“สูงวัยหัวดื้อ” แห่งรามอินทรา 67 ไม้แก่ที่ยืนหยัดเพื่อชุมชน


คนแก่หัวดื้อ

        สำหรับผู้สูงวัยแล้ว แม้สภาพร่างกายจะไม่เอื้ออำนวย แต่หัวใจนั้นสู้ไม่ถอย ประสบการณ์ที่เชื่อมั่นที่ว่า “อาบน้ำร้อนมาก่อน” จึงรู้สึกว่าตนเองยังมีค่า ไม่อยากอยู่เฉย อยากทำอะไรเพื่อตนเอง ครอบครัว และสังคม

            ดังเช่นกลุ่มผู้สูงอายุหมู่บ้านรามอินทรา 67 เขตบางเขน กรุงเทพฯ เลือกจะเป็น “คนแก่หัวดื้อ” มากกว่าจะเป็นคนแก่อยู่ไปวันๆ เมื่อสมาชิกทั้ง 193 คนของชมรมผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ลุกขึ้นมาจัดการดูแลตัวเองและเพื่อนสมาชิกไม่ให้เป็นภาระของหลูกหลาน และยังมีเรี่ยวแรงทำงานเพื่อประโยชน์ชุมชน

            “บางคนแม้ไฟในการทำงานจะมอดดับลงหลังจากเกษียณ แต่เรามาช่วยกระตุ้นไฟในตัวเขาให้มาทำงานเพื่อชุมชน เพื่อส่วนรวมกันอีกครั้งหนึ่ง เพราะถ้าเราไม่ชักชวนกันก็คงต่างคนต่างอยู่แบบสังคมเมืองใหญ่ และรอหวังพึ่งหน่วยงานเข้ามาคงไม่ทันการ” ลำยอง มานะขจรเวชประธานชมรมผู้สูงอายุผู้สูงอายุชุมชนหมู่บ้านรามอินทรา 67 บอกถึงแรงจูงใจในการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุฯ มาตั้งแต่ปี 2547

            การดำเนินงานชมรมฯ ทำอะไรบ้างนั้น ป้าลำยอง บอกว่า ถือเป็นข้อตกลงของสมาชิกทุกคนว่า ทำอะไรก็ได้ให้มีความสุข ทั้งกาย ใจและปัญญา ทุกเดือนเหล่าผู้สูงอายุในหมู่บ้านจะต้องมานั่งคุยกันว่าจะทำอะไรกับบ้างในวันต่อไป และให้ถือเป็นมติของชมรม แต่หลักๆ คือ การพบปะสังสรรค์ การทำบุญไหว้พระร่วมกัน การออกกำลังกายเช้า-เย็น

            ในส่วนของสวัสดิการสมาชิกจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมคนละ 100 บาทต่อปี เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมต่างของชมรม เช่น การเยี่ยมผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง หากเจ็บป่วยนอนโรงพยาบาล เบิกได้วันละ 500 บาทครั้งละไม่เกิน 3 วัน หากเสียชีวิตจะมอบพวงหรีดพร้อมเงินจำนวน 2,000 บาท เป็นต้น

            ขณะเดียวกันในปี 2560 ทางชมรมได้ขอรับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ภายใต้โครงการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน งบสนับสนุนที่ได้ถูกนำมาใช้ในการจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้การดูแลสุขภาพ

            อุบล รังสิมันตุชาติ เลขานุการชุมรมผู้สูงอายุหมู่บ้านรามอินทรา 67 กล่าวถึงโครงการที่ได้รับว่า เพราะชุมชนของเธอเป็นชุมชนเมืองยังละเลยเรื่องอาหารการกิน ทำให้เกิดโรคภัยต่างๆ มากมาย กิจกรรมจึงเน้นไปที่การออกกำลังกาย การให้ความรู้การเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อควบคุมโรคเบาหวาน ความดัน การจัดฟังเทศน์เพื่อจิตใจผ่องใส และการสอนสิ่งประดิษฐ์จากของเหลือใช้ ซึ่งนอกจากกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว ยังเพิ่มความรู้ใหม่ๆ ในการดูแลตนเองให้มากขึ้นด้วย

            “เราได้พบปะพูดคุยมากขึ้น แม้ว่าชมรมจะก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2547 แต่ก็ยังไม่มีการทำงานที่ชัดเจน ครั้งนี้เรามีความตั้งใจและขับเคลื่อนงานชมรม โดยชักชวนกันออกมา “ใช้ใจซื้อใจ” ใช้ความเป็นมิตรชักชวนขยายจำนวนสมาชิกมากขึ้นๆ มีกลุ่มไลน์ไว้พูดคุย และในอนาคตจะจัดตั้งกองทุนเพื่อเป็นสวัสดิการให้คนในชุมชนด้วย” ป้าอุบล บอก

            หมู่บ้านรามอินทรา 67 เป็นสังคมเมือง คนภายในหมู่บ้านต่างทำมาหากินจนไม่มีคำว่าส่วนรวม และไร้ทิศทาง ชมรมผู้สูงอายุจึงเปรียบเสมือนหลักของคนชุมชน ที่จะเป็นมือประสานแทนมือแทนไม้ให้คนชุมชน ขณะเดียวกันยังช่วยกันวางเป้าหมายกำหนดอนาคตให้ชุมชนก้าวเดินไปตามขั้นตอน

            “เราอยู่เฉยๆ ก็ได้ มีบำเน็จบำนาญใช้อย่างสบาย แต่เราอยากช่วยชุมชน เลขานุการชมรมผู้สูงอายุหมู่บ้านรามอินทรา 67” ป้าอุบล ย้ำชัดถึงความตั้งใจ ดังจะเห็นได้จากกรณีพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน จากที่เคยถูกยึดโดยนิติบุคคลแล้วเปิดให้เอกชนเช่าพื้นที่ ทำให้คนในชุมชนไม่มีพื้นที่สาธารณะส่วนกลาง ใช้อออกกำลังกายหรือเป็นจุดนัดพบประชุม ทำให้งานต่างๆ ในชุมชนติดขัดไปเสียหมด เพราะสถานที่ไม่เอื้ออำนวย

            แต่ในตอนนี้ทางชมรมฯได้ช่วยกันเรียกร้องจนสามารถนำพื้นที่ส่วนกลางนั้นกลับมาเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ ทุกคนได้ใช้ร่วมกัน เด็กๆ มีที่วิ่งเล่น ผู้สูงวัยได้มีสถานที่ออกกำลังกาย จึงเรียกได้ว่าพื้นที่ส่วนกลางสาธารณะสำหรับชุมชนนี้เกิดขึ้นด้วยความร่วมแรงร่วมใจกันของชมรมผู้สูงอายุและคนในชุมชน เพื่ออนาคตของลูกหลานในชุมชนต่อไป

          วันนี้ผู้สูงอายุหมู่บ้านรามอินทรา 67 จึงเรียกได้ว่า เป็นคนแก่หัวดื้อ ซึ่งในความดื้อนั้นเต็มไปด้วยความแข็งแกร่งและมุ่งมั่นตั้งใจ ไม่ใช่เพื่อตนเอง แต่เพื่อประโยชน์และความสุขคนในชุมชนอย่างแท้จริง

หมายเลขบันทึก: 659130เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2019 23:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มกราคม 2019 23:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท