ข้อถกเถียง ระหว่าง สัจจะ และ ความเป็นจริงที่ถูกประกอบสร้าง


ข้อถกเถียง ระหว่าง สัจจะ (Truth) และ ความเป็นจริงที่ถูกประกอบสร้าง (Reality)

(เกริ่นนำ)

พุทธศาสนาได้กล่าวถึงสัจจะมีอยู่สองประการคือ สมมุติสัจจะ และ ปรมัตถสัจจะ สมมุติสัจจะเป็นสัจจะโดยสมมุติที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อให้เกิดความเข้าใจขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น ภาษา เป็นสิ่งที่แทนความจริงในการจัดกลุ่มของสิ่งต่าง ๆ   ส่วน ปรมัตถสัจจะ เป็นสัจจะสูงสุดเช่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ  หรือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน สัจจะสองประการนี่ก็เป็นการแยกในคัมภีร์ศาสนา  แม้การแบ่งในพุทธศาสนาในเรื่อง สัจจะ แบบนี้ ใช้ตัวผู้รู้เป็นผู้เข้าไปเป็นผู้รับรู้ หากไม่มีผู้รู้เข้าไปรับรู้ สัจจะทั้งสองจึงไม่อาจมีได้ ท่าทีของพุทธศาสนานั้นมีลักษณะทวินิยม คือ เชื่อว่าความจริงด้านปรมัตถะนั้นมีหรือดำรงอยู่ก่อนแล้ว objective และเชื่อว่าความจริงนั้นจะเป็นเชิงประจักษ์ เชิญมาพิสูจน์ได้ ก็คือ ใช้ตัวผู้รู้เข้าไปสังเกต สำรวจ จึงจะเป็นผู้เข้าถึง เช่นการตรัสรู้หรือเข้าสู่นิพพาน เกิดจาก ตัวผู้รุ้เข้าไปสังเกต สำรวจ จิต จนรู้แจ้ง ชัดเจน โดยนิพพานเป็นสิ่งที่มีอยู่ก่อนหน้าโดยปราศจากการรับรู้ของมนุษย์อยู่แล้ว

สัจจะ (Truth)

ข้อถกเถียงทางด้าน ภววิทยา (Ontology) ซึ่งภววิทยาเป็นแขนงหนึ่งของปรัชญา ที่จะตอบคำถามพื้นฐานว่า สภาวะความเป็นจริงหรือสัจจะตามธรรมชาติ นั้นคืออะไร ซึ่งคำตอบของนักปรัชญาทั้งหลาย ก็จะไม่เป็นเอกภาพนิยม สัจจะ(Truth) นั้นเป็นเรื่องของ พหุนิยม ได้แก่ กลุ่มที่ตอบคำถามพื้นฐานที่มีคำตอบไปทางจิตนิยม ก็จะตอบปัญหาว่า “จิต เป็นความจริง” ส่วนกลุ่มที่ตอบคำถามพื้นฐานไปทางวัตถุนิยมก็จะตอบว่า “วัตถุ คือความจริง” กลุ่มที่ตอบคำถามพื้นฐานว่า ความจริงคือการบูรณาการ อาจบูรณาการวัตถุนิยมเข้ากับจิตนิยม และกลุ่มที่ให้คำตอบอื่น ๆ  ได้แก่กลุ่ม Pragmatism ที่ไม่ได้สนใจสัจจะ สนใจที่จะปฏิบัติอย่างเดียว  ส่วน Existentialism ไม่ได้ตอบเน้นเรื่องสัจจะ แต่ เน้นเรื่องการมีอยู่ (Existence) ของความเป็นมนุษย์ ตลอดจนกลุ่มที่ตอบคำถามพื้นฐานของความจริงคือ ภาษา   ซึ่งเมื่อประมวลผลคำตอบบทางด้านภววิทยาแล้ว ก็สรุปได้ว่า สัจจะมีอยู่อย่างหลากหลาย ไม่เป็นหนึ่งเดียว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนักคิดหรือนักปรัชญาที่ตอบคำถามพื้นฐานนั้น  ซึ่งความเป็นจริงนั้นมีอยู่หรือการดำรงอยู่ แต่การอาจมีความจำกัดในการเข้าถึง

ความเป็นจริงที่ถูกสร้างขึ้น (Reality)

นับตั้งแต่นักปรัขญากลุ่ม Existentialism  ได้ตอบคำถามพื้นฐาน การมีอยู่ของมนุษย์ (Existence) มาก่อนสัจจะ ซึ่งเป็นการหักหลักการทางปรัชญาที่ผ่านมา ที่เน้นตัว สัจจะ มาก่อนสิ่งอื่นใด  ทำให้เกิดการศึกษาความจริงที่ถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ หรือมนุษย์เป็นผู้สร้างความจริงขึ้นมา  เป็นพื้นฐานคำตอบ ในการสร้างของมนุษย์ที่เรียกว่าวัฒนธรรม (culture) การประกอบสร้างความจริง (construction of reality) เมื่อนับอารยธรรมของมนุษย์ตั้งแต่โบราณ ในการสร้างความจริงผ่านภาษา เรื่องเล่า (story telling) ไม่ว่าจะเป็นตำนาน หรือ นิทานปรัมปรา (Myth)การสร้างความจริงผ่านวรรณกรรม (literature)  การสร้างความจริงผ่านการแสดง ไม่ว่าจะเป็นละคร หรือสื่อสมัยใหม่ เช่นวิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์  งานศิลปะตามผนังถ้ำ มาจนถึง งานศิลปะยุคปัจจุบัน ล้วนผูกพันธ์กับความเป็นจริงที่ถูกสร้างขึ้นผ่านภาษา หากปราศจากภาษาแล้ว ก็ไม่มีสิ่งใดที่ใช้แทนความจริงได้ ในวัฒนธรรมตะวันตก การสร้างความจริง เกิดจาการสร้างแบบจำลองความจริงแบบแตกต่างหลากหลาย ซึ่งก็ได้ผ่านการล้มล้างแบบจำลองความจริงที่เป็นความจริงอยู่เพียงระยะเดียว จนกว่าความจริงชุดใหม่จะปรากฎขึ้น ซึ่งวิทยาศาสตร์มีความเด่นชัดในการสร้างความจริง มีข้อถกเถียงสำคัญระหว่าง ผู้รู้ กับ สิ่งที่ถูกรู้ ถ้าปราศจากตัวผู้รู้แล้วสิ่งที่ถูกรู้จะมีได้อย่างไร หมายถึงมนุษย์นั้นให้ความหมายกับสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น สิ่งนั้นจึงมีความหมายขึ้นมา  

เปรียบเทียบ สัจจะ (Truth) และ ความเป็นจริงที่ถูกสร้าง (Reality)

Jack Nargundkar (2015) (1) ได้เขียนเรื่อง สิบความแตกต่างระหว่าง สัจจะ (Truth) และ ความเป็นจริงที่ถูกสร้างขึ้น (reality) ได้อธิบายไว้ว่า ประการที่หนึ่ง สัจจะคือเรื่องสูงสุด (Truth is absolute) ส่วน ความจริงที่ถูกสร้างขึ้นคือ ความรู้ (cognitive) เ ความจริงที่ถูกสร้างขึ้นมีลักษณะเป็นความเห็น ส่วน สัจจะคือ ข้อเท็จจริง  ประการที่สอง สัจจะนั้นเจ็บปวด()ส่วนความจริงแต่งนั้นเจ็บปวดกว่า (bites)  ประการที่สาม สัจจะนั้นมีเพียงหนึ่งเดียว (singular) ส่วนความเป็นจริงนั้น แตกต่างหลากหลาย (manifold)  ประการที่สี่ สัจจะนั้น เป็นสิ่งที่ถูกรู้(Objective)  ส่วนความเป็นจริงนั้นคือผู้รู้ (Subject)  ประการที่ห้า สัจจะนั้นยาวนาน คงทนถาวร (permanent) ส่วนความเป็นจริงนั้น ไม่ได้ยืนยาว ( ephemeral) ประการที่หก ความจริงนั้นปลดปล่อย (emancipate) ความเป็นจริงนั้นจำกัด (constrains)  ประการที่เจ็ด สัจจะนั้นถอดถอน (redeems) ส่วนความเป็นจริงนั้นเพียงบอกกล่าว (informs) ประการที่แปด สัจจะนั้นมาจากหัวใจ ส่วนความเป็นจริงนั้นมาจากสมอง  ประการที่เก้า สัจจะนั้นต้องใช้ความกล้าหาญ ความเป็นจริงสะท้อนความสะดวกสบาย ประการที่สิบ สัจจะนั้นเป็นความจริงตลอดไป ความเป็นจริงไม่ได้เป็นจริงตลอดไป  จากการเปรียบเทียบความแตกต่างที่ Jack ได้กล่าวไว้นั้นก็แยกได้ยาก และมีข้อถกเถียงในการใช้เกณฑ์แบ่งอีกมาก 

ข้อถกเถียงเชิงวิพากษ์

ในโลกปัจจุบัน ความจริงที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติโดยไม่ต้องเข้าถึงมันก็เป็นความจริงอยู่ตลอดเวลา การกล่าวอ้างในมโนทัศน์ที่พิสูจน์ได้ทางกฎทางวิทยาศาสตร์เชิงวัตถุนิ่ยม นั้นย่อมเป็นจริงตามธรรมชาติ แม้กระทั่งการตอบคำถามเรื่องอะตอม ที่มาจากการตั้งคำถามว่า อะไรคือความเป็นจริงในสิ่งที่เล็กที่สุด จะเป็นความจริงตามธรรมชาติที่สามารถตอบได้ว่าคือ อะตอม ซึ่งก็จะกลายเป็นความจริงตามธรรมชาติ หรือ ความจริงชั่วคราวก็สามารถถกเถียงได้ หากมีเครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่สามารถแบ่งแยกอะตอมออกไปอีก ก็จะมีความจริงแบบใหม่  ไม่นับถึงมโนทัศน์ที่เป็นนามธรรมที่พิสูจน์ได้ในเชิงตรรกเพียงอย่างเดียว หรือการสังเกตการณ์ได้เพียงคนเดียว มโนทัศน์ที่ว่า กัญชา คือ ยาเสพติด เป็นคล้าย ๆ สัจพจน์ (axiom) ที่ยากจะถอดถอน เช่นเดียวกับธรรมชาติของมนุษย์ที่มีข้อถกเถียงเชิงสัจจะว่า เป็น ขาว เป็นดำ หรือเป็น เทา ๆ เทาแก่ เทาอ่อน คำว่า “คนดี” นี้จะเป็น ขาว หรือ เทา และตามสัจจะความจริงแล้ว คนสีขาว เป็นสัจจะจริงหรือไม่ ยังคงต้องถกเถียงกันอีกมาก ในโลกที่เรามีความรู้สำเร็จรูป คือ ความรู้ที่มาจากการบอกเล่าของคนอื่น โดยตนเองไม่สามารถประจักษ์แจ้งด้วยตัวเอง เช่น การเดินทางไปดวงจันทร์ เป็นเรื่องเล่าที่เราไม่สามารถประจักษ์แจ้งความจริง เช่นดียวกับ อะตอม ก็เป็นการบอกเล่าความจริงผ่านเครื่องมือ การบอกเล่าไม่ว่าจะเป็นด้วยสื่อคน สื่อเทคโนโลยี เป็นความจริงตามธรรมชาติหรือไม่ ความจริงแทบธรณีดวงจิต มีจริงหรือไม่หรือ หรือความมีจริงของทุกสิ่งทุกอย่างมีโดยปราศจากผู้รับรู้ก็ได้ 



(1)Jack Nargundkar (2015) Top 10 differences between Truth and Reality 

https://www.linkedin.com/pulse/top-10-differences-between-truth-reality-jack-nargundkar



หมายเลขบันทึก: 664136เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2019 23:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กรกฎาคม 2019 23:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท