ชีวิตที่พอเพียง 3443. วงจรป้อนกลับ



วงจรป้อนกลับ ภาษาอังกฤษว่า feedback loop   ผมได้ความคิดเรื่องนี้จากการประชุมเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๒ ทั้งช่วงเช้าและบ่าย ในต่างเรื่องกัน

ช่วงเช้า เป็นการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษา พัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม  ของ สวทน. ครั้งที่ ๒/๒๕๖๒   ที่ต่อไประบบนี้จะดูแลโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม   โดยเป้าหมายของประเทศคือ หาทางจัดการให้ ๓ ระบบนี้ (อุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม) มีการบูรณาการกัน หรือทำงานเชื่อมโยงกัน   ใช้กลไกของสภานโยบาย และคณะกรรมการ และสำนักงานคณะกรรมการ เป็นตัวขับเคลื่อน

องค์กรระดับสูงสุดคือ สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ   ที่มี สอวช. (สำนักงานสภานโยบายอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ) ทำหน้าที่คณะเลขานุการกิจ (secretariat)    ทำหน้าที่ด้านนโยบายและยุทธศาสตร์  

องค์กรที่รับลูกในระดับถัดมา ทำหน้าที่กำหนดแผนแม่บท    แยกเป็นสองส่วนคือ ส่วนการอุดมศึกษา รับผิดชอบโดย กกอ. (คณะกรรมการการอุดมศึกษา) และ กมอ. (คณะกรรมการมาตรฐานอุดมศึกษา) มีหน่วยงานทำหน้าที่ secretariat คือ สกอ. (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) และ สมอ. (สำนักงานมาตรฐานอุดมศึกษา)  ทำหน้าที่ด้านแผนกำลังคนของประเทศ   กับส่วนที่สอง ส่วนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ รับผิดชอบโดย กสว. (คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) มีหน่วยงานทำหน้าที่ คือ สกสว. (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม)

คณะกรรมการที่ปรึกษาฯ รับฟังข้อมูลมากมาย และให้ความเห็นมากมายหลากหลาย   ข้อแนะนำสำคัญข้อหนึ่งคือ ต้องออกแบบระบบให้มีวงจรป้อนกลับ (feedback loop) เพื่อการเรียนรู้เชิงระบบ   โดยมีระบบเก็บข้อมูลกิจกรรมและการบรรลุ (หรือไม่บรรลุ) เป้าหมายที่กำหนด   feedback ให้แก่สภานโยบายฯ  และแก่คณะกรรมการฯ   เพื่อให้ระบบ อววน. ของชาติ เป็นระบบเรียนรู้และปรับตัว 

ตอนบ่าย ผมไปร่วมประชุมคณะทำงานคลังสมองยุทธศาสตร์และการดำเนินงาน (think tank)ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์    เป้าหมายคือ การ transform มหาวิทยาลัย ให้ทำงานสนองการพัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริง    เปลี่ยนโฉมจากทำงานวิชาการแบบยืนอยู่บนฐานวิชาการ   ไปทำงานวิชาการแบบยืนอยู่บนฐานการทำมาหากินและชีวิตจริงของผู้คน   ซึ่งเป็นเรื่องยากเข็ญ เพราะอาจารย์มหาวิทยาลัยคุ้นกับการทำงานตามที่ตนเคยชิน   

คำแนะนำของที่ประชุมคือ ต้องดำเนินการด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง    มีการตั้งเป้าระยะยาว และเป้าหมายรายทางในช่วงเวลา ๓ เดือน  แล้ววัดผล ใช้เป็นข้อมูลสู่ feedback loop   ใช้เป็นพลังขับเคลื่อการเปลี่ยนแปลง 

วงจรป้อนกลับเป็นส่วนสำคัญของการจัดการการเปลี่ยนแปลง    

วิจารณ์ พานิช

๒๔ เม.ย. ๖๒


หมายเลขบันทึก: 661845เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2019 19:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2019 19:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

We should also beg for at least 2 feedback loops. One for operation (or input-output) and another for control so we can also adjust supervisory system. Often we see IO feedback loops implemented but not control feedback and decision making stay stuck.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท