ฅนค้นครู (พอเพียง) ๑: ศูนย์การเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วัดบูรพาราม บ.นกเหาะ ต.ครั่งใหญ๋ อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด


ช่วงค่ำๆ วันนี้ (๓๐ พ.ย.๒๕๖๑) ผมพบ "ครู" รูปหนึ่ง (ท่านครองเพศสมณะประมาณ ๑๐ พรรษา (ไม่กล้าถาม)) ณ ศูนย์การเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วัดบูรพาราม บ.นกเหาะ ต.ดงครั่งใหญ่ อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด ต้องขอบพระคุณ(อดีต)กำนันสัมฤทธิ์ ที่ทั้งแนะและนำผมให้ไปกราบท่านถึงที่ จนได้คลิปวีดีโอเหล่านี้มาฝากท่านผู้ชม

ก่อนท่านจะพาเดินชมแบบไว ๆ ดังที่ได้บันทึกและขออนุญาตเพื่อเผยแพร่นี้ ท่านได้บรรยาย "ปริยัติ" หรือทฤษฎีให้กับผมแบบ "ตัวต่อตัว" เกือบชั่วโมงเทียว  ขอถอดความสิ่งที่ท่านตกผลึกเป็นความรู้ "กึ่งสำเร็จรูป" ให้ทุกท่านไปพิจารณา ... เชิญเถิด

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ ๕ ประการ ในการทำเกษตรพอเพียง

ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ท่านสอนเป็นเหมือน "คาถา" ซึ่งหากใครมีศรัทธาสงสัยก็นำไปท่องจำนำไปปฏิบัติได้เลย ใครจะทำมาเกษตรพอเพียงจะต้องมี ๕ อย่างนี้ ไม่มีข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้ ได้แก่ 

  • ต้องมีเวลา 
  • ต้องมีแรง
  • ต้องมีความรู้ 
  • ต้องมีปัญญา
  • ต้องมีสังคม 
ขออธิบายความหมายและแนวทางปฏิบัติที่ท่านเล่าให้ฟังดังนี้ครับ 

๑) ต้องมีเวลา

ใครจะทำต้องจริง ๆ  เรียนรู้จริง ๆ  ต้องให้เวลาเต็มที่ เพื่อมาศึกษาวิจัยจากการปฏิบัติ ไม่ใช่ลองผิดลองถูก แต่เป็นการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีการควบคุมเงื่อนไข (ท่านไม่ได้ใช้คำว่าตัวแปร) และมีสังเกตผลอย่างเป็นกระบวนการ (ก็คือการวิจัยนั่นเอง) โดยเฉพาะปีแรก ๆ  ... ท่านบอกว่า หลังจาก ๕ ปีก็สบาย 

ท่านให้ความสำคัญกับการเรียนรู้มาก ๆ ซึ่งเห็นได้จากสิ่งที่ท่านเน้นย้ำกับผมโดยเฉพาะในช่วงตอนก่อนจะจบพลบค่ำวันนี้ว่า ที่ศูนย์ฯ นี้ 
  • ใครจะมาเรียน "ต้องรู้" 
  • ใครจะมาดู "ต้องเห็น" 
  • ใครจะมาทำ "ต้องทำเป็น" 
ท่านเล่าว่าทุก ๆ วันตอนเย็นในการอบรม จะมีการสรุปสะท้อนการเรียนรู้กันว่าได้ผลตรงตามเป้าหมายดังกล่าวนี้ในแต่ละวันหรือไม่... ฟังจากที่กำนันสัมฤทธิ์พูด ในระแวกนี้มีแต่ท่านเท่านั้นที่ทำได้ 

๒) ต้องมีแรง

ต้องมีแรง ต้องทำด้วยตนเอง (ต้องพึ่งตนเอง) เพราะการทำด้วยตนเองจะทำให้ "ทำเป็น" ... การคิดจะทำเกษตรพอเพียงแล้วเอาแต่จ้างคนมาทำจะไม่นำไปสู่ความ "พอเพียง" 

๓) มีความรู้

ความรู้ที่ท่านเน้นย้ำสำหรับเรื่องเกษตร มี ๓ ประการ ได้แก่ 
  • ต้องรู้เรื่องดิน ... จะใส่อะไรลงในดิน รู้หรือยังว่าดินต้องการอะไร ขาดอะไร หลายครั้งที่ชาวบ้านจะเพิ่มความเป็นกรดให้กับดินโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ (ต้องวัดค่า pH ของดินเสียก่อน)
  • ต้องรู้เรื่องจุลินทรีย์... ไม่ใช่แค่รู้วิธีทำ วิธีหมัก วิธีใช้ แต่ต้องรูลึกถึงเหตุ-ผล รู้ทุกขั้นวัฏจักรของจุลินทรีย์ที่สร้างขึ้น รู้วิธีการใช้อย่างละเอียด ... ผมฟังท่านเล่าตอนนี้ รู้สึกทึ่งสุด ๆ  เหมือนเปิดกระโหลกทีเดียว
  • ต้องรู้เรื่องการดูแลต้นไม้ ... ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการปลูก แต่สำคัญคือเรื่องการดูแลรักษา ท่านบอกว่า "ฉันไม่ได้ออนซอน (ไม่ทึ่ง ไม่ปลื้ม) กับคนปลูกต้นไม้เป็นหมื่นต้น แต่ฉันออนซอน (ภูมิใจ) คนที่สามารถดูแลต้นไม้ให้รอดงามแม้เพียง ๑๐ ต้น ....  
๔) มีปัญญา

ในที่นี้ท่านไม่ได้หมายถึงปัญญาทางธรรมครับ เป็นปัญญาทางโลก ก็คือความฉลาด ความสังเกต ทักษะการคิด การนำความรู้มาประยุกต์ใช้ การค้นหาความรู้ ทักษะการเรียนรู้ และรวมถึงความคิดสร้างสรรค์ด้วย ... หรือก็คือ กระบวนการวิจัยและพัฒนา นั่นเอง 

๕) มีสังคม 

ท่านนิยามคำว่า "สังคม" ด้วยประโยคง่าย ๆ ว่า "...คนคนเดียวไม่ใช่สังคม สังคมเกิดขึ้นเมื่อคนไปเกี่ยวกับคนอื่นหรือสิ่งอื่น..."  ระบบนิเวศก็เป็นสังคมในความหมายของท่าน 

ความรู้ใหม่ในวันนี้สำหรับผม

องค์ความรู้ต่อไปนี้ คือสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ใหม่ในวันนี้ ประทับใจจึงจำได้ ได้แก่ 
  • สูตรทำให้กล้วยมีมากกว่า ๑๐ หวี ... อยากรู้เปิดคลิปแรกดูอีกทีนะครับ 
  • สูตรปลูกกล้วย ๒ เป้า... จะเอาอะไร 
    • เอาหน่อ ... อย่าขุดหลุม ..."กล้วยไม่มีรากแก้ว".... หรือ 
    • เอาผลผลิต ...ให้ขุดหลุม เลี้ยงด้วยโฮโมนร์ไข่ ๔ ฟอง ๔ ขั้น 
      • เริ่มหมักฮอร์โมนไข่ ๔ ฟอง พร้อมวันที่ปลูกกล้วย 
      • เมื่อกล้วยเข้าวัยหนุ่มสาว (ครบ ๔ เดือน) เดือนที่ ๕ ให้เทฝังฮอร์โมนเป็นหลุมใกล้โคนกล้วย ๑/๓ ส่วน ผสมน้ำ ๑ ถังคุ  ตัดหน่อของมันมากลบบริเวณที่รดฮอร์โมน...ที่เหลือหมักต่อ
      • เข้าเดือนที่ ๖ เอาส่วนที่สอง (๑/๓) มารดในหลุมเดิม ทำเหมือนเดิม
      • เข้าเดือนที่ ๗ เอาส่วนที่เหลือ (๑/๓) มารถในหลุมเดิม 
  • มะละกอกิ่งตอนจะดกและไม่เป็นโรค
  • พริกไทยกิ่งจากไหล (เอาไหลมาต่อยอด) จะดีกว่าพริกไทยที่ปลูกจากต้น 
  • แมลงอยากกินอะไรหากให้เขากิน เขาจะได้ไม่ไปรบกวนพืชที่เราต้องการ 
  • ฯลฯ ... ความจริงยังมีอีกครับ เป็นกรณีตัวอย่างที่ท่านไปช่วยแก้ปัญหาเกษตรกรที่ต่าง ๆ ก่อนจะมาตั้งศูนย์ฯ นี้  เอาไว้บันทึกต่อ ๆ ไป ก็แล้วกันนะครับ (หากสนใจให้ทิ้งความเห็นไว้ครับ) 
ขออนุโมทนาสาธุครับ ...  สำหรับผมเหลือแต่ต้องลงมือปฏิบัติและใช้กระบวนการวิจัยสมัยใหม่ไปช่วยท่าน และถอดบทเรียนจากท่านมาเผยแพร่เพื่อประโยชน์ของมหาชนคนไทยต่อไปครับ 
หมายเลขบันทึก: 658423เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2018 01:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ธันวาคม 2018 02:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณจ้ะอาจารย์ต๋อย เป็นการนำความรู้ที่มีประโยชน์มาก ๆ มาแบ่งปันกัน ดีมาก ๆ จ้ะ ขอบคุณอีกครั้ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท