สนธิสัญญาเบาว์ริง : การเปิดประเทศในสมัยรัชกาลที่ 4 รูปแบบ และผลของสัญญา


สนธิสัญญาเบาว์ริง : การเปิดประเทศในสมัยรัชกาลที่ 4 รูปแบบ และผลของสัญญา (ภาคสรุป)

โดย วาทิน ศานติ์ สันติ (18 สิงหาคม 2562)

#เกริ่นนำ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่งไม่เห็นด้วยกับนโยบายการต่างประเทศแบบเดิมของไทย ทรงมองว่าการกีดกันไม่ให้มหาอำนาจทางตะวันตกเข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยนั้น เป็นการยั่วยุมหาอำนาจเหล่านั้นให้ใช้กำลังบีบบังคับรัฐบาลของไทย และจะกลายเป็นช่องทางให้เข้ามายึดครองเมืองไทยได้ ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นแล้วอย่างเช่นในประเทศอินเดียและประเทศพม่า เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ ทรงตัดสินพระทัยแน่วแน่ว่าจะมีการเปิดประเทศ และหาหนทางว่าทำอย่างไรไม่ให้ไทยเสียเปรียบมากเกินไป ไทยจะต้องเป็นมิตรไมตรีกับฝรั่ง ในขณะเดียวกันต้องไม่แสดงให้เห็นว่าไทยยอมผ่อนปรนให้เสียจนอยู่ภายใต้อำนาจของฝรั่งมากเกินไป

ทรงมีการเตรียมประเทศให้เหมาะสมพร้อมที่จะเปิดประเทศแบบค่อยเป็นค่อยไปเช่น สนับสนุนการศึกศึกษาในภาษาต่างประเทศเช่นภาษาอังกฤษ การศึกษาด้านการต่างประเทศและการทูต ขจัดอุปสรรคในด้านประเพณีและทัศนคติของคนไทยทีมีต่อฝรั่ง การขจัดอุปสรรคบางประการในการค้ากับฝรั่งตะวันตก เช่น พยายามยกเลิกระบบการค้าแบบผูกขาดพระคลังสินค้า ยกเลิกการผูกขาดทางการค้าสินค้าบางประการ ลดภาษีปากเรือหรือภาษีเบิกร่อง ประกาศให้ข้าวเป็นสินค้าส่งออกของไทย ให้ต่างชาติเข้ามาตั้งสถานกงสุลในประเทศไทย และสำคัญที่สุดคือการทำสัญญากับอังกฤษในปี พ.ศ.2398 หรือที่เรารู้จักกันในชื่อสนธิสัญญาเบาว์ริง พ.ศ.2398 ซึ่งเป็นสัญญาทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดของประวัติศาสตร์ไทยเลยก็ว่าได้

#การมาของเซอร์จอห์นเบาว์ริง

ปี พ.ศ 2397 เซอร์จอห์นเบาว์ริง ผู้ตรวจการค้าของอังกฤษในฮ่องกงได้ส่งจดหมายมายังรัฐบาลไทยที่กรุงเทพฯ เพื่อแจ้งให้ทราบล่วงหน้าถึงการมาของตน เขาเดินทางมาถึงประเทศไทยในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2398 โดยเรือรบ แรตเตอร์ (Rattler) และเรือ เกรเชี่ยน (Rrecian) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เซอร์จอห์นเบาว์ริงเข้าเฝ้าอย่างไม่เป็นทางการก่อนที่จะเปิดการเจรจา ทรงแต่งตั้งกรรมการฝ่ายไทยที่ทำหน้าที่เจรจากับเบาว์ริง ประกอบด้วย พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทำหน้าที่เป็นผู้แทนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการเจรจาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค สมเด็จองค์ใหญ่) ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองปักษ์ใต้ ฝ่ายเหนือทั้ง 4 ทิศ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (สมเด็จองค์น้อย) ผู้สำเร็จราชการในพระนคร เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ว่าที่สมุหกลาโหม และเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เจ้าพระยาพระคลัง ซึ่งกรรมการแทบทุกท่านสนับสนุนนโยบายการเปิดประเทศของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยกเว้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ที่ยังมีแนวคิดแบบเดิมอยู่

ในเดือนเมษายน พ.ศ 2398 เซอร์จอห์นเบาว์ริงได้ยื่นเสนอให้ไทยพิจารณา 12 ข้อคือ

#รายละเอียดของสัญญากับอังกฤษ2398

1. ประเทศไทยและอังกฤษจะเป็นไมตรีที่ดีต่อกัน ไทยจะให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือ ให้ความสะดวกทุกประการแก่คนในบังคับของอังกฤษที่เข้ามาค้าขายตั้งหลักแหล่งในประเทศไทย และรัฐบาลอังกฤษจะให้ความสะดวกแก่คนไทยเช่นกัน ข้อนี้กรรมการฝ่ายไทยตกลงยอมรับ

2. อังกฤษเสนอขอตั้งสถานกงสุลในกรุงเทพฯ ขอสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในประเทศไทย (ด้านการพิจารณาคดีความ) ข้อนี้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่าที่สมุหกลาโหมไม่เห็นด้วยเพราะเกรงว่า หากไทยยอมให้อังกฤษแล้ว มหาอำนาจอื่น ๆ ในยุโรปจะพากันขอสิทธินี้ด้วย ท้ายที่สุดพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตัดสินพระทัยยอมให้อังกฤษเข้ามาตั้งสถานกงสุลในไทยได้แต่มีข้อแม้ว่าอังกฤษจะต้องสัญญาว่าจะพิจารณาเลือกแต่บุคคลที่มีความประพฤติดีมาเป็นกงสุล

3. คนไทยที่ไปทำงานกับคนอังกฤษหากทำผิดกฎหมายไทยและต้องการหนีไปอยู่กับคนอังกฤษ ทางกงสุลอังกฤษจะสอบสวนเอง ถ้าเห็นว่าคนไทยทำผิดจริงจะต้องนำตัวส่งกลับให้รัฐบาลไทยลงโทษ แต่รัฐบาลไทยจะต้องปฏิบัติเช่นนี้กับคนในบังคับของอังกฤษเช่นกัน กรรมการฝ่ายไทยยอมรับข้อนี้

4. อังกฤษเสนอให้คนในบังคับของอังกฤษมีสิทธิ์เข้ามาตั้งบ้านเรือนและซื้อที่ดินในไทยได้ ไทยเสนอว่าบ้านเรือนที่จะตั้งนั้น จะต้องอยู่โดยรอบพระนครในระยะที่เดินทางมาถึงกรุงเทพฯภายใน 24 ชั่วโมง และเสนอว่าคนในบังคับของอังกฤษที่จะซื้อที่ดินได้นั้น จะต้องอาศัยอยู่เมืองไทยมาแล้วเป็นเวลา 10 ปีขึ้นไป และที่ดินนั้นจะต้องไม่ไกลเกินกว่า 4 ไมล์ จากกรุงเทพฯ

5. คนในบังคับของอังกฤษที่จะมาอยู่ในเมืองไทยได้จะต้องจดทะเบียนเป็นหลักฐานไว้ที่กงสุล ห้ามเดินทางออกนอกเขตที่กำหนดจนกว่าจะได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทย

6. คนในบังคับของอังกฤษที่เข้ามาอยู่ในไทยจะได้รับอนุญาตให้นับถือศาสนาและปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาได้อย่างเสรี สร้างโบสถ์ตามศาสนาที่นับถือในไทยได้ ซึ่งรัฐบาลไทยข้อตกลงโดยดี

7. ขอให้เรือรบอังกฤษเข้ามาจอดไว้ที่กรุงเทพฯ ได้ ในชั้นแรกกรรมการฝ่ายไทยไม่ยอมตกลงเพราะเห็นว่าเป็นกา คุกคามความปลอดภัยของไทย แต่ภายหลังก็ยอมให้จอดได้แค่ปากแม่น้ำเท่านั้น และจอดได้เฉพาะในกรณีพิเศษเช่น การซ่อมแซมเรือ

8. อังกฤษเสนอให้ยกเลิกภาษีปากเรือและภาษีอื่นทั้งหมด ให้ไทยเก็บภาษีสินค้าขาเข้าในอัตราร้อยละ 3 และขาออกได้ในอัตราร้อยละ 1 อังกฤษสามารถติดต่อค้าขายกับราษฎรได้โดยตรงโดยที่รัฐบาลไทยห้ามแทรกแซง ซึ่งเท่ากับเป็นการยกเลิกระบบการผูกขาดการค้า ในระบบพระคลังสินค้าที่ดำเนินมานับตั้งแต่สมัยอยุธยา อังกฤษสามารถค้าขายฝิ่นในไทยได้ แต่ไทยเสนอว่าการค้าฝิ่นจะต้องนำมาติดต่อค้าขายกับทางรัฐบาลไทยเท่านั้น ไทยจะต้องยอมให้ข้าวเป็นสินค้าส่งออก ข้อนี้กรรมการฝ่ายไทยเสียงแตกเป็น 2 ฝั่งทั้งสนับสนุนและไม่สนับสนุนการตัดสินใจกันอยู่นานจึงนอมตกลงแบบมีเงื่อนไข

9. เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยและกงสุลของอังกฤษจะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลให้คนในบังคับของแต่ละฝ่ายให้ปฏิบัติไปตามกฎข้อบังคับในสัญญาฉบับนี้

10. ไม่ว่ารัฐบาลไทยจะให้สิทธิพิเศษใด ๆ กับชนชาติอื่นที่มาทำสัญญากับไทย รัฐบาลอังกฤษและคนในบังคับของอังกฤษต้องได้รับสิทธินั้นด้วย

11. สัญญานี้จะถูกบังคับใช้ไปอีก 10 ปีและเมื่อพ้นระยะเวลาแล้วสามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้โดยทั้งสองฝ่ายที่ตั้งคณะกรรมการมาพิจารณาร่วมกัน

12. สัญญานี้มีผลบังคับใช้นับแต่ที่ได้มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันซึ่งจะมีขึ้นภายใน 1 ปีนับจากได้ตกลงทำสัญญากัน

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระนามในสัญญาวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 รวมเวลาที่ใช้ในการจราจรทั้งหมด 9 วัน ข้อสังเกตคือเซอร์จอห์นเบาว์ริง มีความพึงพอใจเป็นอย่างมากในการทำสัญญาฉบับนี้กับไทย ซึ่งนับว่าเป็นการเซ็นสัญญาที่รวดเร็วมากกว่ารัฐบาลอื่น ๆ ในทวีปเอเชีย ต่อมาอีก 1 ปี ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2399 สัญญาก็มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

#ผลของสนธิสัญญากับอังกฤษ2398

#ผลดีทางด้านการเมืองกรปกครอง

สนธิสัญญาฉบับนี้มีความสำคัญต่อเอกราชของไทยเป็นอย่างยิ่ง มีส่วนทำให้รอดพ้นจากการคุกคามและการยึดครองของอังกฤษเช่นที่อังกฤษได้กระทำในอินเดียและพม่าเป็นต้น เป็นลดความตึงเครียดทางการเมืองและตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งครั้งนั้นอังกฤษตัดสินใจใช้นโยบายเรือปืนบังคับให้ไทยยอมเจรจา

สนธิสัญญากับอังกฤษในปี 2398 นั้นเรียกร้องความสนใจจากรัฐบาลประเทศมหาอำนาจอื่นๆทั้งในยุโรปและอเมริกา เข้ามาทำสัญญากับไทย เช่น

พ.ศ 2399 ไทยทำสัญญากับประเทศสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส

พ. ศ. 2401 ไทยทำสัญญากับประเทศเดนมาร์ก สันนิบาตแฮนซิเอติก โปรตุเกส

พ.ศ 2403 ไทยเซ็นสัญญากับฮอลันดา ปรัสเซีย

และไทยยังได้แต่งตั้งให้เซอร์จอห์นเบาว์ริงเป็นผู้แทนในการทำสัญญากับเบลเยียม อิตาลี นอร์เวย์และสวีเดนอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการเปิดศักราชใหม่ของไทยในการติดต่อกับชาวต่างชาติทั่วยุโรปและอเมริกาอย่างกว้างขวาง ไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศมหาอำนาจตะวันตก เรียกได้ว่าเป็นคานอำนาจของมหาอำนาจตะวันตกในไทย เพราะแต่ละประเทศต่างต้องการรักษาผลประโยชน์ของตนเองในไทยด้วยกันทั้งสิ้น

ไทยได้รับวิทยาการจากชาติตะวันตกเช่นการสร้างทางรถไฟ การสร้างระบบสาธารณูปโภค ระบบโทรคมนาคม เป็นต้น

มีการขยายตัวทางด้านเงินตรา มีการจัดตั้งโรงกษาปณ์ขึ้นเพื่อผลิตเรียนใช้ในประเทศ

#ผลดีทางด้านเศรษฐกิจ

ผลจากการทําสัญญาทำให้ชาติมหาอำนาจตะวันตกเข้ามาค้าขายกับไทยมากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นการเปิดตลาดการค้าแบบเสรีของไทยอย่างชัดเจน มีพ่อค้าต่างชาติเข้ามาค้าขายในไทยมากมาย ภายในระยะเวลานับจากทำสัญญามีเรือชาวต่างชาติเข้ามาค้าขายในไทยถึงปีละ 300-400 ลำซึ่งก่อนหน้านั้นมีเพียงปีละ 10-12 ลำเท่านั้น ไทยมีรายได้หลั่งไหลเข้ามาในประเทศปีละหลายล้านดอลลาร์

ระบบเศรษฐกิจของไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงจากการผลิตแบบพึ่งพาตนเอง เพื่อการยังชีพหรือการบริโภค กลายเป็นการผลิตเพื่อเศรษฐกิจ การค้า การส่งออกและอุตสาหกรรม

ข้าว กลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดของไทย มีการขยายพื้นที่การเพาะปลูกข้าวออกไปอย่างกว้างขวาง มีการขุดคลองชลประทานเพื่อสนับสนุนการทำการเพาะปลูกข้าว เช่นโครงการคลองรังสิตในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการส่งออกข้าวปีหนึ่งปริมาณมากกว่า 80,000 เกวียน เกษตรกรหันไปทำนาปลูกข้าวเป็นส่วนใหญ่ จนข้าวกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดของไทยมาจนถึงปัจจุบัน

ในยุคนั้นอังกฤษเป็นประเทศที่นำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากที่สุดรองลงมาคือฝรั่งเศสอเมริกาพ่อค้าจะชาวจีนฮ่องกงและสิงคโปร์ต่างก็พากันเข้ามาค้าขายในประเทศไทยเป็นอันมาก

#ผลเสียของการทำสนธิสัญญา

แม้ว่าดูเหมือนสัญญาจะเป็นผลดีทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ แต่แท้ที่จริงแล้วสนธิสัญญาก็มีลักษณะไม่มีความเสมอภาค เพราะไทยต้องสูญเสียเอกราชทางการศาล ต้องประสบปัญหาความยุ่งยากในการตัดสินคดีความระหว่างคนไทยกับคนต่างชาติ ซึ่งไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายไทยได้

ไทยยังไม่มีสิทธิ์เพิ่มภาษีขาเข้าให้มากกว่าร้อยละ 3 แม้ระยะเวลาต่อมาสินค้าทั่วโลกจะเพิ่มราคาสูงขึ้นมาก แต่ไทยก็ต้องเก็บอัตราภาษีในราคาเท่าเดิม

ซ้ำร้ายที่สุด สัญญาที่ไทยทำกับอังกฤษรวมไปถึงที่ไทยทำกับชาวต่างชาติหลาย ๆ ฉบับนั้นไม่ได้กำหนดระยะเวลาการเลิกสัญญาเอาไว้ด้วย

ผลพวงของสัญญายังทำให้ไทยสวนเสียดินแดนบางส่วนคือรัฐต่าง ๆ ในมลายู ให้กับอังกฤษเสียมราฐ พระตะบอง ให้กับฝรั่งเศส เพื่อแลกเปลี่ยนกับเอกราชทางการศาลของไทย

#สรุป

กล่าวโดยสรุปสนธิสัญญาเบาว์ริง 2398 ถือเป็นสัญญาการเปิดประเทศของไทยในสมัยรัตนโกสินทร์อย่างแท้จริง ไทยได้ประโยชน์ทางด้านการค้ากับชาวต่างชาติอย่ามาหาศาล ข้าวกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดของไทยมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงประโยชน์ในการรักษาเอกราชของประเทศเอาไว้ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็สูญเสียผลประโยชน์บางอย่างโดยเฉพาะทางด้านการศาลให้กับชาวต่างชาติ ไทยพยายามหาทางแก้ไขและยกเลิกสัญญาหลายครั้งนับตั้งแต่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เป็นสาเหตุที่ทำให้ไทยยอมยก 4 รัฐมลายู ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ให้กับอังกฤษ จนมาถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากไทยได้ส่งกำลังทหารเข้าไปช่วยรบกับทางฝั่งของอังกฤษ เมื่อสงครามยุติลง ก็สามารถแก้ไขสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมด้านสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและด้านการศุลกากรได้ และหลังปีพศ 2470 ประเทศตะวันตกอีกหลายประเทศ ก็ได้ยกเลิกสัญญากฎหมายที่ไม่เป็นธรรมนี้ด้วย

ภาพประกอบ สนธิสัญญาเบาว์ริงฉบับภาษาไทยเขียนลงสมุดไทย ก่อนส่งไปจักรวรรดิอังกฤษ ให้รัฐบาลอังกฤษประทับตรา สืบค้นจาก https://th.m.wikipedia.org/wik... เมื่อ 18 สิงหาคม 2562

เอกสารประกอบการเขียน

วิไลเลขา บุรณศิร. สิริรัตน์ เรืองวงศ์วาร และ ศิวพร สุนทรวิภาต. (2536). ประวัติศาสตร์ไทย 2. พิมพ์ครั้งที่ 14. กรุงเทพมหานคร: สํานักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคําแหง.

วิไลเลขา ถาวรธนสาร, ประภัสสร บุญประเสริฐ, นันทนา เตชะวณิช และ กิติยวดี ชาญประโคน. (2552). พื้นฐานวัฒนธรรมไทย. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคําแหง

หมายเลขบันทึก: 665810เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2019 12:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 สิงหาคม 2019 12:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท