กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของชีวิต(๓)


กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของชีวิต

ประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งก็คือ เรื่อง “กัลยาณมิตร”

คำว่า  “กัลยาณมิตร” แปลความหมายคำ  “กัลยาณ” ว่า หมายถึง งาม ดี และ “มิตร” หมายถึง เพื่อนรักใคร่ที่สนิทสนมคุ้นเคย ดังนั้น กัลยาณมิตร จึงมีความหมายว่า เพื่อนที่ดี เพื่อนที่งาม หรือเพื่อนที่รักใคร่คุ้นเคยที่ดี เพื่อนรักใคร่คุ้นเคยที่งาม หรือ มิตรผู้มีคุณอันบัณฑิตพึงนับ

อย่างไรก็ตามในพระพุทธศาสนา ให้ความสำคัญไว้อย่างมากว่า กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์ คำ ๆ นี้จึงมีความหมายเป็นอย่างยิ่ง คำว่ากัลยาณมิตร อาจจะมี คำอีกคำหนึ่งที่เรียกว่ามิตรแท้ ซึ่งพระพุทธศาสนาได้กล่าวเป็นเชิงเปรียบเทียบระหว่างมิตรแท้กับเทียมเอาไว้ ดังนี้คือ

มิตตปฏิรูป, มิตตปฏิรูปก์ คนเทียมมิตร, มิตรเทียม ไม่ใช่มิตรแท้ มี ๔ พวก ได้แก่

   ๑. คนปอกลอก มีลักษณะ ๔ คือ

   ๑. คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว

   ๒. ยอมเสียน้อยโดยหวังจะเอาให้มาก

       ๓. ตัวมีภัย จึงมาช่วยทำกิจของเพื่อน

           ๔. คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตัว

       ๒. คนดีแต่พูด มีลักษณะ ๔ คือ

           ๑. ดีแต่ยกของหมดแล้วมาปราศรัย

           ๒. ดีแต่อ้างของยังไม่มีมาปราศรัย

           ๓. สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้

           ๔. เมื่อเพื่อนมีกิจ อ้างแต่เหตุขัดข้อง

       ๓. คนหัวประจบ มีลักษณะ ๔ คือ

           ๑. จะทำชั่วก็เออออ

           ๒. จะทำดีก็เออออ

           ๓. ต่อหน้าสรรเสริญ

           ๔. ลับหลังนินทา

       ๔. คนชวนฉิบหาย มีลักษณะ ๔ คือ

           ๑. คอยเป็นเพื่อนดื่มน้ำเมา

           ๒. คอยเป็นเพื่อนเที่ยวกลางคืน

           ๓. คอยเป็นเพื่อนเที่ยวดูการเล่น

           ๔. คอยเป็นเพื่อนไปเล่นการพนัน

มิตรแท้ มิตรด้วยใจจริง มี ๔ พวก ได้แก่

       ๑. มิตรอุปการะ มีลักษณะ ๔ คือ

           ๑. เพื่อนประมาท ช่วยรักษาเพื่อน

           ๒. เพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์ของเพื่อน

           ๓. เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งพำนักได้

           ๔. มีกิจจำเป็น ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก

       ๒. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มีลักษณะ ๔ คือ

           ๑. บอกความลับแก่เพื่อน

           ๒. ปิดความลับของเพื่อน

           ๓. มีภัยอันตรายไม่ละทิ้ง

           ๔. แม้ชีวิตก็สละให้ได้

       ๓. มิตรแนะประโยชน์ มีลักษณะ ๔ คือ

           ๑. จะทำชั่วเสียหายคอยห้ามปรามไว้

           ๒. คอยแนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี

           ๓. ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ไม่เคยได้รู้ได้ฟัง

           ๔. บอกทางสุขทางสวรรค์ให้

       ๔. มิตรมีน้ำใจ มีลักษณะ ๔ คือ

           ๑. เพื่อนมีทุกข์ พลอยทุกข์ด้วย

           ๒. เพื่อนมีสุข พลอยดีใจ

           ๓. เขาติเตียนเพื่อน ช่วยยับยั้งแก้ให้

           ๔. เขาสรรเสริญเพื่อน ช่วยพูดเสริมสนับสนุน

คำว่า​ บัณฑิต, คนดี, สัตตบุรุษ, นักปราชญ์​  คำเหล่านี้ที่ใช้ในพระพุทธ​ศาสนา​มีนัย​ที่สอดคล้องกัน​ เพราะมีคุณธรรมที่เป็น​ไปในทิศทาง​เดียวกันคือ​ มีสัมมาทิฏฐิ​ และสัปปุริสธรรม​ ๗​ ประการ​เป็น​คุณ​ธรรมเบื้องหน้า​       

สัปปุริสธรรม  คือ​ ธรรมของสัตบุรุษ, ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ, คุณสมบัติของคนดี, ธรรมของผู้ดี

๑. ธัมมัญญุตา คือ​ ความรู้จักธรรม รู้หลัก หรือ รู้จักเหตุ คือ รู้หลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎแห่งธรรมดา รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล เช่น ภิกษุรู้ว่าหลักธรรมข้อนั้นๆ คืออะไร มีอะไรบ้าง พระมหากษัตริย์ทรงทราบว่าหลักการปกครองตามราชประเพณีเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง รู้ว่าจะต้องกระทำเหตุอันนี้ๆ หรือกระทำตามหลักการข้อนี้ๆ จึงจะให้เกิดผลที่ต้องการอันนั้น ๆ เป็นต้น

๒. อัตถัญญุตา คือ​ ความรู้จักอรรถ รู้ความมุ่งหมาย หรือ รู้จักผล คือ รู้ความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์ รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำหรือความเป็นไปตามหลัก เช่น รู้ว่าหลักธรรมหรือภาษิตข้อนั้นๆ มีความหมายว่าอย่างไร หลักนั้นๆ มีความมุ่งหมายอย่างไร กำหนดไว้หรือพึงปฏิบัติเพื่อประสงค์ประโยชน์อะไร การที่ตนกระทำอยู่มีความมุ่งหมายอย่างไร เมื่อทำไปแล้วจะบังเกิดผลอะไรบ้างดังนี้เป็นต้น

๓. อัตตัญญุตา คือ​ ความรู้จักตน คือ รู้ว่า เรานั้น ว่าโดยฐานะ ภาวะ เพศ กำลังความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม เป็นต้น บัดนี้ เท่าไร อย่างไร แล้วประพฤติให้เหมาะสม และรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป

๔. มัตตัญญุตา คือ​ ความรู้จักประมาณ คือ ความพอดี เช่น ภิกษุรู้จักประมาณในการรับและบริโภคปัจจัยสี่ คฤหัสถ์รู้จักประมาณในการใช้จ่ายโภคทรัพย์ พระมหากษัตริย์รู้จักประมาณในการลงทัณฑอาชญาและในการเก็บภาษี เป็นต้น     

๕. กาลัญญุตา คือ​ ความรู้จักกาล คือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการประกอบกิจ กระทำหน้าที่การงาน เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา เป็นต้น

๖. ปริสัญญุตา คือ​ ความรู้จักบริษัท คือ รู้จักชุมชน และรู้จักที่ประชุม รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้นๆ ว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างนี้ เป็นต้น

๗. ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา คือ​ ความรู้จักบุคคล คือ ความแตกต่างแห่งบุคคลว่า โดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น ใครๆ ยิ่งหรือหย่อนอย่างไร และรู้ที่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ด้วยดี ว่าควรจะคบหรือไม่ จะใช้จะตำหนิ ยกย่อง และแนะนำสั่งสอนอย่างไร เป็นต้น

การ​เป็น​บัณฑิต, คนดี, สัตตบุรุษ, นักปราชญ์​   ในพระพุทธ​ศาสนา​จึงกล่าว​ได้ว่า​ เป็นเป้าหมาย​ในการพัฒนา​มนุษย์​  เพราะเมื่อมีบุคคล​ที่เป็นบัณฑิต, คนดี, สัตตบุรุษ, นักปราชญ์​   ย่อม​ยัง​ประโยชน์​ส่วนตนและประโยชน์​ส่วน​รวมให้ดีได้​ด้วย

อย่างไร​ก็​ตามแต่​   พระพุทธ​ศาสนา​ เล็งเห็น​อีกว่า​  การเสวนา​หรือการอยู่ร่วมกับคนตรงกันข้ามบัณฑิต, คนดี, สัตตบุรุษ, นักปราชญ์​ ที่อาจเรียกว่า​ คนพาล, คนชั่ว​ อสัตตบุรุษ​ ย่อมไม่ทำให้ชีวิตของตนร่มเย็น​และเป็​นประโยชน์​อันไพบูลย์​แก่ตนได้​   ทั้งนี้​ทั้งนั้น​ ก็เพราะว่า​  การเสวนาหรืออยู่ร่วมกับคนพาล​ หรือชั่วย่อมอาจติดนิสัยนั้นไปด้วย​ และอาจจะทำให้มัวหมองไปอีก​ เพื่อเป็นการ​ดีการหลีกเว้นคนพาล​ เสวนากับบัณฑิต​  เป็นอุดมมงคล​ ดังในมงคล​ ๓๘​ ประการ​ เป็น​ต้น.​ และในพุทธ​พจน์​ที่กล่าวไว้ว่า

กลิ่นดอกไม้ลอยไปทวนลมไม่ได้

กลิ่นจันทน์ กลิ่นกฤษณา

หรือกลิ่นกะลำพัก ลอยไปทวนลมไม่ได้

ส่วนกลิ่นของสัตบุรุษ  ลอยไปทวนลมได้

เพราะสัตบุรุษขจรไปทั่วทุกทิศ(ด้วยกลิ่นแห่งคุณมีศีลเป็นต้น)

แต่ประเด็นที่พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับกัลยาณมิตรว่า  กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์นั้น ชี้ให้เห็นว่า กัลยาณมิตรที่เป็นมนุษย์ หรือสิ่งมีชีวิตอย่างหนึ่งนี้ ในชีวิตของคนเรา ไม่ว่าจะยากดีมีจนจะสุขจะทุกข์ คนเราก็ต้องอยู่ร่วมซึ่งกันและกัน กัลยาณมิตรไม่ได้หมายความว่าเป็นเพื่อน รุ่นราวคราวเดียวกันเท่านั้น ในการเป็นกัลยาณมิตรมีครูบาอาจารย์ที่เป็นกัลยาณมิตร  มีพ่อมีแม่ปู่ย่าตายายลุงป้าน้าอา หรือผู้คนในสังคมก็แล้วแต่  ทุกคนที่อยู่ร่วมกันพบปะซึ่งกันและกันก็กล่าวได้ว่าเป็นกัลยาณมิตร หากผู้คนนั้นได้แนะนำชี้แนะให้แนวทางในการดำเนินชีวิตเพื่อไปสู่ชีวิตที่สะอาด  สว่าง และสงบหรือชีวิตที่เปลี่ยนตัวเองจากปุถุชนเป็นกัลยาณชน และไปสู่อริยชน

คุณสมบัติของกัลยาณมิตร

ในทางพุทธศาสนาได้กล่าวถึงคุณสมบัติของกัลยาณมิตรที่เรียกว่า กัลยาณมิตรธรรม หรือธรรมของกัลยาณมิตร ๗ ประการ คือ

๑. ปิโย น่ารัก ด้วยมีเมตตา เป็นที่สบายจิตสนิทใจ ชวนให้อยากเข้าไปหา

๒. ครุ น่าเคารพ ด้วยความประพฤติหนักแน่น เป็นที่พึงอาศัยได้ ให้รู้สึกอบอุ่นใจ

๓. ภาวนีโย น่าเจริญใจ ด้วยความเป็นผู้ฝึกฝนปรับปรุงตน ควรเอาอย่าง ให้ระลึกและเอ่ยอ้างด้วยซาบซึ้งภูมิใจ

๔. วัตตา รู้จักพูดให้ได้ผล รู้จักชี้แจงแนะนำ เป็นที่ปรึกษาที่ดี

๕. วจนักขโม อดทนต่อถ้อยคำ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถาม ตลอดจนคำเสนอแนะวิพากย์วิจารณ์

๖. คัมภีรัญจะ กถัง กัตตา แถลงเรื่องล้ำลึกได้ สามารถอธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อนให้เข้าใจและสอนให้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป

๗. โน จัฏฐาเน นิโยชเย ไม่ชักนำในอฐาน คือ ไม่ชักจูงไปในทางเสื่อมเสียหรือเรื่องเหลวไหลไม่สมควร

ในพุทธพจน์ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของเพื่อน หรือกัลยาณมิตร หรือสหาย ที่แปลว่า ไปด้วยกันได้ เป็นต้น ว่าเป็นบุคคลที่ควรคบค้า คือ

การพบเห็นพระอริยะทั้งหลาย เป็นการดี

การอยู่ร่วมกับพระอริยะ  ก่อให้เกิดสุขทุกเมื่อ

เพราะการไม่พบเห็นคนพาล  บุคคลพึงอยู่เป็นสุขเนืองนิตย์

เพราะผู้คบค้าสมาคมกับคนพาล

ย่อมเศร้าโศกสิ้นกาลนาน

การอยู่ร่วมกับคนพาล เป็นทุกข์ตลอดเวลา

เหมือนอยู่ร่วมกับศัตรู

การอยู่ร่วมกับนักปราชญ์มีแต่ความสุข

เหมือนอยู่ในหมู่ญาติ

เพราะฉะนั้นแล บุคคลควรคบผู้เป็นปราชญ์

มีปัญญา เป็นพหูสูต

มีปกติเอาธุระ มีวัตร  เป็นพระอริยะ

เป็นสัตบุรุษ มีปัญญาดี  เช่นนั้น

เหมือนดวงจันทร์โคจรไปตามทางของดาวนักษัตร  ฉะนั้น

ถ้าบุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน

เที่ยวไปด้วยกัน เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์

ครอบงำอันตรายทั้งปวงได้แล้ว

พึงมีใจแช่มชื่น มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้นเถิด

ถ้าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน

เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์

ก็พึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเถิด

เหมือนพระราชาทรงละทิ้งแคว้นที่ทรงชนะแล้ว

ทรงประพฤติอยู่ผู้เดียว

และเหมือนช้างมาตังคะละทิ้งโขลงอยู่ตัวเดียวในป่า ฉะนั้น

การเที่ยวไปของบุคคลผู้เดียวเป็นความประเสริฐ

เพราะคุณเครื่องความเป็นสหายไม่มีในคนพาล

อนึ่ง บุคคลควรมีความขวนขวายน้อย

เที่ยวไปผู้เดียว ไม่พึงทำความชั่ว

เหมือนช้างมาตังคะเที่ยวไปตัวเดียวในป่า ฉะนั้น

เมื่อมีกิจเกิดขึ้น สหายทั้งหลายนำสุขมาให้

ถึงกระนั้นก็ตาม  อาจจะกล่าวได้ว่า พระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตรของมนุษย์ทั้งหลาย โดยเฉพาะพระธรรมคำสั่งสอนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระองค์ได้ตรัสไว้ดีแล้ว และได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเวไนยสัตว์จนกระทั่งพระพุทธศาสนาได้สืบทอดมาจนถึงยุคเราคือ พ.ศ.๒๕๖๒ นี้

กล่าวได้ว่าหากวันนั้น  ตั้งแต่พระองค์ทรงมีพระหฤทัย คือมีพระมหากรุณาธิคุณ ที่จะโปรดเวไนยสัตว์หรือมนุษย์ในโลกนี้ โดยได้สั่งสอนหรือให้แนวทางในการดำเนินชีวิต โดยพระองค์ได้เผยแผ่เป็นเวลา ๔๕ พรรษา   ก็กล่าวได้ว่าพระธรรมคำสั่งสอนนั้นเป็นอกาลิโก  ไม่จำกัดกาลเวลา  หากใครคนใดคนหนึ่งในโลกนี้ต้องการที่จะพัฒนาตนให้มีคุณภาพชีวิต  คุณภาพจิตใจเพื่อให้อยู่ในโลกนี้อย่างปกติสุข  ให้ตนเองมีความเข้าใจโลกและชีวิต  ก็โดยการปฏิบัติตนไปตามแนวทางแห่งสัจธรรม   ตามที่พระพุทธองค์ทรงเผยแผ่มานี้ เพื่อจะเป็นแสงสว่างนำทางให้กับชีวิตทั้งแก่ตนเองในปัจจุบันและส่งผลในภายภาคหน้า

แต่ถึงอย่างไรก็แล้วแต่  สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงเผยแผ่นั้น  กล่าวได้ว่า พระองค์ทรงเข้าใจชีวิตตามความเป็นจริงว่า ชีวิตนั้นมีการเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา  ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่ความเปลี่ยนแปลงนี้แหละ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงด้วยตัวมันเองเท่านั้น บางครั้งสิ่งต่าง ๆ นั้นเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ในทางพระพุทธศาสนากล่าวเรียกว่า หลักปฏิจจสมุปบาท  

..............

รวบรวมเรียบเรียง.

หมายเลขบันทึก: 666253เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2019 19:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 สิงหาคม 2019 23:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท