Holistic corner : อัตตานัง อุปมัง กเร


เมื่อประมาณ 8 ปีก่อน    ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือสรุปการประชุมระดับชาติ เรื่อง การดูแลรักษาผู้ป่วยแบบองค์รวม คงสักประมาณปี 2535   เป็นครั้งแรกที่ได้รับรู้คำว่า   Holistic Approch    คิดว่าจะหาโอกาสเข้าประชุมด้วย ถ้ามีการจัดอีก มีนักวิชาการหลายท่าน มาแสดงความคิดเห็น  อย่างเช่น อาจารย์ประเวศ  วสี    ให้แนวคิดที่น่าสนใจอย่างมาก   มุมมองที่ไม่เคยนึกถึงมาก่อน   ไม่เคยมีการสอนในมหาวิทยาลัย    แต่ก็ไม่เคยเห็นมีการประชุมอีกเลย    หนังสือเล่มนั้นจนบัดนี้ก็ยังหาไม่เจอ   

            คติประจำมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ผมจบมาคือ อัตตานัง อุปมัง  กเร  แปลว่า เอาใจเขามาใส่ใจเรา   เคยได้ยินประโยคนี้  มาตั้งแต่เด็ก ๆ   เวลาขับรถก็มีคนบอกว่าถ้าทุกคนเอาใจเขามาใส่ใจเรา   การจราจรจะไม่ติดขัด  จะไม่มีคนเห็นแก่ตัว  ทำให้ความเข้าใจในความหมายนี้  เพียงผิวเผินมาตลอด  ตั้งแต่เรียนจนจบออกมาทำงาน       

แม่ผมเป็นเบาหวานหลายปี จำได้ว่าตอนแรก   น้ำหนักลดลงมาก จนผอมผิดหูผิดตา  จากคนเคยเจ้าเนื้อกลายเป็นป้าที่ผอม ๆ  คุมน้ำตาลก็ไม่ได้ดี ขนาดกินยา เต็มที่  ทั้ง glibenclamide และ metformin  คุมอาหาร ตลอด จนต้องฉีด NPH   วันละ   28  u  ผลไม้ประจำ คือ ฝรั่ง  อาหารก็ไม่กล้ากินมาก  ผมเรียนรู้ และเข้าใจ ผู้ป่วยเบาหวาน ก็จากแม่นี่แหละ  รู้ว่าคนเป็นเบาหวานนี่ ผอมจริง ๆ  รู้ว่าคนปกติน่าจะฉีด insulin รักษาได้ด้วยตัวเอง ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่คิดว่าผู้ป่วยจะฉีดยารักษาตัวเองได้   แม่ผมความรู้ ป.6  อายุเกือบ 60 ปี  ฉีดยาจิ้มท้องตัวเองอย่างคล่องแคล่ว  

 ผมซื้อเครื่องเจาะน้ำตาลไปให้ใช้   แม่ก็สามารถใช้ lancet จิ้มนิ้ว แล้วตรวจระดับน้ำตาลด้วยตัวเองได้  รู้ว่าผู้ป่วยเบาหวานน่าจะใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ แต่อาจต้องคุมอาหารบ้าง  เวลาอยากไปเที่ยวก็ไปได้ แม่ผมก็ติด insulin  เข็ม สำลี alcohol  ใส่กระเป๋าไปด้วย   อยากไปไหนก็ไป   แกรู้วิธีแก้น้ำตาลต่ำในเลือดด้วย  ผมเริ่มเข้าใจผู้ป่วยมากขึ้นรู้สึกได้ว่าผู้ป่วยก็เหมือนแม่เรา   clenic เบาหวานก็มีผู้ป่วยที่ฉีด insulin  จำนวนมากขึ้น  เวลาแนะนำผู้ป่วยก็นึกถึงแม่ว่าปกติแม่ทำอย่างไรบ้างก็เอาอันนั้นแหละไปแนะนำผู้ป่วย  เริ่มเข้าใจคำว่า อัตตานัง  อุปมัง  กเร  จริง ๆ  มากขึ้น 

            ผมเคยไปฝึกงานที่ รพ.ไทรโยค  จ.กาญจนบุรี  เมื่อปี  2531  ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเพื่อนที่ รพ.สังขละ  ใกล้ ๆเขื่อนเขาแหลม  ยังได้นอนดูดาวที่สนามหญ้า กับพวกเพื่อน ๆ  นักศึกษาแพทย์ปีที่ 5 ดาวที่นั่นสวยจริง ๆ   เพราะอยู่ในหุบเขา มีแต่เขาล้อมรอบ 

 ปี 2543 แม่ผมเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ ที่อำเภอสังขละ ที่เดียวกับที่ผมเคยไปเมื่อหลายปีก่อน ผมนึกภาพออกเลยว่า แม่ผมอยู่ที่ รพ.สังขละ  สภาพเป็นอย่างไร   ทุกๆ วันมีผู้ป่วยอุบัติเหตุมาที่ รพ.วาริน ฯ  จำนวนมาก หลายรายก็เสียชีวิตก่อนมาถึง รพ. หลายรายต้องมาช่วยชีวิตที่ รพ.  และหลายรายก็เสียชีวิตกับมือเรา  มันคุ้นเคยจนหลายครั้งแทบไม่รู้สึกอะไรมากมาย resusitate แล้วก็แล้ว    แต่หลังจากแม่เสียชีวิต  ผมเริ่ม เข้าใจว่าการสูญเสียเป็นอย่างไร 

 ทุก ๆ ครั้งที่มีอุบัติเหตุมา หรือ ผู้ป่วยหมดสติกะทันหัน ผมเข้าใจดีว่า ญาติ ๆ รู้สึกอย่างไร  ลำบากอย่างไร   หลังจากแม่เสียชีวิตไม่นาน  มีหญิงอายุประมาณ  50 ปี ขี่มอเตอร์ไซค์ล้มเสียชีวิต  ในกระเป๋าเงินมีรูปลูกสาวอายุ ประมาณ 17-18 ปี  ผมเข้าใจดีว่าลูกสาวคนนี้จะรู้สึกอย่างไร   เมื่อไม่กี่วันมานี้ก็เหมือนกัน  ผู้ป่วยนั่งดูทีวีอยู่ดี ๆ หมดสติหยุดหายใจขึ้นมาเฉย ๆ  เป็นผู้หญิงอายุประมาณ 40 ปีกว่า ๆ  มาถึง รพ.    Pupil dilate แล้ว  ไม่มีชีพจร ไม่มีการหายใจ สามีเป็นคนพามา พูดไปร้องไห้ไปตลอดว่า อย่าให้เป็นอะไรเลย  อย่าให้เป็นอะไรเลย  resusitate สักพัก ผู้ป่วยเริ่มมีหายใจเป็นเฮือก ๆ  ผมดีใจมากรีบส่งต่อ ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอะไรหรือเปล่า    คนนั่งดูทีวีอยู่ด้วยกันดี ๆ  แท้ ๆ     อยู่ ๆ กำลังจะตายจากไป  แต่ผมรู้สึกได้   ผมเข้าใจดี ………..

 
หมายเลขบันทึก: 66391เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2006 19:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

- เป็นความจำฝังใจเมื่อครั้งเยาว์วัย คุณแม่ผมเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ขั้นรุนแรง ไปรับการรักษาด้วยผ่าตัดที่ ร.พ.แห่งหนึ่งแถวๆ

สวนลุมพินี ตอนนั้นญาติพี่น้องพาผมไปเยี่ยมคุณแม่ที่ ร.พ.ด้วยความเศร้าและต่างก็แอบซุบซิบกันว่าน่าสงสารท่าทางจะไม่รอด

ลูกชายคนเล็กก็ยังเล็กมากๆ กำพร้าพ่อไปคนหนึ่งแล้ว ยังจะต้องมากำพร้าแม่อีกคนหรือ ตอนนั้นผมเหมือนเรือลำน้อยที่ลอยหาฝั่งอยู่ลำเดียว มองไปทางไหนก็ไม่เห็นฝั่ง ยิ่งวังเวงเวลาไปเยี่ยมคุณแม่ที่ ร.พ.ด้วยบรรยากาศที่เต็มไปด้วยคนไข้อาการหนัก และความเย็นชาของบุคลากรใน ร.พ. เลยเป็นความจำระยะยาวที่ลบเท่าไหร่ก็ลบไม่ออก

- เมื่อเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยได้มีโอกาสอ่านพระราชประวัติของพระราชบิดา กรมหลวงสงขลานครินทร์ ก็รู้สึกประทับใจกับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินที่เป็นแพทย์ที่อุทิศตนเพื้อคนไข้ยิ่งกว่าห่วงตน ต่อมาได้มีโอกาสชมสารคดีเกี่ยวกับ ร.พ.ศิริราช เนื่องในวันมหิดล ตอนหนึ่งกล่าวถึงอาจารย์ใหญ่ ก็เลยประทับใจเกี่ยวกับ ร.พ.ศิริราช ดังนั้นพอเป็นโรคอะไรที่รักษาเองไม่หายก็จะไปพึ่งแพทย์ศิริราช

เวลาไป ร.พ.ศิริราช ได้พบคำขวัญอัตตานัง อุปมัง กเร ที่ปักไว้บนอกเสื้อของแพทย์ และในใบเสร็จรับเงิน และที่หน้า ร.พ. ก็สงสัยมาตลอดว่าหมายถึงอะไร (ตอนแรกตีความไปเองแบบ subjective ว่าน่าจะแปลว่าให้ดูแลคนไข้เหมือนกับเป็นญาติพี่น้องของตนเอง) วันนี้ไปตรวจตาที่ ร.พ.ศิริราช มา ก็พบคำขวัญนี้ (อีกแล้ว) ก็เลยรียมา search ดู ก็เลยได้ผลลัพธ์ทวีคูณในหลายๆ เรื่อง

คือได้รู้คำแปล และเรื่องอะไรดีๆ อีกหลายเรื่อง

- ขอบคุณคุณหมอจิ้น ได้แต่คาดหวังอย่างสูงสุดว่าแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ของศิริราชทุกคนจะสำเหนียกในความหมายของอัตตานัง อุปมัง กเร และถือปฏิบัติเป็นจริยธรรมแห่งวิชาชีพตลอดไป

ผมก็ค้นหาคำว่า อัตตานัง อุปมัง กเร ครับ

ขอบคุณอาจารย์มากๆ ผมเองก็มีประสบการณ์ที่คุณแม่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านม

ตอนที่เป็นนิสิตแพทย์ปีสอง อยากคุยกับอาจารย์ครับ

อโณทัย อ้น

ประสบการณ์ที่ตรงกันก็เหมือนอัตตานัง อุปมัง กเร คือทำให้เข้าใจกันดีเหมือนเข้าใจตรงกันแบบรู้ลึกซึ้งอย่างเข้าไปถึงอกเขาอกเรา ครับ

ยินดีที่ได้รู้จักนะคะ ขอบคุณอีกครั้งที่มองเห็นสิ่งที่เราทำ ศีลเสมอแล้วเจอกันจ้ะ

ยินดีที่ได้รู้จักนะคะ ขอบคุณอีกครั้งที่มองเห็นสิ่งที่เราทำ ศีลเสมอแล้วเจอกันจ้ะ

ยินดีที่ได้รู้จักนะคะ ขอบคุณอีกครั้งที่มองเห็นสิ่งที่เราทำ ศีลเสมอแล้วเจอกันจ้ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท