ความจริง ความรู้ ที่ถูกสร้างขึ้น


ความจริง ความรู้ ที่ถูกสร้างขึ้น

(เกริ่นนำ)

ดังที่ได้เขียนเอาไว้แล้วในข้อถกเถียงของ สัจจะ และ ความเป็นจริงที่ถูกสร้างขึ้น เมื่อวานนี้ว่า ยังคงมีข้อถกเถียงว่าอะรคือสัจจะ อะไรคือ ความเป็นจริงที่ถูกสร้างขึ้น ส่วนหนึ่งของความจริงที่สร้างชึ้นนั้น ประกอบสร้างขึ้นจากภาษา ภาษาใช้ในภาพแทนสัจจะ ความเป็นจริงทางภาษา บางสิ่งบางอย่างอาจไม่ใช่อยู่ในโลกของความจริง เช่นอยู่ในโลกของจินตนาการ เช่น ม้ายูนิคอร์น มังกร ภูต ผี ปีศาส การประกอบสร้างความจริงผ่านภาษานั้น มีทั้งตัวหมาย และ ความหมาย โลกแห่งความรู้ในชีวิตประจำวันที่เรียกว่าการประกอบสร้างความจริงทางสังคม (Social construction of reality) ในรอบ ๆ ตัวเรา ล้วนแต่เกิดจากเรื่องเล่าทั้งนั้น เรื่องเล่านั้นไม่ใช่เหตุการณ์เชิงประจักษ์ที่เราไปพบหรือเห็นเอง แต่เป็นความจริง ความรู้ ที่ผ่านการเล่าเรื่อง หรือคนอื่นเล่าต่อมาทั้งสิ้น

การเล่าเรื่อง (narrative) สร้างความจริงได้อย่างไร

เรื่องเล่าเกิดจาก การจัดระเบียบของความรู้ที่กระจัดกระจายเข้าด้วยกันเป็นเรื่องเล่าชุดหนึ่ง (ชูศักดิ์  ภัทรกุลวนิชย์,2561) เรื่องเล่านั้นเข้าใจว่ามีมาตั้งแต่มนุษย์ถ้ำ จากหลักฐานที่ปรากฎในงานศิลปะถ้ำ ที่มนุษย์ต้องการที่จะเล่าเรื่อง ต่อมาเมื่อสังคมเจริญขึ้นเป็นรัฐ ความก้าวหน้าทางภาษาจึงเกิดขึ้น เกิดเรื่องเล่าต่าง ๆ มากกมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าเชิงมุขปาฐะ เรื่องเล่าที่จดจารจารึกลงบนวัสดุต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นเรื่องเล่าทั้งสิ้น แม้แต่พระไตรปิฏกก็ถือว่าเป็นเรื่องเล่ามุขปาฐะ ที่นำมาจารึกรวบรวมเป็นวรรณกรรมในทีหลัง นอกจากนั้นคัมภีร์ทางศาสนาต่าง ๆ ก็ล้วนแต่มีเรื่องเล่าจำนวนมหาศาล ซึ่งศาสนิกทั้งหลายก็ล้วนแต่ยอมรับว่า เรื่องเล่าต่าง ๆ นี้คือสัจจะความจริงแท้ทั้งสิ้น ทั้ง ตำนาน นิยายปรัมปรา (myth) ทั้งหลาย ซึ่งมีแกนสำคัญคือเรื่องเล่า(narrative) ซึ่งทุกเรื่องเล่าล้วนแต่มีไวยกรณ์ หรือ โครงสร้างในการเล่ากำกับทั้งสิ้น ว่าอะไรคือ องค์ประธานของการเล่าเรื่อง ทำอะไร เผชิญเหตุการณ์อะไร มีความขัดแย้งกับอะไร ทางออกสุดท้ายของการเล่าเรื่องคืออะไร ขนบต่าง ๆ ในการเล่าเรื่อง แม้ในพระไตรปิฏกก็ตาม ก็จะมีองค์ประธานคือ ศาสดา ศาสดาทำอะไร เผชิญกับอะไร ชนะอะไร อะไรสำเร็จ อะไรไม่สำเร็จ เช่นเดียวกับศาสดาอื่น ๆ ก็ไม่ได้แตกต่างจากกันมากนั้น ความเชื่อมั่นในเรื่องเล่า หรือ การตีความต่อเรื่องเล่าในฐานะการยอมรับเรื่องเล่าเหล่านั้นได้สร้างความจริงขึ้นมา อาวุธวิเศษ คนวิเศษ อภินิหาร ในเรื่องเล่าแบบไทย ไม่ว่าจะเป็นคนกึ่งปลา นางเงือก นางยักษ์ อมนุษย์ต่าง ๆ และในสังคมแบบผี ๆ ก็จะมีเรื่องเล่าเป็นชุด ๆ และเคยมีคนทรงเจ้าเคยทรง นางผีเสื้อสมุทร ซึ่งสามารถสืบค้นได้ว่าเป็นเรื่องแต่งของสนุทรภู่ แต่มันได้กลายมาเป็นความจริง  สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นการประกอบสร้างความจริงขึ้นมาทั้งสิ้น 

ความรู้ ที่มีที่มาจากเรื่องเล่า

ในพรมแดนของการสื่อสาร ที่มีผู้ส่งสาร โดย นำเรื่องต่าง ๆ ที่กระจัดกระจาย มารวบรวมเป็นหมวดหมู่ เพื่อจะสื่อออกมาในยุคแรก ๆ ในสมัยมนุษย์ถ้ำ ก็จะเล่าเรื่องในถ้ำ เรื่องพิธีกรรม ความเกรงกลัวต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ การเล่าถึงวิถีชีวิต หลักฐานที่กล่าวมาก็จะเป็นภาพเขียนที่ถ้ำ โลงศพที่สร้างในถ้ำ ต่อมาสังคมเริ่มมีรัฐ ก็เริ่มเอาความคิดที่กระจัดกระจายกันเข้ามารวบรวมใหม่ เริ่มคิดโครงสร้างทางสังคมขึ้นมา จากการเรียกการเกี่ยวข้องกันทางสายโลหิตมีคือเรียกชื่อแทนคน เป็นบุรุษที่สาม บุรุษที่สี่ ซึ่งก็จะตกทอดถีงปัจจุบันก็จะเป็นเรื่องเล่า เช่น ตำนานการเกิดโลกและมนุษย์ ในการจารึกในใบลาน โดรงสร้างของโลกทั้งสาม คือ โลกสวรรค์  โลกมนุษย์ และ โลกแห่งนรก เรื่องเล่าเหล่านี้ย่อมมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนระบบสังคมแบบใด แบบหนึ่งให้เป็นไปโดยชอบธรรม นักเล่านิทานอย่างเช่นอิสป ก็สร้างเรื่องเล่า โดยใช้กลวิธีในการใช้สัตว์เป็นภาพแทนของมนุษย์ และพฤติกรรมของมนุษย์ ในโลกแห่งสมัยใหม่ เรื่องเล่าต่าง ๆ ล้วนแต่ผสมกลมกลืนกัน ทั้งเรื่องเก่า เรื่องใหม่ ซึ่งถูกนำมาผลิตซ้ำ เพื่อเล่าต่อในสื่อต่าง ๆ เช่น สื่อวรรณกรรม สื่อการละคร สื่อโทรทัศน์ สื่อภาพยนตร์ จนกระทั่งมาถึงสื่อใหม่ ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เนต สื่อโชเชียลมีเดีย ล้วนแต่ผลิตซ้ำเรื่องเล่าต่าง ๆ เพื่อประกอบสร้างความจริง

วิทยาศาสตร์ กับ เรื่องเล่า

วิทยาศาสตร์เกิดขึ้นมาเพราะความขัดแย้งต่อเรื่องเล่าแบบเดิม ๆ จนนักวิทยาศาสตร์รุ่นแรก ๆ เกือบเอาชีวิตไม่รอดหลายคน เพราะเล่าเรื่องไม่ตรงกันกับเรื่องเล่าหลักของสังคมในขณะนั้น แต่เมื่อวิทยาศาสตร์ได้สถาปนาขึ้นมามีอำนาจเหนือสังคม เรื่องเล่าต่าง ๆ จึงเปลี่ยนไป เป็นเรื่องเล่าเชิงเหตุผล เชิงวัตถุนิยมมากขึ้น เช่นการเล่าเรื่องน้ำ ซึ่งแต่เดิมก็มีเรื่องเล่าว่ามีเทพแห่งน้ำคอยคุ้มครอง ก็เปลียนไปเป็น น้ำที่มีองค์ประกอบทางด้านธาตุพื้นฐานสองธาตุ เพราะเชื่อว่าการมองน้ำอย่างเป็นกลางเป็นทรัพยากรที่เป็นประโยชน์ นักวิทยาศาสตร์กับนายทุนจึงร่วมกันทำน้ำขึ้นมาขาย หรือนักวิทยาศาสตร์ร่วมกับนักรัฐศาสตร์ร่วมกันทำนโยบายน่ำให้เป็นประโยชน์ต่อ คนกลุ่มต่าง ๆ  เรื่องเล่าวิทยาศาสตร์เชิง Objective เหล่านี้ มีฐานคิดว่า ความจริงนั้นมีอยู่แล้ว มีอยู่ล่วงหน้าแล้ว เป็นความจริงเชิงวัตถุ เป็นทรัพยากรที่ไม่มีเรื่องเล่าแบบเดิม จึงทำให้เกิดการล้างผลาญทรัพยากรมากที่สุดในยุคของโลก เรื่องเล่าเทพารักษ์กับคนตัดไม้ ไม่มีอิทธิพลต่อมนุษย์อี่กแล้ว เรื่องเล่าอนาคตที่ดี เรื่องเล่าความสำเร็จ เรื่องเล่าการศึกษาที่มีคุณภาพ นำมาซึ่งการขูดรีดเอาทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อนำมาบริโภคอย่างไม่ยั้ง  เช่นเดียวกับมโนทัศน์ทางด้านวิทยาการต่าง ๆ ก็เริ่มมีการศึกษาในลักษณะแบบจำลองความจริงขึ้นมา ได้รับการยอมรับบ้าง ถูกล้มล้างไปบ้าง ทั้งนี้เนื่องมาจากเป็นประกอบสร้างความจริงในอารยธรรมตะวันตก ความจริงจึงเป็นแบบสัมพัทธ คือขึ้นอยู่กับหลักฐานและเหตุผล

การประกอบสร้างความรู้แบบตะวันตก  

ปรัชญาตะวันตก ได้กล่าวถึงวิธีการประกอบการสร้างความรู้พื้นฐานมาจาก วิธีการทางด้านปรัชญาก็คือ การพยายามตอบคำถามพื้นฐานว่าอะไรคือ สิ่งที่จริง สิ่งที่ดี สิ่งที่งาม ก่อให้เกิดการคิดแบบมีเหตุผล ในการตอบคำถามพื้นฐานและเป็นรากฐานของสกุลต่าง ๆ ทางปรัชญา ดังที่กล่าวไว้ในวิทยาศาสตร์กับเรื่องเล่า การตอบคำถามพื้นฐานมาจากการบอกเล่าในสิ่งที่เป็นความคิด และแน่นอนว่าทฤษฎีความรู้แบบตะวันตก นั้นสร้างแบบจำลองเพื่อล้มล้างความรู้กันตลอดมา จนเกิดความก้าวหน้าทางด้านวิทยาการต่าง ๆ ความรู้ต่าง ๆ จึงมีที่มาตั้งแต่ สามัญสำนึก ไปจนถึงการเรียบเรียงอย่างเป็นระบบเชิงปรัขญา นั้นมีความเคลื่อนไหวอยุ่ตลอดเวลา นอกจากนั้นแล้วการจ้องมอง ก็เป็นวิถีแห่งตะวันตก ทฤษฎีส่วนใหญ่มาจากใช้สายตาในมอง สังเกตุการณ์ จากหลักฐาน จากเหตุผล การหลั่งไหลของความรู้ปัจจุบันมาจากตะวันตกด้วยกันทั้งสิ้น และไม่ใช่ความจริงเชิงประจักษ์แต่เป็นการสร้างความจริง

สมองและเรื่องเล่า

เมื่อวิทยาการก้าวหน้ามากขึ้นไปเรื่อย ๆ การสร้างแบบจำลองความรู้นั้นมาจากรูปแบบของสมอง เรื่องเล่าที่ผูกโยงความรู้อย่างเป็นระเบียบ ทำให้สมองทำงานได้ดีขึ้น เพราะว่าใกล้เคียงกับการทำงานในการเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ของสมอง นอกจากนั้นเรื่องเล่ายังผูกกับอารมณ์อย่างแนบแน่น  อารมณ์ทำให้สมองนั้นทรงจำได้ดี ดังนั้นเราจึงชื่นชอบเรื่องเล่า โดยเฉพาะเรื่องเล่าของบุคคลที่สาม ในแวดวงการนินทา การชุบชิบ เป็นเรื่องเร้าความสนใจ เรื่องเล่าจึงย่อยได้ง่าย สมองสามารถเก็บความรู้ชุดนี้ไว้ในความทรงจำระยะยาวได้ ดังนั้นจึงกล่าวไม่ผิดว่า ฉันเล่า ฉันจึงมีชีวิตอยู่

สรุป  

เรื่องเล่าจึงมีความสำคัญในฐานะการสร้างความจริง ความรู้ ตลอดจนการสร้างแรงบันดาลใจ ความสำคัญของเรื่องเล่านั้นไม่ใช่ตัวเรื่องเล่า แต่เป็นตัวผู้รู้เรื่องเล่า หรือ การรับรู้เรื่องเล่าผ่านตัวมนุษย์ แม้จะไม่ใช่อะไรที่เราประจักษ์แจ้งด้วยสายตาก็ตาม เราก็ย่อมตีความตามประสบการณ์ที่มีอยู่ว่าเรื่องเล่านั้นเห็นด้วยหรือไม่ หรือน่าจะเป็นแบบนั้น หรือไม่เห็นด้วย ต่อเรื่องเล่าชุดนั้น ๆ ตลอดจนเราสามารถที่จะถอดไวยากรณ์ของเรื่องเล่าต่าง ๆ ออกมาวิเคราะห์ให้เห็นถึงระบบความคิด ระบบความเชื่อ หรือจักรวาลวิทยา ออกมาได้

หมายเลขบันทึก: 664263เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2019 23:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กรกฎาคม 2019 23:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท