ความย้อนแย้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


ความย้อนแย้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

26 เมษายน 2562
 

ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

โครงสร้างการปกครองท้องถิ่นถูกออกแบบมาเพื่อนำความย้อนแย้งต่าง ๆ มารวม ๆ กัน ได้หมดแต่ไม่มีความลงตัว ลองมาดูความย้อนแย้งต่าง ๆ ของท้องถิ่นกัน และร้อน ๆ โซเซียลมีเดียเป็นสนามรบของสองฝ่าย ที่รัฐไม่ควรยกระดับความขัดแย้งให้ร้าวฉานมากขึ้น [2]นี่กำลังจะว่ากันถึงเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือที่เรียกว่า “การเลือกตั้งเล็ก” [3]ที่กำลังจะตามมาในอีกไม่ช้า

ประชาชนไซเบอร์

ในยุคโลกซื่อสารออนไลน์มันช่างทันใจจริง ๆ โลกไซเบอร์ไปไกลมาก ข้อมูลข่าวสารไหลถึงกันหมด ใครทำอะไรไว้ ก็ไปขุดคุ้ยมาสาธยาย แล้วจะนำมาเสนอไม่ครบถ้วน บิดเบือน ก็ยังมีคนเชื่อไวมาก กลายเป็นจำเลยของโลกออนไลน์บัดดล ยิ่งความเป็นนักการเมืองด้วยแล้วถือเป็นจุดอ่อนในการดิสเครดิตกันง่ายมาก

เช่น คำว่า “ซ้ายจัดอย่าดัดจริต” “ซ้ายตกขอบ” “ขวาตกขอบ” [4]กลายเป็นวาทกรรมทางการเมืองขึ้นมาทันที ที่ก่อนหน้านั้นก็มีคำว่า “ประชาธิปไตยสุจริต” [5]เป็นการต่อสู้กันทางความคิดของคนสองรุ่น สองโลก สองกรอบ เหมือนกับจะเสี้ยมให้คนไม่ถูกกัน ก่อนหน้านั้นก็ขัดแย้งแยกกันด้วย “อีลีทเก่ากับอีลีทใหม่” [6]“สองนคราประชาธิปไตย” [7] (การขัดแย้งระหว่างคนชนบทบ้านนอกที่ตั้งรัฐบาลกับคนชั้นกลางในเมืองที่ล้มรัฐบาล) “สื่อมวลชนไม่เป็นกลาง” “สื่อปลุกระดมให้คนขัดแย้งกัน” [8]“นักวิชาการไม่เป็นกลาง” “อำมาตย์และไพร่” “เสื้อเหลืองกับเสื้อแดง” [9](กลุ่มพันธมิตร กลุ่ม กปปส. กับกลุ่ม นปช.) มาวันนี้กำลังจะแยกกันด้วย “กลุ่มประชาธิปไตยกับกลุ่มสืบทอดอำนาจ” หรือ “เผด็จการ” และแบ่งด้วย “อายุ” ด้วยรุ่น (Generation) ระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ลึก ๆ มีความเห็นต่างระหว่างฝ่ายที่เรียกตนเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” กับ “ฝ่ายที่ถูกเรียกว่า “ฝ่ายต้องการสืบทอดอำนาจ” ซึ่งเป็นฝ่ายความมั่นคง ขอยกตัวอย่างเรื่องการเกณฑ์ทหาร ลึกๆ ประชาชนคงไม่ปฏิเสธการคัดเลือกทหาร แต่ในเรื่องระบบส่วนหนึ่งรับไม่ได้ในพลทหารรับใช้ การได้รับความเชื่อถือศรัทธาจากประชาชนมากๆ ถือเป็นความชอบธรรมที่ทหารไม่ต้องไปสรรหาจากที่ใดอีก ย่อมทำให้คนอยากมาเป็นทหารมากขึ้น เป็นต้น  นี่กำลังชี้ถึงสังคมระดับชาติที่ในโลกยุคไซเบอร์ในท้องถิ่นก็เฉกเช่นเดียวกัน เหมือนกันไม่มีผิด

สร้างดาวกันคนละดวง จุดยืนคนละทาง

เหตุการณ์ต่อรองทางการเมืองเป็นแบบ “สร้างดาวกันคนละดวง” จุดยืนคนละทาง สังคมไม่มีอะไรที่ดีขึ้น มีแต่ความแตกแยก วางระเบิด หาจุดแตกหัก โดยมีประชาชนเป็นตัวสังเวย เอาเป็นว่ามีสองดวง (1) ดาวดวงแรก คือ ฝ่ายรัฐที่บอกว่าตนเองมีความชอบธรรมตามกฎหมายที่จะสืบต่ออำนาจ (2) ดาวดวงที่สอง คือฝ่ายแนวร่วมประชาธิปไตย ปิดล็อก ส.ว.สรรหา และหาทางตั้งรัฐบาลที่ชอบธรรมโดยมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ และกลุ่ม Gen C or The C Generation [10] ที่มีพฤติกรรมเสพติดโซเชียลการเชื่อมต่อและแชร์ได้ทุกเมื่อ (Digital Lifestyle) ทั้งสองฝ่าย ต่างฝ่ายต่างมีพวก มีข้างที่มีเป้าหมายปลายทาง ในการเลือกนายก คอยปะทะกัน หากเจอทางตัน จะลงท้ายที่ความรุนแรง นี่ก็เช่นกัน หากเปรียบระดับ “ท้องถิ่น” กับระดับชาติก็เช่นกัน ต่างฝ่ายต่างสร้างดาว

สังคมภิวัตน์ของคนรุ่นใหม่

เป็นสังคมที่ไม่มีใครผิดใครถูก การแจกเงิน ซื้อเสียงเลือกตั้งยังมีอยู่ ยิ่งท้องถิ่นยิ่งมีมาก เพราะ (1) เงินไม่ใช่ของผิด กฎหมาย โดยสภาพ (2) การให้เงินใครก็ไม่ผิด กฎหมาย การซื้อ เลือกซื้อได้ สมยอมทั้งสองฝ่าย เหตุการณ์เช่นนี้ ไม่ได้เกิดในเมืองใหญ่ ใน กทม. หรือ ทน. ทม. จะเกิดในท้องที่ที่คุยกันได้ (3) เพราะสังคมไทยเป็นสังคมขยาย (Extended Family) [11] ที่อยู่ด้วยกันแบบครอบครัวใหญ่มีความเป็นพี่เป็นน้องเป็นเพื่อนบ้านกันและกัน มีความเป็นปัจเจกบุคคล (Individualism) ที่จำกัด (น้อย) บวกกับระบบสังคมเชิงอุปถัมภ์ (Patron-Client System) [12] ที่เข้มแข็ง เป็นปัจจัยส่งเสริมให้มีการซื้อเสียงที่ไม่อาจขาดหายไปได้ (4) พื้นฐานของกฎหมายไทยที่ไม่มีใครเด็ดขาด กฎหมาย ไม่มีคนเคร่งครัด ทั้งเจ้าหน้าที่ และชาวบ้าน หรือ ผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย (Lack of Law compliance and Law enforcement) [13]

ตำนานเล่าขานว่าด้วยทฤษฎีการปกครอง

มีนิทานคนระดับเจ้านายสองคนคุยกัน คนหนึ่งเป็นนายทหารพูดว่า “ข้าราชการโง่ไม่เป็น ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงไม่ได้” นัยยะคือ ต้องตามหลังนาย รับใช้นาย ที่หมายถึงธรรมเนียมสายทหารที่ถือปฏิบัติ อีกคนหนึ่งเป็นฝ่ายปกครองพูดว่า “อย่าให้ชาวบ้านรู้เท่าทัน มันจะปกครองยาก” นิทานเรื่องนี้มันสื่อถึงว่า การให้ราษฎรยินยอมในระบบเจ้าขุนมูลนายเพื่อให้การเข้าหาผู้ปกครองต้องนอบน้อมถ่อมตนเท่านั้น แม้ไม่ถึงขนาดหมอบกราบแบบยุคไพร่ทาสก็ตาม แต่เป็นการแสดงออกแบบการยกย่อง ไม่ตีตนเสมอ หรือ มีของฝากติดไม้ติดมือเพื่อแสดงคารวะ เป็นต้น

แบบนักปกครองแบบทหารที่คล้ายกันก็คือ การแยกปลาแยกน้ำ การกดให้ต่ำกว่าผู้ปกครอง ผู้ใต้ปกครองต้องโง่เป็น เหล่านี้สะท้อนออกมาในรูปของ การเออออ ตามหลังนาย ขุนพลอยพยัก มิสเตอร์เยสใช่ครับนายได้ครับผมเหมาะสมครับท่าน ฯลฯ เพื่อโอกาสความก้าวหน้าไต่เต้าข้างหน้า แต่โอกาสความก้าวหน้าเช่นนี้ กลับไม่มีในท้องถิ่นอันเป็นเรื่องปกติวิสัยของ “ข้าราชการ” ยกตัวอย่างของเก่าสมัยก่อนเช่น เจ้าหน้าที่สุขาภิบาล บรรจุงานตั้งนาน ไม่มีโอกาสเติบโต เป็นเพียงผู้รับใช้ฝ่ายปกครอง (ปลัดอำเภอ) คนแล้วคนเล่าที่เติบโตไปเป็น นายอำเภอ ผู้ว่าฯ ในขณะที่ตนเองครองตำแหน่งเดิมในกรอบไม่เคยเลื่อนไหลได้ แม้ภายหลังมีการยกฐานะสุขาภิบาลเป็นเทศบาลก็ยังเหมือนเดิม มีบุคลากรอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ลูกจ้างชั่วคราวตลอดกาล (ปัจจุบันคือพนักงานจ้างทั่วไป) ได้แก่ คนงานกวาดถนน คนงานรถขยะ พนักงานดับเพลิง ฯลฯ พอยกฐานะเป็นเทศบาล [14]หลายคนได้รับการปูนบำเหน็จจากเจ้านายให้เป็น “ลูกจ้างประจำ” แบบตลอดกาล แต่มีข้อจำกัดในกรอบตำแหน่งที่มีเฉพาะบางตำแหน่งและจำนวนน้อย เท่ากับเจ้านายสร้างบารมีอานิสงค์ส่งท้ายให้ลูกน้องได้คิดถึงกัน หรือ หากมองอีกมุมกลับเป็นการแทงกั๊ก สร้างภาระ ผูกพันให้แก่เทศบาลใหม่ในด้านงบประมาณและเงื่อนไขบางอย่าง แต่คนที่อยู่ในเทศบาลมาก่อนแต่เดิมอาจได้มองเช่นนั้น เพราะมีกลไกการพัฒนาคนในองค์กรเทศบาลที่ดีมาก่อนคนที่มาจากสุขาภิบาล ที่ต่างรู้ต่างสัมผัสบรรยากาศการทำงานที่แปลกแหวกแนวมาก่อน หลายคนที่พัฒนาขวนขวายสามารถเติบโตเป็นระดับหัวหน้าหน่วยงาน อปท.ก็มาก

บรรยากาศห้วงการทำงานของท้องถิ่น “เกาเหลา” หรือ “กระดี๊กระด๊า”

ลองแยกแยะตามการเลือกตั้งท้องถิ่นท้องถิ่นในแต่ละครั้งแบบมีนัยยะสำคัญ ได้ประมาณ 7 ห้วง ได้แก่ (1) ห้วงก่อนการประกาศให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น โดย คสช. หรือ โดยรัฐบาล (2) ห้วงหลังจากที่มีการประกาศให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นแล้วไปจนถึงห้วงก่อนวันเลือกตั้ง 3 วัน (3) ห้วงก่อนเลือกตั้ง 3 วันถึงเวลา 18.00 น.ก่อนวันเลือกตั้ง (4) ห้วงเหตุการณ์ในเวลา 18.00 น.วันก่อนเลือกตั้ง และในวันเลือกตั้งจนถึง 24.00 น. (5) ห้วงเวลาหลังเลือกตั้งเสร็จแล้ว คือ ห้วง ก่อนการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง (6) ห้วงเวลาหลังจากการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งแล้วจนถึงวันเข้ามาทำงานของนายกฯ หรือ วันเปิดสภาฯ ครั้งแรก (7) ห้วงเวลาหลังจากเปิดสภาครั้งแรก และ นายกฯ แถลงนโยบายต่อสภาแล้ว ซึ่งเป็นห้วงการทำงานของนายก ของสภา และ ของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในระยะเวลาเริ่มแรก

ซึ่งในส่วนของข้าราชการส่วนท้องถิ่นนั้น หลายคนอยู่ในภาวะ “เกาเหลา” หาที่ย้าย อยู่ไม่สุข ถูกจับผิด ไม่เจริญก้าวหน้า ถูกแกล้งให้หาที่ย้ายใหม่ แต่ในทางกลับกัน “สมุนรับใช้” หรือ “เด็กนาย” หรือ “เด็กในอุปถัมภ์” พวกญาติพี่น้อง ลูกหลาน เมียน้อย กิ๊ก เด็กฝาก เด็กสมุนรับใช้ ฯลฯ กลับ “ผงาด” เช่น ลูกจ้าง พนักงานจ้างเด็กเส้นผงาด ข้าราชการท้องถิ่นเด็กนายได้ดี กระดี๊กระด๊า ปลาได้น้ำ เจริญเติบโตก้าวหน้า แต่พวกนี้จะ “เสี่ยง” มากต่อการกระทำผิดระเบียบกฎหมาย ทั้งปวง เพราะ (1) นายก พาทำ พาเสี่ยงโชค เสี่ยงดวงว่าจะรอดหรือไม่รอด โดยมีผลประโยชน์ และ ผลประโยชน์ทับซ้อนหลอกล่อ รวมถึงตำแหน่งหน้าที่ล่อด้วย เช่น การปรับกรอบ ตำแหน่ง การให้เลื่อนชั้น เลื่อนตำแหน่งฯ เป็นต้น (2) เสนอหน้าทำให้เจ้านาย หรือ “ชะเลีย” โดยมีเหตุผลเรื่องความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่เป็นหลัก หรือ อาจมีผลประโยชน์หลอกล่อ เพราะ ข้าราชการท้องถิ่นมีภาระหนี้สินเยอะ ต้องมีการเรียกทุนหรือถอนทุนคืน เป็นต้น ซึ่งพฤติการณ์จาก 2 เหตุดังกล่าว ตกเป็นเหยื่อกันโอชะของอีกฝ่ายอย่างเลี่ยงไม่ได้ คือ (1) ฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายแค้น คู่กัด เพราะ มีตัวอย่างมากมาย ที่ร้องกันจึงมีคดีถึงคุกตะรางกันเลย พาเจ้าหน้าที่เดือดร้อนถูกหางเลขไปด้วย บางราย เคราะห์หนักถูกละเมิดชดใช้เงินเป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้าน หรือถูกดำเนินคดีอาญา ที่ปัจจุบันจะเป็นศาลอาญาทุจริตฯภาค (ศาล อท.) วินัยถูก ไล่ออก ปลดออก หลายราย ข่าวล่าสุด ปปช. กำลังดำเนินการไต่สวนชี้มูลบุคลากรท้องถิ่นอยู่ทั้งหมดกว่า 7 พันคน [15] แม้บางรายเจ้าหน้าที่อาจเพียงถูกดำเนินการทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง แต่ก็ไม่สนุก (2) ฝ่ายชาวบ้านนักร้อง นักตรวจสอบ (3) ฝ่ายนักการเมืองตรงข้าม รวมฝ่ายผู้รับเหมา นายทุนตรงข้ามที่จ้องมาทำงานโครงการฯ (4) ฝ่ายผู้กำกับดูแล คือ นายอำเภอ ผู้ว่าฯ อาจรวมถึง สถ. มท. ด้วย หากเป็นอีกฝ่ายที่ตรงข้าม (5) ฝ่ายตรวจสอบเอาผิดกฎหมาย คือ สตง. ปปช. ปปท.

ท้องถิ่นมีปรากฏการณ์งูกินหาง “Catch – 22”

ปัญหาความเป็นจริงในระดับ “ท้องถิ่น” ที่คนมีอำนาจมองข้ามในสิ่งที่สังคมและนักวิชาการยอมรับแต่เมื่อใดมีความผิดพลาดมักหาทางออกโดยโยนบาปให้แก่ฝ่ายตรงข้าม (แพะ) โดยมิได้มีข้อยุติ หากเป็นเช่นนี้ปัญหาก็แก้ไม่จบ ซ้ำยังจะมีปัญหาใหม่เกิดซ้ำขึ้นมาอีกไม่รู้จบเป็นงูกินหาง และไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดจะทำอะไรก็ซวยได้ ดังเช่นสำนวนอเมริกันว่า “Catch – 22” [16] (แคทช ทะเวนตี้ ทู) ซ้ำร้ายปัญหาต่าง ๆ ที่หมักหมมทับถมพอกพูนอาจถึงทางตัน (Impasse) ได้ เพราะต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกันและกัน เช่นที่เกิดในสังคมระดับชาติในกระแสรัฐบาลแห่งชาติ (national unity government idea) เป็นสถานการณ์ของทางตันทางการเมืองอย่างหนึ่ง ที่มีข่าวการอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 [17] เปิดช่องตั้งรัฐบาลปรองดองนายกฯ คนนอกเพื่อให้ทุกฝ่ายให้ละทิฐิ ละผลประโยชน์ส่วนตน ไม่ทับถมใส่ร้ายผู้อ่าน หาดีใส่ตัว ฯลฯ เป็นความพยายามหาเหตุและช่องว่างทางกฎหมายเพื่อโต้ตอบและแสวงหาประโยชน์ให้แก่กลุ่มและแนวร่วมฝ่ายตน สังคมเราเหนื่อยหน่ายสูญเสียเวลาและโอกาสจนมิอาจคำนวณราคาได้มานักต่อนัก ประเทศนี้ไม่มีใครยอมใครนั่นแหละตัวปัญหา ซึ่งท้องถิ่นมีปัญหาทางตันเกิดขึ้นบ่อย ไม่ยิ่งหย่อนกว่าในระดับชาติเลย

ข้าราชการท้องถิ่นยุค 4.0 หมูไม่กลัวน้ำร้อน

จากสถานการณ์ความมั่วของท้องถิ่นในหลายประการดังกล่าว ทำให้คนท้องถิ่นเกิดอาการดื้อยา มึน หมูไม่กลัวน้ำร้อน อันเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ ว่ากันว่าในส่วนของข้าราชการส่วนท้องถิ่นนั้นต้องพยายามปรับตัวอย่างสูง เพื่อให้อยู่รอดในสภาพการบริหารที่ไม่แน่นอน มีหรือจะเกรงกลัวต่อสิ่งเหล่านี้ (1) ความรับผิดทางละเมิด (2) ความรับผิดทางแพ่งของข้าราชการ (3) คดีอาญาทุจริตต่อหน้าที่ราชการ (4) ประโยชน์ส่วนตนขัดต่อประโยชน์ส่วนรวมในหน้าที่ราชการ (5) วินัยข้าราชการ (6) จริยธรรมข้าราชการ (7) วินัยการเงินการคลังข้าราชการ (8) กระแสโซเชียลร้องเรียนข้าราชการ (9) มาตรา 44 เกี่ยวกับข้าราชการ (10) รัฐไม่มีเงินเดือนจ่ายข้าราชการ [18]

ท่านพอจะเข้าใจหัวอกคนท้องถิ่นบ้างหรือยัง

 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine & Ong-art Saibutra, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 66 ฉบับที่ 32 วันเสาร์ที่ 27 เมษายน - วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม 2562, บทความพิเศษ หน้า 10

[2]โซเชียลมีเดีย เปลี่ยนรูปแบบสงครามภูมิรัฐศาสตร์และการสงครามของโลกถูกพลิกโฉมโดยสื่อสังคมออนไลน์ไปแล้วเรียบร้อย จากเดิมย้อนกลับไปไม่กี่สิบปี การก่อการร้ายทำได้ยากกว่านี้เนื่องจากต้องมีการจัดตั้งองค์กร มีโครงสร้าง มีศูนย์บัญชาการ มีการระดมพล มีการฝึกฝน แต่พอโซเชียลมีเดียเกิดขึ้น การเผยแพร่แนวความคิดถูกส่งผ่านอินเทอร์เน็ต ส่งถึงโต๊ะทำงานที่บ้าน ถึงมือบนสมาร์ทโฟน ในขณะที่ศูนย์บัญชาการไอเอสถูกโจมตีจากปฏิบัติการทางอากาศ แต่การก่อการร้ายยังคงดำเนินต่อไปได้ เพราะผู้ก่อการร้ายกระจายอยู่ทั่วโลกกลุ่มคนเหล่านี้รู้จักกันในนาม Lone Wolf (หมาป่าโดดเดี่ยว) : 2015

[3]“การเลือกตั้งเล็ก” หมายถึงการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นทั้งหมดใน 5 รูปแบบ ได้แก่ การเลือกตั้งของ (1) กทม.(2) เมืองพัทยา (3) อบจ. (4) เทศบาล และ (5) อบต. ซึ่ง ไม่ใช่การเลือกตั้งระดับชาติ คือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือ การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

[4]ทัศนะของพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก

ดู “บิ๊กแดง” เดือด ซัดพวกได้ทุนเรียนนอก อย่ามาซ้ายตกขอบ ดัดจริตจะเปลี่ยนการปกครอง, 2 เมษายน 2562, https://www.matichon.co.th/politics/news_1433793

& อภิรัชต์ คงสมพงษ์ : นักการเมืองเดิม-พวกซ้ายตกขอบ สร้างวาทกรรมแบ่งแยกประชาชน, BBC NEWS, 2 เมษายน 2562, https://www.bbc.com/thai/thailand-47782717

& ฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา (Left-Right Politics), Histofun ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสนุก, 8 กุมภาพันธ์ 2562, https://www.facebook.com/histofunthai/photos/a.131744410753355/355133871747740/?type=3&theater

[5]ทัศนะของนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  

[6]ทัศนะของ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ดู เกษียร เตชะพีระ : เลือกตั้ง 2562 การต่อสู้ระหว่าง “อีลีทใหม่” และ “อีลิทเก่า”, 2 มกราคม 2562, https://www.bbc.com/thai/amp/46698245

[7]สองนคราประชาธิปไตย, ฐิติกร สังข์แก้ว และ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว, ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า, http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=สองนคราประชาธิปไตย

เป็นทฤษฎีที่นำเสนอโดย เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เพื่อสะท้อนสภาพปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยระหว่างปี 2533-2536 พร้อมทั้งเสนอนโยบายปฏิรูปผ่านความเข้าใจสภาพปัญหาจากกรอบทฤษฎี ทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย อธิบายว่าความไม่มั่นคงลงตัวของระบอบประชาธิปไตยนับแต่ต้นทศวรรษ 2520 (อันเป็นช่วงที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”) จนกระทั่งกลางทศวรรษ 2530 (ที่มวลชนคนชั้นกลางลุกขึ้นขับไล่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช.  เป็นผลมาจากคนชั้นกลางในเมืองและชาวนาชาวไร่ในชนบท ซึ่งเป็นฐานความชอบธรรมให้กับการประชันขันแข่งทางการเมืองระหว่างคณะทหารและพรรคการเมือง มีโลกทัศน์ต่อ “ประชาธิปไตย” แตกต่างกัน

จนกล่าวได้ว่า คนชนบทเป็นผู้ “ตั้ง” รัฐบาล เพราะเป็น “ฐานเสียง” ส่วนใหญ่ของพรรคการเมือง ขณะที่คนชั้นกลางเมืองเป็นผู้ “ล้ม” รัฐบาล เพราะเป็น “ฐานนโยบาย” ของรัฐบาล

[8]ทัศนะของนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อย่าให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟ  

[9]การบริหารจัดการความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2544 – 2555 : สืบวงษ์ สุขะมงคล in วารสารเกษมบัณฑิต ปีที่ 15 ฉบับที่1 มกราคม – มิถุนายน 2557, Political Conflict Management in Thailand During the Years 2001 – 2012, https://tci-thaijo.org/index.php/jkbu/article/download/25259/21489/

[10]ไขรหัสลับ “5C” กับ 5 พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ C-Generation [PR], 8 ตุลาคม 2558, https://www.brandbuffet.in.th/2015/10/c-generation-insights-2015/

5 พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ C-Generation ดังนี้

1st C : Connection พฤติกรรมที่ชอบ “การเชื่อมต่อ” อยู่ตลอดเวลา

2nd C : Convenience พฤติกรรมที่ชอบ “ความสะดวกสบาย” ในทุกสิ่งโดยอย่างยิ่งกับการซื้อ-ขายสินค้า

3rd C : Creation พฤติกรรมที่ชอบ “ความสร้างสรรค์” มีความคิดเป็นของตัวเอง ชอบดูในสิ่งที่ไม่ซ้ำซาก

4th C : Curation พฤติกรรมที่ชอบ “บอกต่อ” สิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัว และแชร์ในสิ่งที่ตนเห็นว่ามีคุณค่าแก่ผู้อื่น

5th C : Community พฤติกรรมที่ชอบ “การอยู่เป็นกรุ๊ป” และการรวมตัวของผู้ที่มีความชื่นชอบเหมือนๆกัน

[11]ครอบครัวขยาย (Extended family)เป็นครอบครัวที่แตกแขนงจำนวนสมาชิกออกไปจากแกนเดิมของครอบครัว คือนอกจากจะประกอบด้วยวงศาคณาญาติที่อาศัยร่วมอยู่ด้วย ยังอาจหมายถึงบุคคลอื่นที่มาสมทบในภายหลังโดยนับรวมเข้าร่วมเป็นสมาชิกของครอบครัวด้วย สมาชิกที่เป็นบุคคลอื่นที่มาสบทบและนับรวมเป็นสมาชิกของครอบครัวนี้ อาจขยายจำนวนเพิ่มขึ้นด้วยการสืบทอดตามสายโลหิตรุ่นต่อรุ่น หรืออาจมาสมทบเพิ่มเติมด้วยความผูกสมัครรักใคร่ บางครั้งจึงเรียกครอบครัวประเภทนี้ว่า “ครอบครัวร่วม” หรือ Joint family, อ้างอิง : ภิญโญ ทองดี, ครอบครัวและสถาบันครอบครัว, http://www.human.cmu.ac.th/home/hc/ebook/006103/lesson1/04.htm  

[12]ระบบอุปถัมภ์ (Patronage System)เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 5 – 16 และในสังคมไทยจะมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกันในสมัยพระบรมไตรโลกนาถจนถึงรัชกาลที่ 5 แห่งรัตนโกสินทร์ แยกสองคำคือ “ผู้อุปถัมภ์” (patron) และ  “ผู้รับอุปถัมภ์” (client) ที่ต้องการความช่วยเหลือหรือป้องกัน ที่ต่างฝ่ายต่างมีความสัมพันธ์ในเชิงตอบแทนซึ่งกันและกัน (reciprocal relationships), อ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

[13]ว่ากันว่าประเทศไทยมีปัญหาการเชื่อฟังและปฏิบัติตามกฎหมายของประชาชนมาก (Obedience and legal compliance of the people) ที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดหรือบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เสมอภาค (Law enforcement)

[14]พรบ.เปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. 2542ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 เป็นต้นไป

[15]ข้อมูลกลุ่มไลน์คดีทุจริตท้องถิ่น อ.โก้(สุรศักดิ์ ดวงแข, นิติกร อปท.), 20 เมษายน 2562

[16]Catch-22: (แคช-ทเวนตี้ทู) หมายถึง เหตุการณ์ที่เมื่อสิ่งหนึ่งไม่ได้เกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เป็นผลต่อเนื่องกัน คำนี้ความหมายคล้ายคำว่า no-win situation

คำนี้มีประวัติมาว่าเพิ่งได้กลายเป็นที่รู้จักและได้รับคำนิยมกันเพราะเป็นชื่อหนังสือนวนิยายยอดนิยมของฝรั่งคนหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องในสงครามโลกครั้งที่สอง คือประมาณ 60 ปีที่แล้วนี่เอง โดยที่คำนี้หมายถึงการที่ต้องตกเข้าไปอยู่ในสถานการณ์อับจน ไม่มีทางออก จะหันไปทางนี้ก็ตัน หันไปทางโน้นก็ตัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหมายถึงสภาพการอันติดขัดซึ่งเกิดจากการขาดคุณสมบัติสำคัญประจำตัว ทำให้ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้

ตรงนี้ต้องขอยกประโยคตัวอย่างขึ้นมาสักประโยคหนึ่งเพื่อให้เห็นการใช้สำนวน “Catch 22” นี้ เช่นว่า “Nobody wants to support you until you’re successful, but without the support how can you be successful. It’s a Catch 22 situation here!” คือ ไม่มีใครเขาจะมาสนับสนุนเราจนกว่าเราจะเด่นดังขึ้นมาเสียก่อน แต่เมื่อขาดการสนับสนุนเสียแล้ว เราจะเด่นดังขึ้นมาได้อย่างไร นี่แหละเขาเรียกว่า “แคทช ทะเวนตี้ ทู”

อ้างจาก : สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “C”, ThaiTranslator.com, Articles Published by VIPAT DHARAPAK, http://vipatthaitranslator.blogspot.com/2009/01/c-32-06.html  

[17]“เทพไท” ยก รธน.272 เปิดช่องตั้งรัฐบาลปรองดอง-นายกฯ คนนอก - ไทยรัฐ, 17 เมษายน 2562, https://www.thairath.co.th/content/1546390 

[18]อ้างจาก “ข้าราชการยุค 4.0 กลัวข้อใด”, ธีรเดช นรัตถรักษา, นิติกรชำนาญการพิเศษ วช. อบจ.พิษณุโลก, ประธานชมนิติกร อปท.,  17 เมษายน 2562



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท