สติ ปัญญา ความเจริญของชีวิต(๑)


สติ ปัญญา ความเจริญของชีวิต(๑)

 ทำอย่างไรเราจึงชื่อว่าเป็นผู้มีชีวิตอยู่กับปัจจุบันเต็มร้อยที่สุด สิ่งที่เราทำอยู่เราทำอย่างไรให้เต็มที่ เพราะธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ หรือจิตใจของมนุษย์เราที่ยังเป็นปุถุชนคนธรรมดาที่กล่าวกันนี้ย่อมมีธรรมดาที่จิตใจ กาย และวาจาจะเลื่อนไหล หลงไหลไปตามกระแสรูป รส กลิ่น แสงสีต่าง ๆ เป็นต้น ที่มีอยู่อย่างท่วมท้นทุกขณะ คำถามนี้เป็นคำถามหนึ่งที่หนึ่งในมาณพ ๑๖ คนของพราหมณ์พาวรีที่ได้ทูลถามต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

(อชิตมาณพทูลถามดังนี้)

                 โลกถูกอะไรเล่าหุ้มห่อไว้

                         เพราะอะไรเล่า โลกจึงไม่สดใส

                         ขอพระองค์โปรดตรัสบอกว่า

                         อะไร เป็นเครื่องฉาบทาโลกนี้ไว้

                         อะไรเล่า เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น

 (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ)

                         โลกถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้

                         โลกไม่สดใสเพราะความตระหนี่ และความประมาท

                         เราเรียกความอยากว่า เป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้

                         ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น

 (อชิตมาณพทูลถามดังนี้)

                         กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในที่ทั้งปวง

                         อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย

                         ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย

                         อะไรปิดกั้นกระแสทั้งหลายได้

          (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ)

                         กระแสเหล่าใดในโลก

                         สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้นได้

                         เรากล่าวธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย

                         ปัญญาปิดกั้นกระแสเหล่านั้นได้

จากที่พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ จึงเห็นได้อย่างหนึ่งว่า สติเป็นเรื่องสำคัญมาก สติกับจิตใจมีส่วนที่สัมพันธ์กัน ดังนั้นการฝึกจิตก็คือการฝึกสตินั่นเอง คือสติเป็นเครื่องกั้นต่อสิ่งต่าง ๆ ให้เรานำมาพิจารณา เพื่อที่จะสามารถนำมาใช้ในการเป็นอยู่กับปัจจุบันให้ได้ดี ไม่ให้จิตใจหรือตัวของเราไหลไปตามกระแสโลกจนเกินไป(โลภ โกรธ หลง/ราคะ โทสะ โมหะ) อย่างนี้เป็นต้น 

ดังนั้น การอยู่กับปัจจุบัน คือ การเป็นอยู่อย่างปกติธรรมดา เป็นการอยู่อย่างรู้เท่าทันต่ออารมณ์ของตน(อายตนะภายนอกและภายในที่กระทบกัน) เพื่อให้มีสติจดจ่ออยู่กับปัจจุบันขณะ อยู่กับสิ่งเฉพาะหน้าว่าทำอะไรอยู่  ไม่ว่าทำในการงานอะไร จะเล่าเรียนเรื่องอะไร  เป็นอยู่อย่างไร  ให้ถือว่าการมีสติอยู่กับสิ่งนั้นให้ได้เต็มร้อย เป็นการใช้ชีวิตตื่นรู้อยู่อย่างมีสติรู้ตัวทั่วพร้อม ดังนั้นแล้ว  ประเด็นนี้ถือว่าสำคัญอย่างยิ่งอีกประเด็นหนึ่งของพระพุทธศาสนา เพราะเป็นหลักธรรมหมวดต้น ๆ ที่กล่าวว่าเป็นธรรมที่มีอุปการะมาก(พหุปการธรรม)คือ สติกับสัมปชัญญะ

อย่างไรก็ตาม สติกับสัมปชัญญะทั้งสองนี้เป็นไปพร้อมด้วยกัน ในสัมโมหวิโนทนี อรรถกถาอภิธรรมปิฏก วิภังค์ เล่มที่ ๒ หน้า ๓๘๙-๓๙๙ กล่าวถึงลักษณะของสัมปชัญญะ ไว้ ๔ อย่างคือ

๑.สาตถกสัมปชัญญะ ความรู้ทั่วว่าสิ่งนั้นมีประโยชน์หรือจุดมุ่งหมายอย่างไร  แล้วเลือกทำแต่สิ่งที่ไม่มีประโยชน์ เลือกทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์

๒. สัมปายสัมปชัญญะ  ความรู้ทั่วว่าสิ่งนั้นดีหรือไม่ เป็นสุขหรือทุกข์ แล้วเลือกทำแต่สิ่งที่ดีและเป็นสุขสำหรับตน

๓. โคจรสัมปชัญญะ  ความรู้ทั่วเฉพาะในโคจร คือ รู้ทั่วถึงขอบเขตของงานที่ทำ

๔. อสัมโมหสัมปชัญญะ ความรู้ทั่ว ไม่หลงงมงายคือรู้ในสิ่งที่ระลึกนั้นตามความเป็นจริง  ทั้งที่เป็นจริงโดยสมมุติหรือปรมัตถ์ ไม่ใช่เป็นความรู้ที่เกิดจากการคาดเดา ความหลงงมงาย หรือความเข้าใจผิด

          ส่วนอีกสิ่งหนึ่งที่จะตามมาหลังจากมีสติกับสัมปชัญญะ คือ  การมีปัญญา ดังคำกล่าวที่ว่า “ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก และ สติเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก” ดังนั้น ทั้งสองเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เอื้อหรืออิงอาศัยซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะปัญญาในทางพระพุทธศาสนากล่าวไว้ว่ามีที่มา ๓ ทางคือ 

๑. สุตมยปัญญา ๒.จินตามยปัญญา ๓. ภาวนามยปัญญา  แต่ปัญญาในลักษณะนี้เป็นปัญญาที่เปรียบเสมือนเป็นคมดาบที่ตัดเชือดเฉือนให้ขาดไปนั่นเอง  และบุคคลที่มีปัญญาย่อมเป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างเต็มร้อยและเต็มที่ที่สุด ชีวิตในปัจจุบันก็จะดีและสืบไปภายภาคหน้าจะเกิดผลที่ดีอะไรขึ้นนั้นก็มาจากการอยู่อย่างมีสติและปัญญานั่นเอง

อย่างไรก็ตาม แม้ในพระพุทธศาสนาจะกล่าวถึงความสำคัญของปัญญาไว้ และที่มาของปัญญานั้นมีที่มาได้จากไหนบ้างก็ตาม แต่มีบทสนทนาระหว่างพระนาคเสนกับพระยามิลินท์ทำให้เห็นถึงลักษณะของปัญญาไว้อย่างดีว่าเป็นอย่างไร และสามารถให้ผลอย่างไรได้บ้าง ดังนี้คือ ปัญหาที่ ๑๔ ถามลักษณะปัญญา

” ข้าแต่พระนาคเสน ปัญญา มีลักษณะอย่างไร ? ”

” มหาราชะ ปัญญา มีการ ตัด เป็นลักษณะ ตามที่อาตมภาพได้ถวายวิสัชนาไว้แล้ว อีกประการหนึ่ง ปัญญา มีการ ทำให้สว่าง เป็นลักษณะ ขอถวายพระพร ”

” ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ปัญญามีการทำให้สว่าง เป็นลักษณะอย่างไร? ”

” มหาราชะ ปัญญาเมื่อเกิดขึ้น ก็กำจัดเครื่องทำให้มือคือ อวิชชา ทำให้เกิดความสว่างคือ วิชชา ทำให้เกิดความแจ่มแจ้ง คือ ญาณ ทำให้อริยสัจปรากฏลำดับนั้น พระโยคาวจรก็เห็นด้วยปัญญาอันชอบว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ขอถวายพระพร ”

” ขอพระคุณเจ้าได้โปรดอุปมา ”

อุปมาผู้ส่องประทีป

” มหาราชะ เปรียบปานบุรุษส่องประทีปเข้าไปในเรือนที่มือ แสงประทีปย่อมกำจัดความมืด ทำให้เกิดแสงสว่าง ทำให้รูปทั้งหลายปรากฏฉันใดปัญญาเมื่อเกิดขึ้น ก็กำจัดความมืดคือ อวิชชา ทำให้เกิดแสงสว่างคือ วิชชา ทำให้เกิดความแจ่มแจ้งคือ ญาณ ทำให้อริยสัจทั้งหลายปรากฏลำดับนั้น พระโยคาวจรก็เห็นด้วยปัญญาอันชอบว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ฉันนั้นอย่างนี้แหละ มหาบพิตร ชื่อว่า ปัญญา มีการ ทำให้สว่าง เป็นลักษณะ ขอถวายพระพร”

“ถูกแล้ว พระนาคเสน”

.......................



อุทกญฺหิ นยนฺติ เนตฺติกา  

อุสุการา นมยนฺติ เตชนํ

ทารุ ํ นมยนฺติ ตจฺฉกา             

อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา.

อันคนไขน้ำทั้งหลายย่อมไขน้ำ,

ช่างศรทั้งหลายย่อมดัดศร,

ช่างถากทั้งหลายย่อมถากไม้,

บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกตน.

หมายเลขบันทึก: 666096เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2019 16:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 สิงหาคม 2019 19:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท