ชีวิตที่พอเพียง 3319. ตามเสด็จจันทบุรี 6. ฝรั่งเศสกับจันทบุรี


 บ่ายสามโมงครึ่งวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ รถบัสนำเราเราตามเสด็จไปยังค่ายตากสิน ()   ไปชมหลักฐานแสดงประวัติศาสตร์สมัยล่าอาณานิคมของยุโรป    ซึ่งในกรณีนี้คือฝรั่งเศส    เราไปชมส่วนหนึ่งของขบวนการยึดครองอินโดจีนโดยฝรั่งเศส   

ค่ำวันที่ ๑๙ ตุลาคม ตอนไปรับพระราชทานเลี้ยงที่วังสระปทุม เราได้รับแจกเอกสาร งานบูรณะอาคารโบราณสถานในค่ายตากสิน จันทบุรี    น่าเสียดายที่หนังสือเล่มเล็กนี้ค้นไม่พบในอินเทอร์เน็ต    ค้นได้แต่เรื่องราวของมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม ที่ทำงานบูรณะนี้ ()    ผมจึงได้อ่านเอกสารนี้คร่าวๆ   

พื้นที่บริเวณค่ายตากสินมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในสองเหตุการณ์  

เหตุการณ์แรกเกิดในปี ๒๓๑๐   พระยาตากใช้เป็นที่มั่นในการเตรียมกำลังกองทัพเรือ ยกกลับไปกู้ชาติจากพม่า

เหตุการณ์ที่สอง ยังมีหลักฐานเป็นกลุ่มอาคารเหลืออยู่และได้รับการบูรณะเป็นพิพิธภัณฑ์    คือเหตุการณ์ระหว่างปี ๒๔๓๖ -  ๒๔๔๘    หลังเหตุการณ์ รศ. ๑๑๒   ที่กองทหารฝรั่งเศสเข้ายึดจันทบุรีเป็นประกันให้สยามยอมยกดินแดนลาวทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง  และเขมรส่วนนอก ได้แก่เมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ให้แก่ฝรั่งเศส   

เมื่อไปชมพิพิธภัณฑ์จริงๆ กลายเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองจันทบุรี   และพิพิธภัณฑ์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส    ว่าเรื่องราวตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือตั้งแต่ราวๆ ๑๐,๐๐๐ ปีก่อน    และจันทบุรีในยุคต่างๆ    โดยการตั้งเมืองครั้งแรกราวๆ ๑ พันปีมาแล้ว    ร่วมสมัยกับเมืองพิมาย และเมืองลพบุรี    เรียกชื่อตามศิลาจารึกว่า “ควนคราบุรี” หรือ “เมืองกาไว”    และมี “ชาวชอง” เป็นชนพื้นเมืองกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่    ดูตามภูมิศาสตร์แล้ว เดาได้ว่า จันทบุรีต้องมีความสัมพันธ์กับเขมรและญวนอย่างแน่นอน  

หนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ได้รับแจกค่ำวันที่ ๑๙ คือ ความสัมพันธ์ไทย - ฝรั่งเศส ตั้งแต่อยุธยาจนถึงปัจจุบัน   ที่จัดพิมพ์โดย มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม เช่นเดียวกัน   ช่วยให้การเข้าชมเข้าใจง่ายขึ้น   แต่พวกเราคนไทยส่วนที่เดินช้า    ถูกแยกให้เลี่ยงไปชมนิทรรศการที่อาคารคลังพัสดุก่อน    แล้วจึงย้อนไปชมนิทรรศการที่อาคารกองบัญชาการทหารฝรั่งเศส    ต่อด้วยอาคารกองรักษาการณ์    

ที่อาคารคลังพัสดุเป็นนิทรรศการประวัติเมืองจันทบุรี   และประวัติความสัมพันธ์ไทยฝรั่งเศสสมัยรัตนโกสินทร์ถึงปัจจุบัน    ที่สมัย ร. ๔  ร. ๕ เป็นความสัมพันธ์ของยุคล่าเมืองขึ้น หรือยุครบกัน    สมัยปัจจุบันเป็นยุคแสวงความร่วมมือ หรือยุคเป็นมิตรกัน

ที่อาคารกองรักษาการณ์ มีนิทรรศการพระราชประวัติ ร. ๕  

ประวัติศาสตร์สอนว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นสิ่งไม่แน่นอน    เช่นเดียวกันกับชีวิตเป็นสิ่งไม่แน่นอน    

ที่อาคารกองบัญชาการทหารฝรั่งเศส    เป็นนิทรรศการความสัมพันธ์สยามฝรั่งเศส ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๖   ที่ความสัมพันธ์เปลี่ยนกลับไปกลับมา    จากสมัยสมเด็จพระนารายณ์เป็นมิตรประเทศที่แน่นแฟ้น    มาถึงสมัย ร. ๕  เกิดเหตุการณ์ รศ. ๑๑๒   ไทยทั้งเสียดินแดนและเสียค่าปรับ    พอถึงสมัย ร. ๖ ไทยส่งทหารไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๒  

สมัยสมเด็จพระนารายณ์ สยามใช้ฝรั่งเศสถ่วงดุลอำนาจของฮอลันดา ที่มาบีบสยามในเรื่องการค้า    แต่พอสิ้นรัชสมัยฝรั่งเศสก็ถูกขับไล่ออกไป    

การจัดทำพิพิธภัณฑ์ที่แสดงความจริงครบด้าน   คือนอกจากความร่วมมือสมัยโบราณ  และการรบหรือรังแกยุค ร. ๕ แล้ว   หลังจากนั้นก็เป็นยุคความร่วมมือ    แสดงวุฒิภาวะทางวิชาการ    และเป็นเครื่องช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ    โดยที่การจัดทำพิพิธภัณฑ์นี้ มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม นำโดยคุณหญิงนงนุช ศิริเดช ได้ขอพระราชทานคำแนะนำจากองค์สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ โดยตลอด   ทรงแนะนำให้จัดแสดงเรื่องความร่วมมือระหว่างไทยกับฝรั่งเศสด้วย    และแสวงความร่วมมือจากสถานทูตฝรั่งเศสในการจัดทำพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว    

หลังการชมพิพิธภัณฑ์   เป็นงานเลี้ยงอาหารค่ำ และการแสดงสองชุด ที่สนามภายในค่ายตากสิน โดยจังหวัดจันทบุรีจัดถวาย    เป็นบริเวณที่มีต้นไม้ใหญ่อายุกว่าร้อยปี ร่มรื่นสวยงามมาก  

วิจารณ์ พานิช

๒๓ ต.ค. ๖๑

1 อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

2 อาคารสัญลักษณ์ของค่ายตากสิน

3 อาคารกองบัญชาการทหารฝรั่งเศส

4 อาคารคลังพัสดุ

5 อาคารกองรักษาการณ์

6 ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับฝรั่งเศส

7 ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

8 เมืองจันทบุรีสมัยก่อนประวัติศาสตร์

9 เมืองจันทบุรีสมัยอยุธยา และธนบุรี

10 เมืองจันทบุรีสมัยรัตนโกสินทร์

11 เมืองจันทบุรีสมัยฝรั่งเศสยึดครอง

12 ความร่วมมือไทยฝรั่งเศสด้านศิลปวัฒนธรรม

13 สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ กับสาธารณรัฐฝรั่งเศส

14 ต้นไม้ใหญ่บริเวณจัดเลี้ยง

หมายเลขบันทึก: 658474เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2018 18:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มกราคม 2019 05:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท