การต่างประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาคมอาเซียน โดย อานันท์ ปันยารชุน


อาเซียนจึงเป็นสิ่งที่เราต้องส่งเสริมรักษาให้มีวิวัฒนาการต่อไป ที่ผ่านมาอาจจะเดินทางช้าหน่อย เราใช้เวลานานกว่าจะรู้ว่าทิศทางที่เราไปควรจะเป็นอย่างไร

ฉบับแก้ไข

คำกล่าวปาฐกถาพิเศษโดย ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน        

สัมมนา การต่างประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาคมอาเซียน: ยุทธศาสตร์และความท้าทาย

วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน .. 2556

โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล  .เพลินจิต เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

 

ท่านอธิการบดีท่านคณบดีคณะรัฐศาสตร์คณาจารย์ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย  ผมมาถึงอายุระดับหนึ่งที่คิดว่าไม่น่ารับที่จะพูดอะไรมากมายนักนอกเสียจากว่าจะพูดในสิ่งที่ตนเองรู้จริงๆ   เพราะในสังคมไทยผมเห็นปรากฏการณ์หนึ่งซึ่งน่าเบื่อและน่ารำคาญคือการที่คนอายุมากแล้วไม่รู้ตัวเองว่าสิ่งที่พูดออกมานั้นไม่เข้าเรื่องหรือล้าสมัยแล้วทำให้เกิดความดูถูกดูแคลนและเมื่อเราเป็นผู้ใหญ่เมื่อถึงเวลาที่จะเกษียณตัวเองก็ควรจะเกษียณไปอย่างเงียบๆ  ซึ่งผมก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้หลงตัวเองแต่เมื่อถูกคะยั้นคะยอมากๆบางครั้งก็ลืมตัวไปบ้าง  ก็เลยตั้งปณิธานเอาไว้ว่าจะไม่ไปพูดที่ไหนนอกเสียจากว่าเป็นเรื่องที่กำลังทำอยู่เช่นตอนสมัยทำปฏิรูปผมก็รับพูดแต่เฉพาะเรื่องปฏิรูป  ส่วนคนที่มาเชิญผมก็เป็นลูกของเพื่อนผมทั้งคุณพ่อคุณแม่ก็เป็นเพื่อนผมและข้อสำคัญที่สุดคือผมก็ยังนึกถึงบุญคุณของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่สภามหาวิทยาลัยได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตให้แก่ผมซึ่งไม่ใช่แค่เพียงจากคณะรัฐศาสตร์เท่านั้นแต่จากคณะเศรษฐศาสตร์ด้วย  จุฬาฯก็ให้ผมสองปริญญาเช่นเดียวกัน  ทีนี้เมื่อรับมาแล้วผมก็ถือว่าเป็นการตอบแทนบุญคุณโดยการที่ผมมาพูดเรื่องอะไรที่ผมไม่ต้องค้นคว้ามากนักหรือไม่ต้องค้นคว้าเลยพูดจากความทรงจำพูดจากประสบการณ์ที่ผ่านมาพูดจากการสังเกตการณ์ต่างๆผมก็น่าจะพูดได้ 

เรื่องการต่างประเทศตามความจริงแล้ว   ในอังกฤษหากคุณไปอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศ  ไปถามเจ้าหน้าที่เขาว่าเรียนอะไรมา  ก็แทบจะไม่มีใครเลยที่จะบอกว่าจบจากรัฐศาสตร์รัฐศาสตร์มีเรียนที่อเมริกาเป็นส่วนใหญ่  อีกที่หนึ่งอาจจะเป็นฝรั่งเศส  แต่อังกฤษจะไม่มี  ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศโดยส่วนหนึ่งจะจบจากสาขาที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์   ซึ่งสิ่งนี้เป็นพื้นฐานสำคัญมากสำหรับนักการทูต   ส่วนที่สองส่วนใหญ่จะจบจากสาขาภาษาคลาสสิคไม่ว่าจะเป็นลาตินหรือกรีกซึ่งเขาถือว่าเป็นการฝึกฝนหัวสมองที่ดีมาก  เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าคนที่เก่งในอังกฤษ  ที่จบสาขาภาษาคลาสสิคมา  อาจจะเป็นนักปราชญ์ก็ได้  เป็นทนายที่เก่งก็ได้เพราะว่าพื้นฐานดีมากทีนี้ในเมื่อผมไม่ใช่นักวิชาการและไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศ  เพราะออกมาตั้งแต่ปี..1979   ก็ประมาณ34 ปีที่แล้ว  อาจจะกลับเข้าไปยุ่งกับการต่างประเทศก็เมื่อท่านเลขาธิการสหประชาชาติโคฟีอันนัน(Kofi Annan) เชิญผมไปเป็นประธานUN High-Level Panel on Threat, Challenges and Change  ซึ่งก็แปลกมากเพราะว่าผมไม่ได้แตะงานด้านการต่างประเทศโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสหประชาชาติมาเป็นเวลากว่าสามสิบปีแล้ว  แต่ผมคิดว่าความจำของผมยังไม่เลวเกินไปวันนี้จึงขอพูดจากความจำจากข้อสังเกต  แต่ผมก็ขอรับว่าเรื่องของปี..อาจจะคาดเคลื่อนได้และถึงแม้ว่าปี..อาจจะไม่สมบูรณ์บ้างแต่สิ่งที่ผมจะพูดนี้ก็เป็นข้อเท็จจริง

ประเด็นของการสัมมนาวันนี้ที่เกี่ยวกับเรื่องอาเซียนนี่ผมได้บอกกับผู้จัดสัมมนาว่าผมเคยทำเรื่องนี้มามากเคยทำมากเลยในช่วงสมัยที่ผมเป็นนายกรัฐมนตรีได้ไปนำเสนอเรื่องAsean Free Trade Area หรือ AFTA ที่การประชุมSummit ที่สิงคโปร์ในปี..1992  แต่หลังจากออกมาแล้วก็ไม่ได้ติดตามเลย  การเดินทางของประเทศไทยไปสู่ประชาคมอาเซียนนั้นผมคงจะพูดน้อยที่สุด   แต่ตอนสุดท้ายผมคงจะพูดทิ้งท้ายไว้สักหน่อยผมจะพูดจากประสบการณ์  จากการสังเกตการณ์โดยเฉพาะในเรื่องการกำหนดนโยบายต่างประเทศเพราะไม่ค่อยได้เห็นใครพูดถึงเรื่องนี้  ที่จะได้ยินโดยส่วนใหญ่ก็จะพูดเป็นเรื่องๆไปไม่ว่าจะเป็นเรื่องปราสาทพระวิหารเรื่องSEATO (Southeast Asia Treaty Organization) เรื่องอาเซียน  บางครั้งบางคราวเราก็ควรจะพูดถึงสิ่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญของสิ่งเหล่านั้นนั่นก็คือเรื่องการกำหนดนโยบายต่างประเทศ   ทีนี้นโยบายต่างประเทศคืออะไร?มีคนพยายามให้คำนิยามมากมาย  อันหนึ่งที่ผมเคยได้ยินมากตั้งแต่สมัยเพิ่งเข้ากระทรวงการต่างประเทศคือ“Foreign policy is the extension of domestic policy.” นโยบายต่างประเทศเป็นสิ่งต่อเนื่องหรือส่วนขยายมาจากนโยบายภายในซึ่งผมก็จะได้ขยายความในลำดับต่อไปว่านโยบายภายในประเทศเป็นอย่างไร  เช่นส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจ   ส่งเสริมการส่งออกส่งเสริมการค้าฯลฯนโยบายเหล่านี้จะมีการต่อเนื่องออกไปในต่างประเทศ  ตั้งแต่สมัยที่ผมอยู่กระทรวงการต่างประเทศหรือแม้แต่ในช่วงสมัยที่ผมได้เป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีการแถลงนโยบายต่างประเทศ  ซึ่งมีอยู่ไม่กี่ข้อและสิ่งที่พูดนั้นเป็นสิ่งที่เห็นชัดๆอยู่แล้ว  เช่นการเพิ่มพูนความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน  จะเคารพในกฎบัตรสหประชาชาติ  เคารพในพันธกรณีที่ประเทศไทยมีอยู่กับประเทศอื่นๆ  คือเป็นภาษาที่ไพเราะ  โดยเฉพาะเรื่องบูรณภาพแห่งดินแดน(Territorial Integrity) คนที่ไม่สันทัดทั้งภาษาไทยหรือแม้แต่ภาษาการทูตเองเมื่อฟังสิ่งเหล่านี้แล้วอาจเหนื่อยใจหน่อย

ช่วงที่ผมกลับมาจากเรียนที่อังกฤษซึ่งก็เป็นเวลาถึงเจ็ดปี  และเข้าทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศใหม่ๆ  ปีสองปีแรกผมต้องหัดเขียนภาษาไทย  ที่ต้องหัดเขียนภาษาไทยเพราะผมจบ  .7เท่านั้นในขณะเดียวกันผมต้องหัดเขียนภาษาอังกฤษด้วยทั้งที่ผมเรียนจบมัธยมและมหาวิทยาลัยจากที่นั่นทั้งนี้เพราะภาษาการทูตนั้นมีความนุ่มนวลมีความลึกซึ้งมีความละเอียดละออมากมายซึ่งเราต้องเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ขอกลับมาพูดถึงนโยบายต่างประเทศนั่นคือการรักษาส่งเสริมผลประโยชน์ของชาติอันนี้เป็นหลักใหญ่ซึ่งไม่มีปัญหา   แต่ที่มีปัญหาและมักเป็นคำถามที่มักจะถามกันนั้นคืออะไรคือผลประโยชน์ของชาติ?สังคมไทยมีปัญหามากมายเกี่ยวกับการหาคำนิยามของคำดังกล่าวเนื่องจากเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้(Intangible) ผลประโยชน์ของชาตินั้นคืออะไรและอยู่ที่ไหน?เมื่อผมมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญก็จะมีประชาชนมาถามว่ารัฐธรรมนูญ กินได้ไหม?”  คำถามนี้ลึกซึ้งกล่าวคือรัฐธรรมนูญฉบับนี้(ฉบับปี ..2540-บรรณาธิการ) จะมีประโยชน์อะไรโดยตรงกับประชาชนบ้าง?   ซึ่งเมื่อมองย้อนไปถึงคำว่าผลประโยชน์แห่งชาตินั้นกลับกลายเป็นเรื่องที่เป็นนามธรรม(Abstract) ขึ้นมาทันที  การโกงกินจับต้องได้ทันทีเพราะได้ผลตอบแทนเป็นเงินเป็นที่ดินได้ไปเที่ยวในต่างประเทศซื้อรถยนต์ให้เห็นทันที  แต่พอพูดกว้างๆว่าผลประโยชน์ของชาติ  เป็นสิ่งที่เห็นภาพลำบาก  ผลประโยชน์ส่วนตัวพูดแล้วยังเข้าใจง่ายกว่า   แต่เมื่อมีการสั่งสมประสบการณ์จากงานต่างๆมาแล้วได้ลองผิดลองถูกจากประสบการณ์การทำงานก็จะรู้ได้โดยตนเองว่าอะไรผิดอะไรถูกกล่าวคือมี“Sense of right and wrong”พอเกิดอะไรขึ้นมาก็รู้ทันทีว่าสิ่งนั้นผิดหรือถูกแต่ก็มีปัญหาต่อไปว่าบางอย่างไม่มีผิดหรือถูกแบบร้อยเปอร์เซ็นต์  แต่อยู่ตรงกึ่งกลางมีความเป็นสีเทาอยู่ในตัวสำหรับผลประโยชน์ของชาติก็คือการที่เราคิดว่าเราต้องการให้ชาติเราเจริญอย่างไร  เจริญในด้านความมั่นคงเจริญทางด้านเศรษฐกิจฯลฯอะไรก็ตามที่เป็นความเจริญของประเทศชาติ  แต่ผลประโยชน์ของชาติก็เป็นการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ไม่ได้ไปเอารัดเอาเปรียบเขา  ไม่ไปโกงกินเขา

ผมอยากจะเอ่ยถึงในอดีตในอดีตที่ประเทศต้องมีความหวงแหนอธิปไตยบูรณภาพแห่งดินแดน  สันติภาพต่างๆนานาเหล่านี้  สองร้อยกว่าปีมานี้ประเทศมหาอำนาจส่วนใหญ่จะอยู่ในยุโรปประเทศมหาอำนาจไม่ได้จำเป็นต้องเป็นประเทศที่ใหญ่ในเชิงของพื้นที่เสมอไป  กลุ่มประเทศที่เป็นมหาอำนาจที่มีขนาดใหญ่ในเชิงพื้นที่ก็จะมีเยอรมนีฝรั่งเศส  ประเทศอังกฤษเองก็ไม่ได้ใหญ่ในเชิงพื้นที่  สเปนหรือฮอลแลนด์ไม่ได้มีพื้นที่ใหญ่มากแต่ทำไมเขาถึงเป็นมหาอำนาจได้   เหตุก็เพราะช่วงนั้นไม่ได้เป็นการทำสงครามเพื่อแย่งชิงดินแดนกันแล้วแต่นโยบายต่างประเทศต้องส่งเสริมเศรษฐกิจและการค้าของประเทศนั้นๆ  ทำไมประเทศเหล่านี้ถึงกลายเป็นประเทศมหาอำนาจเจ้าอาณานิคมกลุ่มประเทศเหล่านี้ไปครอบครองประเทศอื่น  ก็คงไม่ใช่เพราะต้องการพื้นที่เป็นสำคัญ   ความต้องการพื้นที่นั้นเป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเปรียบกับความต้องการด้านวัตถุดิบ   เมื่อมองกลับไปในขณะนั้นประเทศอังกฤษพึ่งเริ่มมีการปฏิวัติทางอุตสาหกรรม  มีการผลิตเครื่องจักรเมื่อมีอุตสาหกรรมก็มีความต้องการวัตถุดิบ  ซึ่งเริ่มต้นด้วยอุตสาหกรรมสิ่งทอมีความจำเป็นต้องการฝ้ายจึงไปอินเดียอินเดียมีฝ้ายมากเอาฝ้ายเข้าโรงงานที่อังกฤษ  นอกเหนือจากฝ้ายแล้ววัตถุดิบที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือน้ำตาล  ยุโรปสมัยนั้นจนกระทั่งบัดนี้ก็จะใช้น้ำตาลที่ทำจากBeetroot จะใช้น้ำตาลที่ทำจากอ้อยต้องไปปลูกอ้อยในแคริบเบียนมอริเชียสและฟิจิในอาณานิคมต่างๆก็เอาคนอินเดียไปทำงานจนบัดนี้ในหลายประเทศก็จะมีพลเมืองเชื้อสายอินเดียมากกว่าพลเมืองท้องถิ่นเช่นในฟิจิมอริเชียส  ฝรั่งเศสเองก็เช่นเดียวกันแต่ฝรั่งเศสจะหนักไปทางส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมโปรตุเกสกับฮอลแลนด์ก็จะเน้นการค้าแต่ข้อสังเกตสำคัญคือการที่กลุ่มประเทศเหล่านี้มีกองทัพเรือที่ใหญ่สมัยก่อนอาจจะใช้กองทัพเรือทำสงครามต่อกันแต่เมื่อสองร้อยปีที่ผ่านมากองทัพเรือเหล่านั้นไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการสงครามเพื่อจุดประสงค์ของการแย่งพื้นที่แล้ว  ส่วนใหญ่แล้วต้องการวัตถุดิบต้องการคนเช่น  โปรตุเกส ฮอลแลนด์ หรือสเปนมีกองทัพเรือที่ใหญ่พอๆกับอังกฤษในสมัยหลัง   แต่สังเกตได้ว่าโปรตุเกสที่เข้ามาในภูมิภาคนี้จะไม่ได้ล่าเมืองขึ้นอย่างพม่าอินเดียด้วยความชำนาญด้านการเดินเรือเขาจึงไปที่กัว(Goa) ก่อน ซึ่งเป็นดินแดนเล็กๆทางตะวันออกของอินเดียจากกัวก็ไปที่ศรีลังกาจากนั้นก็ไปที่มะละกามาเก๊าและไต้หวันหรือที่คนเรียกกันว่าฟอร์โมซา(Formosa) แต่สังเกตว่าเขาไปเพื่อไปหาท่าเรือเพื่อไปทำการค้าขาย 

ฮอล์แลนด์ก็เหมือนกันที่เริ่มต้นจากThe Dutch East India Company ไปที่ชวาพวกนี้มุ่งเน้นแสวงหาวัตถุดิบแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ  และจนกระทั่งบัดนี้มหาอำนาจทั้งหลายก็ยังอิงนโยบายต่างประเทศที่ส่งเสริมนโยบายทางด้านเศรษฐกิจและนโยบายทางด้านการค้าแต่อาจจะเพิ่มเติมเรื่องความมั่นคงมากยิ่งขึ้นเช่นในขณะนี้ทำไมอเมริกาถึงไปหมกมุ่นอยู่กับสงครามทางตะวันออกกลางหรือทางเหนือของแอฟริกาหรือบางแห่งในละตินอเมริกาไม่ว่าจะเป็นเอกวาดอร์ทางตะวันออกกลางก็จะเป็นอิหร่านหรืออิรักทางแอฟริกาเหนือก็ในกรณีของลิเบียแอลจีเรีย  คำตอบอย่างเดียวคือน้ำมัน  อันนี้มันมีวิวัฒนาการ  เพราะฉะนั้นถ้าหากเราบอกว่านโยบายต่างประเทศคือการรักษาและส่งเสริมผลประโยชน์ของชาติ  ผลประโยชน์ของชาติที่สำคัญและมีบทบาทที่เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของมหาอำนาจจนกระทั่งบัดนี้ก็คือวัตถุดิบสินค้ายุทธศาสตร์(Strategic Goods) ไม่ว่าจะเริ่มจากฝ้ายเครื่องเทศไหมมาลงท้ายคือน้ำมัน  น้ำมันบนพื้นดินน้ำมันนใต้ทะเลแล้ววิวัฒนาการของการกำหนดนโยบายต่างประเทศก็เปลี่ยนมาเป็นเรื่องของการที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจและการค้าต่อมาเป็นเรื่องความมั่นคง  เป็นเรื่องความมั่นคงทางทหารด้วย

จะเห็นว่าต้องมีนโยบายต่างประเทศที่เป็นextension ของนโยบายภายในที่เกินขอบเขตดินแดนออกไปไม่ใช่จำกัดอยู่แต่เพียงไม่กี่ไมล์ตอนนี้ต้องขยายออกไปใต้ทะเลด้วย  ด้วยเหตุนี้จึงมีการแก่งแย่งพื้นที่ของทวีปแอนตาร์กติกซึ่งมีแต่น้ำแข็ง  สิ่งที่เขาสนใจคือใต้น้ำมีแร่อะไรและมีน้ำมัน  นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมตอนนั้นต้องมีการประชุมว่าด้วยกฎหมายทะเล(Conference on the Law of the Sea) ครั้งแรกที่สหประชาชาติจัดขึ้นในปี..1958เสด็จในกรมฯ(กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) ท่านก็เป็นประธานคนแรก  การที่มีการประชุมดังกล่าวเพราะต้องแบ่งแยกพื้นที่ในทะเลไม่ใช่เพราะว่าต้องการพื้นที่แต่เพราะว่าต้องการทรัพยากรใต้พื้นที่นั่นเองใต้น่านน้ำอาณาเขต(Territorial water) ใต้ไหล่ทวีป(Continental shelf) แม้แต่ปัญหาไทย-กัมพูชาในขณะนี้ไม่ใช่เรื่องปราสาทพระวิหารอย่างเดียวปัญหาคือเรื่องของการป้องกันผลประโยชน์แห่งชาติ  คือว่าต่อไปจะนำไปสู่การแบ่งดินแดนใต้ทะเลกันอย่างไรเพราะทั้งไทยกัมพูชาและบริษัทน้ำมันต่างประเทศต่างรู้ว่าแถวนั้นมีทั้งนน้ำมันมีทั้งก๊าซธรรมชาติ แต่บอกไม่ได้ว่าเป็นบริเวณของไทยหรือของกัมพูชาอเมริกาก็ทำตัวเป็นพ่อนักบุญ  ช่วยเหลือหลายๆประเทศให้มีความมั่นคงผ่านความช่วยเหลือรูปแบบต่างๆแต่เขาก็มีความต้องการของเขา  เขาต้องการมีอิทธิพลทางการเมือง  เขาต้องการมีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายต่างๆแล้วก็ต้องการทรัพยากรธรรมชาติ 

ที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี่ก็เพราะต้องการจะแสดงให้เห็นว่าหลักการเดียวที่เป็นหลักการใหญ่ของการกำหนดนโยบายต่างประเทศคือการรักษาและส่งเสริมผลประโยชน์แห่งชาติซึ่งมีการแตกแขนงอีกมากมาย   แต่ก่อนนั้นก็เป็นเศรษฐกิจหรือความมั่งคั่งเพียงอย่างเดียว  แต่ต่อมาเป็นเรื่องของความมั่นคง  ทีนี้ความมั่นคงถ้าเผื่อว่าดูกันตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาจะเห็นได้ว่าความมั่นคงเป็นตัวแปรที่สำคัญ  และความมั่นคงในที่นี้ไม่ได้เป็นเหมือนอย่างที่คนไทยทั่วไปเข้าใจกัน  ซึ่งผมเองไม่แน่ใจว่าคนไทยให้คำนิยามกับคำว่าความมั่นคง อย่างไร  สภาความมั่นคงแห่งชาติของเมืองไทยเป็นหน่วยงานอะไรกันแน่?เพราะออกมาแถลงทุกวันในเรื่องเกี่ยวกับการเดินขบวนไม่แน่ใจว่าสิ่งนี้เกี่ยวอะไรกับหน้าที่โดยตรง  เพราะนั่นเป็นส่วนความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ   เรามีสำนักงานตำรวจแห่งชาติเรามีรองนายกฝ่ายความมั่นคง  ผมคิดว่าเราสับสนในการให้คำนิยามกับคำว่าความมั่นคงเพราะถ้าเป็นในต่างประเทศที่ปรึกษาทางความมั่นคง(Security advisor) จะดูแลในด้านการต่างประเทศแต่เพียงอย่างเดียวทำคู่ไปกับกระทรวงการต่างประเทศ

ในช่วงสงครามเย็นก็เป็นความมั่นคงที่สองมหาอำนาจ(Bipolar World) กล่าวคือสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตแย่งชิงความเป็นใหญ่ต้องการมีอิทธิพลเหนือคนอื่น  ต้องการทรัพยากรคนอื่นทั้งสองประเทศมีอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งมีอานุภาพการทำลายล้างสูง  แต่ทั้งสองฝ่ายต่างไม่กล้าใช้จึงมีการทำสัญญากันเพื่อไม่ให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ซึ่งรู้จักกันในนามของMutual deterrence  การแย่งชิงทรัพยากรต่างๆของโลกการแย่งชิงความจงรักภักดีจากประเทศต่างๆก็ยังมีอยู่อย่างมากมายกำลังทหารของทั้งสองฝ่ายก็มีมากมาย  โลกก็แบ่งเป็นโลกเสรี (FreeWorld)   นำโดยสหรัฐอเมริกากับโลกคอมมิวนิสต์ซึ่งนำโดยสหภาพโซเวียตซึ่งโลกเสรีที่มีอเมริกาเป็นผู้นำก็มีอังกฤษ  มีออสเตรเลียฯลฯเป็นลิ่วล้อซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา  ประเทศไทยเรานั้นเป็นลิ่วล้ออันดับสามและเงินอาจจะซื้อได้ง่ายกว่าสมัยนั้นผมยังเป็นข้าราชการอยู่กระทรวงการต่างประเทศ  เห็นอเมริกาเขาก็ดีกับเราในส่วนดีเขาก็มีมากมิตรภาพที่แท้จริงเขาก็ให้เรามา  หลายสิ่งหลายอย่างที่เขาคบค้าสมาคมกับเราก็เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย  แต่ในขณะเดียวกันหลายสิ่งหลายอย่างเขาเอาเปรียบเราที่เขาคิดว่าเราคิดตามไม่ทันเขาหลายสิ่งหลายอย่างที่เขาเอาเปรียบเราแล้วคิดว่าเราไม่รู้  แต่จะทำอย่างไรได้เพราะเราไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงหรือจะทัดทานอะไรได้และการแข่งขันในในระบบBipolar World มีเดิมพันสูง  ซึ่งหากเกิดความผิดพลาดก็จะเกิดผลกระทบร้ายแรงตามมา  สิ่งนี้ก็เป็นเป็นสิ่งที่ควบคุมพฤติกรรมของทั้งสองฝ่ายเอาไว้โดยในทางปฏิบัติทั้งสองฝ่ายอาจจะชกลมไปเรื่อยๆสร้างความหวาดเสียว  แต่จะชกจริงนั้นไม่มีใครเอาซึ่งสิ่งนี้เองก็ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างสองมหาอำนาจ  ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็มีการจัดตั้งองค์กรที่เป็นองค์กรความมั่นคงร่วมกัน  (Collective Security Organization) ทางฝ่ายโลกเสรีจัดตั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ(North Atlantic Treaty Organization: NATO) ฝ่ายโซเวียตเองมีสนธิสัญญาวอร์ซอร์(Warsaw Pact) ซึ่ง สนธิสัญญาทางความมั่นคงของทั้งสองฝ่ายนี้ก็มีเขี้ยวมีเล็บ  กล่าวคือการโจมตีประเทศใดประเทศหนึ่งที่เป็นภาคีของสนธิสัญญานั้นถือเป็นภัยคุกคามต่อภาคีสมาชิกทั้งหมดตัวอย่างเช่นประเทศสมาชิกของNATOโดนโจมตีจากประเทศหนึ่งของกลุ่มWarsaw Pact  สมาชิกของNATO ทั้งหมดก็มีสิทธิที่จะโต้ตอบฝ่ายตรงข้าม  ประเทศในกลุ่มWarsaw Pact ก็เช่นเดียวกัน  กระนั้นก็ตามอเมริกาก็ใช้Containment Policy เพื่อจำกัดเขตอิทธิพลของสหภาพโซเวียตซึ่งต่อมาก็รวมถึงจีนจึงได้มีการก่อตั้งCENTO  (Central Treaty Organization) ต่อมาก็มีการก่อตั้งSEATO ซึ่งมีสมาชิกแปดประเทศ  จะสังเกตได้ว่าสิ่งที่เน้นคือความมั่นคง  แต่สุดท้ายสิ่งที่สามารถหลีกเลี่ยงได้คือสงครามโลก  จะสังเกตได้ว่าระบบโลกส่วนนี้มีการเปลี่ยนผ่านด้านวิธีคิดของมหาอำนาจจากเรื่องของการค้าและเศรษฐกิจจากสมัยการล่าอาณานิคมมาเป็นเรื่องของความมั่นคงในช่วงของสงครามเย็น   อย่างไรก็ตามในช่วงของสงครามเย็นนั้นก็มีช่วงที่เรียกว่า“Détente”ในภาษาการทูตหรือการผ่อนคลายความตึงเครียด  กล่าวคือไม่ว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์หรือประชาธิปไตยต่างก็ต้องมีHumanFace” ให้จิตใจละเอียดอ่อนขึ้น  ไม่ใช่ว่าจะสู้กันแต่เพียงอย่างเดียว  ต่อมามีความไม่ลงรอยกันภายในกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ในโลกเสรีเองก็มีความปั่นป่วนทางด้านเศรษฐกิจ   สุดท้ายก็กลายเป็นOne World ของอเมริกาหลังจากที่สหภาพโซเวียตได้ล่มสลายไปเพราะฉะนั้นความตึงเครียดของสงครามเย็นก็หมดไป  

เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลงอเมริกาก็ครองความเป็นเจ้าโลกอยู่เพียงฝ่ายเดียวเป็นมหาอำนาจ(Super Power)  อันนี้ยิ่งเหนื่อยหลายคนบอกว่าให้มีสองSuper Powers จะดีกว่าจะได้คานกันได้ตอนนี้ไม่มีการคานกันเลยแต่อเมริกาเองเคยมีการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดมีการพลาดพลั้งบ่อยครั้ง  ทั้งๆที่เป็นประเทศใหญ่ที่สุดคนเดียวและไม่มีใครค้านได้   แต่ก็ตกม้าตายบ่อย  นโยบายต่างประเทศนั้นเขียนให้สวยงามได้แต่ในความเป็นจริงนั้นผู้ปฏิบัติคือรัฐมนตรีต่างประเทศและข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ  การกำหนดนโยบายต่อให้เขียนสวยอย่างไรแต่ถ้าคนนำไปปฏิบัติไม่สามารถที่จะนำไปปฏิบัติได้  นโยบายตรงนั้นก็จะไม่มีประโยชน์อะไร  ในกรณีปราสาทพระวิหารก็ต้องชื่นชมข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศเพราะว่าคำพิพากษาออกมาใช้ได้คำพิพากษาออกมาไทยก็ไม่ได้เสียเปรียบอะไร  อันนี้ก็ถือเป็นผลงานของข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ

ย้อนกลับมาที่แกนหลักของนโยบายต่างประเทศในเรื่องการส่งเสริมผลประโยชน์แห่งชาติ   ซึ่งหลังจากที่มีการให้ความสำคัญต่อมิติด้านเศรษฐกิจ  ยังมีมิติด้านความมั่นคงเข้ามาและในระยะต่อมาก็มีการให้ความสำคัญกับมิติด้านจริยธรรม(Moral dimension) กล่าวคือนโยบายต่างประเทศจำเป็นที่จะต้องมีMoral Content   เลยกลายเป็นตัวแปรอีกหนึ่งตัวในการให้คำนิยามผลประโยชน์แห่งชาติซึ่งจะต้องมีการส่งเสริมให้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยด้วย  ดังนั้นในระยะสิบปีที่ผ่านมาจะเห็นอเมริกาให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากในเวทีระหว่างประเทศ  ซึ่งผมเองก็เห็นว่าประชาธิปไตยแบบอเมริกัน  ไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่าตามอย่างมากนักแต่มันก็มีประโยชน์เพราะว่าเขาจะเพ่งเล็งถึงเรื่องค่านิยมทางประชาธิปไตย(Democratic values) มากกว่าการที่จะมีการเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียว   เพราะฉะนั้นจะสังเกตได้ว่าตัวแปรด้านการกำหนดนโยบายต่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆแต่หลักการเดิมคือผลประโยชน์แห่งชาติ

ทีนี้ผมจะชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมของผลประโยชน์แห่งชาติอันได้แก่

·     การรักษาอธิปไตยและการรักษาบูรณภาพแห่งดินแดน

·     ส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศ     โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศสมาชิกในองค์การความร่วมมือต่างๆเช่นในสหประชาชาติและอาเซียนซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งจำเป็นเพราะเราจะอยู่ในโลกคนเดียวไม่ได้เราจะต้องมีเพื่อนเราจะต้องมีศัตรูน้อยที่สุด

ทีนี้ในลักษณะขององค์การมีความร่วมมือ  หลายองค์การก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงและสิ้นสุดสภาพไปแล้ว   SEATO และCENTO ไม่มีแล้ว NATO ยังมีอยู่EU ก็มีสถานภาพพิเศษ เพราะฉะนั้นในแง่มุมของเราเกี่ยวกับเรื่องCollective Security System ซึ่งระบุอยู่ในกฎบัตรขององค์การสหประชาชาติมาตราที่51และ 52นั้นลดความสำคัญลงไปมากแต่สิ่งที่จำเป็นต้องมีคือว่าทำอย่างไรให้ประเทศที่ได้รับอิสรภาพใหม่ๆร่วมกับประเทศไทยมีความคุ้นเคยกันพูดจากันทำงานร่วมมือกันเพื่อช่วยรักษาไว้ซึ่งสันติภาพความสงบและเสถียรภาพของภูมิภาค

เมื่อ 40 ปีที่แล้วอินโดนีเซียนั้นมีอิทธิพลมากเพราะเป็นพี่ใหญ่ในกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement: NAM)  ซึ่งเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะว่าสองประเทศมหาอำนาจอันได้แก่สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตทะเลาะแย่งชิงอิทธิพลกันจึงได้เกิดกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด  แต่พอมาถึงภาคปฏิบัติกลุ่มดังกล่าวมีท่าทีที่ฝักใฝ่ในสหภาพโซเวียตมากซึ่งหัวหน้ากลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในขณะนั้นมีอยู่5  ประเทศมียูโกสลาเวีย  อียิปต์  อัลจิเรีย  อินโดนีเซียและอินเดีย   หัวหน้าประเทศทั้งห้านั้นเกิดมาจากการต่อสู้เพื่ออิสรภาพโดยพื้นฐานแล้วจะมีความนิยมชมชอบในอุดมการณ์ฝ่ายซ้าย  อุดมการณ์Socialist ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาทำไปทำมาถ้าเราจะเข้าข้างทางด้านโซเวียตมากกว่าก็ได้ผลประโยชน์จากโซเวียตแล้วอเมริกาก็ต้องเกรงใจ  เหตุที่เราเข้าร่วมกับกลุ่มNon-aligned ไม่ได้นั้นเพราะว่าเราเป็นพันธมิตรกับอเมริกาอยู่อีกทั้งเราร่วมมือกับอเมริกาในSEATO  แต่พม่าเป็นสมาชิกของกลุ่มNAM  แล้วพม่านี่คือใครจะว่าอะไรในเรื่องการรัฐประหารเรื่องการไม่เอาไหนในเรื่องทั่วๆไปหลายเรื่องแต่เขาก็เป็นประเทศที่มีหลักการพอใช้  กล่าวคือเขาเป็นประเทศสมาชิกประเทศเดียวที่ลาออกจากกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด โดยให้เหตุผลว่ากลุ่มนี้มันไม่Non-aligned จริงแล้วทั้งอินเดียอินโดนีเซียไปเข้าอยู่กับฝ่ายโซเวียตหมด   ซึ่งตอนนั้นผมยังไม่แก่นักก็ยังอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศ  คิดอยู่ว่าพม่านี่เขามีหลักการ  เขาเก่ง  แล้วเขาออกมาก็ไม่ได้ออกมาโดยมีการร้องป่าวโดยการอวดอ้าง  เขาก็ออกมาเงียบๆไม่ได้ออกมาบอกว่าฉันเก่งฉันกล้า   อันนั้นก็เป็นนโยบายต่างประเทศที่ต้องชมเขา

ของเรานี่  สมัยพระองค์วรรณฯกรมหมื่นนราธิป  ท่านก็ทำชื่อเสียงให้ประเทศไทยมากมาย  สร้างชื่อเสียงในเวทีสหประชาชาติสร้างชื่อเสียงในการประชุมที่บันดุงก่อนที่จะมีกลุ่มNon-Aligned ท่านสามารถพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีโจเอินไลของจีน  ไปที่ไหนคนก็เคารพนับถือ  แต่ขณะเดียวกันนโยบายต่างประเทศค่อนข้างที่จะเบนไปทางฝั่งอเมริกา   แต่ที่ผ่านมาการกำหนดนโยบายต่างประเทศไทยนั้นมีขีดจำกัดเสมอแล้วผมจะกลับกล่าวมาเรื่องนี้ทีหลัง

 

ทีนี้เรื่องของปัจจัยกำหนดนโยบายต่างประเทศก็มีเพิ่มเติมอีกเช่น

·   ส่งเสริมฐานะและเกียรติภูมิของประเทศในเวทีการเมืองโลกเพื่อให้เกิดการยอมรับนับถือ   ซึ่งผมก็พูดไปบ้างแล้ว

·     ส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศด้วยการหาตลาดต่างประเทศซึ่งอันนี้ผมก็พูดไปแล้วไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสินค้าบริการการส่งออกการลงทุนหรือการท่องเที่ยว 

·     ส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมและศิลปะ  อันนี้ขอพูดเพิ่มเติมนิดหน่อย  แต่ก่อนนี้มีการส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมและศิลปะด้วยความจริงใจ  เดี๋ยวนี้กลายเป็นเครื่องมือ(Tool) ของ Diplomacy หรือที่เขาเรียกกันว่าSoft side อันนี้ก็เป็นตัวแปรใหม่เหมือนกันอย่างเช่นอเมริกาถูกกล่าวหาว่ามัวแต่สนใจHardware ไม่ค่อยสนใจ Soft side แต่เมื่อพูดถึงเรื่องSoft side นี่ต้องระวังเพราะไม่ใช่การโฆษณาชวนเชื่อหรือ  Propaganda แต่บัดนี้กระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลต่างๆจะต้องมีหน่วยงานที่ส่งเสริมสิ่งเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นการส่งDance troupe หรือว่าโบราณวัตถุไปแสดงสิ่งเหล่านี้หมายถึงการเข้าถึงประชาชน   แต่เข้าถึงประชาชนโดยผ่านช่องทางใด  ผ่านศิลปวัฒนธรรมผ่านเพลงผ่านรายการโทรทัศน์ผ่านกีฬาฯลฯ  Ping Pong Diplomacy นั้นก็เป็นSoft side เหมือนกัน  เพิ่งมาเริ่มใช้เมื่อสามสิบถึงสี่สิบปีที่แล้วตอนที่ประเทศต่างๆอยากจะเข้าไปมีความสัมพันธ์กับจีนนี่ก็ถือเป็นวิวัฒนาการเหมือนกันเพราะเมื่อหกสิบปีเจ็ดสิบปีที่แล้วถ้าพูดถึงเรื่องSoft side ไม่มีใครเข้าใจ  ถ้าเผื่อพูดถึงการส่งเสริมด้านวัฒนธรรม(Promotion of  Culture) มันก็จะเป็นลักษณะที่เอาCulture ของเราเพื่อให้คนอื่นเขาดูเพื่อให้ได้รับความเคารพว่าเราก็มีCulture แต่เดี๋ยวนี้มันมากกว่านั้นแล้ว   มันได้รับการใช้ในลักษณะที่ว่าเป็นทางด้านPositive มากขึ้นคือไปใช้ให้มีอิทธิพลเหนือจิตใจของคนอื่นที่ได้เห็นได้ฟังถึงความดีของประเทศของเรามันอาจจะเกิดจากหนังดีๆก็ได้สิ่งนี้เราเรียกว่าPerforming Arts เป็นสิ่งที่สำคัญมากในฐานะที่เป็นหนึ่งในTools ของ Diplomacy

·     การเคารพต่อกฎบัตรสหประชาชาติและพันธกรณีที่มีภายใต้สนธิสัญญาส่งเสริมมาตรการที่จะค้ำจุนนสันติภาพในภูมิภาคและของโลก

สุดท้ายผมจะหันกลับมาASEAN บ้าง เมื่อพูดถึงเรื่องCollective Security หรือความมั่งคงร่วมกันของภูมิภาค   ตั้งแต่สมัยท่านรัฐมนตรีถนัดคอมันตร์เป็นต้นมาเราจะเห็นว่าSecurity นับวันมีความสำคัญมากขึ้น  ผมขอใช้ภาษาอังกฤษนะเพราะมันจะฟังแล้วเข้าใจได้ง่ายกว่า   สมัยก่อนเมื่อพูดถึงSecurity  จะนึกถึงกองทัพ  หรือมิติทางทหารสมัยปัจจุบันSecurity  แทบจะคลุมไปทั่วจักรวาลเดี๋ยวนี้มีการพูดถึงFood Security  Energy Security,  Homeland Security  ทุกอย่างเป็นSecurity ไปหมด เพราะฉะนั้นน้ำหนักของทางด้านทหารนั้นน้อยลงงไปซึ่งอันนี้เมืองไทยยังปรับตัวไม่ได้  เมื่อห้าสิบปีก่อนมีการแยกนโยบายต่างประเทศกับนโยบายด้านการทหาร   ตอนหลังๆนั้นไม่ใช่เรื่องของนโยบายต่างประเทศและนโยบายด้านการทหารแล้ว    ตอนหลังๆนั้นกลายเป็นSecurity ซึ่ง Security Policy มีทั้งForeign Affairs Dimension และมีทั้งMilitary Dimension

สมัยก่อนนโยบายต่างประเทศ  สืบเนื่องจากการที่นโยบายภายในของเราทางฝ่ายทหารเขามองว่าการคุกคามประเทศไทยมาจากประเทศเพื่อนบ้านจีนเวียดนามตอนนั้นก็ไปตามอเมริกัน  เพราะฉะนั้นหน้าที่ปกป้องประเทศไทยหน้าที่ปกป้องSecurity  ของประเทศไทย  นี่ผมพูดจากวิธีคิดของทหารเมื่อห้าสิบหกสิบปีที่แล้วเขาคิดว่าต้องมีForward line การป้องกันประเทศไม่ใช่ป้องกันที่แม่น้ำโขง  แต่การมีForward  line คือการที่ไปป้องกันที่กัมพูชาดีกว่าไปป้องกันที่ลาวดีกว่าซึ่งนั่นก็เป็นความเชื่อของเขาซึ่งสุดท้ายผลปรากฏว่าไม่มีความจำเป็นแต่เนื่องจากเราบอกว่าต้องมีForward line เราก็ไปรบที่ลาวก่อนที่เขมรก่อน  กล่าวคือเราก็ไปช่วยเขมรบ้างไปช่วยลาวบ้างไปเป็นลูกน้องอเมริกาก็ได้เงินมาพอสมควรForward Line Strategy ไม่ได้สร้างประโยชน์อะไร  เพราะจริงๆSecurity ของประเทศไทยมันจะมั่นคงก็ต่อเมื่อเพื่อนบ้านมั่นคง  แล้วบางทีเราคิดถึงคำว่าคู่แข่งหรือ  Competitor มากเกินไป

ถ้าเผื่อไปตื่นตระหนกว่าต่อไปเวียดนามเจริญพม่าเจริญและจะเป็นคู่แข่งขันกับเมืองไทยคำถามต่อมาคือไม่ดีหรือ?ประเทศเพื่อนบ้านเจริญมีเศรษฐกิจดีประเทศเพื่อนบ้านเขามีสันติภาพเขามีเสถียรภาพไม่ดีหรือ?  มันดีกับเมืองไทยทั้งนั้นถ้าเผื่อเศรษฐกิจเขาดีขึ้นกำลังซื้อเขาก็มีมากขึ้นและอย่างไรก็ตามเราก็ยังอยู่ได้เพราะยี่สิบปีสามสิบปีมันไม่ได้ตามทันกันง่ายๆเพราะสมัยใหม่เราต้องคิดใหม่แล้วครับเราต้องส่งเสริมให้เศรษฐกิจของเพื่อนบ้านดีด้วยช่วยส่งเสริมให้เขามีศักยภาพด้วยต้องส่งเสริมให้เขามีสันติภาพด้วย

 แต่สมัยก่อนเมื่อสี่สิบห้าสิบปีที่แล้ว  อเมริกาก็เข้ามาใช้ประเทศเหล่านี้ถึงได้มีคำว่าสงครามตัวแทนหรือ  “Proxy War” ที่จริงอเมริกาเป็นใหญ่สามารถสู้รบกับโซเวียตได้แต่ก็ไม่ได้สู้รบกันโดยตรงก็มาสู้รบกันที่เวียดนาม  แล้วผลเป็นอย่างไรท้ายที่สุดพวกประเทศเล็กก็เจ็บหมด  จึงได้มีคำว่าProxy War เพราะต่างฝ่ายต่างสนับสนุนให้ตีกันมันธุระอะไร   เวียดนามเหนือและเวียดนามใต้มาสู้รับกันฝ่ายหนึ่งสู้รบเพื่อสหภาพโซเวียตกับจีนอีกฝ่ายหนึ่งสู้รบเพื่อสหรัฐอเมริกาแต่บอกว่าเป็นการสู้รบในนามของลัทธิด้านหนึ่งของลัทธิFree World อีกด้านหนึ่งของลัทธิคอมมิวนิสต์คอมมิวนิสต์เองก็ไม่ได้เกิดในเอเชีย   ลัทธิทุนนิยมก็ไม่ใช่ของดีเสมอไปแล้วเอาคนเวียดนามมาตายเป็นล้านๆคน  สิ่งเหล่านี้ผมว่าคนไทยต้องเริ่มคิดแล้วเราได้รับอิทธิพลจากการโฆษณาชวนเชื่อของโลกเสรีมากเหลือเกินมันช่วยไม่ได้เพราะคนเราฟังจากสิ่งที่มันไม่เป็นความจริงฟังมากๆก็เชื่อ  และยิ่งไปกว่านั้นเราเป็นคนที่พูดความไม่จริง  แต่เรากลับเชื่อตัวเองว่าเป็นความจริงสิ่งเหล่านี้อันตราย 

เพราะฉะนั้นถ้าเผื่อว่าจะไม่มีCollective Security System อย่างSEATO มันต้องมีอะไรมาทดแทน  และการทดแทนตรงจุดนี้จะต้องไม่เป็นเรื่องของการทหาร  ท่านรัฐมนตรีถนัดจึงได้ริเริ่มตั้งองค์การASA  (Association of Southeast Asia) ตอนแรกมีไทยมาเลเซียฟิลิปปินส์และหลังจากนั้นก็เกิดปัญหาKonfrontasi จากนโยบายของประธานาธิบดีซูการ์โนซึ่งคุกคามมาเลเซียซูการ์โนถือว่าฉันใหญ่มากซึ่งเขาก็ใหญ่จริงตอนนั้น   อย่างไรก็ดีพวกเราก็โชคดีที่ได้ผู้ใหญ่ที่มีความคิดไม่อิงแบบทหาร   เป็นความคิดแบบพลเรือน  โดยการยึดหลักการใช้เหตุผล โดยคุณถนัดเป็นคนเริ่มต้นจัดตั้งASEAN เมื่อปี ..1967 มีห้าประเทศแรกเริ่มก็คือไทย สิงคโปร์   มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียในขณะนั้น   นั่นแหละครับเป็นจุดเริ่มต้นของ ASEAN   แต่ออกมาว่าเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจวัฒนธรรมฯลฯไม่เอ่ยถึงเรื่องการเมือง  ทหารนั้นไม่เอ่ยแน่นอน  แต่จริงๆ แล้วอันนี้เป็นนโยบายที่เกี่ยวพันกันเพราะตอนนั้นนอกจากเรื่อง Konfrontasi  แล้วก็ยังมีกรณีพิพาทซาบาห์  ที่สุลต่านซูลู ซึ่งอาศัยอยู่ในฟิลิปปินส์มานานอ้างว่าเป็นของฟิลิปปินส์ไม่ใช่ของมาเลเซียเหตุผลก็คือซาบาห์มีทรัพยากรธรรมชาติมากด้วยแต่ปัญหาดังกล่าวเดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่แต่จะปะทุขึ้นมาเป็นปัญหาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นคงไม่มี

อาเซียนจึงเป็นสิ่งที่เราต้องส่งเสริมรักษาให้มีวิวัฒนาการต่อไป  ที่ผ่านมาอาจจะเดินทางช้าหน่อยเราใช้เวลานานกว่าจะรู้ว่าทิศทางที่เราไปควรจะเป็นอย่างไร  ตอนนั้นผมมีส่วนเกี่ยวข้องเพราะเป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศแล้วก็ลาออกมาตอนหลังเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องอีกเมื่อทำงานเอกชนก็ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานในTask force เพื่อทำแผน FutureDirection ของอาเซียนเราเสนอให้มีFree Trade แต่ไม่มีรัฐบาลไหนเขาสนใจ  จนกระทั่งมาเป็นนายกฯ  ลีกวนยู  บอกผมว่าคุณเป็นคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประสบการณ์ทั้งจากภาครัฐบาลและจากภาคเอกชน  น่าจะมีการเอาเรื่องASEAN Free Trade ที่คณะของคุณทำขึ้นมาเสนอต่อรัฐบาลในอาเซียนให้มีการทำอย่างจริงจังและในASEAN Summit 1992 ที่สิงคโปร์ผมก็เสนอแนวนโยบายต่อที่ประชุม  นี่ก็ยี่สิบกว่าปีผ่านมาแล้วและมันจะเป็นตัวตนมากขึ้น  แต่ถ้าเราจะไปเป็นASEAN Economic Community นี่ต้องจำไว้อย่างหนึ่งว่านโยบายเศรษฐกิจของอาเซียนจะต้องไม่นำไปสู่Supranational Body ไม่นำไปสู่Fully Integrated Political Body นั่นไม่ใช่เพราะทั้งจังหวะทั้งเหตุผลมันไม่สมควรที่จะเป็นSupranational Body ทั้งนี้ด้วยเหตุที่ประเทศอาเซียนโดยส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พึ่งผ่านพ้นColonial Era มา เพิ่งได้รับอิสรภาพมาเพราะฉะนั้นคุณจะบอกให้เขาลืมเรื่องSovereignty  ให้เขามอบSovereignty ให้องค์กรที่อยู่เหนือเขาเขาคงทำไม่ได้แม้แต่อังกฤษตอนนี้เองก็ยังไม่ยอมในเรื่องเงินสกุลEU เพราะฉะนั้นไม่ไปนะเรื่องSupranational Body เราไม่เป็นแบบEU จะไม่มี Political Integration แม้แต่One Common Currency ก็คงจะไปยาก  เพราะเมื่อคุณจะทำระบบดังกล่าวแล้วคุณก็จะต้องบูรณาการนโยบายการเงินและการคลังเข้าด้วยกันซึ่งค่อนข้างจะยากแต่เราจะเป็นลักษณะที่ให้เป็นพื้นที่คล้ายพื้นที่เดียวกันมากขึ้น  ให้มีการเคลื่อนไหวของเรื่องเงินก็ดีเรื่องแรงงานก็ดีเรื่องการลงทุนต่างๆให้มากกว่าแต่ก่อน  ภาษีก็ลดน้อยลงไป

ตอนนี้ทุกคนพูดถึงเรื่องการศึกษาของเราไม่ดีผมไม่ว่าบางคนพูดถึงเรื่องภาษาอังกฤษเราอ่อนผมไม่ได้จะบอกว่าภาษาอังกฤษเราแข็งนะ  แต่ถ้าเราจะเข้าASEAN Economic Community มันมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากมายมันไม่ใช่เรื่องภาษาแต่เพียงอย่างเดียว  และเมื่อเริ่มต้นการสัมมนาผมก็ดีใจว่าที่ท่านอธิการบดีได้พูดว่า65 ปีที่แล้วคณะรัฐศาสตร์ธรรมศาสตร์นี่ค่อนข้างเล็กเพราะเกิดหลังจุฬาฯผมเคยสอนที่รัฐศาสตร์จุฬาฯ  แต่บัดนี้มีสถาบันศึกษาแต่ละประเทศแต่ละพื้นที่มากกว่าจุฬาฯ  อย่างไรก็ดีเรื่องภาษานี้ผมอยากจะบอกว่าสิ่งแรกและเป็นกลไกที่เราควรเรียนรู้คือการเรียนภาษาต่างประเทศที่เป็นภาษาของประเทศเพื่อนบ้านแม้แต่กระทรวงการต่างประเทศจนบัดนี้ก็ยังส่งนักเรียนทุนไปฝรั่งเศสไปอังกฤษไปอเมริกาการแต่งตั้งทูตก็เหมือนกันหลายครั้งหลายคราวพอเป็นทูตประจำประเทศเพื่อนบ้านสำคัญก็จะส่งทูตใหม่ๆไป  แต่ก่อนทูตที่อาวุโสหน่อยมีความรู้กว้างขวางมีประสบการณ์ก็จะส่งไปประเทศใหญ่เช่นยุโรปและสหรัฐอเมริกาขณะนี้รัฐบาลนี้ส่งทูตใหม่เอี่ยมไม่เคยเป็นทูตที่ไหนเลยไปที่ลอนดอน  ผมว่าอาเซียนสำคัญแล้วและคงจะเป็นเช่นนั้นต่อไปแต่เราต้องจับให้ถูกว่าถ้าเผื่อเราต้องการเป็นประเทศสมาชิกที่ดีนโยบายภายในของไทยกับนโยบายต่างประเทศของไทยมันจะต้องมีสิ่งเหล่านี้ด้วยเดี๋ยวนี้ผมก็ไม่แน่ใจว่าประเทศไทยมีนโยบายต่างประเทศหรือไม่  

ตอนที่ผมอยู่กระทรวงการต่างประเทศเป็นปลัด  เวลาไปเจรจาที่เวียดนามหรือเวลาไปเจรจาที่ไหนผมอายเขา  เมื่อไปอยู่ในห้องประชุมนี่เรารู้เลยว่าคนของเขาข้างหลังนี่รู้ภาษาไทยหมด  เมื่อผมไปเจรจาที่เวียดนามเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์กับเวียดนามไปวันแรกๆเวียดนามเรียกร้องเอานู่นเอานี่เครื่องบินเวียดนามใต้ที่บินมาอยู่ที่เมืองไทยหลายสิบลำต้องคืนเขาต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม  ผมลุกขึ้นบอกเขาว่าผมมาตัวเปล่าแล้วก็โชว์กระเป๋าว่าไม่มีอะไรเลย  ที่มาได้นี่ก็ดีจะตายไปแล้วเพราะว่าทหารก็ไม่อยากให้มาคนไทยก็ยังเห็นเวียดนามเป็นศัตรู  ผมบอกรัฐมนตรีต่างประเทศพิชัยเลยว่าอย่างนี้อยู่ไม่ได้แล้ว  อย่างนั้นพรุ่งนี้สั่งเครื่องบินเตรียมตัวกลับบ้านคืนนั้นตอนดึกเขา(เวียดนาม-บรรณาธิการ)มาปลุกผมบอกพรุ่งนี้ขอเจรจาเพิ่มเติม  เขาเข้าใจภาษาไทย  ไปเขมรเขาก็รู้ภาษาไทยไปจีนเขาก็รู้ภาษาไทยไปลาวไปพม่าเขาก็รู้ภาษาไทยคือคนของเขาเรียนภาษาไทยกันหมดขณะนี้มีนักเรียนจีนอยู่ในไทยกว่าสองหมื่นคน  ข้าราชการจีนที่ประจำที่สถานทูตก็พูดภาษาไทยคล่อง   ของเราก็ดีขึ้นนะเดี๋ยวนี้จุฬาฯเรียนภาษาจีนดีนะเข้ามาอยู่กระทรวงการต่างประเทศหลายคนแต่ที่ผมเป็นห่วงคือเราไม่เห็นจะสนใจภาษามลายูภาษาอินโดนีเซียภาษาเขมรภาษาเวียดนามเลย  ขอโทษนะที่ผมพูดโดยไม่ได้เตรียมมาก่อนยังพูดได้ถึงสี่สิบนาที  นี่ถ้าเผื่อว่าผมเตรียมทุกท่านคงไม่ได้กลับบ้าน   ขอฝากข้อคิดไว้ไม่ใช่สิ่งที่ผมคิดมาเองนะแต่พอพูดถึงเรื่องการกำหนดนโยบายต่างประเทศ  ขอเอ่ยถึงคำพูดของรัฐบุรุษอังกฤษคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงมาก“England has no permanent friends, only permanent interests” แล้วก็กลับไปเรื่องของผลประโยชน์แห่งชาติขอบคุณครับ

..............................

ขอขอบคุณศ. ดร. เขียน ธีระวิทย์ ที่ส่งปาฐกถานี้มาให้

วิจารณ์พานิช

๑๐ก.ค. ๖๒

 


หมายเลขบันทึก: 662755เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2019 16:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2019 16:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท