต้องเป็นหนังสือดีมีค่าควรแก่การใช้เวลาอ่าน  

ยิ่งมี นพ. ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เป็นผู้เขียนบทกล่าวนำ    หนังสือเล่มนี้จึงยิ่งมีคุณค่าควรแก่การอ่านยิ่งขึ้น   

บันทึกนี้ มุ่งบอกว่า อ่านแล้วผมได้อะไร    ...ได้คิดต่อครับ  

ได้ใคร่ครวญว่า นักเขียนเรื่องสั้นญี่ปุ่นทั้ง ๔ ท่านนี้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านที่ ๔ ... ดะไซ โอซามุ) ได้เปิดเผยด้านมืดของความเป็นมนุษย์ให้เราได้รับรู้    เป็นเรื่องราวผ่านประสบการณ์ตรง ที่เอามาเขียนเป็นเรื่องสั้น  

ด้านมืดของความเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ   มาจากวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต    ที่ทำให้มนุษย์มีสมอง ๓ ชั้นอยู่ในสมองเดียว (๒)     ได้แก่ ชั้นในสุด สมองของสัตว์เลื้อยคลาน    ทำหน้าที่แก่งแย่งกับสิ่งมีชีวิตอื่นเพื่อความอยู่รอดและสืบพันธุ์     สมองชั้นกลางเป็นสมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  ทำหน้าที่ด้านอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารมณ์ความเป็นพ่อแม่  ด้านการสืบพันธุ์ และการกิน    สมองชั้นนอกสุด เป็นสมองมนุษย์ ทำหน้าที่ด้านภาษา นามธรรม การคิด การควบคุมตนเอง

เห็นได้ชัดว่า นักเขียนวรรณกรรมดีเด่นเหล่านี้ มีอารมณ์ (สมองสัตว์) เป็นตัวกำกับพฤติกรรม    ไม่ได้ฝึกฝนตนเองให้ใช้สมองมนุษย์กำกับพฤติกรรมอย่างเป็นอัตโนมัติ    พฤติกรรมของตนเองจึงนำพาชีวิตสู่ความตกต่ำยากลำบาก    เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นชีวิตของคนที่จิตใจอ่อนแอ   ควบคุมพฤติกรรมของตนเองไม่ได้   ในสมัยร้อยปีก่อนความเข้าใจด้านประสาทวิทยาศาสตร์ของสมอง (neuroscience) ยังไม่มี    ยังไม่รู้จักเรื่อง executive functions   

เวลานี้เราบอกได้ว่า อาการที่นักเขียนวรรณกรรมเล่าชีวิตของตนเองออกมาในเรื่องสั้น    เป็นอาการของคนที่ executive functions อ่อนแอ   แต่เป็นคนที่ IQ สูง    เกิดมาในครอบครัวที่ดี    แต่ได้รับการเลี้ยงดูที่ผิด     มีคนจำนวนไม่น้อยในทุกสังคม ที่โชคร้ายเช่นนี้    จะเห็นชัดเจนว่า เป็นเรื่องราวของชีวิตที่ไม่มีความสุข

จะเห็นว่า ชื่อเรื่อง “สูญสิ้นความเป็นคน” ก็สะท้อนการตีความของผม    แต่ผมเถียงว่า ชื่อเรื่องที่ถูกต้องกว่าคือ “ไม่ได้พัฒนาความเป็นคน”    มนุษย์มีลักษณะพิเศษกว่าสัตว์อื่นตรงที่เกิดมาอ่อนแอนอก เข้มแข็งใน    คือภายในร่างกาย (โดยเฉพาะสมอง) มีศักยภาพในการพัฒนาได้สูงมาก   แต่ต้องพัฒนาหลังเกิด    สัตว์อื่น เช่นวัว เกิดมาก็ยืนได้ เดินได้    แต่มนุษย์ต้องฝึกอีกเป็นปี    ยิ่งการทำหน้าที่สมอง ต้องฝึกอีก ๓๐ ปี   จึงจะพัฒนาเต็มที่     ส่วนที่ต้องพัฒนาต่อเนื่อง ๓๐ ปี คือส่วนสมองมนุษย์    คนจำนวนไม่น้อย ได้รับการพัฒนาสมองมนุษย์แบบไม่สมดุล    executive functions ได้รับการพัฒนาน้อย    น่าเสียดายที่วงการศึกษาไทยเอาใจใส่เรื่องนี้น้อยมาก    

 ผมขอขอบคุณสำนักพิมพ์คนบ้าหนังสือ ที่กรุณาส่งหนังสือมาให้เป็นบรรณาการ

วิจารณ์ พานิช

๒๘ ก.ค. ๖๒

 

         

หมายเลขบันทึก: 667611เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2019 18:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2019 18:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท