กลิ้งไว้ก่อนครูสอนไว้...


 

กลิ้งครกขึ้นภูเขา เป็นสำนวนที่ใช้ในความหมายว่าทำงานที่ยากลำบากเกินวิสัยที่จะทำได้

โคลงสุภาษิตประจำภาพในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อธิบายความหมายว่า

ตนต่ำยศศักดิ์ทั้ง กูลวงศ์

หมายมุ่งเอาอนงค์ นาฏล้ำ

เหมือนกลิ้งครกขึ้นตรง เขาสุด สูงนา

เห็นว่าป่วยการก้ำ กึ่งบ้าเบาหุน

สำนวนนี้ปรากฏในนิทานเทียบสุภาษิตของพระยาสีหราชฤทธิไกร ซึ่งเล่าว่า พระอาจารย์องค์หนึ่งทำนายนิสัยศิษย์ทั้งสามคนของท่านโดยให้ศิษย์เลือกว่าใครชอบงานลักษณะใดต่อไปนี้

ฝนทั่งเป็นเข็มได้ เป็นดี

เรือที่ทวนนที เลือกไว้

จักกลิ้งครกขึ้นคีรี สุดแต่ ใจนา

สามสิ่งใครชอบไซร้ บอกให้โดยประสงค์

พระอาจารย์ทำนายนิสัยศิษย์ผู้เลือกกลิ้งครกขึ้นภูเขาว่า " เจ้าเป็นคนชั้นหนึ่ง มีความบริบูรณ์ด้วยอาการสาม คือมีความเพียร ความอุตสาหะ และความความอดทน แล้วเจ้าก็ได้มีความกล้าหาญบริบูรณ์ดังนี้..."

สำนวนนี้มักจะพูดกันโดยทั่วไปว่า"เข็นครกขึ้นภูเขา" แต่ดูจะไม่เหมาะสมเท่าใดนัก

มาทำความรู้จักครกกันให้ดีสักหน่อยก่อนนะคะ

ครก เป็นเครื่องครัวประเภทหนึ่งซึ่งใช้ในการทำอาหารประเภท น้ำพริก ส้มตำ หรืออาหารประเภทใดก็ตามที่ต้องการความแหลก

ครกที่ใช้กันในครัวเรือนที่มีลักษณะภายนอกเป็นกรวยยอดตัด 2 อัน ซ้อนกันโดยหันเอาฐานที่แคบกว่าเข้าประกบกัน ส่วนภายในเป็นเบ้าที่ค่อนข้างจะเป็นครึ่งทรงกลม ต้องมีการใช้คู่กับสาก

ครกที่ใช้ในครัวเรือนมีหลายประเภท ได้แก่

ครกหิน เป็นครกที่ทำด้วยหินแกรนิต ซึ่งมีเนื้อแข็ง มักใช้ในการตำอาหารให้แหลก ใช้คู่กับสากที่ทำจากหินเช่นเดียวกัน แหล่งผลิตครกหินที่ขึ้นชื่อคือที่อ่างศิลา จังหวัดชลบุรี

ครกดินเผา ทำจากดืนเผา มักใช้ในการตำอาหารเพื่อไม่ให้แหลกมากนัก เช่น ส้มตำ โดยใช้คู่กับสากที่ทำจากไม้ที่เกลากลึงให้เป็นรูปสาก ไม้ที่นิยมใช้ทำสากคู่กับครกดินเผามักจะเป็นไม้ตาล

ครกไม้ นิยมใช้ในการตำส้มตำเนื่องจากเบ้าครกกว้าง ทำจากไม้เนื้อแข็ง ใช้เครื่องกลึง มักจะใช้ต้นน้ำเกลี้ยงหรือต้นรักใหญ่ ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับมะม่วง เป็นไม้ที่มียางเช่นเดียวกับต้นรัก เนื้อไม้มีสีแดงเข้ม เป็นริ้ว มีความเหนียว แข็งแรง ทนทาน

ส่วนครกบดยาหรือเรียกอีกอย่างว่าโกร่งนั้น มีขนาดเล็กตามวัตถุประสงค์ที่ใช้บดยา ทำด้วยหินแกรนิต กระเบื้องหรือเซรามิก

ครกตำข้าวเป็นของใช้ที่มีอยู่ทุกครัวเรือนในสมัยโบราณ ใช้ตำข้าวเปลือกให้เปลือกข้าวแตกออกจากเมล็ดข้าว แล้วจึงนำไปฝัดเอาเปลือกออกเหลือแต่เมล็ดข้าว มีทั้งครกที่ใช้ตำด้วยมือและครกกระเดื่อง

ครกกระเดื่อง มีลักษณะที่แตกต่างคือใช้คู่กับกระเดื่องซึ่งทำด้วยไม้คานยาวเหมือนกับไม้กระดก ที่ปลายมีท่อนไม้ลักษณะคล้ายค้อน การใช้นั้นจะต้องกดที่ปลายอีกข้างหนึ่งแล้วค่อยปล่อยเพื่อให้ปลายที่มีลักษณะคล้ายค้อนตกลงมากระแทกกับข้าวเปลือกในเบ้าครก

เป็นที่มาของสำนวน "ตำข้าวสารกรอกหม้อ"

การเคลื่อนย้ายครกประเภทต่างๆ สามารถทำได้สะดวกเพียงแค่หยิบยกไปเท่านั้น เว้นแต่ครกตำข้าวทำด้วยไม้เนื้อแข็ง มีน้ำหนักมาก การเคลื่อนย้ายต้องใช้วิธีกลิ้งไปเพราะมีรูปทรงเป็นทรงกระบอก หากใช้วิธีเข็นจะต้องออกแรงมากกว่า

ดังนั้นสำนวนที่มีความหมายว่าทำงานที่ยากลำบากเกินวิสัยที่จะทำได้ จึงควรใช้ว่า "กลิ้งครกขึ้นภูเขา" มากกว่า "เข็นครกขึ้นภูเขา" เพราะครกเป็นของกลมต้องพลิกเลื่อน จึงต้องใช้คำว่ากลิ้งจะเหมาะกว่าเข็น

แต่หากจะใช้ว่า"เข็นครกขึ้นภูเขา" ก็จะมีความหมายว่าการทำงานที่ยากลำบากให้ยากลำบากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะความขลาดเขลา ขาดการพิเคราะห์ลักษณะของงานที่ทำ

กลิ้งไว้ก่อนครูสอนไว้...นะคะ

(ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต)

หมายเลขบันทึก: 664121เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2019 09:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2023 20:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท