ชีวิตที่พอเพียง 3500. ความสามารถเหนืออาวุโส



นิตยสาร Nikkei Asian Review วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ลงเรื่อง NEC hikes starting pay over $90,000, putting skills before seniority (1)  บอกว่าบริษัท NEC ของญี่ปุ่นแหวกประเพณีการกำหนดอัตราเงินเดือน ไต่อันดับตามอาวุโส    เปลี่ยนเป็นให้เงินเดือนเริ่มต้นสูงลิ่ว แก่ผู้มีความสามารถพิเศษที่บริษัทต้องการ    เพื่อเป็นมาตรการดึงดูด special talent เข้าทำงานในบริษัท

ทำให้ผมคิดย้อนกลับไปเมื่อเกือบห้าสิบปี สมัยผมเป็นหนุ่มเลือดร้อน    และเป็น rising star ในที่ทำงาน    ผมสงสัยว่าทำไมรัฐจึงให้เงินเดือนแก่คนที่ทำงานมายี่สิบปี แต่ทำงานเช้าชามเย็นชาม ไม่มีผลงานอะไรชัดเจน ตั้งห้าพันบาท    ผมเข้าทำงานสามสี่ปี ผลงานมากมาย ได้สองพันกว่าบาท    เก็บความสงสัยนี้อยู่กับตัวเอง ไม่กล้าพูดกับใครเลย แม้แต่ภรรยา    เพราะเกรงเขาจะว่าบ้า  และคิดเข้าตัวเอง   

ผมอธิบายกับตัวเองว่า เงินเดือนไม่ได้สัมพันธ์กับ productivity หรือผลงานมากนัก    เพราะเงินเดือนราชการยังมีเป้าหมายเป็นรัฐสวัสดิการด้วย    ในช่วงเวลาที่ผ่านไปครึ่งศตวรรษ    แนวคิด pay for performance  ค่อยๆ เข้ามาแทน pay for long service   หรือตอบแทนความจงรักภักดีที่ทำราชการนาน    

เมื่อครึ่งศตวรรษก่อน   การทำงาน (โดยเฉพาะราชการ) เน้นทำตามกฎกติกาและวิธีการที่กำหนด    จึงต้องการ conformist มากกว่าต้องการคนแหกคอกแบบผม    เพราะคนแหกคอกมักก่อความเดือดร้อนไม่รู้จบ    ผมบอกตัวเองว่า ผมโชคดี ที่เรียนแพทย์ โดนให้ออกจากราชการก็ยังประกอบอาชีพส่วนตัวได้    และโชคดี ที่ทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ความก้าวหน้าไม่จำเป็นต้องตามอาวุโส    ดังจะเห็นว่า ผมได้เป็นศาสตราจารย์ตั้งแต่อายุ ๔๑ ปี    โดยไม่ต้องรอให้รุ่นพี่ๆ ที่อายุมากกว่าได้เป็นก่อน    ระบบมหาวิทยาลัยมีข้อดีตรงนี้      

สำหรับคนมีความสามารถสูงพิเศษ ผมไม่เห็นด้วยกับการเข้าทำงานโดยใช้เงินเดือนสูงเป็นเกณฑ์เลือกเพียงอย่างเดียว    ผมคิดว่าโอกาสได้ทำประโยชน์ในวงกว้าง หรือคุณค่าสูง    และโอกาสได้เรียนรู้ เพื่อพัฒนาความสามารถให้ยิ่งๆ ขึ้นไป    มีความสำคัญกว่าเงินเดือนสูง  

คนมีความสามารถสูง ไม่ใช่มาจากเกิดมาพร้อมกับความสามารถดังกล่าว    ความสามารถนั้นยังได้จากโอกาสที่สังคมหยิบยื่นให้ เช่นการศึกษา   โดยที่หลายส่วนมาจากภาษีอากรของประชาชนทั่วไป รวมทั้งภาษีทางอ้อมจากคนยากคนจน    จึงเป็นหน้าที่ของคนเก่ง คนมีโอกาสสูง ที่จะต้องทำงานตอบแทนผู้คนเหล่านั้น     

ความสามารถ ความสำเร็จในชีวิตไม่ใช่เรื่องส่วนตัวล้วนๆ    เป็นเรื่องที่มี “มือที่มองไม่เห็น” ช่วยอุ้มชูผลักดันด้วย     มือ เหล่านั้น ส่วนใหญ่เป็นมือของคนจน   เพราะคนจนมีมากกว่าคนรวยนับร้อยเท่า     ผมจึงมีอุดมการณ์ว่า คนที่มีความสามารถ มีความสำเร็จในชีวิต ต้องตอบแทนสังคม  

บันทึกนี้ หักมุมจากอุดมการณ์เชิงธุรกิจ   สู่อุดมการณ์เชิงสังคม    คนแก่ไม่อยู่กับร่องกับรอยเช่นนี้เอง

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ก.ค. ๖๒

  

หมายเลขบันทึก: 665828เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2019 20:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 สิงหาคม 2019 20:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียน อาจารย์

อุดมการณ์ ความฝัน(หวัง) แรงบันดาลใจ เป็น จุดเริ่มต้น ของคนหนึ่งในการหมั่นฝึกฝนพัฒนาทักษะความสามารถในตนเอง และใช้ศักยภาพนั้น

ในเวลานี้ประเทศจีน ให้ความสำคัญ ในการสร้าง อุดมการณ์ ความฝัน(หวัง) แรงบันดาลใจ ให้กับ เยาวชน โดยเฉพาะระดับมาหาวิทยาลัย โดยแยกแยะ ทักษะความสามารถ ไปตามสาขาวิชาชีพต่างๆ ในอนาคต ไม่นานจากนี้ ผลจากการสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพในประเทศ ก็จะปรากฏ…

สำหรับประเทศเราดูเหมือนแปลกประหลาด มีทุกรูปแบบ… ที่น่ายินดี เราสามารถพบ สิ่งที่ดีที่สุด ซุกซ่อนอยู่เสมอ เป็นเวลาเนิ่นนานมาแล้ว เช่นกัน ที่บุคลากรอาวุโส หรือที่ล่วงลับไปแล้ว ได้วางรากฐานการพัฒนาศักยภาพคน จาก รุ่น สู่ รุ่น อาจแตกต่าง จาก กระแสนิยมในประเทศ แต่มิใช่ พวกเราไม่มีสิ่งที่ดี ดี เสีย เมื่อไรกัน

ขอแสดงความนับถือคุณลิขิต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท