ท้องถิ่นแห่งชาติคืออะไร


ท้องถิ่นแห่งชาติคืออะไร

25 พฤษภาคม 2562

ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

คำว่า “แห่งชาติ” (National) หรือ “ของชาติ” ในกระแสชาตินิยม ในประเทศกลุ่มสังคมนิยมจะใช้คำว่า “แห่งชาติ” กันปกติ แต่ก็ใช่ว่าในประเทศที่มิใช่สังคมนิยมจะไม่ใช้คำนี้ เพราะต่างก็ใช้คำนี้ด้วยเช่นกัน เช่น กองทัพแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ เยาวชนแห่งชาติ การกีฬาแห่งชาติ ทรัพยากรแห่งชาติ การศึกษาแห่งชาติ ฯลฯ  หรือ “รัฐบาลแห่งชาติ” (A National Unity Government or A National Union Government) ก็ใช้คำนี้ เพราะเชื่อว่า รัฐบาลแห่งชาติ คือทางออกฉุกเฉินของชาติ ไม่ใช่ของพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง [2] เป็นต้น

คำนี้พันไปถึงเรื่อง “ผลประโยชน์ของชาติ” (National Interest) [3] ตามแนวคิดของ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” (พ.ศ. 2561-2580) ที่ได้นำความหมายนี้มาชูเป็นประเด็น ในบางสถานการณ์ที่มีปัญหา เจอทางตัน (Impasse) เดินหน้าไปต่อไม่ได้ (Deadlock) หลายคนก็จะนึกถึงคำนี้ขึ้นมาทันที เพราะอยากเข้าไปแก้ปัญหา ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจตอนนี้ที่แย่ลง ประชาชนรากหญ้าเดือดร้อนในการครองชีพ เพราะตกงาน ขายผลิตสินค้าเกษตรไม่ได้ราคา คนจนมากขึ้น อาชญากรรมมากขึ้น ฯลฯ เหล่านี้เป็นปัญหาทั่วไปของชาวบ้าน ยิ่งกาลเวลาเนิ่นนานไม่แก้ไข ยิ่งทำให้ปัญหาบานและหนักขึ้น ปัญหาเหล่านี้คงไม่มีผู้เข้าใจดีกว่าคนท้องถิ่น เพราะคนท้องถิ่นอยู่ในท้องถิ่น อยู่กับคนรากหญ้าย่อมเข้าใจปัญหาได้ดีกว่าคนอื่น รัฐบาลต้องใส่ใจมาแก้ไขปัญหาปากท้องชาวบ้านก่อน หนทางเปิดแล้วคือ “การเลือกตั้งท้องถิ่น” แต่จนป่านนี้ก็ยังไม่แน่นอน หลายคนเชื่อว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเป็นการเปิดประตูไปสู่การแก้ไขปัญหาชาวบ้านในหลายเรื่อง ไม่ว่าประชาธิปไตยกินได้ [4] ประชาสังคม [5] รวมถึงคำใหม่ว่า “ประชารัฐ” [6] หรือ “สวัสดิการแห่งรัฐ” ฯลฯ ที่เป็นคำเดียวกัน เป็นต้น

นิยามความหมายท้องถิ่น

คำว่า “ท้องถิ่น” (Localized) [7] ในบริบทมีความหมายรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ประจำถิ่น ประจำย่าน เป็นถิ่นเฉพาะ คือ หมายรวม ของประจำท้องถิ่น เฉพาะท้องถิ่น ของพื้นเมือง ฯลฯ หากลองจำกัดเพียงเฉพาะ “รูปแบบ อปท.” เท่านั้น ความหมายก็จะแคบลงทันที เพราะเป็นเพียง “องค์กรหนึ่ง” หรือหน่วยงานเฉพาะที่มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมีกฎหมายระเบียบบัญญัติอำนาจหน้าที่ไว้ ว่าให้มีหน้าที่ดำเนินการใดบ้าง มีโครงสร้างอำนาจ มีบุคคลากรใดบ้าง ที่ไม่แตกต่างกับหน่วยงานบริหารราชการอื่น โดยเฉพาะ “หน่วยการบริหารราชการส่วนกลาง” และ “หน่วยการบริหารราชการส่วนภูมิภาค” เพียงเพิ่ม “การเลือกตั้ง” (Election) เข้าไปเพื่อให้มีกระบวนการประชาธิปไตยตามหลักการกระจายอำนาจ [8] (Decentralization) เมื่อมีการเลือกตั้งเพื่อให้ตัวแทนเอาคนมาจัดการ “บริการสาธารณะ” (Public Service) มาตัดสินใจบริหารแทนคนในท้องถิ่นนั้น ๆ โดยมีบุคลากร มีงบประมาณบริหารงานของตนเอง ที่จำเป็นต้องได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลด้วยส่วนหนึ่ง เพื่อใช้ในการบริหารงาน และการใช้จ่ายเงินงบประมาณ และการจัดทำแผนงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ภาคประชาสังคมเพื่อภูมิปัญญาท้องถิ่น

ในท้องถิ่นนั้นยังมีพื้นที่ของ “ภาคประชาสังคม” (Civil Society) ทั้งกิจกรรมที่เคยทำมาก่อนหน้าแล้ว อาทิเช่น โครงการเงินผัน (เงินคึกฤทธิ์ พ.ศ.2518) [9] หรือ โครงการสร้างงานในชนบท (โครงการ กสช. พ.ศ.2523 และ พ.ศ.2529) [10] ล้วนก่อกำเนิด ผลงานมากมาย เช่น มีถนน คลองส่งน้ำ ฝาย โดยไม่ต้องเสียเงินเวนคืน โดยเฉพาะโครงการสร้างงานในชนบททุกวันนี้ก็ยังนำมาใช้อยู่ เพียงแต่เปลี่ยนแปลงรายละเอียดการใช้จ่ายเงินงบประมาณ การแบ่งซื้อแบ่งจ้าง เงื่อนไขการจ้างฯ แต่เป้าหมายก็คือ การกระจายเม็ดเงินลงสู่ท้องถิ่น เพื่อให้เม็ดเงินได้ไปหมุนเวียนอยู่ในท้องถิ่น

ผลงานในอดีตมีมากมายทั้งที่ใช้เงินงบประมาณ และไม่ใช้เงินงบประมาณ (เงินหลวง) ยังคงตกทอดมาถึงปัจจุบัน มีการขุดบ่อ ก่อศาลา สร้างวัด สร้างโรงเรียน ฯลฯ รวมสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ ด้วยความพร้อมเพรียงพร้อมใจกันเสียสละแรงงาน กำลังทรัพย์ เพื่อส่วนรวมกันทั้งนั้น แม้แต่ที่ว่าการอำเภอ อาคาร สำนักงานการประถมศึกษา (สปอ.เดิม) ยังมีผู้อุทิศที่ดิน และวัสดุอุปกรณ์แรงงาน ช่วยกันสร้างด้วยงบประมาณเรือนล้าน นี่เป็นจุดแข็งของท้องถิ่น ซึ่งสมัยนั้นชาวบ้านยังไม่รู้จักงบประมาณ รู้เพียงว่าเป็นเงินหลวงที่ไม่ได้ตกมาง่าย ๆ ไม่รู้จักแม้เงินเปอร์เซ็นต์เงินทอนก็ไม่รู้จัก แต่ภายหลัง เมื่อมี อปท. เกิดขึ้น โดยเฉพาะ “องค์การบริหารส่วนตำบล” (อบต.) ก็มีงบประมาณ มีคนมาจากชาวบ้านถูกเลือกตั้งเข้ามาบริหารงาน มาเข้าสู่ระบบราชการ ภายหลังจึงเริ่มรู้ว่า “มันมีนอกมีใน” นี่ถือเป็น “การลอกแบบ จากระบบเดิมที่ผิดพลาดมากมาแต่ต้น”

ผลเสียที่ตามมาก็คือ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” (Local wisdom) [11] ที่เคยมีมา ที่ได้สืบต่อกันมาตลอดหลายช่วงอายุคนถูกครอบงำด้วยระบบทุน เช่น การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การใช้สมุนไพรแบบดั้งเดิม การทำเหล้าสาโท เหล้ากลั่น การคิดค้น สิ่งประดิษฐ์ พื้นบ้าน จากไม้ หิน และโลหะ เปลี่ยนแปลงไปหมด เปลี่ยนแม้กระทั่งการละเล่น พื้นบ้าน งานสืบสานประเพณี วัฒนธรรม ที่เคยมีมาในอดีต ก็ถูกแปรไปอยู่ภายใต้ ระบบปกครอง ภาคราชการ และใช้เงินงบประมาณมาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น ยกตัวอย่าง วัฒนธรรมพื้นบ้านในภาคเหนือตอนบนที่สูญหายไปจากพื้นบ้านแล้วก็คือ “จ๊อย” [12] (บทกลอนสั้น) และ “คำค่าว” หรือ “เล่าค่าว” [13] (ลำกลอนยาวคล้ายการขับซอ) ของคนหนุ่มสาว ในวิถีชีวิตพื้นบ้าน ได้ตายไปจากสังคมชาวล้านนาไปแล้วสนิท เด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จัก

และคนรุ่นดั้งเดิมที่เคยสืบทอดกันมาต่างก็เลิกราล้มหายตายจากไป ปัจจุบันจึงเหลือแต่การสร้างภาพ จัดฉากจ้างมาแสดงทั้งสิ้น หากจะว่าไป หลายส่วนถูกครอบงำด้วยระบบทุน หรือทุนนิยม เพราะผู้นำท้องถิ่นที่เลือกได้มา ต่างก็เป็นพ่อค้านายทุนกันหมด หากกลุ่มภูมิปัญญาในท้องถิ่นเป็นทีมเดียวกัน ก็ยังพอจะอนุรักษ์ได้บ้างต่อไป แต่หากตรงข้ามกลุ่มภูมิปัญญาชาวบ้านก็จะถูกลบชื่อออกจากสารบบไปเลย หรือ แม้เป็นกลุ่มเดียวกันเนื้อหาภายใน ก็อาจถูกเปลี่ยนได้ เช่น ภูมิปัญญานั้นไม่เอื้อ หรือไปขัดกับระบบทุนของผู้นำที่รับเลือกเข้ามา ดังนั้น ความหมาย “ท้องถิ่นแห่งชาติ” จึงไม่ควรจำกัด อยู่แค่เพียงการเลือกตั้ง และการดำเนินไปในรูปแบบ ที่ระบบราชการ กำกับ ควบคุม ไว้เท่านั้น แต่ให้หมายรวมถึงมิติอื่น ๆ ด้านอาชีพ การศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ความเชื่อ วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ฯลฯ ด้วย ที่ควรจะต้องหยิบยกเอามาประกอบการตัดสินใจด้วย เพราะเป็นสาระสำคัญ และรากเหง้าของสังคม เป็นการเสริมจุดเด่น แก้จุดด้อย ปัญหาอุปสรรค ไม่ควรล้มล้าง แล้วสร้างใหม่ เหมือนดัง “เทคโนโลยีแห่งการทำลายล้าง” (Disruptive Technology) [14] ที่ไม่ได้ล้มล้างให้หายไป แต่เป็นการล้มล้างเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ (Innovation) ที่ดีกว่า

แต่ปัจจุบันหลายเรื่องของท้องถิ่นได้ถูกหน่วยงานราชการมาฟื้นฟูมาพัฒนา แต่ก็เป็นเพียงการสร้างใหม่เป็นตอน ๆ ไม่ได้เป็น “ท้องถิ่นของแท้อย่างรอบด้าน” เป็นด้าน ๆ ตามแต่ภารกิจที่แต่ละหน่วยงานมีหน้าที่ คนท้องถิ่นจึงถูกใช้เป็น ตัวประกอบฉาก ผ่านไปในแต่ละโครงการแต่ละเรื่อง อิงอยู่ที่อำนาจของนักการเมือง และข้าราชการระดับผู้นำ หาได้เป็นไปโดยธรรมชาติในบริบทของ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ไม่ ฉะนั้น  มิติท้องถิ่นแห่งชาติในดวงใจ ที่เราใฝ่ฝันหาจึงเป็นไปได้ยาก

ทัศนะของผู้อำนวยการการเลือกตั้งท้องถิ่น

ตามกฎหมายการเลือกตั้งท้องถิ่นที่แก้ไขใหม่ และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ได้มอบหมายให้ ปลัด อปท. เป็น “ผู้อำนวยการเลือกตั้งท้องถิ่น” (ผอ.กกต.ท้องถิ่น) เหมือนเดิม [15] มีข้อสังเกต ดังนี้

(1) นักการเมืองระดับชาติที่สอบตกจะมาสมัครเลือกตั้งด้วยในทุกระดับ คือ กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา อบจ. เทศบาลใหญ่ (ทน.,ทม.) เทศบาลเล็ก (ทต.) และ อบต. จำนวนปริมาณในระดับ อปท.ใหญ่น่าจะมีจำนวนผู้สมัครหน้าใหม่ที่มากกว่า อปท.เล็ก (2) หาก กกต.ไม่เข้ามาบริหารจัดการเลือกตั้งแต่ปล่อยหน้าที่ให้ ผอ.กกต.ท้องถิ่นดำเนินการเป็นเอกเทศเหมือนที่ผ่านมา คาดว่าปัญหาการร้องเรียนจะน้อยลง (3) การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้อาจมีปัญหาเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง เพราะไม่ได้เลือกตั้งนาน ประชาชนบางเขตอาจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเขตที่มีความเป็นเมืองที่มีการเคลื่อนย้ายประชากรเข้ามามาก (4) กลโกงระดับชาติจะนำมาใช้กับท้องถิ่นในระดับเทศบาล อบต. ด้วย เพราะนักการเมืองระดับชาติเข้ามากำกับการเลือกตั้ง (5) ข้อสรุปผลการเลือกตั้ง คาดว่านักการเมืองในพื้นที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 75 ยังคงรักษาพื้นที่ไว้ได้ กล่าวคือ อาจมีหน้าใหม่ได้ร้อยละ 25 เช่น อบจ. ร้อยละ 25 (6) การใช้เงินทุจริตจะมากขึ้น และการจับผู้กระทำผิดจะมากขึ้นยากขึ้น เป็นผลงานที่ท้าทายความสามารถของ “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” (ผตล.) [16] ใหม่ถอดด้ามที่แทบจะไม่มีผลงานในการเลือกตั้งระดับชาติเลย เพราะ ยังมือใหม่อยู่ จึงไปไม่เป็น (7) การฟ้องคดีอาจจะมากขึ้น ซับซ้อนขึ้น ผอ.กกต.ท้องถิ่นบางแห่งจะรับรองผลการเลือกตั้งล่าช้า เพราะเหตุเรื่องร้องเรียนที่วุ่นวายมากขึ้น (8) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ จะเข้ามาช่วยเหลือผู้สมัคร โดยเฉพาะ ส.ส.สอบตกอาจทำให้การทำงานเลือกตั้งวุ่นวายซับซ้อนขึ้นเป็นปัญหาแก่ ผอ.กกต.ท้องถิ่นหน้าใหม่ได้ (9) อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งนี้พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครฯ ตัวแทนลงแข่งขันกับเจ้าถิ่นเดิมด้วย โดยเฉพาะ กทม. เมืองพัทยา อบจ. ทน. ทม. หรือ เจ้าถิ่นเดิมอาจประกาศตัวสังกัดพรรคการเมืองก็ได้ แล้วเราจะได้เห็น “ตัวแทนผู้นำท้องถิ่นที่ชัดเจนขึ้น” และบรรดานักการเมืองสอบตกที่หอบเงินมาหาตำแหน่งอาจได้รับบทเรียนสอบตกอีกซ้ำสองซ้ำสาม การทำให้ประชาชนมีตัวเลือกที่ เพิ่มขึ้นถือเป็นสิ่งดี อบจ. อาจเปลี่ยนแปลงได้ (10) แต่ระดับเทศบาลเล็ก และ อบต. นักการเมืองระดับชาติยังยากที่จะเข้ามาได้ เพราะเด็กใหม่ในพื้นที่ไม่มีบารมี นอกจากนี้การเจอขาใหญ่เจ้าถิ่นที่แพ้ไม่ได้ เพราะหลักการใหม่ได้กำหนดคุณสมบัติผู้สมัครเพื่อกันหมาหลงลงไว้แล้ว เช่น ต้องมีภูมิลำเนาในพื้นที่ตามหลักฐานทะเบียนราษฎร 1 ปี (ต่อไปมีแนวคิดว่าผู้สมัครฯ ต้องมีชื่อในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 2 ปี) (11) มองในอีกมุมหนึ่ง การเปิดโอกาสให้พรรคการเมือง “ทางเลือกใหม่” (Alternatives) [17] โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เข้ามาลงสนามการเลือกตั้งท้องถิ่น เชื่อว่าจะทำให้ “การซื้อเสียง” (Vote Buying) [18] ยากขึ้น และน้อยลงบ้าง เพราะสังคมบ้านนอก สังคมชนบท เปิดกว้างมากขึ้น

ได้เวลาปรับเปลี่ยนโครงสร้าง อปท.ให้เหมือนกันได้หรือยัง

ที่จริงอยากจะใช้คำว่า “ได้เวลาเปลี่ยน (ยก) ฐานะ อบต. เป็นเทศบาลหรือยัง” เช่น การยกฐานะ อบต.ขนาดกลาง เป็นเทศบาล ซึ่งไม่น่าเกี่ยวกับการแยกพื้นที่ว่าเป็น “เขตเมือง” (Urban) หรือ “เขตชนบท” (Rural) แต่อย่างใด เพราะในต่างประเทศ “เทศบาล” (Municipality) [19] เป็นเพียงรูปแบบการบริหารงานเท่านั้น ในพื้นที่ชนบทก็สามารถเป็น “เทศบาลชนบท” ได้ และที่สำคัญ เมื่อครั้งที่มีการยกฐานะ “สภาตำบล” เป็น “องค์การบริหารส่วนตำบล” (อบต.) ตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ก็มิได้มีการแยกพื้นที่ชนบทหรือเมืองแต่อย่างใด แม้ อบต. ในเขตปริมณฑลและเมืองใหญ่หลายแห่ง มีรายได้เกินกว่า 80 ล้าน หรือ 200 ล้าน ก็ยังคงฐานะเป็น “อบต.” อยู่จนถึงทุกวันนี้ โดยไม่มีเหตุผลคำอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมยังเป็น อบต. อยู่

และเมื่อ อบต. ยกฐานะเป็นเทศบาลแล้ว จะเป็นเทศบาลประเภทใด  เพราะ โครงสร้างของเทศบาลมี 2 ประเภทคือ (1) เทศบาลประเภทสามัญ ได้แก่ ทต. หรือ ทม. (ประเภทสามัญ) และ ทม. (ประเภทสามัญระดับสูง รายได้กว่า 80 ล้านบาท) และ (2) เทศบาลประเภทพิเศษ ได้แก่ ทม. หรือ ทน. (ประเภทพิเศษ รายได้กว่า 200 ล้านบาท) และ ทน. (ประเภทพิเศษระดับสูง รายได้กว่า 1000 ล้านบาท) ตามหลักเกณฑ์ประกาศ ก.กลางที่กำหนด “ฐานะเทศบาล” ใหม่เกี่ยวกับโครงสร้างส่วนราชการและระดับตำแหน่งของข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2558 [20]  

มีข้อสังเกตว่าโครงสร้างการบริหารงานของ อปท. ทุกรูปแบบ เป็นแบบ “การบริหารในรูปแบบสภาที่นายกมีอำนาจมาก” (Strong Executive) [21] ทุกรูปแบบ แตกต่างกันเฉพาะจำนวนสมาชิกสภา และที่มีที่มาจาก “เขตเลือกตั้ง” และ ที่มาจาก “หมู่บ้าน” กล่าวคือ มีเพียง อบต. เท่านั้น ที่หมู่บ้าน และจำนวนหมู่บ้าน เป็นตัวกำหนด “จำนวนสมาชิกสภา” ฉะนั้นเมื่อพูดถึงการยกฐานะ อบต. หรือ การควบรวม อบต. เป็นรูปแบบ “เทศบาล” ก็หมายความว่า ต้องมีการกำหนดเขตเลือกตั้งที่ไม่อิงพื้นที่ขอบเขตของ “หมู่บ้าน” แต่อย่างใด  ดังนั้น การเปลี่ยนฐานะ อบต. เป็นเทศบาล เพื่อประโยชน์ในการ “ควบรวมหรือยุบรวม” อปท. เล็ก ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้มีขนาดที่เหมาะสมและการบริหารงานจัดการบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ แต่มันไม่ง่ายดังคิด เพราะ แม้จะแก้ไขปัญหางบบริหารบุคคลร้อยละ 40 ได้ แต่ศักดิ์ศรี ความไม่ยอมใครของผู้เสียประโยชน์จะมีความรู้สึกที่ต่อต้านทันที [22] ไม่ว่า ตัวข้าราชการส่วนท้องถิ่นเอง หรือ นายก หรือ สมาชิกสภา อปท.นั้นเอง

ฝากให้คิดก่อนแค่นี้ ยังมีประเด็นอื่นว่ากล่าวกันอีก

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine & Ong-art Saibutra, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 66 ฉบับที่ 36 วันเสาร์ที่ 25 - วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม 2562, บทความพิเศษ หน้า 9   

[2]รัฐบาลแห่งชาติ(National unity government) เป็นรัฐบาลผสมที่ประกอบด้วยพรรคการเมืองทุกพรรค (หรือพรรคการเมืองใหญ่ทุกพรรค) ในสภานิติบัญญัติ ซึ่งปกติตั้งในยามสงครามหรือภัยพิบัติของชาติอย่างอื่น : วิกิพีเดีย, https://th.wikipedia.org/wiki/รัฐบาลแห่งชาติ   

ดู รัฐบาลแห่งชาติ คือทางออกฉุกเฉินของชาติ ไม่ใช่ของพรรคการเมือง, โพสต์ทูเดย์, 15 เมษายน 2562, https://www.posttoday.com/world/586469

[3]นโยบายต่างประเทศและผลประโยชน์แห่งชาติ - นโยบายต่างประเทศของไทย โดยอาภิสรา, 24 กุมภาพันธ์  2559, http://nanapissara.blogspot.com/2016/02/blog-post_97.html

ผลประโยชน์แห่งชาติ(National Interest) คือสิ่งต่างๆ ที่รัฐต้องการ ปรารถนา และจำเป็น สิ่งเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในดินแดนของตนเอง แต่อยู่ ณ ดินแดนอื่น เช่น สินค้า การบริการ ทรัพยากรธรรมชาติ แร่ธาตุ วัตถุดิบ แรงงาน น้ำมัน พลังงานเทคโนโลยี ตลาดการค้า ตลาดการเงิน การลงทุนต่างประเทศ อาวุธ การช่วยเหลือต่างประเทศ หรือความมั่นคง ในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ รัฐทุกรัฐต้องคำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติเป็นเป้าหมายสำคัญและต้องทำให้บรรลุเป้าหมายนั้น

[4]พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, ประชาธิปไตยที่ห้ามกิน กับ ประชาธิปไตยที่กินได้, ประชาไท Prachatai, 11 เมษายน 2552, https://prachatai.com/journal/2009/04/20760

ยกตัวอย่างประชาธิปไตยสักสองแบบมาพิจารณากัน นั้นคือประชาธิปไตยที่ห้ามกิน กับประชาธิปไตยที่กินได้ หรือจะเรียกว่า ประชาธิปไตยในฐานะทรัพย์สิน (property)  กับ ประชาธิปไตยในฐานะทรัพยากร (resource)

ประชาธิปไตยที่ห้ามกินมักจะอ้างตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตยที่ใสสะอาด ปราศจากคอรัปชั่น เป็นประชาธิปไตยที่ “ห้ามกิน” เพราะประชาธิปไตยเป็นเสมือนทรัพย์สินของปัจเจกบุคคล หรือของชาติที่หมายถึงองค์รวมของบุคคลที่เอามาบวกกัน

ประชาธิปไตยเช่นนี้เชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นทรัพย์สิน ที่ต้องการความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในการบริหารและใช้งาน ศัตรูของประชาธิปไตยแบบนี้มีสองแบบ คือ ทรราชที่เข้ามาพรากทรัพย์สินหรือประชาธิปไตยของพวกเขาไป และ ประชาชนจำนวนมากที่ใช้ทรัพย์สินไม่เป็น เช่นเอาไปขาย(ขายสิทธิขายเสียง)

ประชาธิปไตยที่กินได้นั้น ไม่จำเป็นต้องแปลว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงกว่าแบบห้ามกิน แต่หมายถึงประชาธิปไตยที่เป็น (ฐาน)ทรัพยากร เหมือนกับดิน น้ำ ป่า อากาศ ที่ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าใครให้มา มาเมื่อไหร่ และเป็นของคนใดคนหนึ่ง (รู้และไม่รู้ว่ามีที่มาอย่างไร หรือรู้ประวัติศาสตร์อย่างถ่องแท้ ไม่มีผลต่อการปกป้องหรือเรียกร้องสิ่งเหล่านี้)

ประชาธิปไตยที่กินได้ตามความเข้าใจเช่นนี้เป็นที่มาของการทำให้เกิดความเป็นไปได้ในการทำมาหากินสืบเนื่องต่อไป เหมือนกับการมีที่ดิน มีน้ำที่จะเพาะปลูก ทำให้ชีวิตงอกเงย

ประชาธิปไตยในแง่นี้อาจไม่ใช่สิทธิและเสรีภาพของคนใดคนหนึ่ง แต่อาจหมายถึงการเข้าถึงอำนาจของคนทั้งชุมชน ทั้งหมู่บ้าน   

[5]“ประชาสังคม” หรือ civil society มีลักษณะเป็นพลวัตซึ่งรวมความหมายถึงขบวนการทางสังคม หรือหมายถึงความเป็นพลเมืองในแง่ที่เป็นพลวัตของความเป็นประชาชนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพิจารณา ตรวจสอบ ทบทวน และกำหนดนิยามใหม่ของสิทธิและหน้าที่ของประชาชน บางครั้ง ประชาสังคมใช้คำว่า “ภาคที่ 3” (third sector) แทน ซึ่งหมายถึง ภาคที่ไม่ใช่รัฐบาลและธุรกิจ หากแต่เป็นภาคอิสระ (independent sector) หรือภาคประชาชน”, อ้างอิง : หนังสือพจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา อังกฤษ–ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  

สรุป ประชาสังคม หรือ Civil Society เป็นแนวคิดที่มีเป้าหมายเพื่อการมีสังคมและชุมชนที่เข้มแข็ง ด้วยเป็นแนวคิดที่กว้าง จึงมีผู้ให้คำนิยามไว้หลากหลาย โดยทั่วไปประชาสังคม หมายถึง พื้นที่หรือส่วนของสังคมที่มีประชาชนเป็นผู้แสดงบทบาทหลัก พื้นที่ดังกล่าวจึงไม่ใช่ภาครัฐ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยมีกฎหมายรองรับ และภาคธุรกิจเอกชนที่เน้น ..., อ้างอิง : ประชาสังคม - วิกิพีเดีย

[6]“ประชารัฐ” ตามความหมายแบบกว้าง หมายถึง ประเทศหรือรัฐของประชาชน “ประชารัฐ” ตามความหมายอย่างกระชับ ชัดเจนสำหรับการขับเคลื่อนประเทศในปัจจุบัน หมายถึง การที่ประชาชน รัฐ และเอกชน ร่วมมือกันในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตามที่รัฐบาลประกาศเจตนารมณ์ รณรงค์ประชาสัมพันธ์ “สานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก”, อ้างอิง : เครือข่ายประชารัฐ

ดู กรมการพัฒนาชุมชน, ประชารัฐ, www.cdd.go.th/wp-content/uploads/sites/110/2017/05/คู่มือการดำเนินงาน.docx   

[7]ดู What is Localization,Localization (L10N) Engineering & CAT Tool,14 สิงหาคม 2556, http://l10nengineering.blogspot.com/

Localization เป็นความหมายที่จะตรงข้ามกับคำว่า Globalization หรือโลกาภิวัตน์ โดยที่ Globalization มีหลักการที่จะต้องทำให้แพร่กระจายออกไปให้ทั่วโลก ยกตัวอย่าง เรามีบริษัทขายสินค้าที่อยากจะขยายการขายไปทั่วโลก บริษัทก็จะต้องทำ Globalization ส่วน  Localization มีหลักการตรงข้ามกันคือ การลงสู่ระดับท้องถิ่น

& ธวัชชัย สีมาพล, กลยุทธ์การบริหารแบบLocalization,15 สิงหาคม 2554, https://www.gotoknow.org/posts/453919

Localization ไปใช้ ปัจจุบันบริษัทจำเป็นต้องแข่งขันกับคู่แข่งในระดับชาติที่มีความเป็น Globalization หากแต่จำเป็นต้องสร้างความแตกต่าง การนำ Localization นับเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่นำมาใช้ได้เพื่อสร้างความแตกต่างและเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันได้   

[8]ในเนื้อหาการกระจายอำนาจมีสองอย่าง สองระดับ คือ (1) ระดับ decentralization ก็แค่ “อปท.” (Local Unit) หรือเรียกว่า “local government” ก็พอ ส่วนอีกระดับหนึ่ง คือ (2) ระดับ “self-autonomous region” หรือเรียกว่า “local self-government” ของไทยแบบหลังนี้ยังไม่จำเป็น หรือ หากจะมีก็เพียง “การปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ” ที่เรียกว่า “เขตพิเศษ” หรือ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” (Special Zone or Economic Zone) เท่านั้น ที่กำลังจะทำอยู่ในเขตเศรษฐกิจและชายแดน เพราะ ไทยเป็นรัฐเดี่ยว (Unitary State) ที่สังคมประเทศไม่ใช่สังคมพหุ (Pluralism) ที่มีความแตกต่างกันมากๆในกลุ่มคนกลุ่มสังคมกลุ่มเชื้อชาติมาก ๆ ประเภทร้อยพ่อพันแม่ เช่น อเมริกา จีน อินเดีย เป็นต้น แต่ประเทศไทยไม่ใช่   

[9]เฉลิมชัย โชติสุทธิ์, เงินผัน, ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า, http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=เงินผัน

ผันเงินใน 2 มาตรการคือ (1) การผันเงินผ่านธนาคาร เป็นการใช้มาตรการทางด้านการเงิน และ (2) การจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาชนบทหรือการผันงบประมาณ เป็นการใช้มาตรการทางด้านการคลังของรัฐบาล  

[10]การสร้างงานตามโครงการสร้างงานในชนบท (กสช.)โดยสานต่อจากนโยบายเงินผันที่ดำเนินการมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผลงานสำคัญชิ้นหนึ่ง ของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 16 ดำรงตำแหน่ง 3 มีนาคม 2523 – 4 สิงหาคม 2531, อ้างอิง : วิกิพีเดีย  

[11]ภูมิปัญญาท้องถิ่น(local wisdom ) หรือภูมิปัญญาชาวบ้าน หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ชาวบ้านคิดขึ้นได้เองและนำมาใช้ในการแก้ปัญหา เป็นเทคนิควิธีเป็นองค์ความรู้ของชาวบ้าน ทั้งทางกว้างและทางลึกที่ชาวบ้านคิดเอง ทำเอง โดยอาศัยศักยภาพที่มีอยู่แก้ปัญหาการดำเนินชีวิตในท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสมกับยุคสมัยความเหมือนกันของภูมิปัญญาไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ เป็นองค์ความรู้ และเทคนิคที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ ซึ่งได้สืบทอดและเชื่อมโยงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

[12]“จ๊อย” เป็นการขับลำนำอย่างหนึ่งของภาคเหนือ เป็นถ้อยคำที่กล่าวออกมาโดยมีสัมผัสคล้องจองกันเป็นภาษาพื้นเมือง ออกเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ เป็นทำนองเสนาะ ฟังแล้วจะเกิดความไพเราะ สนุกสนานไปตามท่วงทำนอง

ดู เพลงร้องพื้นบ้าน ค่าว จ๊อย ซอ(จังหวัดเชียงราย), ศิลปะการแสดง - มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม, ผู้เก็บข้อมูล, นางสาวจิตติมา วงศาลาภ และ นางสาววรประภา พินิจสุวรรณ, โครงการภูมิบ้านภูมิเมือง สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2548, http://ich.culture.go.th/index.php/th/ich/performing-arts/236-performance/335-----m-s 

ค่าว จ๊อย ซอ จัดเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านล้านนา เป็นที่นิยมแพร่หลายในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบน  

[13]“ค่าว” หมายถึง คำประพันธ์ที่มีลักษณะร้อยสัมผัสสอดเกี่ยวกันไป(แบบร่าย) และจบลงด้วยโคลงสองหรือโคลงสามสุภาพ มีหลายชนิด คือเรื่องที่ปรากฏในเทศนาธรรมเรียกว่า “ค่าวธรรม” ถ้าแต่งเป็นจดหมายรักเรียกว่า”ค่าวใช้” ถ้านำไปอ่านเป็นทำนองเสนาะเรียกว่า “ค่าวซอ” หรือ “เล่าค่าว” และหากเป็นการขับลำนำตอนไปแอ่วสาว เรียกว่า “จ๊อย”

ดู เพลงร้องพื้นบ้าน ค่าว จ๊อย ซอ, อ้างแล้ว  

[14]อริญญา เถลิงศรี, Disruption: ทำลายล้างหรือสร้างโอกาส?, ThaiPublica, 19 มิถุนายน 2561, https://thaipublica.org/2018/06/seac-disruption/

คำว่า disruption และ transformation ในยุคนี้อาจมีความหมายไม่ต่างจาก do or die หรือที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่า Disrupt or Be disrupted ซึ่งพอสื่อความหมายได้ว่าถ้าไม่เริ่มวันนี้ก็อาจไม่มีวันหน้า และที่สำคัญ การเปลี่ยนแปลงในยุคนี้จะไม่ใช่เพียงแค่การขยับเล็กๆ แบบที่เราทำกันอยู่ทั่วไป แต่ต้องขยับให้แรงและเร็ว เพื่อก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนไปของสภาพแวดล้อม หรือที่เรียกว่าการสร้างให้เกิด breakthrough innovation นั่นเอง

[15]พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 29 ก วันที่ 16 เมษายน 2562 หน้า 258-313, www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/050/T_0258.PDF

ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ หัวหน้าพนักงานส่วนท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (หมายถึงปลัด อปท.)

ดู  มาตรา 25เมื่อมีกรณีที่ต้องมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ให้หัวหน้าพนักงานส่วนท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

(1) รับสมัครเลือกตั้ง

(2) กำหนดหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้ง

(3) แต่งตั้งและจัดอบรมเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง

(4) ตรวจสอบบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และดำเนินการเพิ่มชื่อหรือถอนชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

(5) ดำเนินการเกี่ยวกับการลงคะแนนเลือกตั้ง การนับคะแนนเลือกตั้ง และการประกาศผลการนับคะแนนเลือกตั้ง

(6) ดำเนินการอื่นอันจำเป็นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

การดำเนินการตาม (2) (3) และ (4) ให้เป็นไปโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ในกรณีที่ปรากฏว่าหัวหน้าพนักงานส่วนท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่าอาจก่อให้เกิดความไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง หรือมีเหตุจำเป็นอื่นใด คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจแต่งตั้งปลัดจังหวัด นายอำเภอหรือปลัดอำเภอ เป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นแทนก็ได้

เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสาม ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจแต่งตั้งหรือมอบหมายให้บุคคลหรือคณะบุคคลเป็นผู้ช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่ได้

การดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสี่ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดำเนินการเลือกตั้งมีหน้าที่จัดหาวัสดุอุปกรณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งและสนับสนุนการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้  

[16]ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยผู้ตรวจการเลือกตั้ง พ.ศ. 2561, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 29 ก วันที่ 26 เมษายน 2561 หน้า 34-48, https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20180430155754.pdf

& พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนที่ 93 ก วันที่ 13 กันยายน 2560 หน้า 1-31, www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/093/1.PDF

มาตรา 28ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือการเลือกสมาชิกวุฒิสภาแต่ละครั้ง ให้คณะกรรมการจัดให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งขึ้น เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละจังหวัดในระหว่างเวลาที่มีการดำเนินการเลือกตั้ง เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือกตั้ง และการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือการกระทำใดที่จะเป็นเหตุทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายแล้วรายงานให้คณะกรรมการหรือกรรมการทราบเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป ในกรณีที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งมีอำนาจแจ้งเตือนให้ปฏิบัติให้ถูกต้องได้ ถ้าไม่มีการดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องให้รายงานให้คณะกรรมการหรือกรรมการทราบโดยเร็ว ในการนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดมีหน้าที่สนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของผู้ตรวจการเลือกตั้งด้วย

...  

[17]Alternativesในความหมายคือพรรคการเมืองใหม่ที่เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ (มิได้หมายความถึงชื่อพรรค "ทางเลือกใหม่" แต่อย่างใด) ดู รู้จักพรรคทางเลือก, iLaw.or.th, 5 มีนาคม 2562, https://ilaw.or.th/node/5194   

[18]การซื้อสิทธิขายเสียงหมายถึง พฤติกรรมการทุจริตเลือกตั้งโดยใช้เงินแลกเปลี่ยนกับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งซื้อเสียง หรือการเสนอสิ่งตอบแทนในรูปผลประโยชน์หรือทรัพย์สินต่างๆ หรืออาจเป็นการสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินสิ่งตอบแทนแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้ลงคะแนนหรืองดเว้นการลงคะแนนแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดหรือพรรคการเมืองใดในเขตเลือกตั้งนั้น, อ้างอิง : ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า

ดู วิชัย โถสุวรรณจินดา, การซื้อเสียงในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในประเทศไทย, KASEM BUNDIT, 2558, https://www.tci-thaijo.org/index.php/jkbu/article/view/34669

ได้ข้อสรุปว่าการซื้อเสียงในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภามีอยู่จริง ปัจจัยที่ทำให้เกิดการซื้อเสียง คือ ประชาชนยังขาดจิตสำนึกในการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย เขตเลือกตั้งใหญ่ ทำให้ผู้สมัครต้องอาศัยหัวคะแนนที่เป็นผู้มีอิทธิพลในท้องที่มาช่วยในการหาเสียง นอกจากนี้กระบวนการสอบสวนผู้กระทำผิดล่าช้า และมักขาดหลักฐานที่จะเอาผิดต่อผู้ซื้อเสียงได้ ทำให้ผู้ซื้อเสียงไม่เกรงกลัว ส่วนปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญ ได้แก่เจ้าหน้าที่เองยังขาดทักษะในการสืบสวนข้อเท็จจริงเพื่อเอาผิดผู้ซื้อเสียง  และขาดความร่วมมือจากประชาชนที่รู้เห็นกับการซื้อเสียง    

[19]ชำนาญ จันทร์เรือง, การปกครองครองท้องถิ่นในต่างประเทศ, https://pubadm.crru.ac.th/pub_web/pubfile/toky/การปกครองท้องถิ่นในต่างประเทศ.pdf   

คำว่าเทศบาล หมายถึง municipality ในระบบแองโกล-แซกซอน (Anglo-Saxon System), Commune ในระบบ Continental System ในประเทศฝรั่งเศส หรือ เมืองท้องถิ่น (Cities/Towns) และชุมชนท้องถิ่น (Commune) ในประเทศเยอรมัน

[20]หนังสือสำนักงาน ก.จ. ก.ท. และ ก.อบต. ที่ มท 0809.2/ว136 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2558 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับโครงสร้างส่วนราชการและระดับตำแหน่งของข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2558, http://www.thongthinlaws.com/p/08092136-29-2558-2558.html   

[21]แนวคิดรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการแยกฝ่ายสภากับฝ่ายบริหาร (Council-Executive Form) โดยฝ่ายบริหารหรือนายกฯ มิได้มาจากฝ่ายสภา กล่าวคือ มีการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน เรียก “ฝ่ายบริหารท้องถิ่นเข้มแข็ง” (Strong Executive or the Strong Mayor Form)  

[22]การเปลี่ยนแปลงฐานะ อบต. เป็นเทศบาล เช่น อบต.ขนาดกลาง ยกฐานะเป็นเทศบาลสามัญพิเศษ จะกระทบกับกรอบตำแหน่ง ผอ.กอง ระดับต้น ที่อาจถูกปรับเป็นระดับกลางโดยอัตโนมัติ หรือ จำนวนสมาชิกสภาก็จะมีจำนวนที่ลดน้อยลง เป็นเขตเลือกตั้งที่ไม่ยึดเขตพื้นที่หมู่บ้าน เป็นต้น



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท