เด็กดื้อ - อิสรภาพแห่งการเรียนรู้


เอกสารอ้างอิง สุพร อภินันทเวช. โรคดื้อและโรคเกเร. ใน: นันทวัช สิทธิรักษ์, กมลเนตร วรรณเสวก, กมลพร วรรณฤทธิ์, ปเนต ผู้กฤตยาคามี, สุพร อภินันทเวช, พนม เกตุมาน. จิตเวช ศิริราช DSM-5. กรุงเทพฯ: ประยูรสาส์นไทย การพิมพ์; 2558.หน้า 485-96.

ขอบพระคุณคุณครูและเด็กๆ ทุกท่าน นศ.กิจกรรมบำบัดมหิดลปี 3 อ.อ้อม อ.แนน อ.เดียร์ และ อ.ป๊อป ที่เกิดการเรียนรู้ผ่านการฝึกแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าขณะใช้สติแห่งตน การสื่อสารด้วยหัวใจเมตตากรุณา การออกแบบกิจกรรมฝึกทักษะการเรียนรู้อารมณ์สังคม ที่ไม่ง่าย ในเด็กๆ ที่มีความต้องการสัมผัสความรัก ความอิสระ ความจริง ความดื้อ ความอ่อนไหว ความสนุก ความสงบ และความอ่อนโยน

เมื่อผมได้สังเกตการณ์ พูดคุยและสร้างสัมพันธภาพเด็กๆ ของโรงเรียนบ้านสานรัก มูลนิธิเด็ก รวม 6 ราย และสะท้อนความรู้สึกหลังการใช้สื่อกิจกรรมบำบัดในช่วงเช้า คือ การใช้สติตัวเราบำบัด-สร้างสัมพันธภาพด้วยการสื่อสารเมตตากรุณา เข้าหาเป็นเพื่อนเด็กๆ แบบหนึ่งต่อหนึ่ง สักระยะก็ให้เกิดกลุ่มพลวัติเรียนรู้สังคมอารมณ์ร่วมกันตามธรรมชาติผ่านการเล่นนอกห้องเรียนสำหรับเด็กเล็ก รวม 10 ราย และในระหว่างครูกำลังจัดกิจกรรมในห้องเรียนสำหรับเด็กโตจำนวน 3 ห้อง รวม 20 ราย

ต่อด้วยกิจกรรมบำบัดในช่วงบ่าย หลังจากเด็กๆ ทานอาหารและนอนหลับพักผ่อน คือ การวิเคราะห์สังเคราะห์งาน-ขั้นตอน-กระบวนการปรับตัวตัดสินใจแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าขณะทำกิจกรรม (งานที่มี 3-5 ขั้นตอนท้าทายความสามารถของเด็ก)-กระบวนการเรียนรู้กับการสอนให้สมวัย-การดัดแปรสิ่งแวดล้อมทางสังคมให้เกิดสุขภาวะ ดังแสดงในภาพข้างต้น

ผมจึงขอบันทึกเป็น SOAP Note ดังต่อไปนี้ (ขออนุญาตไม่เขียนคำย่อเพื่อให้กัลยาณมิตรที่มิใช่บุคลากรทางการแพทย์ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ด้วยครับ)

Subjective: เด็กชายสามคนกำลังปีนเก้าอี้แล้วรอดรั้วเข้าไปดึงม่านเล่นกัน เมื่อผมทักว่า "กำลังทำอะไรกันครับ...ขอช่วยพี่ปิดม่านหน่อยครับ" คนหนึ่งพูดว่า "กำลังจะดึงม่าน...ทำไมต้องเอาลงหละ...อ้าวก็ดึงลงอยู่นี่งัย" อีกคนบอกว่า "ช่วยดึงม่านลงอะ" 

                  เด็กหญิงสองคนไม่เข้าวงกับนศ.และกำลังวิ่งไปเปิดประตูเข้าไปในห้อง เมื่อผมทักว่า "เข้าไปทำอะไรครับ...ไปเล่นกับพี่ๆ กันครับ" คนหนึ่งพูดว่า "เบื่อไม่อยากเล่น" อีกคนบอกว่า "งั้นปิดประตูขังเลยนะ" ผมถามว่า "ทำแบบนี้เพราะอะไร" เด็กไม่ตอบ วิ่งหนีไป แล้วกลับมาล๊อคแกล้งเพื่อนจนร้องไห้ในอีก 5 นาทีต่อมา มีอจ.อีกท่านมาเปิดให้ เด็กร้องไห้แต่สักพักก็วิ่งเล่นซนเหมือนเดิม 

                 เด็กชายหนึ่งคนวิ่งนำเหล็กผ้าม่านออกนอกห้องประชุมแล้วจะโยนไปใส่ฝูงเป็ดที่อยู่อีกฝั่งที่มีน้ำกั้น เมื่อคว้ามือแล้วถามว่า "ทำแบบนี้เป็ดจะเสียใจไหมครับ" เด็กตอบว่า "ไม่เสียใจหรอก ให้มันเจ็บ" แล้วเด็กก็ยอมปล่อยเหล็กผ้าม่านให้ผมแล้ววิ่งเข้าไปรอบห้องประชุม 

Objective:  มีเด็กโตที่สนใจนั่งวาดรูป-เปิดหนังสือนิทานกับพี่ๆ 12 ราย ดูมีสมาธิได้นานถึง 10 นาที แต่ต้องกระตุ้นทักษะทางสังคมจากต่างคนต่างทำเป็นช่วยกันคิดช่วยกันทำ อีก 4 ราย วิ่งเล่นซนรอบห้องประชุม และมี 4 รายที่ปีนป่ายเก้าอี้และเปิดตู้รื้อของนำหน้ากากและดึงตุ๊กตาไปเล่นคนเดียว เมื่อพี่ๆ นศ.ลองปรับกิจกรรมให้มีการเคลื่อนไหวสร้างอารมณ์ร่วมเล่นจากวิ่งเล่นซนให้มีเกิดทักษะการรับรู้สึกนึกคิดทำกิจกรรมที่มีเป้าหมายเพื่อระบายแรงขับจากสิ่งเร้าที่มีของเล่นและมีความเป็นอิสรภาพจากห้องเรียน สังเกตว่า มีเด็กเพียง 5 รายจาก 8 รายที่สามารถควบคุมตนเองให้เดินบนทางเดินที่เรียงหลายสีได้ ดูมีสมาธิได้นานถึง 5 นาที แต่อีก 3 รายส่งเสียงดังและพยายามเปิดตู้รื้อของมากขึ้น เปลี่ยนหน้ากากและแย่งตุ๊กตาจากเพื่อนที่อายุน้อยกว่า บางคนรังแกกันจนร้องไห้ แต่น่าสนใจที่พอบอกให้ขอโทษ เด็กๆ ก็ขอโทษกันแล้วหยุดร้องไห้ ปรับเปลี่ยนอารมณ์วิ่งเล่นต่อได้

Assessment: เด็กโต 12 จาก 20 ราย มีความต้องการพัฒนาทักษะการรับรู้ทางการใช้มือและตาเพื่อการเรียนรู้ที่มีสมาธิมากขึ้น ได้แก่ การเขียน การวาด และความคล่องแคล่วในการใช้มือทำกิจกรรมที่มีผลงานมากขึ้น อีก 8 ราย จำเป็นต้องประเมินด้วยความรักความเข้าใจมากขึ้น ดูมีความต้องการพัฒนาทักษะการเรียนรู้สังคมอารมณ์ โดยเฉพาะเรื่อง การยับยั้งชั่งใจเพื่อป้องกันโรคดื้อ (Oppositional Defiant Disorder) และโรคเกเร (Conduct Disorder) ซึ่งน่าจะปรึกษาจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป 

Plan: นักกิจกรรมบำบัดผู้เชี่ยวชาญวางแผนออกแบบโปรแกรมกิจกรรมบำบัดศึกษาแก่คุณครูที่มีบทบาทเป็นผู้ปกครองด้วย เช่น การฝึกปรับพฤติกรรมให้มีปฏิสัมพันธ์เชิงบวก (Positive Parent-Child Interaction) และประเมินความต้องการเพิ่มในเด็กโตที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น มีความต้องการความรักจากการกอดสัมผัสมากเกินไป มีความต้องการความสงบนิ่งฟังให้มากขึ้น มีความต้องการความสมดุลอิสรภาพตามธรรมชาติแห่งการเรียนรู้ที่สมวัย เป็นต้น บางรายอาจจำเป็นต้องฝึกจิตบำบัดแบบความรู้ความเข้าใจ-ปรับปรุงนิสัยพฤติกรรม (ความคิด-อารมณ์-การกระทำ) อย่างต่อเนื่องในระดับโค้ชชิ่ง

หมายเลขบันทึก: 660131เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2019 10:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2019 10:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท