การประกอบสร้างความจริง ใน วรรณกรรม (4)


การสร้างภาพตัวแทน ในวรรณกรรม

           สว๊วต ฮอลล์ (Hall,1997: p.15) นักวัฒนธรรมศึกษาได้กล่าวถึงนิยามของการนำเสนอภาพแทน (Representation) หมายถึง กระบวนการสร้างความหมายและแลกเปลี่ยนระหว่างสมาชิกในวัฒนธรรม เช่น ภาษา สัญญะ และภาพ ซึ่งเป็นหลักในการนำเสนอสิ่งนั้น โดย Hall ได้อธิบายต่อว่า การนำเสนอภาพแทนนั้น เชื่อมโยงระหว่าง ภาษา และ ความหมาย ในฐานะของการประกอบสร้างความจริงทางสังคมและจะเข้าใจกันด้วย โดยใช้แผนที่มโนทัศน์ (Conceptual Map) สิ่งที่แบ่งปันความหมายให้เข้าใจร่วมกันนั่นประกอบด้วย คำที่เป็นภาษา (Word) เสียง (Sound) และรูปภาพ (image) ที่จะถ่ายทอดความหมาย เรียกว่าสัญญะ (Sign) ตามองค์ประกอบของวัฒนธรรมที่นำเสนอภาพแทนได้แก่ มีการผลิต การบริโภค มีอัตลักษณ์ มีภาพแทน และมีกฎเกณฑ์ในการกำกับการผลิตและการบริโภค ภาพตัวแทนที่ปรากฎในวรรณกรรมนั้นเป็นเพียงภาษาและรูปภาพ ที่ใช้เล่าเรื่องเท่านั้น                       

ภาพตัวแทน เรื่องเล่าในวรรณกรรม ปรากฎอยู่สามแบบ              

            Hall (1997, p. 15) ได้แบ่งกลุ่มแนวคิดของการนำเสนอภาพตัวแทน (Representation)  ออกเป็นสามกลุ่ม ได้แก่

            กลุ่มแนวคิดที่หนึ่ง ภาพตัวแทนในฐานะของภาพสะท้อนความจริงเกี่ยวกับโลกผ่านภาษา (Reflective approach)  ที่มีฐานความเชื่อว่าความจริงมีอยู่ก่อนแล้ว หน้าที่ของของกระบวนการคือการสะท้อนความจริง

            กลุ่มแนวคิดที่สอง คือภาพตัวแทนอันแสดงถึงภาษาที่แสดงเจตจำนงของผู้ส่งสาร (intentional approach) เป็นการศึกษาเจตนาและมุมมองของผู้ส่งสาร

             กลุ่มแนวคิดที่สาม คือ ภาพตัวแทนคือการประกอบสร้างความคิดผ่านภาษา (Constructionist approach) (Hall,1997, p. 15, Leve, 2012, p. 6) 

            ข้อถกเถียงของสามแนวคิดนี้ แนวคิดที่หนึ่ง ภาพตัวแทนคือการสะท้อนความจริง นั้นเชื่อว่าวรรณกรรมหรือสื่อต่าง ๆ นั้นสามารถสะท้อนความจริงอย่างเป็นกลาง และสะท้อนความจริงได้หมดทุกแง่มุม ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้ในโลกของความเป็นจริง ที่จะสะท้อนความเป็นจริงได้หมดทุกแง่มุม  แนวคิดที่สองนั้นอธิบายว่า การนำเสนอภาพแทนนั้นเป็นการแสดงเจตนาและมุมมองของผู้ส่งสาร ในการสื่อสารด้วยเรื่องเล่าหรือสื่อประเภทต่าง ๆ นั้นหากผู้สื่อความหมายยังคงมีชีวิตอยู่ นั้นก็สามารถสัมภาษณ์เพื่อหาข้อมูลในเจตนาและมุมมองของผู้ส่งสารได้ แต่ในกรณีที่ผู้เขียนตายไปแล้ว ก็ไม่สามารถเห็นเจตนาและมุมมองที่แท้จริงของผู้ส่งสารหรือผู้ผลิตได้ ดังนั้นจึงมาตกอยู่ในแนวคิดข้อที่สาม คือ การประกอบสร้างความจริง การประกอบสร้างก็คือการผลิตความหมาย ที่เป็นการสร้างความจริงในส่วนของผู้ผลิต  และผู้บริโภคก็มีส่วนในการสร้างความจริงในส่วนผู้บริโภคด้วย   

             แนวที่สาม คือการนำเสนอภาพแทน คือการประกอบสร้างความคิด ผ่านภาษา (Leve, 2012, p. 6) ความคิดนี้คือความจริงไม่อาจให้ความได้จากผู้ส่งสารเพียงประการเดียว แต่ผู้รับสารนั้นเป็นผู้ประกอบสร้างความจริงด้วย รากฐานของการมองแนวคิดการประกอบสร้างความคิดผ่านภาษานั้นได้รับอิทธิพลจากสำนักปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) มีหลักดังต่อไปนี้คือ ความจริงนั้นถูกประกอบสร้างขึ้นมาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่าง เหตุการณ์ วัตถุ สร้างให้เกิดความเป็นจริงผ่านการรับรู้ การตีความ หรือการสร้างความหมาย การตีความหมายนั้นเปลี่ยนไปตามตัวบุคคลที่ไปสัมพันธ์กับวัตถุ เหตุการณ์ (ลลิตา บุณยรัตน์, 2555)

ลลิตา บุณยรัตน์. (2555). ภาพตัวแทนคนจีนโพ้นทะเลในนวนิยายในชีวิตชาวจีนโพ้นทะเลในสังคมไทย  (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง. เชียงราย 

Hall, S. (Ed.). (1997). Representation: Cultural representations and signifying practices (Vol. 2). New York: Sage.

Leve, A. M. (2012). The Circuit of Culture as a Generative Tool of Contemporary Analysis: Examining the Construction of an Education Commodity. Australian Association for Research in Education (NJ1).

หมายเลขบันทึก: 664812เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2019 22:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 สิงหาคม 2019 22:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท