[review] รีวิว as the gods will (2014)



[review] รีวิว as the gods will (2014) เกมเทวดาฆ่าไม่เลี้ยง สุดยอดภาพยนตร์ญี่ปุ่นนำเสนอวัฒนธรรมญี่ปุ่นและการจัดระเบียบสังคมได้อย่างดีเยี่ยมและสนุกมากๆ

เรื่องราวแปลกประหลาดที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก และเกิดขึ้นกับโรงเรียนมัธยมทั่วโลก เด็กทุกคนในโรงเรียนจะถูกบังคับให้เล่นเกมที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตาย ถ้าเล่นเกมตามกฎกติกาแล้วชนะจะรอดชีวิต ส่วนใครและไม่ผ่านจะต้องตายอย่างทารุณ ทุกคนที่เป็นผู้ใหญ่รวมถึงรัฐบาลสำนักข่าวผู้เชี่ยวชาญต่างก็หาทางแก้ไขสถานการณ์นี้ ระหว่างที่เหตุการณ์ดำเนินไปก็จะมีกล่องสีขาวขนาดใหญ่ลอยอยู่บนท้องฟ้า ผู้ที่ผ่านด่านในแต่ละเกมส์นั้นผู้คนขนานนามว่า "บุตรแห่งพระเจ้า" ในหนังเป็นการนำเสนอ การละเล่นของเด็กในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ที่แต่ละเกมจะมีผลแพ้ชนะ แต่หนังทำให้เห็นว่าใครชนะจะรอดชีวิตใครแพ้จะเสียชีวิต

นับเป็นสุดยอดภาพยนตร์ที่ขายความคิดสร้างสรรค์เรื่องหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น มีฉากทำให้ลุ้นตื่นเต้น มีฉากที่ทำให้หวาดเสียว มีฉากการฆ่าที่ทำให้เห็นความโหดร้าย มีฉากอารมณ์ที่ทำได้ถูกจังหวะ เป็นภาพยนตร์ที่ทำให้เราคิดอยู่ตลอดเวลาว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ตัวละครจะผ่านด่านแต่ละครั้งได้อย่างไร และสุดท้ายเมื่อผ่านด่านแล้วจะไปพบกับอะไร ที่สำคัญที่สุดเป็นภาพยนตร์ที่เน้นการผ่านด่านซึ่งแต่ละด่านจะมีคติสอนใจที่น่าสนใจแฝงไว้ หาใครดูเอาสนุกก็ได้ หากใครดูเพื่อเอาความหมายแฝงก็ยิ่งดี

ภาพยนตร์เสนอแนวคิดการต่อต้านเรื่องการจัดระเบียบทางสังคมแบบสุดโด่ง การจัดระเบียบหมวดหมู่ของผู้คน รวมถึงการจัดระดับความรู้ความคิดของผู้คน ซึ่งนำเสนอว่าคนที่ดีกว่าเหนือกว่าจะถูกคัดเลือกในฐานะที่เขาใข้สติปัญญา ความรู้ เหตุผล ความช่างสังเกตมากกว่าคนอื่นเขาจึงชนะ ทีชีวิตอยู่ต่อ หากใครตระหนกตกตื่น ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ใช้กำลังมากกว่าสติปัญญาผู้นั้นก็จะแพ้ต้องเสียชีวิตไป แม้แนวคิดการจัดระเบียบทางสังคมมนุษย์นั้นจะเป็นพล๊อตเรื่องใหญ่และมีอยู่อย่างดาษเดื่อนในโรงภาพยนตร์ แต่เชื่อเถอะว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีมุมมองที่ดี ทำได้อย่างเฉียบขาด แสดงสัญลักษณ์ทางความคิดได้น่าสนใจ อีกทั้งยังมีขั้นเชิงอยู่ในอันดับต้น ๆ ของภาพยนตร์หมวดหมู่การจัดระเบียบทางสังคมเลยทีเดียว

ภาพยนตร์มีความโดดเด่นมากในการใช้คติชนญี่ปุ่นมาใส่ในภาพยนตร์ เช่น คติชนวิทยาเกี่ยวกับเทพเจ้า คติชนวิทยาเครื่องราง โดยเฉพาะคติชนวิทยาเกี่ยวกับการละเล่นของเด็กที่มีคำพูดหรือเพลงประกอบ เกมเหล่านี้แม้จะดูเป็นการเล่าสนุกสนานแบบเด็ก ๆ แต่พอมาทำเป็นภาพยนตร์ ผู้กำกับกับทำให้ความสนุกสนานนั้นก็มีความน่าสนใจ มีสีสันน่าติดตาม หากใครศึกษาคติชนวิทยาของญี่ปุ่น ผมว่าเรื่องนี้สามารถนำมาใช้อธิบายหรือนำมาใช้ศึกษาเพื่อให้เกิดความรู้แก่เพิ่มเติมได้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงต้นทุนทางภูมิปัญญาทางคติชนวิทยาของญี่ปุ่นนั้นมีมากมาย ผู้กำกับและคนเขียนบทชาญฉลาดที่จะหยิบเรื่องบางเรื่องมาใส่ในภาพยนตร์แล้วทำให้ดูสนุกสนานได้เช่นนี้ ต้องขอชื่นชม

เรื่องเทคนิคพิเศษด้านภาพหรือคอมพิวเตอร์กราฟิกนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำได้อย่างเฉียบขาดเลยว่าเทียบเท่าภาพยนตร์ฮอลลีวูดเลยก็ว่าได้ดูแล้วรับว่าคุ้มจริง ๆ

ในที่นี้ผู้เขียนขออธิบายเรื่องของเกมหรือการละเล่นที่ปรากฏในภาพยนตร์ รวมถึงวิเคราะห์ในแง่ของคติชนวิทยา เพื่อเสริมอรรถรสในการชมภาพยนตร์ดังนี้

เกมส์ขยับแล้วตาย ระหว่าง"ดารุมะ" หันหลังเพื่อพูดคำประกอบการเล่น คนที่เล่นจะขยับได้ แต่พอดารุมะหันมาืทุกคนต้องหยุดนิ่ง หากหันมาเห็นใครขยับจะต้องตาย หากใครขยับขณะดารุมะหันหลังจนสามารถไปกดปุ่มด้านหลังดารุมะได้ จะเป็นผู้ชนะจะไม่ตาย เกมนี้มีการจำกัดเวลา หากไม่สามารถทำตามกติกาได้หรือกดหยุดได้จะต้องตายทั้งหมด เกมนี้เป็นคติชนที่ใช้ถ้อยคำประกอบ เป็นการฝึกความอดทน ฝึกไหวพริบสติปัญญาและการแก้ไขสถานการณ์

"มาเนกิเนโกะ" หรือแมวกวัก เรียกโชคลาภในวัฒนธรรมญี่ปุ่น แมวตัวใหญ่เข้ามาในอาคารสนามบาสฯ ผู้เล่นหลายคนจะต้องใส่ชุดหนู หากใครใส่แล้วจะได้ยินเสียงพูดของแมวกวัก แต่ข้อเสียคือแมวกวักจะเลือกกินคนที่ใส่ชุดหนูก่อน วิธีการเอาชนะคือจะต้องเอากระพรวนใสห่วงคอแมวให้ได้ เกมนี้แมวกวักก็ฆ่าคนโหดมาก ใช้กรงเล็บข่วนจนตัวขาดบ้าง เกมนี้มีการกำจัดเวลา หากไม่สามารถผ่านด่านได้ในเวลาที่กำหนด ทุกคนจะต้องตาย เกมนี้เกี่ยวข้องกับการฝึกการวางแผน การทำงานเป็นระบบทีม ฝึกความคิดสร้างสรรค์

"โคเคชิ" ตุ๊กตาไม้สี่ตัวจะล้อมวงแล้วร้องเพลงเวียนไปเรื่อย เมื่อเพลงจบตัวหมากอยู่หลังใคร คนถูกปิดตาจะต้องทายชื่อคนที่อยู่ด้านหลัง หากทายผิดจะต้องตาย วิธีการตายก็สารพัดจะพิสดารเช่นเอาหัวโขกพื้นจนตาย หรือจับแหกขาแยกร้างจนตาย แต่ถ้าทายถูกตัวตุ๊กตาไม้จะระเบิด กลายเป็นกุญแจไขสู่ห้องต่อไป เกมนี้เป็นคติชนเกี่ยวข้องกับการละเล่นประเภทใช้ถ้อยคำรวมถึงเพลงประกอบการละเล่น ผู้เล่นจะได้ฝึกการสังเกต การเดาอย่างมีเหตุผล

เกมต่อมามีการกำหนดใช้คน 7 คนเสียบลูกกุญแจ 7 ดอกเข้าไปในช่องเสียบ 7 ช่องพร้อมกัน ต้องเป็นไปตามเวลาที่กำหนดด้วย ติดอยู่ที่จะหาคนมาให้ครบ 7 คนได้อย่างไร หรือหากุญแจได้อย่างไร เพราะผู้ที่ผ่านมาเข้ารอบนั้น หากใครที่เป็นเศษเกินจำนวนนับคี่ จะต้องถูกตุ๊กตาไม้ฆ่าตาย ตุ๊กตาไม้จะไม่หยุดฆ่าจนกว่าผู้เล่นจะมีจำนวนนับเป็นเลขคู่ เกมนี้เกี่ยวข้องกับการวางแผน การจัดกลุ่ม

ต่อมาเป็นเกมส์พูดความจริง ถ้าใครพูดความจริงก็จะชนะ เกมดำเนินภายในห้องที่เต็มไปด้วยน้ำแข็งและหิมะโดยตัวหมีขาวยักษ์ "ชิโรคุมะ" เป็นผู้ถามคำถาม คนที่ผ่านเข้ามาในเกมส์นี้จะเป็นผู้ตอบ ถ้าทุกคนตอบคำถามด้วยความจริงก็จะผ่านด่าน แต่ถ้าโกหกแม้แต่คนเดียวมีขาวจะจับได้ ทุกคนช่วยกันหาว่าใครโกหกภายใน 2 นาที พวกเขาจะต้องชี้ไปที่คนใดคนหนึ่ง แล้วมีขาวจะฆ่าคนคนนั้น จากนั้นหมีขาวจะตั้งคำถามใหม่ เล่นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ เกมนี้เกี่ยวข้องกับความซื่อสัตย์ การพูดความจริง การไว้เนื้อเชื่อใจกัน และแสดงถึงมิตรภาพที่ดีระหว่างกัน

"ตุ๊กตาแม่ลูกดก หรือ มาโตรชก้า เป็นตุ๊กตาของรัสเซียที่เรียงซ้อน ๆ กันหลายตัว ได้ชื่อจาผสตรีในภาษารัสเซีย ว่า "มาตรีโยนา" ได้รับความนิยมในวัฒนธรรมญี่ปุ่น เมื่อหมุนตุ๊กตาออกจะมีตุ๊กตาซ้อนอยู่ด้านไปเรื่อย ๆ จากขนาดใหญ่ไปจนสู่ขนาดเล็กจิ๋ว และภายในตัวตุ๊กตาที่เล็กที่สุดจะมีสิ่งของอยู่ เจ้าตุ๊กตานี้จะออกมาอธิบายเกมที่เป็นการละเล่นของเด็กเกี่ยวกับการเตะกระป๋อง ผู้เล่นที่เป็น "ยักษ์" จะนำกระป๋องมาตั้งในจุดที่กำหนด จากนั้นผู้เล่นทุกคนจะต้องไปซ่อนตัว ยักษ์จะตามหา หาขาใครได้คนนั้นจะแพ้ แต่หากคนหนึ่งสามารถซ่อนได้แล้วมาเตะกระป๋องก็จะชนะ ลักษณะแบบเดียวกับการเล่นซ่อนหาของไทยแต่มีความซับซ้อนและกติกาที่มากกว่า เกมนี้เป็นคติชนเด็กเกี่ยวกับการละเล่นที่ต้องการให้เด็กฝึกการเอาตัวรอด การใช้ไหวพริบสติปัญญา การวางแผน รวมถึงการเสียสละด้วย

แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีข้อเสียอยู่บ้างเช่น เกมบางเกมผ่านด่านไปอย่างง่ายดาย อารมณ์สุดโต่งของตัวละครบางตัวไม่ปูพื้นฐานไม่มีที่มาที่ไปให้เรารู้ การใช้สีหน้า รวมถึงการกระทำที่ Over acting ในแบบที่สามัญชนธรรมดาที่เขาไม่ทำกัน ซึ่งอาจจะเป็นเอกลักษณ์ของหนังญี่ปุ่นด้วยก็ได้ บทตัวละครบางตัวก็ดูแปลก ๆ ไม่ค่อยสมเหตุสมผลมากนัก จังหวะที่ควรจะช้ากับเร่ง จังหวะที่ควรจะรีบกับช้า บทจะเก่งก็เก่ง บทจะฉลาดก็ฉลาด แต่พอถึงบทจะโง่ก็โง่ได้แบบแปลก ๆ ซึ่งในความคิดส่วนตัวแล้วเหล่านี้ถือว่าเป็นจุดด้อยของหนัง แต่เป็นจุดด้อยเพียงนิดเดียวเท่านั้นเอง

นับเป็นภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่มีความคิดสร้างสรรค์ดีมาก ซึ่งแน่นอนว่าไอเดียกระฉูดแบบหลุดโลกแบบนี้คงจะไม่มีใครเทียบต่างจากญี่ปุ่นเป็นแน่ อีกทั้งยังคงเอกลักษณ์สำคัญที่สุดของภาพยนตร์ญี่ปุ่น คือการใส่วัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นลงไปได้อย่างเหมาะเจอะพอดิบพอดี อย่างไม่น่าเบื่อและน่าติดตาม ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าถึงแม้ญี่ปุ่นจะพัฒนาประเทศไปอย่างรวดเร็วก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างไรแต่เขาก็ไม่เคยทิ้งวัฒนธรรมและรากเหง้าของเขาเลยอีกทั้งยังประสานไปพร้อมกันได้อย่างลงตัว นับเป็นภาพยนตร์ที่ดูสนุกเพลิดเพลินและมีนัยยะสำคัญในแง่ผู้คน มิตรภาพ ความคิดและวัฒนธรรมประจำชาติให้เราเรียนรู้อีกด้วย

ที่ชอบมากก็คือการที่คนเราจะผ่านช่วงชีวิตหรือเหตุการณ์ไปได้ในแต่ละครั้งนั้นนอกจากจะใช้ความคิด สติปัญญาพละกำลัง ความคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆ แล้วคนเราจะต้องมีโชคที่ดีด้วย ซึ่งเหมือนจะเป็นการอธิบายว่า ชีวิตของคนเรานั้นไม่มีใครรู้ว่าหนทางหน้าจะเป็นเช่นไร บางคนอาจมีอุปสรรคโดยที่ไม่ใช่เป็นผู้กอขึ้นก็ได้ ดังนั้นโชคลางที่ดีแม้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่ก็ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยให้ชีวิตของคนเราเปลี่ยนแปลงไปได้ด้วยเช่นกัน

ถ้าจะกล่าวถึงบทสรุปที่ดีของภาพยนตร์ในแง่ปรัชญาแล้วนั้นอาจหมายความว่า เกมทุกเกมที่เล่นแม้จะเล่นอย่างจริงจังแต่สุดท้ายมันก็เป็นเพียงแค่เกมที่เอาไว้เพื่อความเพลิดเพลินสนาน มีแพ้มีชนะเป็นธรรมดา เหมือนกับการใช้ชีวิตอยู่บนโลกแห่งนี้ แม้จะน่าเบื่อบ้าง แก่งแย่งชิงดีบ้าง แต่สุดท้ายมันก็คือชีวิตของคนเราที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้ เกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ ท้ายที่สุดแล้วเราก็จะสามารถผ่านมันไปได้ ชีวิตมีทุกข์บ้างมีสุขบ้างเป็นเรื่องธรรมดา หาใครแบกความทุกข์ไว้มากก็ไม่ต่างกับการสวมชุดเกราะเหล็กอันหนักอึ้งเดินไปเดินมา แต่หากเรารู้จักละทิ้งบางอย่างก็เหมือนกับการถอดชุดเกราะเหล็กออกแล้วเดินไปตัวเปล่า หากเราเปลี่ยนความคิดหรือมุมมองและพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างให้ดี ทุกสิ่งย่อมมีคุณค่ามีความหมาย ชีวิตในโลกนี้ไม่ได้มีสีดำหรือสีขาวอย่างเดียวแต่มีหลายสีเหมือนพลุไฟ และ"ทุก ๆ วันที่มันน่าเบื่อ นั่นมันสุดยอดแล้ว"

9.5/10

วาทิน ศานติ์ สันติ

สถาณีหนัง MovieStation

#ตื่นเต้น #ผจญภัย #ปรัชญา

หมายเลขบันทึก: 662665เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2019 19:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กรกฎาคม 2019 19:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท